ไฟเขียว “สุวรรณภูมิ เฟส 2” รอ “บิ๊กตู่” เคาะงบประมาณจริงรอบหน้า คาดเปิดประกวดราคาได้หลังผ่าน EIA มิ.ย.นี้ เช่นเดียวกับ “รันเวย์ฉุกเฉิน” ความยาว 2.9 กม. ส่วน “อาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2” รอชง ครม.ปรับแผนแม่บทรองรับการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร เป็นปีละ 60 ล้านคน อีก 2 เดือนด้าน “บิ๊กจิน” รอชง “บิ๊กตู่” ดูแผนปรับโครงสร้างธุรกิจการบินใหม่
วันนี้ (23 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า กระทรวงคมนาคมนำเสนอครม.รับทราบผลการดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาเป็นระยะ ใน 3 งานใหญ่ ประกอบด้วย (1. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (2. การก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 และ (3. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2
สาระสำคัญของเรื่องคมนาคมรายงานความคืบหน้าในส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ซึ่งเดิมมีกรอบวงเงินราว 62,000 ล้านบาท แต่ล่าสุด ทอท.ได้ปรับลดวงเงินลงไป 5-6 พันล้านบาท โดยตัวเลขที่ชัดเจนจะรายงาน ครม.อีกครั้ง ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการกำลังพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ถ้าผ่านความเห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาได้ทันที
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 นั้น ทอท.ได้วางแผนในการจัดทำรันเวย์สำรองไว้ ความยาว 2.9 กม. เพื่อใช้กรณีฉุกเฉินหากต้องปิดรันเวย์ทั้ง 2 รันเวย์ในปัจจุบัน แต่กระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบแล้วว่าสิ่งที่ ทอท.ได้วางแผนไว้นั้นจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย แต่ ทอท.ไม่ได้ทำการศึกษา EIA ในส่วนนี้ไว้มาก่อน หากจะเริ่มทำก็อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน ดังนั้นหากปรับเปลี่ยนมาเป็นการนำแผนการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 ซึ่งได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ไว้แล้ว ก็จะน่าจะรวดเร็วกว่าการจัดทำรันเวย์สำรอง
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงเสนอให้ ทอท.ไปพิจารณาในส่วนนี้ โดยขณะนี้รันเวย์ที่ 3 ที่ ทอท.ได้เคยวิเคราะห์ EHIA ไว้แล้ว อยู่ในระหว่างคณะกรรมการผู้ชำนาญการกำลังพิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จจะเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณา คาดว่าจะเป็นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้เช่นกัน
ส่วนงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นั้น ตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งจะจบในปี 2562 นั้นจะมีศักยภาพสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึงปีละ 60 ล้านคน จากปัจจุบันที่ปีละ 40 ล้านคน ดังนั้น ทอท.จึงได้ปรับแผนแม่บทการพัฒนา ทสภ.และจะบรรจุโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ไว้ เพื่อรองรับการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารจากปีละ 40 ล้านคน เป็นปีละ 60 ล้านคน คาดว่าจะนำเสนอแผนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในอีก 2-3 เดือนจากนี้
รอ “บิ๊กตู่” สั่งแผนปรับโครงสร้างธุรกิจการบินสัปดาห์หน้า
อีกด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม วันนี้ยังไม่ได้พิจารณาถึงการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบิน แต่เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ในครั้งถัดไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยแยกเป็น 4 หน่วย ประกอบด้วย 1. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจการบินทั้งสายการบิน 2. การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) สนามบินจะให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 3. กรมการท่าอากาศยาน สังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่บริหารสนามบินของกรมการบินพลเรือนเดิม 28 แห่ง 4. สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย และสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต จะดูแลเรื่องความปลอดภัย
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเข้ามาดูในด้านกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะเพราะมีรายละเอียดจำนวนมาก และยังไม่มั่นใจว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้หรือไม่
สำหรับการจัดตั้งหน่วยงานทั้ง 4 แห่งนั้นจะใช้งบประมาณประจำปี 2559 ในส่วนของกรมการบินพลเรือนที่ได้เสนอไป จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่เพียงพอก็จะของบประมาณเพิ่มเติมอีก 400 ล้านบาท โดยเฉพาะในการตั้งสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาก่อนส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ส่วนกรณีที่ไทยถูกขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงบนเว็บไซต์ของ ICAO ต่อสาธารณะนั้น เนื่องจากไทยยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ภายในกำหนดเวลา ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติของ ICAO นั้นอาจจะดำเนินการแก้ไขไม่ทันภายในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากการปรับปรุงด้านบุคลากรจำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งต้องรอบุคลากรจากต่างประเทศที่มีไลน์เซ็นต์ตามคำแนะนำของไอซีเอโอเข้ามาช่วยฝึกอบรมบุคลากรภายในประเทศ รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบและออกใบอนุญาตใหม่ให้สายการบินหรือ AOC ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขด้วย
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปัญหามาตรฐานความปลอดภัยทางการบินที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นั้น ยอมรับว่าอาจจะมีผลกระทบต่อสายการบิน แต่หากเทียบปัญหาไวรัสเมอร์สอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากกว่าปัญหา ICAO