ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์นี้ ต้องบอกว่า หัวบันไดสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ไม่มีโอกาสได้แห้ง เพราะศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญกลุ่มต่างๆ เข้าไปหารือและรับฟังความคิดเห็นเกือบตลอดทั้งสัปดาห์
เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ได้เชิญนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปให้ความคิดเห็น
นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมพูดคุยว่า การหารืออยู่ใน 4 ประเด็นคือ การบริหารประเทศและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม การปฎิรูปร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ไขความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง และการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง
ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้นยืนยันว่า ต้องมีการทำประชามติ โดยควรเป็นการดำเนินการที่เสรี สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางทั้งผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุน รวมทั้งควรมีทางออกที่ชัดเจนว่า ถ้าทำประชามติไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไร ไม่ใช่จะร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ
นายจาตุรนต์บอกอีกว่า ตนยังยืนยันความเห็นเดิมว่า ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ที่ไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ ถ้าปล่อยให้บังคับใช้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมาก เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสร้างความขัดแย้ง และจะทำให้บ้านเมืองไร้เสถียรภาพ
ส่วนการทำประชามติ หากไม่ทำประชามติอย่างเสรีจะทำให้เสียเงินเปล่า ขอย้ำว่า อย่าทำประชามติแบบมัดมือชกเพียงให้ประชาชนออกมาแสดงความเห็นแค่เห็นด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้วเราจะได้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราจะได้เพียงแค่ความสงบที่ไม่ยั่งยืน สุดท้ายบ้านเมืองก็จะเกิดความขัดแย้งอีก
นายจาตุรนต์อ้างอีกว่ากระบวนการสร้างความปรองดองที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน ยังไม่มีการพูดถึงต้นเหตุของปัญหา และสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย รัฐบาลรักษากฎหมายไม่ได้ ถ้ากระบวนการที่ทำอยู่ไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการเลือกตั้งคือความไม่สงบ และอาจมีความจำเป็นที่กองทัพจะเข้ามายึดอำนาจ ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามว่าเวลานี้ต้องการสร้างความสงบอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้าต้องการเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดความปรองดอง
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า การเชิญมาครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นทีละคนหลังจากที่มีการเชิญเป็นกลุ่มใหญ่มาแล้ว วันนี้ตนมาพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ สถานการณ์การเมือง และความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนตัวเห็นว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ สำหรับสิ่งที่ตนเสนอเพิ่มเติมจากการเสนอในกลุ่มใหญ่ คือ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการขอเปิดพีชทีวีที่ยังถูกระงับการออกอากาศอยู่
ส่วนการทำประชามตินั้นต้องเป็นสิ่งที่อธิบายต่อนานาชาติ นอกเหนือจากการอธิบายกับคนไทย ตนไม่ได้เกรงกลัวการใช้อำนาจรัฐว่าจะมีส่วนได้ส่วนเสียในการทำประชามติ เพราะยิ่งใช้จะยิ่งได้รับการต่อต้าน ก็เหมือนเช่นกรณีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นรัฐบาลรักษาการแล้วยิ่งใช้อำนาจมากก็ยิ่งได้รับการต่อต้านจากประชาชนโดยอัตโนมัติ อีกทั้งการทำประชามติก็ควรเปิดกว้าง ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านต้องมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อเป็นบรรยากาศที่ดี ส่วนคนที่เล่นบทเป็นกรรมการต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อย่าทำตัวเป็นกรรมการมวยปล้ำ เพราะเป็นกรรมการที่ขี้ฉ้อทุกคน
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดที่ตนฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะไม่แน่ใจว่าข้อมูลของรัฐบาลที่แถลงว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น และไม่ได้แย่อย่างที่หลายฝ่ายวิจารณ์กัน เป็นเช่นนั้นจริงหรือ
ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ และสถานการณ์ทางการเมือง อยากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตามกรอบเวลาโรดแมปที่ประกาศไว้ในการอยู่ในอำนาจ เพราะมันจะดีกับสถานการณ์โดยรวมของประเทศ ประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีเองด้วย อย่าไปเคลิ้มตามเสียงเชียร์ของบางคนบางฝ่ายที่อยู่ในเรือแป๊ะ ที่อยากให้อยู่ต่ออีก 2-3 ปี ตนไม่ได้รู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อนายกรัฐมนตรี แต่ที่วิพากษ์วิจารณ์เพราะบางสิ่งบางอย่าง ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามนี้ ก็จะเป็นปัญหาของประเทศได้
ถัดจากนักการเมืองระดับหัวโจกของระบอบทักษิณทั้งสามคนที่กล่าวมาแล้ว วันที่ 19 มิถุนายน ศปป.ได้เชิญนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าไปหารือและรับฟังความคิดเห็น
หลังจากนั้น วันที่ 22 มิ.ย. เป็นคิวของนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนประจำสภาทนายความ และแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น
ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หลังจากเป็นตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน และคัดค้านการเพิ่มภาษีสรรพสามิตการใช้ก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งและการยกเลิกการใช้ก๊าซแอลพีจีในยานยนต์ ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์บริการประชาชน ภายในสำนักงาน ก.พ. (ถนนพิษณุโลก) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 17 มิถุนายนแล้วก็ถูกทหารเชิญไปพูดคุยที่ชั้น 3 ของ สำนักงาน ก.พ.เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยนายปานเทพเปิดเผยภายหลังว่า เป็นการเชิญไปคุยนอกรอบก่อนที่จะเชิญไปที่ ศปป.ในวันที่ 19 มิถุนายน เพื่อให้แสดงความเห็น 3 ประเด็น คือ 1.คิดเห็นอย่างไรกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล 2. คิดเห็นอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ 3.ข้อเสนอต่อรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่ได้มีท่าทีของการข่มขู่ และไม่ได้เป็นการเชิญแบบมีหนังสือเชิญที่เป็นคำสั่ง คสช. ดังนั้น ไม่มีอะไรน่ากังวล เป็นการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น
การเชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆ เข้าไปพบ ศปป. ทำให้เกิดกระแสข่าวลือว่านี่เป็นการเชิญเพื่อทาบทามให้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อสานต่อการปฏิรูปด้านต่างๆ หลังจากมีการยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ไม่ใช่แน่นอน เพราะตอนนี้ยังไม่ได้คิด แต่เป็นการเรียกตัวแทนกลุ่มต่างๆ มาพูดคุยทุกเดือนอยู่แล้ว เพื่อถามว่าจะปฏิรูปอย่างไร วันหน้าพร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตยก็ว่ากันไป แต่อยากจะรู้สถานการณ์วันนี้เขาคิดอย่างไร บ้านเมืองเรียบร้อยไหม เขาจะมีส่วนร่วมกันอย่างไร ทำอย่างไรบ้านเมืองจะสงบ และเมื่อเลือกตั้งตามโรดแมปแล้วเขาจะปฏิรูปไหม
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตอีกทางหนึ่ง คนที่ถูกเชิญเข้าหารือที่ ศปป.นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และ คสช.อย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่าคำให้สัมภาษณ์ของนายจาตุรนต์ นายจตุพร และนายณัฐวุฒิ ยังมีลักษณะการท้าทาย ตอดเล็กตอดน้อย และหาเสียงกับมวลชนคนเสื้อแดงเหมือนเดิม ทั้งที่คนเหล่านี้ก็เคยถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติหลายครั้งแล้ว
ขณะที่คนในเครือข่ายระบอบทักษิณคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายพิชัย นายอนุสรณ์ นายสุรชาติ ต่างก็แสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้าน คสช.มาโดยตลอด แม้จะไม่ได้เป็นการดับเครื่องชนตรงๆ ก็ตาม
ด้านนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายถาวร นายนิพิฏฐ์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ตามประสานักการเมือง ซึ่งหนีไม่พ้นที่หลายเรื่องจะเป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือ คสช.
ส่วนนายปานเทพนั้น ถือเป็นแกนนำคนสำคัญของ คปพ.ที่มีแนวทางการเคลื่อนไหวด้านพลังงานที่สวนทางกับแนวทางของรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ
นั่นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มต่างๆ ยังคงมีแนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย เพราะหลายประเด็นปัญหาของบ้านเมือง ยังไม่ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย จนเกิดการตกผลึกทางความคิดที่ตรงกัน หาก คสช.หวังเพียงแค่ว่า ให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบก่อน อย่าเพิ่งทะเลาะกัน รากเหง้าความขัดแย้งก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป