xs
xsm
sm
md
lg

ถ่านหินเป็นธุรกิจที่สกปรกและอันตราย…ทางออกที่ดีกว่ามีแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

“ถ่านหินคือปัจจัยเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดที่คุกคามต่อความเจริญและทุกชีวิตบนโลกของเรา (Coal is the single greatest threat to civilization and all life on our planet)”

Dr. James Hansen, วัย 74 นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา (งานวิจัยในปี 2556 ของเขาสรุปว่า การเผาพลังงานฟอสซิลอาจทำให้ส่วนใหญ่ของโลกไม่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้อีกต่อไป ด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง)

ผมเข้าใจว่า คำพูดและผลงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงท่านนี้คงจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงอันตรายของถ่านหินได้ในระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นที่เหลือก็คือการเล่นสกปรกหรือไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนทางธุรกิจการค้าที่เข้ามามีบทบาทเหนือนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง

ภาพแสดงข้างบนนี้ผมได้มาจาก The Economist (ต.ค. 2556) ซึ่งสะท้อนว่าความจริงแล้วเรามีทางเลือกที่จะใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทใด เช่น จาก “สายสีดำ” ที่ผลิตจากถ่านหินซึ่งสกปรกและเป็นอันตรายรวมทั้งรวมศูนย์ ผูกขาด หรือ “สายสีขาว” ที่ผลิตจากแสงอาทิตย์และกังหันลมซึ่งไม่เป็นพิษและกระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกหัวระแหงไม่แบ่งแยกคนรวย-คนจน (เฉพาะแสงแดดนะครับ) แต่มีอำนาจลึกลับมาบีบบังคับไม่ให้เราเลือกสิ่งที่ดีกว่า ในบทความนี้ผมจะค่อยๆ คลี่ออกมาให้เห็นกันอย่างง่ายๆ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง “ถ่านหินราคาถูก?”
ทางการไฟฟ้าฯ อ้างซึ่งท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้นำมาพูดต่อว่า “ไฟฟ้าจากถ่านหินมีราคาถูกที่สุด” ที่เป็นเช่นนี้เพราะทางการไฟฟ้าฯ ไม่ต้องจ่ายต้นทุนที่สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การสูญเสียอาชีพจากการประมง และสภาพภูมิอากาศซึ่งต้นทุนดังกล่าวเรียกว่า “ต้นทุนภายนอก (Externalities)” จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พบว่า ต้นทุนภายนอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 2-3 เท่าตัวส่งผลให้ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนถูกกว่าถ่านหินมาก

ในประเทศจีน “ความตายจากมลพิษทางอากาศ” มีมูลค่าถึง 10% ของจีดีพี (http://endcoal.org) จากแหล่งข้อมูลที่ปรากฏในกล่องข้อความดังกล่าว (ซึ่งเป็นภาพที่คู่สมรสใหม่มาถ่ายรูปในสภาพอากาศที่แทบมองไม่เห็นแสงอาทิตย์) พบว่า มลพิษทางอากาศทำให้จำนวนตัวอสุจิลดลง และพบเด็กหญิงวัยเพียง 8 ขวบเป็นมะเร็งปอดเพราะสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน

ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลจีนจึงได้วางแผนเพื่อจะลดการใช้ถ่านหินจาก 29% (ในปี 2558) ลงเหลือ 19% ในปี 2579 (From Energy Foundation China, http://energydesk.greenpeace.org)ในขณะที่ประเทศไทยจะเพิ่มจาก 19% ในปี 2558 เป็น 23% ในปี 2579

ข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 ประเทศจีนใช้ถ่านหินลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่เศรษฐกิจโตขึ้นประมาณ 7% สำหรับภาพล่างเป็นแผนพีดีพีของไทย กรุณาอย่าหาว่าผมคิดเล็กคิดน้อยเลยครับ “ความสกปรก” หรือ “เล่นไม่ซื่อ” ตั้งแต่การใช้สีฟ้า แทนถ่านหิน ในขณะที่ของจีนใช้สีดำ

ความสกปรกของถ่านหินนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ได้แก่การไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ชาวจังหวัดกระบี่ยืนยันว่า โรงงานหีบน้ำมันปาล์มมีของเสียที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการใช้แต่ก็ทำไม่ได้ โดยอ้างว่าสายส่งเต็ม (แล้วท่านนายกฯ ประยุทธ์ก็เอามาพูดต่อ ถ้าจะขยายสายส่งก็ต้องลงทุนเป็นหมื่น เป็นแสนล้านบาท)

ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักครับ สายส่งเขาก็ออกแบบมาให้พอกับความจำเป็น ปัญหามันอยู่ที่การจัดการหรือนโยบายครับประเทศเยอรมนีเขาได้ออกเป็นกฎหมายว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อนเข้าสู่สายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน” ความหมายก็คือ พวกที่ผลิตจากถ่านหินหรือพวกฟอสซิลให้ส่งไปขายได้ในภายหลัง เพราะเขาจำแยกออกระหว่างความสะอาดกับความสกปรก หรือระหว่าง ความดีกับความชั่ว (ขอโทษนะครับ ในสมัยหนึ่งถ่านหินก็มีความดี แต่วันนี้ท่านหมดสมัยแล้วครับ และเรามีสิ่งอื่นที่ดีกว่ามาแทนแล้ว)

ขออนุญาตกล่าวถึงท่านนายกฯ ประยุทธ์อีกนิดครับ ท่านเคยพูดในรายการวันศุกร์ว่า “ถ้ามะนาวแพงก็ให้ชาวบ้านปลูกมะนาวไว้กินเอง” ซึ่งเป็นความคิดที่ดี เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ แต่ตอนนี้ราคาไฟฟ้าแพง ชาวบ้านจะขอผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง แต่หน่วยงานทางการไฟฟ้าฯ ไม่รับซื้อ ด้วยเหตุผลว่าสายส่งเต็ม ซึ่งฟังไม่ขึ้นเลยหากรู้จักการจำแนกความดี-ความชั่วครับ

สอง ถ่านหินสะอาด

เป็นวาทกรรมที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมถ่านหินในระดับโลกได้ผลิตขึ้น มีความหมายทำนองเดียวกับ “บุหรี่เพื่อสุขภาพ” ซึ่งไม่มีอยู่จริงธุรกิจถ่านหินในระดับโลกได้ว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ด้วยเงินจำนวนมหาศาล ทำนองเดียวกันกับที่บริษัทบุหรี่ได้ทำสำเร็จมาแล้วในการบุกตลาดเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น

สาม เทคโนโลยีสะอาด

เทคโนโลยีในการดักจับเขม่าควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีอยู่ 3 แบบ บางแบบขณะนี้ยังไม่เป็นจริงในเชิงพาณิชย์ อาจต้องรอถึง 15 ปี แต่ทุกแบบล้วนทำให้ล้วนต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 3,200-12,000 ล้านบาท (แต่ก็ยังดับจับได้แค่ 99%) สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ บางชนิดทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 90% ดังนั้น ต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงแพงกว่าที่พ่อค้าถ่านหินบอกเราเยอะเลยครับ

จากการศึกษาของ Bloomberg พบว่านอกจากประเทศจีนจะลดการใช้ไฟฟ้าถ่านหินแล้ว เขายังต้องปรับปรุงจนทำให้ต้นทุนการผลิตจากถ่านหินสูงกว่าการผลิตจากโซลาร์เซลล์ (ดังรูปกราฟแท่งสีดำครับ ในปี 2025 ต้นทุนโซลาร์เซลล์ไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วย แต่ต้นทุนถ่านหิน 3.25 บาท ในความเป็นจริงในหลายพื้นที่ของโลก ต้นทุนจากโซลาร์เซลล์ถูกกว่าต้นทุนชนิดอื่น)

ประเทศอินเดียก็ทำนองเดียวกันครับ ต้นทุนถ่านหินสูงกว่าโซลาร์เซลล์เล็กน้อยและจะสูงมากขึ้นในปีต่อๆ ไป

สี่ แนวโน้มของต่างประเทศ

มาดูตัวอย่างดีๆ ให้หัวใจได้สดชื่นจากประเทศนอร์เวย์กันบ้างครับ ประเทศนอร์เวย์มีความมั่งคั่งจากทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป คนนอร์เวย์คิดว่าสมบัตินี้เป็นของชาวนอร์เวย์รุ่นหลังด้วย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมเขาจึงนำรายได้ทั้งหมดจากิจการปิโตรเลียมมาตั้งเป็นกองทุน ผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “กองทุนบำนาญแห่งชาติ”

ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเงินของรัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้กองทุนนี้ถอนตัวจากการลงทุนในธุรกิจถ่านหินทั้งหมดรวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยโดยมีเหตุผลสั้นๆ ว่า “การลงทุนเช่นนั้นไม่อยู่ในระบบคุณค่าของสังคมนอร์เวย์”

โดยเฉลี่ยทั่วโลก ในขณะนี้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 1 โรง แต่มีการปิดหรือปลดระวาง 2 โรง หรือบางแห่ง เปิดใหม่ 1 โรง แต่ปิด 6 โรง

แต่จากแผนพีดีพี 2015 ของประเทศไทยจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จำนวน 9 โรงจำนวน 7,365 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการปิดเลย

ห้า สรุป

ท่านนายกฯ ประยุทธ์บอกว่า ต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพราะ “ผมคิดถึงลูกหลาน ทำเพื่อลูกหลาน” ซึ่งผมเชื่อว่าท่านคิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าอย่างนั้นกรุณาดูตัวอย่างจากประเทศนอร์เวย์ครับ เขาเก็บปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานในรูปของกองทุนบำนาญแห่งชาติ แต่ในบ้านเรากลับจะรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เรียกว่ารีบผลาญให้หมดไป เหมือนกับดีบุกที่เราเคยส่งออกเป็นอันดับสองของโลก การให้สัมปทานแร่โปแตชก็กำลังจะตามมา รวมทั้งเหมืองทองคำอีกหลายจังหวัดด้วย ลูกหลานในอนาคตของเราจะเหลืออะไรนอกจากหลุมมลพิษจากสารเคมีอันตราย

ถามจริงๆ ครับ ระบบคุณค่าของประเทศไทยคืออะไรกันแน่ ผมว่ามี 2 ประการซึ่งเป็นระบบที่แม่ทุกคนใช้สอนลูกของตนนั่นเอง คือ (1) ต้องพึ่งตนเองและเป็นอิสระอย่าเป็นทาสใคร รวมทั้งยาเสพติดและการพนัน (2) อย่าทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน และรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม

การส่งเสริมกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นกิจการที่ทำให้คนไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ และก่อมลพิษมหาศาลต่อสังคม มันเป็นไปตามคำสอนของแม่ตรงไหนถ้าเป็นเมื่อก่อนยังพอให้อภัย เพราะเทคโนโลยีเราล้าหลัง มาวันนี้เทคโนโลยีด้านอื่นพร้อม ทำได้แล้ว ราคาถูกกว่าอย่างอื่นแล้วแต่ท่านไม่ทำ

ในวันนี้ โอกาสของท่านนายกฯ ดีมากๆ ถ้าท่านรู้จักนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิรูปประเทศมาประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องปลูกมะนาวกินเอง เป็นแนวคิดที่ดีมาก ถ้าท่านรู้จักนำมาใช้กับเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ เช่น การปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น โอกาสที่ท่านจะเป็นวีรบุรุษมาถึงแล้ว แต่น่าเสียดายมากที่ท่านนำมาใช้เฉพาะกับเรื่องการปลูกมะนาวเพื่อกินเองเท่านั้นเอง โดยไม่มีความกล้าหาญกับเรื่องสำคัญๆ

สิ่งที่ผมพูดมานี้เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยพลังงาน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากของระบบประชาธิปไตยที่สังคมเราเรียกร้องมาตลอด ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบหย่อนบัตรเลือกตั้งเพียง 4 วินาทีแล้วจบกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น