คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
“ถ่านหินคือ ปัจจัยเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดที่คุกคามต่อความเจริญ และทุกชีวิตบนโลกของเรา (Coal is the single greatest threat to civilization and all life on our planet)”
Dr.James Hansen, วัย 74 นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา (งานวิจัยในปี 2556 ของเขาสรุปว่า การเผาพลังงานฟอสซิลอาจทำให้ส่วนใหญ่ของโลกไม่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้อีกต่อไป ด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง)
ผมเข้าใจว่า คำพูด และผลงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงท่านนี้คงจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงอันตรายของถ่านหินได้ในระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นที่เหลือก็คือ การเล่นสกปรก หรือไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนทางธุรกิจการค้าที่เข้ามามีบทบาทเหนือนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง
ภาพแสดงข้างบนนี้ผมได้มาจาก The Economist (ต.ค.2556) ซึ่งสะท้อนว่าความจริงแล้วเรามีทางเลือกที่จะใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทใด เช่น จาก “สายสีดำ” ที่ผลิตจากถ่านหินซึ่งสกปรก และเป็นอันตราย รวมทั้งรวมศูนย์ผูกขาด หรือ “สายสีขาว” ที่ผลิตจากแสงอาทิตย์และกังหันลมซึ่งไม่เป็นพิษ และกระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกหัวระแหงไม่แบ่งแยกคนรวย-คนจน (เฉพาะแสงแดดนะครับ) แต่มีอำนาจลึกลับมาบีบบังคับไม่ให้เราเลือกสิ่งที่ดีกว่า ในบทความนี้ผมจะค่อยๆ คลี่ออกมาให้เห็นกันอย่างง่ายๆ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง “ถ่านหินราคาถูก?”
ทางการไฟฟ้าฯ อ้างซึ่งท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้นำมาพูดต่อว่า “ไฟฟ้าจากถ่านหินมีราคาถูกที่สุด” ที่เป็นเช่นนี้เพราะทางการไฟฟ้าฯ ไม่ต้องจ่ายต้นทุนที่สังคม และสิ่งแวดล้อมต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การสูญเสียอาชีพจากการประมง และสภาพภูมิอากาศซึ่งต้นทุนดังกล่าวเรียกว่า “ต้นทุนภายนอก (Externalities)” จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พบว่า ต้นทุนภายนอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว ส่งผลให้ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนถูกกว่าถ่านหินมาก
ในประเทศจีน “ความตายจากมลพิษทางอากาศ” มีมูลค่าถึง 10% ของจีดีพี (http://endcoal.org) จากแหล่งข้อมูลที่ปรากฏในกล่องข้อความดังกล่าว (ซึ่งเป็นภาพที่คู่สมรสใหม่มาถ่ายรูปในสภาพอากาศที่แทบมองไม่เห็นแสงอาทิตย์) พบว่า มลพิษทางอากาศทำให้จำนวนตัวอสุจิลดลง และพบเด็กหญิงวัยเพียง 8 ขวบ เป็นมะเร็งปอดเพราะสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน
ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงได้วางแผนเพื่อจะลดการใช้ถ่านหินจาก 29% (ในปี 2558) ลงเหลือ 19% ในปี 2579 (From Energy Foundation China, http://energydesk.greenpeace.org) ในขณะที่ประเทศไทยจะเพิ่มจาก 19% ในปี 2558 เป็น 23% ในปี 2579
ข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 ประเทศจีนใช้ถ่านหินลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่เศรษฐกิจโตขึ้นประมาณ 7% สำหรับภาพล่างเป็นแผนพีดีพีของไทย กรุณาอย่าหาว่าผมคิดเล็กคิดน้อยเลยครับ “ความสกปรก” หรือ “เล่นไม่ซื่อ” ตั้งแต่การใช้สีฟ้า แทนถ่านหิน ในขณะที่ของจีนใช้สีดำ
ความสกปรกของถ่านหินนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ได้แก่การไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ชาวจังหวัดกระบี่ ยืนยันว่า โรงงานหีบน้ำมันปาล์มมีของเสียที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการใช้แต่ก็ทำไม่ได้ โดยอ้างว่าสายส่งเต็ม (แล้วท่านนายกฯ ประยุทธ์ ก็เอามาพูดต่อ ถ้าจะขยายสายส่งก็ต้องลงทุนเป็นหมื่น เป็นแสนล้านบาท)
ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักครับ สายส่งเขาก็ออกแบบมาให้พอต่อความจำเป็น ปัญหามันอยู่ที่การจัดการ หรือนโยบายครับประเทศเยอรมนีเขาได้ออกเป็นกฎหมายว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อนเข้าสู่สายส่งได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน” ความหมายก็คือ พวกที่ผลิตจากถ่านหิน หรือพวกฟอสซิลให้ส่งไปขายได้ในภายหลัง เพราะเขาจำแยกออกระหว่างความสะอาด กับความสกปรก หรือระหว่างความดี กับความชั่ว (ขอโทษนะครับ ในสมัยหนึ่งถ่านหินก็มีความดี แต่วันนี้ท่านหมดสมัยแล้วครับ และเรามีสิ่งอื่นที่ดีกว่ามาแทนแล้ว)
ขออนุญาตกล่าวถึงท่านนายกฯ ประยุทธ์ อีกนิดครับ ท่านเคยพูดในรายการวันศุกร์ว่า “ถ้ามะนาวแพงก็ให้ชาวบ้านปลูกมะนาวไว้กินเอง” ซึ่งเป็นความคิดที่ดี เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ แต่ตอนนี้ราคาไฟฟ้าแพง ชาวบ้านจะขอผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง แต่หน่วยงานทางการไฟฟ้าฯ ไม่รับซื้อ ด้วยเหตุผลว่าสายส่งเต็ม ซึ่งฟังไม่ขึ้นเลยหากรู้จักการจำแนกความดี-ความชั่วครับ
สอง ถ่านหินสะอาด
เป็นวาทกรรมที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมถ่านหินในระดับโลกได้ผลิตขึ้น มีความหมายทำนองเดียวกับ “บุหรี่เพื่อสุขภาพ” ซึ่งไม่มีอยู่จริงธุรกิจถ่านหินในระดับโลกได้ว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ด้วยเงินจำนวนมหาศาล ทำนองเดียวกันกับที่บริษัทบุหรี่ได้ทำสำเร็จมาแล้วในการบุกตลาดเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น
สาม เทคโนโลยีสะอาด
เทคโนโลยีในการดักจับเขม่าควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีอยู่ 3 แบบ บางแบบขณะนี้ยังไม่เป็นจริงในเชิงพาณิชย์ อาจต้องรอถึง 15 ปี แต่ทุกแบบล้วนทำให้ล้วนต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 3,200-12,000 ล้านบาท (แต่ก็ยังดักจับได้แค่ 99%) สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ บางชนิดทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 90% ดังนั้น ต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงแพงกว่าที่พ่อค้าถ่านหินบอกเราเยอะเลยครับ
จากการศึกษาของ Bloomberg พบว่า นอกจากประเทศจีนจะลดการใช้ไฟฟ้าถ่านหินแล้ว เขายังต้องปรับปรุงจนทำให้ต้นทุนการผลิตจากถ่านหินสูงกว่าการผลิตจากโซลาร์เซลล์ (ดังรูปกราฟแท่งสีดำครับ ในปี 2025 ต้นทุนโซลาร์เซลล์ไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วย แต่ต้นทุนถ่านหิน 3.25 บาท ในความเป็นจริงในหลายพื้นที่ของโลกต้นทุนจากโซลาร์เซลล์ถูกกว่าต้นทุนชนิดอื่น)
ประเทศอินเดีย ก็ทำนองเดียวกันครับ ต้นทุนถ่านหินสูงกว่าโซลาร์เซลล์เล็กน้อย และจะสูงมากขึ้นในปีต่อๆ ไป
สี่ แนวโน้มของต่างประเทศ
มาดูตัวอย่างดีๆ ให้หัวใจได้สดชื่นจากประเทศนอร์เวย์กันบ้างครับ ประเทศนอร์เวย์มีความมั่งคั่งจากทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป คนนอร์เวย์คิดว่าสมบัตินี้เป็นของชาวนอร์เวย์รุ่นหลังด้วย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมเขาจึงนำรายได้ทั้งหมดจากิจการปิโตรเลียมมาตั้งเป็นกองทุน ผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “กองทุนบำนาญแห่งชาติ”
ปัจจุบัน กองทุนดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเงินของรัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ให้กองทุนนี้ถอนตัวจากการลงทุนในธุรกิจถ่านหินทั้งหมด รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย โดยมีเหตุผลสั้นๆ ว่า “การลงทุนเช่นนั้นไม่อยู่ในระบบคุณค่าของสังคมนอร์เวย์”
โดยเฉลี่ยทั่วโลก ในขณะนี้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 1 โรง แต่มีการปิด หรือปลดระวาง 2 โรง หรือบางแห่งเปิดใหม่ 1 โรง แต่ปิด 6 โรง
แต่จากแผนพีดีพี 2015 ของประเทศไทยจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ จำนวน 9 โรง จำนวน 7,365 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการปิดเลย
ห้า สรุป
ท่านนายกฯ ประยุทธ์ บอกว่า ต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพราะ “ผมคิดถึงลูกหลาน ทำเพื่อลูกหลาน” ซึ่งผมเชื่อว่าท่านคิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าอย่างนั้นกรุณาดูตัวอย่างจากประเทศนอร์เวย์ครับ เขาเก็บปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานในรูปของกองทุนบำนาญแห่งชาติ แต่ในบ้านเรากลับจะรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เรียกว่ารีบผลาญให้หมดไป เหมือนกับดีบุกที่เราเคยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก การให้สัมปทานแร่โปแตชก็กำลังจะตามมา รวมทั้งเหมืองทองคำอีกหลายจังหวัดด้วย ลูกหลานในอนาคตของเราจะเหลืออะไรนอกจากหลุมมลพิษจากสารเคมีอันตราย
ถามจริงๆ ครับ ระบบคุณค่าของประเทศไทยคืออะไรกันแน่ ผมว่ามี 2 ประการ ซึ่งเป็นระบบที่แม่ทุกคนใช้สอนลูกของตนนั่นเอง คือ (1) ต้องพึ่งตนเองและเป็นอิสระอย่าเป็นทาสใคร รวมทั้งยาเสพติด และการพนัน (2) อย่าทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน และรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม
การส่งเสริมกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นกิจการที่ทำให้คนไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ และก่อมลพิษมหาศาลต่อสังคม มันเป็นไปตามคำสอนของแม่ตรงไหนถ้าเป็นเมื่อก่อนยังพอให้อภัย เพราะเทคโนโลยีเราล้าหลัง มาวันนี้เทคโนโลยีด้านอื่นพร้อม ทำได้แล้ว ราคาถูกกว่าอย่างอื่นแล้วแต่ท่านไม่ทำ
ในวันนี้ โอกาสของท่านนายกฯ ดีมากๆ ถ้าท่านรู้จักนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิรูปประเทศมาประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องปลูกมะนาวกินเอง เป็นแนวคิดที่ดีมาก ถ้าท่านรู้จักนำมาใช้กับเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ เช่น การปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น โอกาสที่ท่านจะเป็นวีรบุรุษมาถึงแล้ว แต่น่าเสียดายมากที่ท่านนำมาใช้เฉพาะกับเรื่องการปลูกมะนาวเพื่อกินเองเท่านั้นเอง โดยไม่มีความกล้าหาญต่อเรื่องสำคัญๆ
สิ่งที่ผมพูดมานี้เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยพลังงาน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากของระบบประชาธิปไตยที่สังคมเราเรียกร้องมาตลอด ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบหย่อนบัตรเลือกตั้งเพียง 4 วินาทีแล้วจบกัน