xs
xsm
sm
md
lg

“แล้วของเก่าเอาไปทิ้งไหน ลงทุนไปตั้งเยอะ”: ท่านนายกฯ ประยุทธ์กับการรับซื้อไฟฟ้า / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ในวันแถลงผลงานรัฐบาลครบ 6 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือน ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าท่านคงหมายถึงไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ตามโครงการ “ปฏิรูปเร็ว โซลาร์รูฟเสรี” ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอรัฐบาลไปแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 58 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ

แต่ก่อนจะไปลงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ผมขออนุญาตอธิบายในสิ่งที่ท่านนายกฯ ได้ตั้งขอสังเกตไว้ 2 ประเด็นที่เกี่ยวกับนิสัย (ที่ไม่ค่อยดี-ท่านบอกว่าที่ดีๆ ก็มีเยอะ) ของคนไทย เพราะถ้าไม่อธิบายแล้ว ผมเองก็จะตกเป็นหนึ่งในคนไทยที่ท่านพูดถึง

ประเด็นแรก คนไทยไม่ชอบศึกษาในรายละเอียด แต่ชอบด่วนสรุป โดยเฉพาะในส่วนที่ตนเองเสียผลประโยชน์แล้วก็โวยวายคัดค้าน พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องการเก็บภาษีบ้านเรือนก็คงจะเหมือนกับนิทานอีสปเรื่องกระต่ายตื่นตูมกระมัง!

ประเด็นที่สอง สื่อหลายสำนักชอบพาดหัวข่าวหวือหวาให้คนรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาล แต่เมื่ออ่านเนื้อข่าวข้างในแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดังที่ได้พาดหัว

ในการเขียนบทความชิ้นนี้ผมเองก็ตกอยู่ในสภาวะที่จะต้องระมัดระวังตามที่ท่านนายกฯ เตือนครับ มันต้องคิดหนักในการตั้งชื่อบทความให้สอดคล้องต่อเนื้อหา (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ) และการนำสาระเข้าไปสู่ประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรมไม่ตัดตอนเพียงบางประโยคให้ผู้พูดเสียหาย

ก่อนที่ท่านนายกฯ จะกล่าวถึงในประเด็นที่ผมหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์ ท่านได้พูดถึงการจัดระเบียบชุมชนให้สอดคล้องต่อระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพ แล้วท่านก็พูดต่อมาว่า
“เรื่องพลังงานทดแทนเหมือนกัน พลังงานทางเลือก ทำแล้วอยากจะขายรัฐ จะขายได้อย่างไรทั้งหมดเล่า มีสัดส่วนอยู่ว่าอะไรต้องผลิตจากนี่ๆ แล้วของเก่าเอาไปทิ้งไหน ลงทุนไปตั้งเยอะ ใครลงทุนมาผมลงทุนหรือ โรงไฟฟ้าทั้งหมดก็ต้องเปลี่ยนจากไฟฟ้าใช้แก๊ส ใช้น้ำมันมาเป็นพลังงานทางเลือกบ้าง ส่วนหนึ่งก็ให้ประชาชนผลิต เอกชนมาลงทุนผลิตไป แต่ต้องมีสายส่งไฟฟ้า ไม่ใช่ทุกบ้านขายแล้วผมจะขายกับใคร ก็ต้องเข้าสายส่ง ปริมาณไฟฟ้าเขามี Regulator คุมอยู่ว่าควรจะตรงนี้เท่าไร ซื้อจากประชาชนได้เท่าไร รัฐผลิตเท่าไร ทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ซื้อจากต่างประเทศเท่าไร วันนี้เรามาแก้ระบบพวกนี้หมดเลย ตั้ง Regulator ใหม่ขึ้นมาตั้ง Adder ปรับเรื่องราคาใหม่ทั้งหมด เดี๋ยวถามท่านเอาเอง” (คัดลอกจาก ฐานเศรษฐกิจ)

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผมนะครับว่า ท่านนายกฯ คงหมายถึงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพราะไฟฟ้าชนิดอื่นคงไม่สามารถผลิตได้ภายในบ้านหรอกนะครับ
       
        และเพื่อให้ท่านผู้อ่านไม่รู้สึกติดขัดกับคำศัพท์เฉพาะทาง ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ คำว่า Regulator ก็คือ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” ซึ่ง คสช.ได้ออกคำสั่งปลดชุดก่อนแล้วตั้งชุดใหม่ขึ้นมาแทนตั้งแต่ยังไม่มีรัฐบาลชุดนี้เสียด้วยซ้ำ เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับกิจการไฟฟ้าและท่อก๊าซ (ไม่ใช่เรื่องราคาน้ำมันและการสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งเป็นพลังงานที่คนไทยใช้ประมาณ 70% ของพลังงานทั้งหมด) เป็นผู้กำหนดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าชนิดใด จำนวนเท่าใด ในปีใด รวมทั้งการกำหนดค่าเอฟทีด้วยเป็นต้น สำหรับคำว่า Adder ก็หมายถึงเงินที่ทางการไฟฟ้าฯ จ่ายเพิ่มให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ

ต่อไปนี้เป็นคำวิจารณ์ของผมเป็นข้อๆ รวม 5 ข้อ ดังนี้ครับ

ข้อที่ 1.ประเทศเยอรมนีรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน

หลักการที่ประเทศเยอรมนีนำมาใช้ในเรื่องนี้ เป็นหลักการเดียวกันกับที่คนไทยเราใช้สอนลูกหลานไทยมาตลอด และว่าไปแล้วก็คือหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่นักการเมือง และข้าราชการไทยท่องจำได้แต่ปาก แต่เวลาทำไม่วิเคราะห์ให้ถึงแก่น ชอบแต่เพียงผิวเผินเหมือนกับที่ท่านนายกฯ เตือนคนไทยนั่นแหละครับ

หลักการสำคัญที่พ่อแม่ใช้สอนลูกหลานไทย (และคงจะทุกชาติ) คือหลักคุณค่าสำคัญ 2 ประการของมนุษย์ (Two main values of the people) คือ (1) เสรีภาพส่วนบุคคล ต้องรู้จักการพึ่งตนเอง เป็นอิสระ ไม่เป็นทาสใคร รวมถึงการพนัน หรือยาเสพติด (2) ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

ถ้าเราจะนำหลักคำสอนของพ่อแม่ดังกล่าวมาใช้กับกิจการไฟฟ้า ถามหน่อยสิครับว่า เราควรจะใช้โรงไฟฟ้าประเภทไหนที่สอดคล้องต่อหลักการพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ทั้ง 2 ข้อนี้ มีทางเดียวเท่านั้นคือ การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ทางราชการใช้คำว่า พลังงานทดแทนซึ่งความหมายมั่ว และบิดเบือนตามเจตนาของผู้ใช้ แต่พลังงานหมุนเวียนแปลว่า พลังงานที่ใช้แล้วสามารถเกิดใหม่แทนที่ตนเองได้ (Replace itself) เช่น ลม แสงแดด พลังงน้ำจากเขื่อนขนาดเล็ก และต้นไม้ เป็นต้น

จริงอยู่ครับ ในอดีตมนุษย์เราต้องใช้ถ่านหิน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปแล้วว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนทั้งโลกเดือดร้อนจากภัยพิบัติ (ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม พายุและแผ่นดินไหว) ทำให้ชุมชนใกล้เคียงต้องสูญเสียอาชีพ และสุขภาพ แต่นั่นมันคืออดีตที่เราไม่มีทางเลือกอื่น แต่มาบัดนี้ (ซึ่งก็นานกว่า 10-20 ปีแล้วล่ะ) ที่โลกเรามีเทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวหน้า และต้นทุนถูกลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ “ไม่สร้างความเดือดร้อน” ให้แก่ผู้อื่นตามหลักคำสอนของพ่อแม่

ประเทศไทยเราเองก็ได้นำแนวคิดของประเทศเยอรมนีมาใช้กับกิจการไฟฟ้า แต่ก็นั่นแหละครับ อย่างที่ท่านนายกฯ ว่า คือ นำมาใช้อย่างผิวเผิน และบิดเบือนจนเพี้ยน (ย้ำครับ “ผิวเผิน และบิดเบือน”)

แนวคิดของเยอรมนีได้ถูกตราเป็นกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “Act on Granting Priority to Renewable Energy Sources (Renewable Energy Sources Act - EEG)” หรือให้ความสำคัญต่อแหล่งพลังงานหมุนเวียนก่อน โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการคือ


(1) ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อนเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน (หมายความว่าผู้ผลิตจากถ่านหินซึ่งทำให้คนอื่นเดือดร้อนต้องหลีกทางให้)

(2) สัญญาการซื้อขายต้องเป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 25 ปี (เพื่อประกันความมั่นใจของผู้ลงทุน ประเทศไทยเคยรับซื้อจากกังหันลม โดยมีอายุสัญญาเพียง 7 ปี ปัจจุบันนี้ได้ขยายเป็น 25 ปีแล้ว)

(3) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นภาระจากค่าสายส่ง หรือเชื้อเพลิง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ

ข้อที่ 2.“แล้วของเก่าเอาไปทิ้งไหน ลงทุนไปตั้งเยอะ ใครลงทุนมา ผมลงทุนหรือ

ประเด็นในเรื่องที่ว่านายกฯ อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้ลงทุนไปแล้ว ผมว่าสังคมไทยคงไม่สงสัยหรอกครับ แต่ประเด็นที่สังคมไทยน่าจะสงสัยอยู่ที่ “ของเก่าเอาไปทิ้งไหน ลงทุนไปตั้งเยอะ”ว่าทำไมเรื่องแค่นี้ท่านนายกฯ จึงคิดเองไม่ได้

ก็มันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “ปฏิรูป” ไม่ใช่ “ปฏิวัติ” ดังนั้น จึงมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย เยอรมนีได้ริเริ่มเมื่อปี 1990 โดยมีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเพียง 3.4% ของไฟฟ้าทั้งหมด เมื่อ 24 ปีผ่านไป สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มมาเป็น 27.3%

“ของเก่าที่ได้ลงทุนไปตั้งเยอะ”เขาไม่ได้เอาไปทิ้งที่ไหนหรอกครับ แต่มันค่อยๆ หมดไปตามอายุขัยของโรงไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านของเยอรมนีต้องใช้เวลาร่วม 20 ปี ผมได้นำกราฟมาลงให้ดูด้วยเพราะมีบางรายละเอียดที่น่าสนใจครับ
 

 
เชื่อไหมครับ ทั้งๆ ที่แดดในประเทศเยอรมนีมีประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ถ้านำเฉพาะไฟฟ้าที่ชาวเยอรมันผลิตได้จากแสงแดดเพียงอย่างเดียวมาใช้ในประเทศไทย พบว่า สามารถใช้ได้มากกว่าที่คนไทยทั้ง 37 จังหวัดในภาคเหนือ และภาคอีสานใช้รวมกันเสียอีก

อัตราการจ่ายค่า Adder เขาก็มีการปรับกันบ่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องต่อต้นทุนที่ลดลง เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตได้ผลประโยชน์มากเกินไป ผมไม่ทราบว่า ท่านนายกฯ ทราบหรือไม่ว่า ในประเทศไทยมีการขายใบอนุญาตในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มกันในราคาเมกะวัตต์ละ 10 ล้านบาท เพราะได้ค่า Adder สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ความไม่ชอบมาพากลในวงการโซลาร์เซลล์จะเป็นรองก็เฉพาะแต่โครงการรับจำนำข้าวกระมัง

ประเด็นที่สังคมไทยสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวจังหวัดกระบี่ ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก แต่ทำไมทางหน่วยราชการกำลังจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินไปตั้งทั้งๆ ที่มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทำลายระบบธรรมชาติ และสุขภาพของชุมชนไม่เฉพาะแต่จังหวัดกระบี่เท่านั้น สงขลา และนครศรีธรรมราช ก็กำลังโดนหน่วยงานของรัฐให้ข้อมูลด้านเดียว และอย่างบิดเบือน

นี่มันไม่ใช่ปัญหา “จะเอาของเก่าไปทิ้งไหน” ตามที่ท่านนายกฯ พยายามทำให้คนไทยหลงประเด็น แต่มันเป็นของใหม่ที่ล้าหลัง และขัดแย้งต่อคำสอนหลักของมนุษยชาติครับท่านนายกฯ

ข้อที่ 3.ความเป็นไปได้ของพลังงานหมุนเวียนขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของรัฐบาล ไม่ใช่ต้นทุน

ว่าไปแล้ว ผมรู้สึกเห็นใจท่านนายกฯ ประยุทธ์ ครับ ผมเชื่อว่าท่านมีความตั้งใจดี ท่านไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นนักการเมือง ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานของท่านจึงมีจำกัด แต่ท่านจะยอมจำนน และถือเป็นข้ออ้างให้ตัวเองคงไม่ได้กระมัง ท่านจะต้องลงรายละเอียดเหมือนกับที่ท่านได้เตือนคนไทยในคราวนี้

เอาอย่างนี้ครับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ท่านเพิ่งแต่งตั้งไปกับมือนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากบุคคลที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเก่าที่ล้าหลังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าฯ หรืออดีตผู้บริหารกิจการก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักของกิจการไฟฟ้าไทยในปัจจุบัน

หากท่านมีแนวคิดจะปฏิรูปกิจการพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง ท่านต้องมอบหลักการที่เป็นแนวปรัชญาที่เหนือกว่าประเด็นเชิงเทคนิค เช่น ประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ การกระจายอำนาจ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เทคโนแครตเหล่านี้นำไปปฏิบัติ ไม่ใช่แค่บอกว่า “ให้ไปถามท่านเอาเอง”

สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่าคือ หลักคุณค่าสำคัญ 2 ประการของมนุษย์ที่ได้กล่าวมาคือ หลักการพื้นฐานเบื้องต้นที่ต้องมี ท่านหนีหลักการนี้ไปไหนไม่ได้หรอกครับ หากท่านไม่คิดจะทำแบบปากว่าตาขยิบ

นักคิด นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมืองที่ชื่อ ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ประธานองค์กร EUROSOLAR ได้เคยสรุปไว้ในคำปราศรัยในเวที WTO เมื่อปี 2005 ว่า ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จได้เพราะเหตุผล 4 ประการ คือ

หนึ่ง มีความคิดที่ถูกต้องให้พื้นที่แก่ผู้ผลิตพลังงานอิสระ ปกป้องพวกเขาจากผู้ผลิตพลังงานแบบเดิม โดยการสร้างกฎเกณฑ์ของตลาดพิเศษขึ้นสำหรับพลังงานหมุนเวียน

สอง มีความกล้าหาญที่จะยกเลิกผลประโยชน์ของพลังงานแบบเดิม ผลประโยชน์ของพลังงานแบบเดิมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง และมีการผนวกรวมอย่างแนบแน่นกับรัฐบาล การริเริ่มในประเทศเยอรมนีเกิดขึ้นในรัฐสภาบนฐานของหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมของการกระทำเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ

สาม การขับเคลื่อนของประชาชนทั่วไปเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดสำหรับพลังงานหมุนเวียนทันทีที่ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักว่า พลังงานหมุนเวียนได้ผลประชาชนจะช่วยกันผลักดัน

สี่ การสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ และสังคมใหม่โดยรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งมองเห็นอนาคตของตนเองที่จะรวมเข้ากับพลังงานหมุนเวียนได้แก่ สมาคมชาวนา สมาคมนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สมาคมของผู้ผลิตเครื่องจักร และสภาพแรงงานเครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมก่อสร้าง

กล่าวโดยสรุป ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด (ขออนุญาตพูดเฉพาะแสงอาทิตย์นี้ก่อน) ก็จะมีเงินลงทุนจำนวนนับแสนล้านบาทกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพราะเรามีบ้านและแดดอยู่ทั่วประเทศ จะสามารถจ้างงานได้จำนวนมหาศาลแหล่งเงินทุกก้อนใหญ่อาจมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเงินเหลืออยู่รวมกันร่วมแสนล้านบาทแต่ไม่รู้จะเอาไปลงทุนทำอะไรจึงจะดี ไม่มีความเสี่ยง

ข้อที่ 4.สหรัฐอเมริการับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จำนวน 43 รัฐจาก 50 รัฐ

ไม่เพียงแต่เยอรมนีเท่านั้นที่ประสบผลสำเร็จ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อไหมครับ โรงเรียนมัธยมปลาย จำนวน 3.7 พันโรงเรียนทั่วประเทศสามารถลดค่าไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้เพียงพอสำหรับการจ้างครูได้ 2,200 คน ตลอด 25-30 ปีเท่ากับอายุของโซลาร์เซลล์

ระบบที่สหรัฐอเมริกาใช้เรียกว่า “Net Metering” (คิดจากมิเตอร์ที่วัดได้สุทธิ) กล่าวคือ เป็นระบบที่เมื่อเจ้าของบ้านผลิตไฟฟ้าได้ในเวลากลางวัน ไฟฟ้าที่เหลือใช้ก็จะไหลเข้าสู่ระบบสายส่ง (หรือจะเรียกว่ามิเตอร์หมุนถอยหลัง) แต่ในเวลากลางคืนเจ้าของบ้านผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ไฟฟ้าจากระบบสายส่งก็จะไหลเข้าสู่บ้าน เมื่อถึงเวลาสิ้นเดือน มิเตอร์อ่านได้เท่าใด ก็จ่ายเงินกันไปตามนั้น

ถ้ามิเตอร์ติดลบ การไฟฟ้าฯ ก็จ่ายให้เจ้าของบ้าน เพราะไฟฟ้าส่วนนี้ได้ไหลไปเข้าบ้านข้างเคียง ถ้าเจ้าของบ้านผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่ตนใช้ ก็จ่ายเฉพาะส่วนที่เกินอัตราการซื้อกับอัตราการขายต่อหน่วยเท่ากันครับ ผมเองก็ยังไม่เข้าใจครับว่าทางการไฟฟ้าฯ จะมีกำไรจากส่วนไหน ปัจจุบันมีจำนวน 43 รัฐ ที่ใช้ระบบนี้และมีกฎหมายรองรับเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ในรัฐมินนิโซตา (ซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของสหรัฐฯ) เขาใช้ระบบที่เหลือเชื่อ คือระบบที่เรียกว่า “คุณค่าของพลังงานแสงอาทิตย์ (Value of Solar)” คือ ส่วนที่เจ้าของบ้านขายออกไปจะมีราคาสูงกว่าที่เจ้าของบ้านรับซื้อ โดยมีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่า (1) ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลังคาช่วยลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน (Peak) ทำให้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อมาให้บริการในช่วงเวลาสั้นๆ (2) ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่มีมลพิษ และ (3) ไม่มีการสูญเสียในระบบสายส่ง

เหตุผล 3ข้อนี้ก็สอดคล้องหลักคุณค่าสำคัญ 2 ประการของมนุษย์ครับ

ข้อที่ 5.ตอบข้อสงสัยจากบทความเรื่อง “เรามาผลิตไฟฟ้าใช้เองกันเถอะ ไม่ต้องรอรัฐบาล ไม่ต้องใช้คนกลาง”

จากบทความที่แล้วของผม พบว่า มีผู้อ่านมากเป็นประวัติการณ์ของผม จากปกติมีผู้อ่านประมาณ 4 พันคน คราวนี้มากกว่าเดิมมากครับ คือ ผู้อ่าน 5.3 หมื่นคน มีผู้แชร์ 9.9 พันคน ผมเองก็ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดนักว่าเพราะอะไร แต่พอจะเชื่อได้ว่ามันสอดคล้องต่ออารมณ์ความรู้สึกที่รอมานาน เมื่อไหร่จะเป็นจริงเสียที และจะทำได้อย่างไร ซึ่งผมได้ตอบไปบ้างแล้ว

มาคราวนี้ผมขอตอบข้อสงสัยของบางคน ดังนี้

บางคนไม่เชื่อว่า ค่าไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกามีราคาถูกกว่าของประเทศไทย ทั้งๆ ที่เขามีค่าแรงสูงกว่าประเทศไทยนับ 10 เท่า และถ้าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีราคาถูกจริง ทำไมภาคธุรกิจไทยจึงไม่ติดตั้ง คราวนี้ผมเสนอหลักฐานอ้างอิงครับ
 

 
ความจริงที่เจ็บปวดของประชาชนที่มากกว่าที่ได้กล่าวไปแล้วก็คือ ค่าไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยแพงกว่าภาคธุรกิจอื่นทั้งหมดในประเทศไทยเราก็เป็นเช่นนี้ครับ ผมได้ลองทดสอบจากการลองคำนวณจากเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงแล้ว พบว่า ประเทศเราก็ใช้หลักคิดเดียวกับสหรัฐอเมริกา มีประเทศเดียวที่คิดตรงกันข้ามคือ คิวบาครับ ค่าไฟฟ้าในบ้านจะถูกกว่าในภาคอุตสาหกรรม

เมื่อเทียบค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม 2015 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนในสหรัฐอเมริกา พบว่าในขณะที่ค่าไฟฟ้าในภาคพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการขนส่งลดลง แต่ในภาคครัวเรือนกลับเพิ่มสูงขึ้น ผมไม่ทราบว่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้ด้วยไหม ประเด็นต้นทุนการติดตั้งสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยๆ ผมกำลังนึกถึงบ้านเรือนในชนบทครับ คิดถึงตอนตากปลาแห้ง เราใช้วิธีเลื่อนกระจาดตากปลาไปรับแดดในตอนเช้า-บ่าย ถ้าเรามีพื้นที่ที่โดนแดดเราก็ทำแบบเดียวกันสำหรับการติดโซลาร์เซลล์ เงินลงทุนประมาณ 12,000 บาท (ดังรูป) ผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 33 หน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ปีละประมาณ 1,750 บาท นั่นคือ ได้ผลตอบแทนประมาณ 14% ต่อปี คุ้มนะครับโดยไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ
 

 
ว่ากันแบบง่ายๆ แบบชาวบ้านตามแผนผังนี้แหละครับ ในเมื่อรัฐไม่ตอบสนองความต้องการของคนจนๆ แต่กลับสนองต่อบริษัทขนาดใหญ่ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะพึ่งตนเอง แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยนะครับ

การที่ค่าไฟฟ้าในที่พักอาศัยมีราคาแพงกว่าในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม มันได้สะท้อนความจริงที่เป็นข้อบกพร่องสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง คือ รัฐบาลแม้ว่าได้มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้หย่อนบัตรเลือกตั้งซึ่งมีจำนวนมากเลย แต่กลับไปตอบสนองกลุ่มทุนซึ่งมีจำนวนน้อย กระแสความคิดที่ผมนำมาเป็นข้อสังเกตนี้กำลังเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป ผู้ที่กำลังคร่ำเคร่งต่อการปฏิรูปการเมืองไทยโปรดรับทราบข้อสังเกตนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น