xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ประยุทธ์กับความเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พฤษภาคม) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องพลังงานไฟฟ้า มีหลายประเด็นที่ชวนให้คิด ผมไม่แน่ใจว่าท่านพูดจากความคิด ความเข้าใจของท่านเองแท้ๆ หรือว่ามีใครเขียนเค้าโครงให้ แล้วให้ท่านบรรเลงโวหารเอาเอง แต่คนระดับนายกรัฐมนตรีที่มีภารกิจมากมายขนาดนี้ คงต้องมีคนเขียนให้ท่านอยู่แล้ว อย่างน้อยก็เป็นหัวข้อย่อๆ คร่าวๆ

ผมจะยกมาเป็นข้อๆ แล้วผมจะเสนอข้อเท็จจริงเพื่อวิจารณ์ท่าน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง เรื่องต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกที่สุดในการลงทุน

เพื่อให้ได้อรรถรส ผมจะพยายามไม่ตัดคำพูดของท่านออกไป ท่านพูดว่า

“เรื่องของพลังงานไฟฟ้า อันนี้เป็นประเด็นสำคัญเป็นประเด็นของพลังงานที่เรากำลังมีปัญหาอยู่ขณะนี้ สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ มีความขัดแย้งมาก แต่ผมอยากจะเรียนว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินนั้น เป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกที่สุดในการลงทุนในเรื่องของวัสดุที่จะใช้คือถ่านหิน เพียงแต่ว่าเราต้องหาเทคโนโลยีโรงงานที่ทันสมัย ที่ขจัดสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แล้วดูแลเยียวยาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ทำให้ดิน ให้น้ำเสียหาย การปลูกพืช การอุปโภคบริโภค”

ท่านนายกฯ พูดถูกต้องครับแต่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว (แต่การพูดถูกทีละครึ่งก็เท่ากับพูดผิดหรือโกหกนั่นแหละ) เพราะต้นทุนที่ท่านว่านั้น เป็นต้นทุนของบริษัทผู้ลงทุนเท่านั้นในวงวิชาการเรียกว่า ต้นทุนภายใน (Internal Cost) แต่ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าจะต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอากาศ น้ำเสีย การประมง การเกษตร และการท่องเที่ยว รวมถึงต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศหรือที่เรียกกันว่าปัญหาโลกร้อน ความเสียหายดังกล่าว ในวงวิชาการเขาก็ถือว่าเป็นต้นทุนเหมือนกัน เขาเรียกว่า ต้นทุนภายนอก (External Cost)

จากรายงานเรื่อง Full Cost Accounting for the Life Cycle of Coal. (Epstein et al. 2011) ใน Annals of the New York Academy of Sciences สรุปว่า ต้นทุนภายนอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในช่วง 9 ถึง 27 เซนต์ต่อหน่วยไฟฟ้า (kwh) หรือ 2.80 ถึง 8.64 บาทต่อหน่วยโดยมีค่ากลางที่ 5.76 บาทต่อหน่วย (มีกราฟประกอบ) ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 300 หน่วย เฉลี่ยแล้วจ่ายในอัตรา 4.25 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

ด้วยต้นทุนภายนอกในระดับปานกลางคือ 5.76 บาทต่อหน่วยนี้ สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ เราสามารถคำนวณได้ว่าในเวลา 1 ปีต้นทุนภายนอกคิดเป็นเงินถึง 28,000 ล้านบาท (โดยสมมติว่าโรงไฟฟ้าทำงาน 70% ของเวลาทั้งหมด) ในขณะที่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์อยู่ระหว่าง 60,000 ถึง 80,000 ล้านบาท (ข้อมูลในสหรัฐอเมริกา)

นอกจากเรื่องต้นทุนที่ท่านนายกฯ อ้างว่าถูกที่สุดแล้ว ท่านยังได้พูดถึงอีก 2 ประเด็น คือ (1) มีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถลดผลกระทบได้ และ (2) ให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ใกล้เคียง

ในเรื่องเทคโนโลยีที่เรียกว่า Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้ดินนั้น จะทำให้เสียพลังงานเพิ่มขึ้น 25-40% และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 21-91% (http://en.wikipedia.org/wiki/Carbon_capture_and_storage ซึ่งอ้างถึงรายงานของ IPCC(2015) และ Cambridge University Press)

ในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขอให้ท่านนายกฯ ดูตัวอย่างจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แม้ศาลตัดได้สินแล้วให้จ่ายมานานนับ 10 ปีแล้ว แต่การจ่ายจริงก็ยังไม่เกิดขึ้น และถ้าจะจ่ายกันจริงๆ จะไหวเหรอครับ ในเมื่อคิดเป็นเงินปีละ 2.8 หมื่นล้านบาทต่อโรง

นอกจากนี้ ผลการศึกษาผลกระทบเฉพาะด้านสุขภาพอย่างเดียวจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศโปแลนด์คิดเป็นเงินสูงถึง 8,200 ล้านยูโรต่อปี

ผมไม่อยากยกตัวเลขและงานวิจัยมาอ้างให้ปวดหัวเล่น แต่ถามจริงๆ แนวคิดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมันสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านชอบอ้างอยู่เสมอตรงไหนครับ

ถ้าท่านต้องการได้ไฟฟ้าจริงๆ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน (นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล) ก็เคยพูดว่าในจังหวัดกระบี่ (ซึ่งเป็นจังหวัดที่ทาง กฟผ.ตั้งเป้าไว้) มีศักยภาพที่ผลิตจากชีวมวลในท้องถิ่นได้เกิน 100%

ท่านนายกฯ พูดว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ มีความขัดแย้งมาก” ก็เพราะท่านปล่อยให้ทาง กฟผ.โฆษณาหลอกลวงประชาชนผ่านทางโทรทัศน์หลายช่อง เช่น “เอาถ่านหินมาอาบน้ำก็สะอาดแล้ว” ผมนึกไม่ถึงจริงๆ ว่าท่านนายกฯ จะหลงเชื่อตามคำโฆษณาที่บิดเบือนทางปัญญาดังกล่าวไปด้วย

ข้อสอง ท่านเป็นห่วงเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโซลาร์เซลล์ในอนาคต

“พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนก็ยังไม่ทันการต้องตามต่อไปด้วย การลงทุนสายส่งเป็นหมื่นๆ ล้าน เป็นแสนล้านในการที่จะเดินสายส่งในแต่ละเส้น แต่ละช่วง ไม่ใช่ง่ายๆ วันนี้ที่มีสายส่ง วันนี้กี่ 10 ปีมาแล้วละก็ได้แค่นี้ ยังไปไม่ทั่วถึง ถ้าทุกคนหวังว่าจะขายเข้าระบบสายส่งยังเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด แล้วก็การผลิตแบตเตอรี่อะไรต่างๆ ในเรื่องของการเก็บพลังงานไฟฟ้าจากทดแทนเรา ก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอต้องซื้อทั้งหมดต้นทุนการผลิตก็แพงก็สูง การขจัดวัสดุที่ใช้แล้วจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุแล้วอะไรเหล่านี้เป็นขยะทางอิเล็กทรอนิกส์มีอันตราย”

คำพูดดังกล่าวมี 3 ประเด็นที่ผมต้องให้ความเห็นครับ

(1) เหตุผลของท่านนายกฯ ที่เป็นห่วงเรื่องการขจัดวัสดุที่ใช้แล้วจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหมดอายุการใช้งาน 25 ปีข้างหน้า แต่ท่านไม่ได้เป็นห่วงเรื่องมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ของการเกิดสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเลยเกือบทุกประเทศในโลกนี้กำลังลดการใช้ถ่านหินลง เพราะมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า ก้าวหน้ากว่า จังหวัดออนตาริโอซึ่งมีประชากร 38% ของประเทศแคนาดา ได้เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างถาวรเมื่อสิ้นปี 2014 หลังจากการวางแผนนานถึง10 ปี

ตรรกะของท่านนายกฯ ในเรื่องนี้ช่างเหมือนกับเรื่องขำขัน (joke) ที่เขาเล่าถึงชนชาติที่ขึ้นชื่อว่ามีความเห็นแก่ตัวมากที่สุดในโลก เรื่องมีอยู่ว่าหญิงชราคนหนึ่งไปเยี่ยมลูกสาวและลูกชายที่แยกครอบครัวไปแล้ว เมื่อนอนค้างคืนบ้านลูกสาวตนเอง ได้เห็นลูกเขยช่วยภรรยาทำงานบ้าน หญิงชราก็กล่าวชมเชย แต่ในวันถัดไปเธอนอนค้างบ้านลูกชาย เห็นลูกชายตนเองช่วยภรรยาทำงานบ้านเช่นเดียวกันกับบ้านแรก หญิงชราก็กล่าวตำหนิลูกสะใภ้ว่าเรื่องแบบนี้เป็นงานของผู้หญิง เรียกว่าสองมาตรฐานชัดเจนครับ

ในเรื่องขยะจากโซลาร์เซลล์ เท่าที่ผมติดตามไม่ได้อันตรายอะไรมาก เพราะส่วนใหญ่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เขามีวิธีการกำจัดแต่อย่าเพิ่งเบนประเด็นไปเลยครับ เอาเรื่องมลพิษจากถ่านหินก่อนครับ เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้ขนานนามว่าเป็น v“ฆาตกรเงียบ (Silent Killer)” เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ทำไมท่านไม่คิด

(2) เรื่องแบตเตอรี่ราคาแพง การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในบ้านที่มีไฟฟ้าของการไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ครับ

(3) เรื่องขายไฟฟ้าเข้าสายส่ง จริงของท่านครับที่ว่า “ถ้าทุกคนหวังว่าจะขายเข้าระบบสายส่งยังเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด” เรื่องนี้อยู่ที่นโยบายของรัฐว่าท่านจะให้ใครขายก่อน ขายทีหลังท่านต้องชัดเจน ปัญหามันอยู่ตรงนี้

ประเทศเยอรมนีที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากกว่าที่คนไทย 37 จังหวัดใช้รวมกัน เขามีกฎหมายเลยครับว่า ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งไม่มีมลพิษ) สามารถขายได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน แถมรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเล็กน้อย และ 43 รัฐในสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายให้รับซื้อในราคาที่เท่ากับขายปลีก ที่เรียกว่า Net Metering เขาชัดเจนว่าขอให้ผู้ไม่ก่อมลพิษและประชาชนรายย่อยก่อน ผู้ก่อมลพิษมาทีหลัง

แต่ในประเทศไทยเราถึงไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าให้ใครขายก่อน แต่ในทางปฏิบัติก็รู้กันว่าผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ให้ขายได้ก่อน และห้ามผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์จากหลังคาซึ่งเป็นคนธรรมดา รายย่อย ส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งขอย้ำครับว่า ห้ามเลย ไม่ใช่ให้ขายทีหลัง

(4) เรื่องสายส่งไม่พอ ลงทุนสูง เป็นเพราะใช้ความคิดแบบเก่า ความคิดแบบรวมศูนย์ คือคิดแบบว่ามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนน้อยโรง แต่ให้บริการกับคนหลายล้านคน จึงทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องสายส่งแพงการสูญเสียพลังงานในสายส่งมากความคิดแบบใหม่ก็คือการกระจายศูนย์การผลิต ใช้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ให้บริการคนในท้องถิ่นจำนวนน้อย ค่าสายส่งจึงไม่แพง เป็นความคิดแบบ “ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy)” ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองได้ ที่เหลือขาย ไม่ใช่รอจ่ายเงินเมื่อสิ้นเดือนอย่างเดียวเหมือนแบบเก่า ในแบบใหม่ก็เหมือนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดในระบบคุณค่าสำคัญ 2 ประการของมนุษย์คือ พึ่งตนเองและรับผิดชอบต่อสังคม ครับ

ข้อสาม ขอให้ท่านนายกฯ ช่วยตรวจสอบ

ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทนฯ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชุดที่คุณอลงกรณ์ พลบุตร เป็นประธาน) ผู้แทนจากหน่วยราชการได้แจ้งในที่ประชุมเมื่อก่อนสิ้นปี 2557 ว่า “ได้อนุญาตให้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไหลย้อนเข้าสู่ระบบสายส่งได้แล้ว โดยไม่ถือเป็นความผิดตามระเบียบเดิม แต่ทางการไฟฟ้าฯ ยังไม่จ่ายค่าไฟฟ้าให้ ได้เซ็นคำสั่งแล้วเมื่อวาน แต่ยังไม่ได้ประกาศ” แต่วันนี้ทางการไฟฟ้าฯ ส่วนภูมิภาคยังใช้ระเบียบเดิม และผมก็ยังไม่เห็นประกาศคำสั่งดังกล่าว ผู้ที่นั่งในที่ประชุมวันนั้นคงเป็นพยานได้ ขอความกรุณาจากท่านช่วยตรวจสอบด้วยครับ

เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาครับ กล่าวคือ โรงเรียนศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศล สร้างด้วยเงินบริจาค นักเรียนทุกคน เรียนฟรี กินฟรี ทางโรงเรียนได้ผลิตโซลาร์เซลล์ขึ้นใช้เอง สามารถลดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 6 พันบาท แต่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ยอม อ้างว่าไม่ได้รับอนุญาต ให้ขออนุญาตแล้วบีบบังคับให้เปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบดิจิตอล คือไฟฟ้าสามารถไหลไปสู่สายส่งได้ แต่มิเตอร์ไม่หมุนกลับ ส่งผลให้การไฟฟ้าฯ ได้ไฟฟ้าไปฟรีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันปิดเรียนซึ่งแทบไม่มีการใช้ไฟฟ้า

ส่งผลให้ทางโรงเรียนซึ่งเคยลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 6 พันบาท อาจจะลดได้เพียงแค่ 2 พันบาทเท่านั้น อีกประมาณ 4 พันบาท ทางการไฟฟ้าฯ รับไปฟรีๆ

ผมเคยเขียนถึงโรงเรียน 3,700 โรงในสหรัฐอเมริกาที่ติดโซลาร์เซลล์ พบว่าค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถเป็นเงินเดือนครูได้ถึง 2,200 คนตลอดไปนาน 25 ปี

มาวันนี้ ผมขอนำเรื่องราวของโรงเรียนหนึ่งในประเทศมาเลเซียใกล้ๆ บ้านเรามาเล่าครับ

ทางหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า “หน่วยงานพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Development Authority)” เขารับซื้อไฟฟ้าจากโรงเรียนแห่งนี้ในราคาที่สูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติคือ หน่วยละ 12 บาท สร้างรายได้ให้โรงเรียนปีละ 6 หมื่นบาท ด้วยกำลังผลิตเพียง 5 กิโลวัตต์ (ถ้าลงทุนในบ้านเราก็ประมาณ 2.5-3 แสนบาท)

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวว่า “มันเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาสัมผัสถึงเทคโนโลยีสีเขียว ยกระดับจิตสำนึกและความเข้มแข็งของนักเรียน…เราจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้คนรุ่นอนาคตเห็นความสำคัญของพลังงานที่ยั่งยืนในการเยียวยาสภาวะโลกร้อน”

นอกจากการพูดในคืนวันศุกร์แล้ว ท่านนายกฯ ยังได้พูดผ่านสื่ออื่นว่า “ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ ก็ไม่มีแดดทั้งปี รวมถึงแบตเตอร์รี่ก็ไม่เพียงพอ ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ เพราะมีต้นทุนสูง คนจนไม่สามารถทำได้ และหากจะนำเข้าระบบ ก็จะต้องทำสายส่งเพิ่มขึ้น ก็ไม่สามารถทำได้” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 28 พ.ค.58)

คราวนี้แหละครับยิ่งตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าท่านไม่เข้าใจความจริง (1) ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีแดดเกือบสม่ำเสมอทั้ง 12 เดือนในทุกภาค เยอรมนีอยู่ใกล้ขั้วโลกมีแดดปีละ 7-8 เดือน ทำไมเขาทำได้ (2) แบตเตอรี่ ไม่ต้องนำเข้า (3) ถ้าใช้ถ่านหินก็นำเข้าไม่ใช่เหรอครับทั้งตัวถ่านหินและเครื่องจักร (4) ขอบคุณที่ยังคิดถึงคนจนและ (5)

สรุปผมว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้ถูกผี Fossilized Thinking (ความคิดแบบเปลี่ยนให้เป็นฟอสซิล) เข้าสิงเรียบร้อยโรงเรียนฟอสซิลไปแล้วครับ ใครมีน้ำมนต์วัดไหนดีๆ ช่วยทีเถอะ สงสารท่านจริงๆ ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น