xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

กระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นสูงในช่วงปลายปี 2556 โดยเฉพาะหลังการยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมา กระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งก็ยิ่งมีสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดวันเลือกตั้ง ประชาชนจำนวนมากจึงแสดงจุดยืนและปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อหยุดยั้งการเลือกตั้งเอาไว้ก่อน

การเลือกตั้งช่วงต้นปี 2557 จึงไม่อาจกระทำได้อย่างราบรื่น และท้ายที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีการตัดสินจากศาลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเมืองเข้าสู่ทางตัน และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2557

หนึ่งปีผ่านไปมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณแห่งการปฏิรูปยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก ความต้องการดั้งเดิมของประชาชนที่ประสงค์ให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งก็เริ่มย้อนกลับมาอีกครั้ง

นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนปลายเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.56 ต้องการให้มีการปฏิรูปให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบการเมืองและสังคมยังคงเป็นแบบเดิม ยังมีปัญหาต่าง ๆดำรงอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านั้นยากจะได้รับการแก้ไขหากผู้บริหารประเทศเป็นนักการเมืองที่มาจากระบบการเลือกตั้งแบบเดิม

จากผลการสำรวจของนิด้าโพลจะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าระบบการเมืองและการเลือกตั้งที่ได้รับการออกแบบโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถผลิตนักการเมืองที่มีคุณภาพซึ่งมุ่งทำงานเพื่อประเทศชาติได้อย่างเพียงพอ พวกเขาจึงคาดหวังให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

เราจึงต้องกลับมาพิจารณาว่ารัฏฐาธิปัตย์อันได้แก่ คสช.และรัฐบาลมีความประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการประชาชนหรือไม่

เท่าที่สังเกตดูท่าทีของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ดูเหมือนจะมีจิตใจลังเลเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและไม่ค่อยอยากจะปรับรื้อระบบเก่าๆและสร้างระบบใหม่ๆขึ้นมามากนัก โดยมีการกล่าวหลายครั้งหลายคราว่าจะปล่อยให้การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า

การทำงานในระยะปีกว่าที่ผ่านมามุ่งเน้นในเรื่องการสร้างระเบียบและความเรียบร้อยทางสังคมเป็นหลัก รวมทั้งการมุ่งแก้ปัญหาเพื่อตอบสนองแรงกดดันจากต่างชาติในเรื่องการประมงและการค้ามนุษย์ สำหรับการปฏิรูปประเทศยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากนัก

แม้แต่เรื่องการปฏิรูปพลังงานซึ่งเป็นความต้องการอย่างเร่งด่วนของประชาสังคมไทย เพราะเป็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแท้จริง ก็ยังไม่มีท่าทีชัดเจนเท่าที่ควร ทั้งที่เรื่องนี้หากกระทำได้สำเร็จจะเป็นการวางรากฐานและสร้างหลักประกันความรุ่งเรืองของประเทศได้อย่างยาวนาน

ผมเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีอาจมีความกังวลบางอย่างจึงไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้อย่างเต็มที่ เช่นความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันจากต่างชาติ หรือไม่อยากถูกวิพากษ์วิจารณ์สืบทอดอำนาจ หรืออาจไม่ประสงค์ที่จะสร้างความขัดแย้งที่เกิดจากกระบวนการปฏิรูป เพราะว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมมีคนเสียประโยชน์ มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มที่สูญเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงอาจมีพลังอำนาจบางอย่างที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่อยากเข้าไปยุ่งมากนัก

อย่างไรก็ตามกระแสของประชาชนจำนวนมากในปัจจุบันดูเหมือนจะฝากความหวังในตัวนายกรัฐมนตรีค่อนข้างสูง คนจำนวนมากเห็นว่าในช่วงเวลานี้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากและมีแนวโน้มใช้อำนาจอย่างมีเหตุมีผล และมีคุณธรรมกำกับ พวกเขาจึงอยากให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปฏิรูปประเทศให้มากขึ้น ปัญหาหลายๆอย่างหากไม่ดำเนินการแก้ไขหรืออย่างน้อยก็วางรากฐานเอาไว้ในระยะนี้ ก็ยากที่จะแก้ไขได้ในอนาคต

ผมคิดว่าเมื่อมีประชาชนจำนวนมากหนุนหลังเช่นนี้แล้ว ก็น่าจะตัดสินใจสลัดข้อกังวลหรือความกริ่งเกรงใดๆที่เป็นกำแพงกั้นไม่ให้ตัดสินใจปฏิรูปออกไปเสีย และลองไตร่ตรองดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่สมควรดำเนินการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพื่อวางรากฐานที่มั่นคงแก่อนาคต จากนั้นก็ตัดสินใจทำเรื่องใหญ่ๆบ้าง อาจจะทำสองหรือสามเรื่องในช่วงปีสองปีนี้ก็ได้

สำหรับการเลือกตั้งนั้นหากเกิดขึ้นในปีนี้หรือปีหน้า ก็เป็นที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เพราะว่าระบบการเลือกตั้งที่ได้รับการออกแบบจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือที่มีการเสนอโดย สปช. หรือ แม้แต่ครม. เองก็ตาม ผมคิดว่าแนวโน้มของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก ซึ่งเท่ากับว่าประเทศก็จะหวนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ อีกครั้ง

การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของสังคมไทยในเวลานี้ แต่จะไปได้แค่ไหนอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น