ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ฝันหวานจากหอการค้าไทยที่ออกมาประเมินเศรษฐกิจปีนี้ว่าผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และ เริ่มส่งสัญญาณกำลังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ นับเป็นการปลอบประโลมใจคนไทยที่ต่างพากันรัดเข็มขัดหน้าเหี่ยวแห้งในเวลานี้เป็นอย่างดี หอการค้ายังคาดหวังอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว การค้าชายแดน จะช่วยฉุดดึงเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซาให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3.5%
แต่ความจริงก็ยังเป็นความจริงวันยังค่ำ ความจริงที่หอการค้าไทยเองก็ยอมรับว่า ภาค การเกษตร ส่งออก และอุตสาหกรรมยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งตัวเลขที่ออกมาจากหน่วยงานต่างๆ ก็ฟ้องเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปรวบยอดจากการเชิญประธานและหอการค้า 76 จังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมประชุมประเมินภาวะเศรษฐกิจและทบทวนยุทธศาสตร์การค้าใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมาก็ยังมองเห็นความหวังว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ จะกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป
“เศรษฐกิจได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่ในความรู้สึกของประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเท่าที่ควร” นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวแบบให้ความหวัง และเสนอแนะให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เร่งมือบูมเศรษฐกิจชายแดนและท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ในวันถัดมา กระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาแถลงตัวเลขส่งออกประจำเดือนเม.ย. 2558 ว่าติดลบ 1.70% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปีนี้ แต่มีสัญญาณดีขึ้นเพราะติดลบน้อยลงกว่าเดิม
ถ้อยแถลงของกระทรวงพาณิชย์ สอดรับกับหอการค้าที่วาดหวังว่าเดี๋ยวเศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. 2558 มีมูลค่า 16,900.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.70% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบปีนี้ ส่วนมูลค่าที่ส่งออกได้น้อยและต่ำสุดในรอบ 3 ปี เพราะเดือน เม.ย. มีวันหยุดราชการมาก ไม่ได้มีปัจจัยอะไร ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,423.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.84% โดยไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 522.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ทิศทางการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ อาจจะเป็นเดือนหน้าหรือเดือนถัดไป เพราะสัญญาณต่างๆ เริ่มดีขึ้น” นั่นเป็นการประเมินของนายสมเกียรติ ที่ดูจากการนำเข้าของประเทศคู่ค้าซึ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สหรัฐฯยังคงนำเข้าต่อเนื่อง โดยเดือน เม.ย.การส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.4% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 กลุ่มตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ขยายตัว 3.5% โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนามที่โตจากการค้าชายแดน และจีนที่กลับมาขยายตัว 1.1% เป็นบวกครั้งแรกในรอบปี โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) ยังลดลง 3% และ 3.5% เพราะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และยังมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและยูโรอ่อนค่า ทำให้คำสั่งซื้อชะลอตัว แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
หากเจาะลงในรายละเอียดการส่งออกในเดือน เม.ย. พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ยังหดตัวตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยลดลงถึง 3.9% สินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ยางพารา ลดลง 25.9% ทูน่ากระป๋อง ลดลง 10.6% ข้าวลด 2.9% แต่ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 5.4%, 16% , 18.5% และ 41.1% ตามลำดับ
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ลดลงเพียง 0.3% สินค้าที่ลดลงส่วนใหญ่ยังคงเป็นน้ำมันที่ลดลง 16.8% และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทั้งเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ที่ลดลง 22.2% และ 13% โดยแผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้น 20%, 9%, 8.5% และ 2.3% ตามลำดับ ซึ่งรวมถึงทองคำที่เดือนนี้ส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึง 133% หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนำเข้ามาเพื่อเก็งกำไร
สำหรับตัวเลขส่งออกก่อนหน้านี้ เดือน ม.ค.ติดลบ 3.46% ก.พ. ลบ 6.15% และ มี.ค. ลบ 4.45% โดยการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 70,265.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.99% การนำเข้ามีมูลค่า 69,359.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.53% โดยได้ดุลการค้ามูลค่า 905.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผลกระทบต่อเนื่องจากการส่งออกหดตัว ราคาสินค้าในภาคการเกษตรตกต่ำ และกำลัง ซื้อ ที่ถดถอย ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ถึงกับดิ่งลงต่ำสุด ใน รอบ 7 เดือน และยังเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันอีกด้วย
จากรายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนเม.ย. 2558 จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.7 ในเดือนมี.ค. ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่ ต.ค. 57
ทั้งนี้ ค่าดัชนีอุตสาหกรรมที่ลดลงมายอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการโดยรวมที่ปรับตัวลดลง โดยปัจจัยลบที่กระทบความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ คือความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและการส่งออกที่ชะลอตัว
นอกจากนั้น ส.อ.ท.ยังร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2558” พบว่า ผู้ประกอบการเชื่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอยู่ในภาวะทรงตัว ร้อยละ 50.68 รองลงมา ร้อยละ 23.42 ระบุว่า จะแย่ลง ร้อยละ 22.06 จะปรับตัวดีขึ้น และร้อยละ 3.84 ระบุว่าไม่แน่ใจ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงครึ่งปีหลังมาจากภาวะเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 50.92, 37.49, 36.93, 24.70, 16.55 ตามลำดับ
ส.อ.ท. ยังเปิดเผยตัวเลขยอดขายรถยนต์ ในเดือนเม.ย. 2558 ว่ามีจำนวน 54,058 คัน ลดลงร้อยละ -26.2 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ 4 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 251,800 คัน ลดลงร้อยละ -15.3
เรียกได้ว่าข่าวร้ายมากันเป็นระลอกเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสแรกปี 2558 พบว่า แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง โดยสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยหนี้สินที่ก่อให้เกิดสินทรัพย์และกึ่งสินทรัพย์ (ที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์และรถจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเนื่องจากการก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.0 จากการปล่อยสินเชื่อไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก
สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคอื่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ชะลอลงจากร้อยละ 17.6 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว มูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2558 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 92,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ขณะที่สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 คิดเป็นมูลค่า 15,469 ล้านบาท ยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 มูลค่า 8,933 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นปี 2557 มีมูลค่า 10,432,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.3 ต่อจีดีพี
ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ท่วมท้นดังกล่าว สภาพัฒน์ มองว่า แก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีการเปิดดำเนินการของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับผู้กู้รายย่อย อาจส่งผลให้มูลค่าการกู้ยืมนอกระบบปรากฏในบัญชีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น
สภาพัฒน์ ยังรายงานตัวเลขการจ้างงาน ไตรมาสแรกของปีนี้ด้วยว่า ผู้มีงานทำ 37,611,521 คน ลดลงร้อยละ 0.5 โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลง ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต ก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร ส่วนอัตราการว่างงานไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีผู้ว่างงาน 361,297 คน เท่ากับ ร้อยละ 0.94 ใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานร้อยละ 0.89 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าภาพใหญ่ของเศรษฐกิจยังร่อแร่ แม้จะมีความหวังว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม
สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ สภาพหนี้สินพะรุงพะรังไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะแค่ประชาชนตาดำๆ เท่านั้น แม้แต่การเงินการคลังของประเทศเองก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดนัก โดยเฉพาะผลพวงจากโครงการประชานิยม และความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารกิจการของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ก่อให้เกิดภาระหนี้ของภาครัฐ กระทั่งมีไอเดียขายหุ้นล้างหนี้จากมันสมองของขุนคลัง
ตามแผนการขายหุ้นในกิจการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือเพื่อนำเงินมาใช้หนี้นั้น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ว่า กำลังเตรียมพิจารณาขายหุ้นในบริษัทเอกชนที่กระทรวงการคลังถือไว้ตามแผนล้างหนี้ภาครัฐ โดยจะพิจารณาขายหุ้นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ก่อน และบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนบริษัทใน ตลท.ยังอยู่ขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะได้เงินในส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท
ในวงเงินหนี้ภาครัฐกว่า 7.2 แสนล้านบาทนั้น เป็นหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5.2 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็นหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), หนี้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และหนี้กองทุนประกันสังคม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการออกกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
แนวทางการออกกฎหมายพิเศษเพื่อบรรเทาภาระงบประมาณที่ต้องตั้งขึ้นสำหรับการชำระหนี้ที่เฉลี่ยในแต่ละปีถึง 6.4 หมื่นล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย โดยในปีงบประมาณ 2559 มีการตั้งงบชำระหนี้เฉพาะเงินต้น 6.1 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย ถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักของรัฐบาล ซึ่งรมว.คลัง เชื่อว่า การออกกฎหมายเพื่อล้างหนี้จะเป็นแนวทางที่ดีกว่าเพราะจะสามารถยืดหยุ่นระยะเวลาในการชำระหนี้ได้
ทันทีที่กระทรวงการคลังมีแผนการขายหุ้นทิ้ง ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และมีการตั้งข้อสังเกตไปต่างๆ นาๆ เช่น หากขายหุ้นปตท.ออกไปก็เท่ากับแปรรูปไปเป็นเอกชนอย่างเนียนๆ ขณะที่ตลาดหุ้นตอบรับข่าวดังกล่าวด้วยการปรับตัวลงลงแดงเถือกทั้งกระดานและยังซึมยาว เพราะความไม่ชัดเจน
หนึ่งในคนสำคัญที่ออกมาวิจารณ์นโยบายขายหุ้นล้างหนี้คือนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่กระทรวงการคลังจะขายหุ้นเพื่อใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าว
“ข่าวว่ากระทรวงการคลังจะขายหุ้นในมือ เพื่อโปะขาดทุนจำนำข้าว แนวคิดนี้ผมเคยเขียนไว้ในเฟซบุ๊กในปี 2557 ตั้งแต่ก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาล แต่ข้อมูลที่ได้เพิ่มเติม ทำให้ผมเปลี่ยนใจแล้ว บัดนี้ ผมไม่เห็นด้วย เพราะ 1. เนื่องจากจะได้เงินไม่มาก จึงไม่คุ้มกับผลกระทบต่อภาพลักษณ์ นักวิเคราะห์สากลอาจจะพาลเข้าใจผิดว่าฐานะประเทศร่อแร่เต็มที 2. ประชาชนจะเข้าใจไขว้เขวได้ ว่ากระทรวงการคลังไม่จริงใจที่จะเรียกให้ผู้ที่ก่อความเสียหายต้องชดใช้ก่อน
3. การบริหารเงินกู้ระดับ 7-8 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังสามารถทำได้ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว
4. การจะขายหุ้นใดหรือไม่ เมื่อใด ควรพิจารณาต่างหากจากการบริหารขาดทุนจำนำข้าว การเอาสองเรื่องมาปนกัน ก่อความเข้าใจผิด 5. การจะขายหุ้น ควรจะมีการศึกษา และมีการตั้งคำถามใหญ่ ว่ารัฐบาลควรจะถือหุ้นอยุ่ในธุรกิจเอกชนหรือไม่ การถือต่อไป มีข้อดีข้อเสียอย่างไร รัฐบาลยังควรมีรัฐวิสาหกิจ หรือให้เอกชนทำกันเองทั้งหมดเหมือนบางประเทศ ต้องตอบโจทย์ในภาพใหญ่เสียก่อน” นายธีระชัย ระบุ
กล่าวสำหรับหนี้สินจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวตอนหนึ่งในงาน “มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า “ในส่วนปัญหาข้าวค้างสต๊อกกว่า 18 ล้านตัน คนที่ทำพลาดในการบริหารจัดการข้าวจนเกิดเป็นหนี้ 6 - 7 แสนล้านบาท ก็ต้องรับผิดชอบ”
ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ถือหุ้นในกิจการต่างๆ กว่า 20 บริษัท แต่กระแสในตลาดหุ้นคาดการณ์กันว่า 10 หุ้นที่มีโอกาสถูกกระทรวงการคลังตัดขายเพื่อนำไปชำระหนี้ ได้แก่ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) สัดส่วน 13.81% บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) สัดส่วน 16.67% ธนาคารทหารไทย (TMB) สัดส่วน 25.98%บมจ.เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม (NEP) สัดส่วน 20.45% บมจ.อสมท (MCOT) 65.80% บมจ.การบินไทย (THAI) 51.03% บมจ.ปตท. (PTT) 51.11% บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) 9.98% บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 70.00% และ บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) สัดส่วน 1.98%
การดำริว่าจะมีการขายหุ้นล้างหนี้ของกระทรวงการคลัง ต้องนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่เคยมีรัฐบาลไหนจนตรอกกระทั่งต้องบริหารจัดการหนี้ภาครัฐด้วยวิธีการเช่นนี้ การขายหุ้นของกระทรวงคลังที่ผ่านๆ มา จะดำเนินการเป็นรายตัวในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นใหม่เท่านั้น
ขณะที่ชาวประชากำลังหน้าแห้งและรอลุ้นเศรษฐกิจปีนี้จะรอดอย่างที่ฝันหวานหรือร่อแร่ แม้แต่คลังก็ยังถังแตกจนมีแผนเร่ขายหุ้นใช้หนี้อย่างที่กำลังเตรียมการกันอยู่ในเวลานี้ พลันปรากฏมีข่าวเขย่าขวัญเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ "หม่อมอุ๋ย" รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาอีกครั้ง ตามวัฎจักรข่าวลือเกี่ยวกับหม่อมอุ๋ย ที่มีมาเป็นระยะๆ ตามช่วงเวลาประเมินผลงานรัฐบาล 3เดือน 6เดือน และ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร
ครั้งนี้ มีข่าวปล่อยว่ามีการทาบทามนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทนหม่อมอุ๋ย เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้สดใส โดยคาดว่าจะปรับทีมเศรษฐกิจได้ภายในเดือนก.ค.นี้ แต่งานนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ ออกมาปัดข่าวลือทันควัน
ปล่อยฝีมือจนหมดสิ้นแล้ว เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้นอีก ดูท่า "หม่อมอุ๋ย" หัวหน้าทีมและลูกทีมเศรษฐกิจ คงอยู่ยากซะแล้ว