“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ร้อยละ 50.68 เชื่อว่าทรงตัว ส่วนร้อยละ 23.42 ระบุว่าแย่ลง ขณะที่้ร้อยละ 22.06 เชื่อปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลสุดคือเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว ขณะที่ข้อเสนอแนะรัฐบาล ควรทบทวนปรับขึ้นค่าแรง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2558” โดย นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.68 เห็นว่าจะทรงตัว รองลงมาร้อยละ 23.42 ระบุว่าจะแย่ลง ขณะที่ร้อยละ 22.06 จะปรับตัวดีขึ้น และร้อยละ 3.84 ระบุว่าไม่แน่ใจ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศร้อยละ 50.92 การเมืองภายในประเทศ ร้อยละ 37.49 ภาวะเศรษฐกิจโลกร้อยละ 36.93 ราคาน้ำมันร้อยละ 24.70 อัตราแลกเปลี่ยนร้อยละ 16.55 ส่วนแนวทางการรับมือของผู้ประกอบการในกรณีที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค พบว่าผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมพร้อมร้อยละ 51.16 มีการเตรียมพร้อมร้อยละ 48.84 ได้วางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 49.10 วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้าร้อยละ 38.79 ศึกษาตลาด และติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ด้านแนวทางการรับมือกรณีค่าเงินบาท พบว่าผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 52.92 มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 47.08 วางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 41.77 วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้า สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อค่าเงินบาทที่เหมาะสมส่วนใหญ่เห็นว่าร้อยละ 28.38 อยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 21.42 น้อยกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ17.83 อยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 8.87 อยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์
การสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการเอื้อต่อการดำเนินกิจการในกรณีราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเอื้อต่อการดำเนินกิจการมากที่สุดร้อยละ 48.04 ค่อนข้างเอื้อต่อการดำเนินกิจการร้อยละ 32.38 ไม่ค่อยเอื้อต่อการดำเนินกิจการร้อยละ 12.47 และไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจการเลยร้อยละ 7.11 ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการเอื้อต่อการดำเนินกิจการในกรณีราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเห็นว่าเอื้อต่อการดำเนินกิจการมากที่สุดร้อยละ 13.19 ค่อนข้างเอื้อต่อการดำเนินกิจการร้อยละ 16.63 ไม่ค่อยเอื้อต่อการดำเนินกิจการร้อยละ 29.33 และไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจการเลยร้อยละ 40.85
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น จากการสำรวจพบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการเสนอแนะมากที่สุดคือ รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเนื่องจากส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้า เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทางด้านเงินทุน/สินเชื่อ อัตราภาษี เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *