xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลรัฐขาดทุน โรงพยาบาลเอกชนโคตรรวย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

14 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เราได้ใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่รวมงบบุคลากรไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนยินดีอย่างยิ่งที่มีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า เป็นโรคร้ายแรงเรื้อรังแค่ไหนสามารถเข้าถึงการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบันได้ง่าย จากผลสำรวจที่ผ่านมานโยบายประชานิยมที่ให้รักษาทุกโรคด้วยการจ่ายเงินเพียง 30 บาทเท่านั้น สามารถครองใจประชาชนได้มากกว่าทุกโครงการที่ผ่านมา

ความเจ็บป่วยที่เรื้อรัง รุนแรง จากเดิมที่ไม่สามารถไปหาหมอได้เพราะจนทุนทรัพย์ ก็สามารถรักษาได้อย่างง่ายดาย ประชาชนบางกลุ่มที่ติดใจในโครงการนี้ถึงขนาดรู้สึกติดบุญคุณกับผู้คิดค้นโครงการนี้ด้วยซ้ำไป

คงไม่มีใครอยากให้คนที่จนต้องหมดหนทางเมื่อเจ็บป่วย แต่ความสำคัญตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมาก็คือ เราจะไปรอดได้นานแค่ไหนเมื่อเทียบกับคุณภาพการรักษาและฐานะการคลังของประเทศ

ประเทศที่เน้นการรักษาพยาบาลฟรีในรูปแบบรัฐสวัสดิการ ก็ต้องตามมาด้วยการจัดเก็บภาษีได้ฐานกว้างและได้ปริมาณที่มาก เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดรัฐสวัสดิการนั้นจะไม่กระทบต่อฐานะการคลังจนถึงขั้นประเทศชาติล้มละลายได้ ดังนั้นถ้าทุ่มงบประมาณอย่างเต็มที่ก็ต้องมั่นใจว่าประเทศนั้นมีงบประมาณเพียงพอด้วย

เพราะถ้างบประมาณไม่เพียงพอเมื่อไหร่ หากจะไม่ให้กระทบต่อฐานะการคลัง ก็จะต้องไปกระทบต่อฐานะของโรงพยาบาลของรัฐแทน ผลที่ตามมาก็คือโรงพยาบาลของรัฐอาจจะต้องขาดทุน หรือต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง ซึ่งในบางกรณีก็ต้องส่งผลกระทบต่อบุคลลากร คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของรัฐ คุณภาพยารักษาโรค ซึ่งแน่นอนว่าถึงจุดหนึ่งโรงพยาบาลของรัฐก็อาจจะไม่ใช่ที่พึ่งพิงของชนชั้นกลางอีกต่อไป

ส่วนคนจนก็ไม่ต้องพูดถึง รักษาโรคตามต้นทุนที่ต้องควบคุมในโรงพยาบาลของรัฐไม่ให้ขาดทุน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2556 พบว่าตลอด 6 ปีนี้มีค่าบริการของโรงพยาบาลรัฐที่เรียกเก็บเงินไม่ได้จาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ในระดับที่สูง โดย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีค่าบริการเรียกเก็บไม่ได้รวมกัน 127,758 ล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้วมีค่าบริการที่เรียกเก็บไม่ได้ประมาณ 30%

เมื่อดูในรายละเอียดก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก

พ.ศ. 2551-2556 โรงพยาบาลชุมชน มีค่าบริการที่เรียกเก็บไม่ได้รวมกัน 6 ปี จำนวน 13,712 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 10% ของค่าบริการที่โรงพยาบาลชุมชนเรียกเก็บทั้งหมด

พ.ศ. 2551-2556 โรงพยาบาลศูนย์มีค่าบริการที่เรียกเก็บไม่ได้รวมกัน 6 ปี จำนวน 50,945 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 45% ของค่าบริการที่โรงพยาบาลศูนย์เรียกเก็บทั้งหมด

พ.ศ. 2551-2556 โรงพยาบาลทั่วไป มีค่าบริการที่เรียกเก็บไม่ได้รวมกัน 6 ปี จำนวน 58,376 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 50%-55% ของค่าบริการที่โรงพยาบาลทั่วไปเรียกเก็บทั้งหมด

การที่กระจายงบที่แสดงออกมาถึงค่าบริการที่เรียกเก็บได้ไม่เท่ากัน ถ้าไปถามโรงพยาบาลชุมชนอาจไม่รู้สึกอะไรมากเท่าไหร่ แต่โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปคงจะรู้สึกถึงผลกระทบเหล่านี้มากกว่า การจัดสรรเช่นนี้ก็อาจจะทำให้เกิดการแบ่งแยกพวกในวงการหมอและโรงพยาบาลไปโดยปริยาย

ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงได้มีโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งต้องขาดทุน และรัดเข็มขัดอย่างหนัก จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการรักษา คุณภาพยา คุณภาพเครื่องมือแพทย์ คุณภาพชีวิตของแพทย์และพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องเดือดร้อนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมอที่มีคุณภาพที่ไหนก็คงไม่อยากมาโรงพยาบาลที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่พร้อม พยาบาลก็คงไม่อยากอยู่เวรที่ต้องทำงานหนักคนป่วยมากแต่เงินเดือนน้อย แถมงบประมาณไม่เพียงพอ ยาก็ลดคุณภาพลง โรงพยาบาลแต่ละแห่งลดค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากร ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องทำงานในโรงพยาบาลรัฐต้องทำงานหนักขึ้น ขาดขวัญและกำลังและไหลออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันมากขึ้น ไม่ต้องพูดถึงการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น

ถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ก็คงจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุได้เป็น 3 ประการ

1.งบประมาณยังไม่เพียงพอต่อสภาพความเป็นจริง หรือไม่? และถ้าไม่เพียงพอเราพร้อมที่จะจัดเก็บรายได้เพิ่มได้หรือไม่ในทางใด หากจัดสรรให้ตามการใช้จ่ายจริงโดยไม่มีรายได้เพิ่มจะกระทบฐานะการคลังหรือไม่? จะกระทบฐานะทางการเงินของโรงพยาบาล หรือควรลดค่าใช้จ่ายได้หรือไม่อย่างไร?

2.การจัดสรรงบประมาณยังมีความน่าเคลือบแคลงสงสัยในเรื่อง การกระจายงบประมาณและความโปร่งใส ว่าการใช้จ่ายในการบริหารส่วนกลางของสำนักงานประกันสุขภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือไม่?

3.ผู้ป่วยได้ตระหนักให้ดูแลตนเอง ด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคและดูแลสุขภาพตนเองหรือไม่ หรือมีความไม่ตระหนักเพราะคิดว่าจะมีงบประมาณดูแลความเจ็บป่วยได้หมดโดยไม่ต้องมีความกังวลใดๆ หรือไม่ อย่างไร?

ดังนั้นจึงอย่าแปลกใจที่หลายคนจะต้องไปแสวงหาไปเข้าโรงพยาลเอกชนแทน พอหันกลับไปมองที่โรงพยาบาลเอกชน ก็อย่าแปลกใจที่มีเครือข่ายหรือญาติพี่น้องของนักการเมืองตลอดจนหุ่นเชิดของนักการเมืองได้เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเอกชนไว้ล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้แล้ว

และก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยสามารถกระจายหุ้นระดมทุนเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ผลก็คือจากธุรกิจที่ดูเหมือนนักบุญก็สามารถกลายสภาพกลายเป็นปีศาลซาตานที่หาหนทางในการขูดเลือดเนื้อกับผู้ป่วยเพื่อแสวงหาผลกำไรสูงสุดได้ อีกทั้งหมอที่จะอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งต้องทำยอดขายให้ได้ตามเป้าทางการตลาดเพื่อทำกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นโรงพยาบาล

ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐ และความต้องการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีมากขึ้น ได้ส่งผลทำให้หมอและพยาบาลไหลเข้าสู่โรงพยาบาลเอกชนรักษาโดยเน้นการแสวงหาผลกำไรสูงสุดไปด้วย ค่ายาก็คิดกับผู้ป่วยแพงกว่าราคาในตลาดตั้งแต่หลายสิบเท่าตัวไปจนถึงหลายร้อยเท่าตัว ดังนั้นผู้ป่วยแม้ป่วยเพียงน้อยนิดก็อาจถูกจ่ายยาหรือโน้มน้าวให้รักษาเกินความจำเป็นเพื่อสนองตอบความโลภของผู้ถือหุ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเราจึงเห็นการต่อเติมและก่อสร้างของอาณาจักรโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่ และโก้หรู ไม่แพ้โรงแรมห้าดาว ที่เรากำลังภาคภูมิใจว่าเราจะเป็นฮับของการรักษาตัวของภูมิภาคนี้

บางทีประเทศไทยอาจกำลังจะหลงทางครั้งใหญ่ เพราะแทนที่เราจะมัวดีใจเพราะเรามีโรงพยาบาลใหม่มากขึ้น แต่ความจริงแล้วหากรัฐบาลกำหนดเป็นทิศทางของประเทศ เน้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรม ออกกฎหมายควบคุมอาหารก่อโรคเพื่อลดความเจ็บป่วยทั้งหลาย และให้ความรู้ประชาชนในการดูแลพึ่งพาตัวเองให้ได้มากขึ้น การสาธารณสุขของไทยก็อาจจะมั่นคงและยั่งยืนกว่านี้

จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ที่เราต้องแบกรับงบประมาณมหาศาลกับ โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ฯลฯ ทั้งๆที่ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังก็เพราะการบริโภคตามใจปาก หรือไม่ก็เป็นเพราะกฎหมายไม่ควบคุมอาหารดีเพียงพอ คนป่วยที่ประเทศต้องแบกรับจำนวนไม่น้อยเป็นเพราะ ดื่มสุรามาก สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาก บริโภคมีไขมันทรานส์อยู่เกลื่อนอาหาร อาหารมียาฆ่าแมลงมาก จะเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีทั้งประเทศหรือไม่?

การสาธารณสุขประเทศถึงเวลาเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ก่อนล่มสลาย!!!


15 ปี งบ 30 บาท รักษาทุกโรค “ภาระประเทศ หรือ การลงทุนเพื่อสุขภาพ?”
15 ปี งบ 30 บาท รักษาทุกโรค “ภาระประเทศ หรือ การลงทุนเพื่อสุขภาพ?”
จากจุดเริ่มต้น 1,202 บาทต่อประชากรในปี 2545 สู่อัตรา 3,028 บาทต่อประชากรในปี 2559 ด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวภายใต้ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ช่วง 15 ปี จำนวน 1,826 บาทต่อประชากร ถูกนำมาเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่างกันถึง 10 เท่า เพื่อสะท้อนให้เห็นการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวที่เกินจริง นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมงบเหมาจ่ายรายหัว ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงแนวโน้มภาระงบประมาณในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น