ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การละสังขารของ “พระเทพวิทยาคม” หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักกันในชื่อ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” แห่งวัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังความโศกเศร้าให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ ในฐานะพระเถระและพระเกจิอาจารย์ที่มีผู้เคารพนับถือมากที่สุดรูปหนึ่ง
ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศหลั่งไหลกราบสักการะสรีระหลวงพ่อคูณ ณ หอประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานที่สวดพระอภิธรรมศพอย่างล้นหลามในช่วง 7 วันของการบำเพ็ญกุศล
ขณะเดียวเดียวการละสังขารของ “นักบุญแห่งที่ราบสูง” ผู้นี้ ยังถือเป็น “มรณานุสติ” และ “มรดกธรรม” ที่ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์สงฆ์ไทยอีกด้วยเมื่อเป็นที่ชัดแจ้งว่า หลวงพ่อคูณได้ทำ “พินัยกรรม” เอาไว้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2543 ขณะมีอายุ 77 ปี โดยมอบสังขารเพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่” ของนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ถ้าจะกล่าวว่า การละสังขารของหลวงพ่อคูณคือการแสดงธรรมครั้งสุดท้ายก็คงจะไม่เกิดเลยไปจากความจริงเลยแม้แต่น้อย
จากพระเกจิสู่วิถี “อาจารย์ใหญ่”
“ภายหลังที่อาตมาถึงมรณภาพลง
1.ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากละสังขาร เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาคต่อไป
2.พิธีกรรมศาสนา การสวดอภิธรรมศพ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำพิธีสวดพระอภิธรรมศพที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน
3.การจัดทำพิธีบำเพ็ญกุศล เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทำพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผา ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง ขอนแก่น หรือวัดอื่น
และ 4.เมื่อดำเนินเสร็จสิ้นแล้ว อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม”
มอบร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ มข.
ให้สวดพระอภิธรรมศพ 7 วันที่คณะแพทยศาสตร์ มข.
หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเป็นอาจารย์ใหญ่ ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภช
และที่สำคัญคือให้ฌาปนกิจศพหรือเผาที่วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น มิใช่ที่วัดบ้านไร่อีกต่างหาก จากนั้นให้นำอัฐิ เถ้าถ่านและเศษอังคารทั้งหมดไปลอยที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย
เนื้อหาและถ้อยความที่ถูกบันทึกเอาไว้ในพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ ราวกับรู้ว่า ถ้ามิได้สั่งเสียเอาไว้ให้เสร็จสรรพจะนำมาซึ่งความยุ่งยากวุ่นวายสารพัดสารพัน และในช่วงแรกก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เนื่องเพราะมีลูกศิษย์บางคนต่อรองโดยอ้างว่าหลวงพ่อคูณเป็นพระเกจิอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหานับถือเป็นจำนวนมาก จึงอยากจะให้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่ก่อน 7 วัน
แต่สุดท้ายก็ไม่อาจทัดทานเจตนารมณ์ของหลวงพ่อได้
นอกเหนือจากพินัยกรรมแล้ว ยังมีบันทึกกล่าวของหลวงพ่อคูณเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของหลวงพ่อเอาไว้ชัดเจนอีกด้วยว่า
“...เมื่อกูตายแล้ว กูกลัวว่าศพของกูนี่แหละจะเป็นภาระยุ่งยากของลูกหลาน จะเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะคนที่มาหากู ฝากตัวเป็นศิษย์มีมากมายหลายประเภท มีทั้งดี ทั้งเลว ละโมบ โลภมาก มาแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ นานา โดยไม่กลัวบาปกรรม...อ้างตัวเป็นหลาน เป็นพี่ เป็นน้อง แต่ก็เปล่าด๊อก ถ้าเป็นพี่เป็นน้องของกูอย่างปากว่าจริงๆ ก็จะไม่มาสร้างความวุ่นวายยุ่งเหยิงให้เกิดแน่ กูจึงขอให้โรงพยาบาลมารับศพไปภายใน 24 ชั่วโมง และหลังจากสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าแล้ว ก็ให้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่....”
และสอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของนพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. ที่ให้ให้ข้อมูลว่า “อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของ มข.หลายท่านเคยเข้าไปกราบหลวงพ่อคูณ ผมก็เคยได้ไปกราบท่านและหลวงพ่อได้พูดเสมอว่า อีกหน่อยกูก็ได้ไปอยู่กับมึงแล้ว ซึ่งแสดงถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ของท่านที่ต้องการให้ร่างมาเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อประโยชน์สืบไป และท่านมักสั่งอย่างจริงจังเสมอว่า ให้ทำตามพินัยกรรม ไม่อนุญาตแม้กระทั่งลูกศิษย์จะขอบางส่วนของร่ายกายท่านไปไว้ที่วัดบ้านไร่”
สำหรับการเป็นอาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อคูณนั้น นพ.ชาญชัยได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลังเสร็จสิ้นพิธีบำเพ็ญกุศลครบ 7 วัน จะมีการนำร่างของหลวงพ่อไปดองเป็นเวลา 1 ปี โดยได้สั่งทำอ่างแก้วเป็นกรณีพิเศษ และญาติโยมสามารถเข้าไปสักการบูชาได้ จากนั้นจะนำร่างขึ้นมาให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนเป็นเวลา 2 ปี เมื่อครบแล้วในปีที่ 3 จะมีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษสำหรับทุกคนที่อุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่
ที่น่าสนใจก็คือ อานิสงส์ผลบุญของการที่หลวงพ่อคูณตัดสินใจมอบสังขารให้เป็น “อาจารย์ใหญ่” ยังได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งทำให้พุทธศาสนิกชนจำนวนมากเดินตามรอยธรรมของหลวงพ่อคือ บริจาคร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่หรือครูใหญ่ของนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น นางปริญญา ศรีรัตนกูล อายุ 56 ปี ชาว จ.นครราชสีมา ที่บอกว่า ศรัทธาในตัวหลวงพ่อคูณที่มีจิตใจเมตตาและมีแนวคิดที่เป็นธรรมช่วยเหลือสังคม โดยส่วนตัวตั้งใจที่จะบริจาคร่างกายอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยินยอมของญาติพี่น้องและลูกหลานว่า จะแจ้งความประสงค์มอบร่างให้คณะแพทย์ศาสตร์สถาบันใด
เช่นเดียวกับนายเติม รักนา อายุ 60 ปี และนางประยูร รักนา อายุ 52 ปี สองสามีภรรยาชาว จ.นครราชสีมา ที่แสดงความประสงค์บริจาคร่างกายให้กับคณะแพทยศาสตร์ มข. โดยนายเติม กล่าวว่า ตนเอง ภรรยา และลูกๆ ตั้งใจมากราบหลวงพ่อคูณ และจะบริจาคร่างกายให้กับคณะแพทยศาสตร์ เพราะเมื่อตายแล้วจะได้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งลูกหลานก็ยินดีด้วย
ด้าน ผศ.ยรรยง ทุมแสน หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนแจ้งความประสงค์บริจาคร่างกายให้กับคณะแพทย์ศาสตร์ มข. เพื่อเป็นครูใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าเป็นผลจากทานบารมีของหลวงพ่อคูณที่เป็นต้นแบบ โดยปกติจะมีผู้มายื่นความประสงค์บริจาคร่างกายเฉลี่ยวันละ 50 ราย แต่หลังจากหลวงพ่อคูณละสังขาร มีเพิ่มขึ้นกว่าปกติวันละกว่า 100 ราย ทำให้ต้องทำบัตรคิวส่งไปให้ที่บ้านในภายหลัง
นี่เป็นการแสดงธรรมครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อคูณในฐานะศิษย์ตถาคตที่ยิ่งใหญ่เหลือประมาณ และจะจารจารึกเอาไว้ในห้วงความทรงจำของพุทธศาสนิกชนคนไทยอย่างมิรู้ลืม
เส้นทางชีวิตพระของมหาชน
กล่าวสำหรับหลวงพ่อคูณนั้น เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วทั้งประเทศ และคนไทยจดจำหลวงพ่อได้ดีจากวัตรปฏิบัติและปฏิปทาที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
หลวงพ่อชอบนั่งยองๆ
หลวงพ่อใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า กู และเรียกขานลูกศิษย์ลูกหาว่า มึง สรรพสำเนียงดำเนินไปแบบภาษาพื้นบ้านเมืองโคราชขนานแท้
เกี่ยวกับการพูดจาของหลวงพ่อคูณ มีเรื่องเล่าขานกันต่อๆ มาว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มายังวัดบ้านไร่เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 เพื่อทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่บุษบกเหนือพระอุโบสถวัดบ้านไร่ ซึ่งหลวงพ่อคูณได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน 72 ล้านบาทโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย บรรดาข้าราชการที่รอรับเสด็จต่างกังวลเกี่ยวกับคำพูดของหลวงพ่อคูณ
หลังจากผ่านพ้นวันนั้นแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหาถามหลวงพ่อว่า “ในหลวงตรัสอะไรกับหลวงพ่อบ้าง”
หลวงพ่อคูณตอบมาว่า “มึงรู้ไหม มือพระองค์เป็นมือคนทำงานอย่างก๊ะชาวไร่ชาวนา แข็งกระด้างมากๆ”
และเมื่อถูกถามอีกว่า “หลวงพ่อใช้คำเรียกพระองค์ว่าอะไร”
หลวงพ่อก็ตอบว่า “พระองค์ตรัสประโยคแรกว่า หลวงพ่อครับ พูดตามปกตินะครับ ผมเป็นคนไทย”
ทั้งนี้ ตลอดเวลาของการดำรงธาตุขันธ์ มีผู้คนไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมายเหลือคณานับ ครอบคลุมไปในทุกวงการ ทุกชนชั้นวรรณะ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาและให้ความเคารพนับถือมากไม่เป็นสองรองใครในประเทศนี้
ทุกคนไปหาเพราะต้องการให้หลวงพ่อช่วย ที่เห็นกันจนเจนตาก็อย่างเช่น ไปให้ฝังตะกรุด ไปให้เคาะหัว ไปให้เหยียบโฉนดที่ดิน และหลวงพ่อก็ช่วยให้กำลังใจสุดความสามารถเท่าที่จะทำได้
จนกล่าวได้ว่า หลวงพ่อคูณคือ “พระของมหาชน” ถึงขนาด “แอ๊ด คาราบาว” หรือยืนยง โอภากุล นำเพลงชื่อ “หลวงพ่อคูณ” ที่แต่งโดย “พยัพ คำพันธุ์ ไปร้องโด่งดังทั่วประเทศเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม กว่าที่หลวงพ่อจะกลายเป็นพระของมหาชน ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางของสมณเพศมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
หลวงพ่อคูณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นบุตรชายคนโตของนายบุญ และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คนคือ
1.พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ)
2.นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
นางทองขาวผู้เป็นมารดา เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่ง เวลาประมาณตี 3 ได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของและกล่าวว่า “เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงามความดี มาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป”
และเทพองค์นั้น ยังมอบดวงแก้วใสสะอาดสุกสว่าง ให้แก่เธอด้วย “ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง”
กระนั้นก็ดี ด้วยบุญทำกรรมแต่งแต่หนหลังทำให้หลวงพ่อคูณและน้องทั้งสองคนต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเล็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงต้องไปอยู่ในความอุปการะของน้าสาว
เมื่ออายุราว 6-7 ขวบ หลวงพ่อคูณเข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ, พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม โดบพระอาจารย์ทั้งสามยังมีเมตตา อบรมสั่งสอนวิชาคาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย
หลวงพ่อคูณบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 มีฉายาว่า ปริสุทฺโธ จากนั้นได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คน และลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
หลวงพ่อคูณอยู่ปรนนิบัติรับใช้และร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อแดงได้ระยะ หนึ่งจนหลวงพ่อแดงเห็นว่า ควรจะศึกษาหาความรู้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จึงได้พาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ
หลังร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อคงจนชำนิชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว ก็ ได้รับคำแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงโดยแรก ๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาจึงจาริกออกไปไกล ๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปาทานทั้งปวง
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากประเทศกัมพูชาสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตแดนทางจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำริให้ก่อสร้าง ถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2496 นอกจากนั้น หลวงพ่อคูณยังดำริให้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค ทั้งจัดสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนละแวกนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ หลวงพ่อคูณถือได้ว่าเป็นพระที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการสงฆ์และพัฒนาท้องถิ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการหาทุนสร้าง “โรงพยาบาลและโรงเรียน”
เฉกเช่นเดียวกับเรื่องวัตถุมงคล หลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493 และถ้าจะกล่าวว่า “ตะกรุด” ให้หลวงพ่อคูณมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทย และดังไปถึงเมืองนอกก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใด
จากนั้น ในเวลาต่อมาหลวงพ่อคูณได้สร้างวัตถุมงคลอีกหลากหลายชนิด จนนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนมีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดปลอดภัย จนเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ลูกหา ตลอดรวมถึงเซียนพระและนักสะสมทั่วไป
ทั้งนี้ วัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณบางรุ่นเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เหรียญรุ่นคุณพระเทพวิทยาคม ปี 2556 เหรียญรุ่นเพชรน้ำเอก ปี 2536 เหรียญรุ่นธนาคารศรีนคร ปี 2521 เหรียญรุ่นคุณพระเทพประทานพร ปี 2536 เหรียญหลวงพ่อคูณ ปี 2517 เหรียญรุ่นเจริญพรบน ปี 2536 เหรียญรุ่นแรก ปี 2512 เหรียญรุ่นนั่งพานชนะมาร ปี 2537 และเหรียญรุ่นสร้างบารมี ปี 2519 เป็นต้น
หลายคนเคยถามหลวงพ่อคูณว่า “...หลวงพ่อฯครับ เครื่องรางของขลังของที่ทำออกมามากมายจ่ายแจกไปนั้น จะคุ้มครองคนบูชาได้อย่างไร...”
หลวงพ่อคุณตอบว่า “...ไอ้นายเอ้ย พวกมึงได้ไป ต้องมีศีลมีธรรม เอาเพียงศีลห้าก็พอ ทำได้ไหม กำให้อยู่ วันนึงๆ มึงจะมีสติกำอยู่ได้กี่ศีล นี่แค่ห้าข้อนะ พระนี่กำตั้ง 227 นะมึง....”
นี่คือความยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อคูณที่สร้างคุณงามความดีทิ้งเอาไว้เป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังเสียสละเพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาในฐานะอาจารย์ใหญ่อีกด้วย