ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แพทย์ รพ.มหาราชนครราชสีมา แถลง “หลวงพ่อคูณ” มรณภาพแล้วอย่างสงบเมื่อเวลา 11.45 น. ขณะ น้องสาว“หลวงพ่อคูณ”วัย 89 ปี พร้อมญาติและลูกศิษย์นั่งร่ำไห้อยู่หน้าห้องไอซียู
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่พักรักษาอาการอาพาธด้วยภาวะหยุดหายใจ อยู่ที่ห้องไอซียู หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม เตียง 8 ชั้น 2 อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังถูกนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วนเมื่อเช้าวานนี้ (15 พ.ค.) และอาการยังอยู่ในขั้นวิกฤต ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง นั้น
เมื่อเวลา 12.30 น.วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ห้องประชุมบุญประสงค์ หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม เตียง 8 ชั้น 2 อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และ นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พร้อมคณะแพทย์ทีมรักษาอาการอาพาธหลวงพ่อคูณและลูกศิษย์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวอาการอาพาธล่าสุด
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการแพทย์ผู้ทำการรักษา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลศิริราช ได้ร่วมกันออกประกาศโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เรื่อง อาการอาพาธพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ฉบับที่ 4 ระบุว่า วันนี้ (16 พ.ค.) แพทย์ผู้ทำการรักษา รายงานว่า พระเทพวิทยาคมมีอาการโดยรวมทรุดลง ได้มรณภาพภาพเมื่อเวลา 11.45 น. จึงประกาศมาเพื่อโปรดทราบ
นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แถลงว่า นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า สืบเนื่องจากการทำงานหลายระบบของหลวงพ่อคูณล้มเหลว และเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ทางคณะแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลศิริราชได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ และหลวงพ่อคูณ ได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อเวลา 11.45 น.
ส่วนการจัดการกับสังขารของหลวงพ่อคูณจะมีการหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากท่านได้บริจาคร่างกายให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้น ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังเดินทางมา ส่วนการจัดพิธีการต่างๆ จะมีการหารือของจังหวัดและคณะลูกศิษย์อีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าการแถลงข่าวของคณะแพทย์ มีบรรดาญาติโยมศิษยานุศิษย์จำนวนมากทยอยกันมาลงนามในสุดเยี่ยมอาการหลวงพ่อคูณ ในจำนวนนี้ มี นางคำมั่น วงศ์กายจนรัตน์ อายุ 89 ปี อาชีพทำไร่ทำนา ชาวบ้านบ้านบัวชุม ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องสาว คนที่ 2 ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการหลวงพ่อคูณ นั่งอยู่หน้าห้องไอซียู พร้อมด้วยลูกหลาน พร้อมกับนั่งร้องไห้ตลอดเวลา บอกแต่เพียงสั้นๆ ว่า ตนทำใจไม่ได้ และทนไม่ได้ที่เห็นหลวงพ่อคูณ เป็นอย่างนี้ พร้อมกับใช้ผ้าเช็ดน้ำตาอยู่ตลอดเวลา
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกันนี้ (16 พ.ค.) คณะกรรมการแพทย์ผู้ทำการรักษา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลศิริราช ได้ร่วมกันออกประกาศโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เรื่อง อาการอาพาธพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ฉบับที่ 3 ระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น.คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาได้รายงานผลว่า การเฝ้าตรวจอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติทำให้เลือดออกในช่องทรวงอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง จึงประกาศมาเพื่อทราบ ณ วันที่ 16 พ.ค.2558
เปิดประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนา บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ หลวงพ่อคูณ นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
โดยนางทองขาวเ ล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์นั้นกลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 ฝันเห็นเทพองค์หนึ่งมีกายเรืองแสงงดงามลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้าน และกล่าวว่า “เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงามความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป”
และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกสว่างให้แด้วย “ดวงมณีนี้เจ้าจงรับไป และรักษาให้ดี ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง”
เมื่อหลวงพ่ออายุครบ 11 ขวบ แม่ก็ถึงแก่กรรม พ่อได้นำไปฝากเป็นศิษย์วัดบ้านไร่ เพื่อให้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ซึ่งได้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้านขณะนั้น นอกจากเรียนภาษาไทย และขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ยังมีความเมตตาอบรมสั่งสอนวิชาคาถาอาคมเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณ นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาไสยศาสตร์ตั้งแต่เป็นเด็ก
จนอายุครบ 16 ปี ได้ออกจากวัดมาอยู่ในความอุปการะของน้าชายชื่อ โหม น้าสะใภ้ชื่อ น้อย ศิลปชัย ซึ่งมีอาชีพทำนา หลวงพ่อจึงได้ช่วยน้าชายทำนา แต่ด้วยอยากรู้อยากลอง และอยากเป็นหมอเพลงโคราช จึงได้ชักชวนเพื่อน คือ นายเล เพียมขุนทด เดินทาง ไปบ้านมะระ ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ฝากตัวเป็นศิษย์ครูสน ซึ่งเป็นครูเพลงที่มีชื่อเสียง ลูกศิษย์ทั้งชายและหญิงของครูสน ทุกคนต้องพักอยู่กินหลับนอนที่บ้านครูสนทั้งหมด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ระหว่างหัดเพลงต้องช่วยครูสนทำนา ใช้เวลาเรียนคนละ 2-3 ปี จึงจะออกเล่นเพลงได้
เมื่ออายุได้ 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ คือ พระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ ได้รับฉายาว่า "ปริสุทโธ"
หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
หลวงพ่อคูณปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดง มานานพอสมควร หลวงพ่อแดง จึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งเป็นเพื่อนกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะมักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ
กระทั่งหลวงพ่อคง เห็นว่ามีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรกๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจ.นครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึกเพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณ จึงออกเดินทางจากประเทศกัมพูชา สู่ประเทศไทย ข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ เริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา เริ่มจากพระอุโบสถ พ.ศ.2496 โดยชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่มาก แต่การตัดไม้ในสมัยนั้นไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแล้วต้องขนย้ายอย่างยากลำบาก อาศัยโคเทียมเกวียนบ้าง แรงงานคนลากจูงบนทางที่แสนทุรกันดารบ้าง แต่ละเที่ยวจึงต้องใช้เวลา 3-4 วัน แต่หลวงพ่อก็สามารถนำชาวบ้านช่วยกันสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว และก่อสร้างหลังใหม่แทน
นอกจากสร้างพระอุโบสถแล้ว หลวงพ่อยังสร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ยังความสะดวกสบาย และความเจริญในบ้านไร่ยิ่งนัก แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เห็นสิ่งดังกล่าว เนื่องจากหลวงพ่อได้เปลี่ยนสิ่งก่อสร้างทั้งหมด มาเป็นปูนเป็นอิฐให้สวยงามและทนทานยิ่งขึ้น นอกจานี้ หลวงพ่อคูณยังนำเงินบริจาคที่ศิษยานุศิษย์ถวายไปใช้สร้างโรงพยาบาล ช่วยเหลือด้านสาธารณสุข สาธารณกุศล ไม่เว้นแม้แต่กับเพื่อนบ้านอยาง สปป.ลาว
หลวงพ่อคูณ บอกว่า ที่ทำแบบนี้เพราะ “หลวงพ่อเป็นคนยากจนมาแต่กำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินออกไปช่วยคนอื่นก็จะมีคนบริจาคเรื่อยๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้อาตมาตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงิน ก็ไม่ค่อยสบายใจ”
หลวงพ่อคูณ มีชื่อเสียงด้านการสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่บวชแล้ว 7 พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคลเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ.2493 ซึ่งได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะหลวงพ่อคูณมอบวัตถุมงคลให้แก่ทุกคน แม้แต่โจรผู้ร้ายจนศิษยานุศิษย์ถามว่าอย่างนี้ไม่บาปหรือ ซึ่งหลวงพ่อคูณมักตอบว่า “ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่าเป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม”
เหรียญหลวงพ่อคูณ แต่ละรุ่นเป็นที่นิยมของนักสะสม และเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์เป็นอย่างมาก หลายรุ่นมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรก แต่การเช่าหาพระหลวงพ่อคูณต้องระมัดระวังในกรณีที่พระราคาสูง ส่วนเครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงต่างประเทศ คือ “ตะกรุดทองคำ” ซึ่งเป็นตะกรุดทองคำฝังแขน มีข้อห้าม 2 ข้อ คือ 1.ห้ามด่าแม่ 2.ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น
หลวงพ่อคูณ เคยสั่งว่า เมื่อมีวัตถุมงคลของหลวงพ่อติดตัวให้ภาวนา “พุทโธ” ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ ด่าพ่อแม่ตน และพ่อแม่บุคคลอื่น และอย่าผิดสามี หรือภรรยาผู้อื่น ให้สวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และยังย้ำว่า “ถ้ามีใจอยู่กับพุทโธ ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก”
เวลานั่งสมาธิหายใจเข้า ให้บริกรรมว่า “ตาย” หายใจออก ให้บริกรรมว่า “แน่” เป็น ตายแน่…ตายแน่…ตายแน่ไปเรื่อยๆ จะรู้สึกสบาย จิตสงบ ซึ่งคำสอนนี้น่าจะเป็นเพราะหลวงพ่อคง พุทธสโร เคยสอนให้ใช้หมวดอนุสติโดยดึงเอาวิธีกำหนดความตายเป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และความหลง กำหนดลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เกิด สัมมาสมาธิ เรียกว่า “อานาปานสติ”
นอกจากวัตถุมงคลแล้ว หลวงพ่อคูณ ยังมีเอกลักษณ์ประจำตัว คือ ท่านั่งยอง ซึ่งหลวงพ่อคูณให้เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่าย และสะดวกในการทำงาน
หลวงพ่อคูณ มักถูกมองว่าเป็นพระที่เก่งกล้าอาคม แต่หากได้พบ และได้สนทนาธรรม จะทราบทันทีว่า คือ “ปราชญ์แห่งที่ราบสูง” สนทนาธรรมแบบไปตรงมา พูดจา “มึง-กู” แต่แท้จริงหลวงพ่อคูณ เป็นพระที่เป็นพระจริงๆ คือ มีจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง แม้ในยามที่วัดบ้านไร่มีปัญหา หรือมีความขัดแย้งระหว่างลูกศิษย์ หลวงพ่อคูณ ตัดสินใจเดินจากวัดบ้านไร่ไปอย่างเงียบๆ พร้อมปรัญชาที่ว่า “เป็นธรรมดา เปรียบเสมือนต้นไม้หากมีลูกไม้ ย่อมจะเป็นที่จิกกินของสัตว์ หรือนก แม้ กระทั่งคนหากแม้นเมื่อหมดลูกหมดผล ก็หมดการแก่งแย่ง แต่อีกไม่นานต้นไม้นั้นก็จะออกลูกออกผลมาให้ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป”
ไม่เคยมีใครเคยเห็นหลวงพ่อคูณ กราดเกรี้ยว หรือทุกขเวทนาต่อเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นภายในวัด ทั้งที่วัดมีรายได้มากมายจากประชาชนที่ศรัทธาในบารมีของหลวงพ่อคูณ แสดงให้เห็นว่ามีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส เป็นที่พึ่งทางธรรมอย่างแท้จริง
หลวงพ่อคูณ ถูกนิมนต์ไปทั่วประเทศ ทั้งทางรถ ทางเรือ เฮลิคอปเตอร์ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว อาคาร ห้างร้าน จึงเต็มไปด้วยสารพัดเหรียญหลวงพ่อ รูปหลวงพ่อนั่งยองๆ สูบยา สร้างความความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ผู้ขอนุญาตสร้างเหรียญออกสู่ตลาด เงินสะพัดจนธนาคารส่งพนักงานมาบริการให้ถึงที่วัด
ทานบารมีของหลวงพ่อคูณ ปรากฏชัดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2535 พร้อมกับเรื่องเลาขานที่กลายเป็นตำนานของหลวงพ่อ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ เททองหล่อพระประธานวัดบ้านไร่ มีเรื่องเล่าขานกันว่า ก่อนถึงเสด็จฯ ข้าราชการหลายคนเข้ามาแนะนำการใช้คำราชาศัพย์ง่ายๆ ให้หลวงพ่อคูณ พร้อมกำชับว่าให้ระมัดระวังภาษาที่หลวงพ่อใช้อยู่ประจำ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ และจนพิธีแล้ว ได้เสด็จฯ โดยมีหลวงพ่อคูณ และผู้ว่าราชการจังหวัด เดินตามมา หลวงพ่อคูณดูมีท่าทางอึดอัดจนผิดปกติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรัสถามก็มีแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คอยถวายคำอธิบายอยู่เช่นนั้น จนพระองค์ตรัสถามว่า “ทำไมหลวงพ่อไม่พูดกับหนูล่ะคะ” คำตอบสั้นๆ ของหลวงพ่อคูณ ที่ทำให้ข้าราชการแทบจะเป็นลมล้มลงกับพื้น คือ “ก็ไอ้นี่มันไม่ให้กูพูดกับมึง” พร้อมชี้นิ้วไปที่ที่นายอำเภอด่านขุนทด
และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มายังวัดบ้านไร่ เพื่อทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่บุษบกเหนือพระอุโบสถวัดบ้านไร่ ครั้งนี้มีการจัดสร้างพระยอดธงรุ่นแรก หรือรุ่นทูลเกล้าฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่า ชาวด่านขุนทด มีปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง จึงมีพระราชดำริ และพระราชทานเงินให้กรมชลประทาน จัดทำโครงการพัฒนาลำน้ำสาขาห้วยสามบาท อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ซึ่งหลวงพ่อคูณคูณ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน 72 ล้านบาทโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
หลวงพ่อคูณ กล่าวต่อศิษยานุศิษย์ว่า “กูรู้สึกดีใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ บุญทานอื่นทำมามาก แต่ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ได้ทำ ภูมิใจมหาศาล เงินที่ลูกหลานบริจาคทีละเล็กละน้อยสะสมรวมไว้เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย พี่น้องจะได้รับอานิสงส์ด้วย พี่น้องรู้ว่าทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัว ก็ดีใจมาก ชาวต่างประเทศก็มากันมาก จีนก็มา เกาหลีก็มา อินเดียก็มา ทำแล้วแต่กำลัง คนละสิบบาท ยี่สิบบาท มากันทุกวัน ยิ่งถ้ามาช่วยกันแล้วก็ไม่ได้มาหาสิ่งตอบแทนอะไร เขามาด้วยศรัทธากันจริงๆ”
มีเรื่องเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมีงานใหญ่ ลูกศิษย์ต่างเป็นห่วงกลัวว่าหลวงพ่อคูณจะพูดราชาศัพท์ไม่ได้ ซึ่งหลวงพ่อบอกว่า “จะไปยากอะไร ก็พูดว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร หรือไม่ก็ถวายพระพรคุณโยม ท่านสบายดีหรือ ท่านคงจะไม่ถือ เพราะท่านเป็นจอมปราชญ์ พูดอย่างไรกับท่าน ท่านก็ย่อมรู้ดี”
ลูกศิษย์เลยถามหลวงพ่อว่า “ในหลวง” ทรงตรัสอะไรกับหลวงพ่อบ้าง หลวงพ่อคูณตอบมาว่า “มึงรู้ไหม มือพระองค์เป็นมือคนทำงานอย่างก๊ะชาวไร่ชาวนา แข็งกระด้างมากๆ”
เมื่อถูกถามอีกว่า หลวงพ่อใช้คำเรียกพระองค์ว่าอะไร หลวงพ่อก็ตอบว่า พระองค์ตรัสประโยคแรกว่า “หลวงพ่อครับ พูดตามปกตินะครับ ผมเป็นคนไทย”
ล่วงเข้าวันที่ 4 ตุลาคม 2550 คณะศิษยานุศิษย์จัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความศรัทธา และบารมีทานอันยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อ เนื่องในโอกาสอายุครบ 86 ปี การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยเมื่อปี 2552 และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เวลา 14.45 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
ล่าสุด วันที่ 4 ตุลาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าไตร น้ำสรง และพุ่มดอกบัวถวายแด่หลวงพ่อคูณพระเทพ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 90 ปี และวันที่ 3 ตุลาคม 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานน้ำสรง และกระเช้าดอกไม้สด แด่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 91 ปี
ซึ่งทั้ง 2 โอกาสอันเป็นมงคลนี้ หลวงพ่อคูณ อาพาธหนัก เข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น แต่ก็ยังมีศิษยานุศิษย์ไปกราบนมัสการกันไม่เว้นวัน จนวันสุดท้ายที่โรงพยาบาลทหาราชนครราชสีมา
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระญาณวิทยาคมเถร วันที่ 12 สิงหาคม 2535 พระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม อุดมกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วันที่ 12 สิงหาคม 2547
“กูให้มึง...” คือ คำคมที่หลวงพ่อคูณ หรือเทพเจ้าแห่งที่ราบสูง มักชอบบอกกับลูกหลานที่มาขอพึ่งใบบุญ แต่ยังมีคำสอนทิ้งไว้ให้ลูกหลานอีกมากมาย เช่น
“ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้”
“กูไม่เคยยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ”
“กูดีใจที่เกิดมาเป็นคนจน เพราะได้สร้างทานบารมี ถ้ากูเกิดมาเป็นคนรวยป่านนี้คำว่าบุญก็ไม่รู้จักกัน”
“เงินเป็นทาสกู กูไม่ยอมเป็นทาสเงิน”
“เกิดมาแล้ว...รักความสงบ ให้มีศีลธรรมไว้ประจำใจทุกๆ คน โลกจะได้อยู่ชุ่มกินเย็น”
“คนเรา เมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น ผู้อื่นเขาก็จะ ห้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน ความเมตตานี่แหละ คือ อาวุธ ที่จะปกป้องตัวเราเอง ห้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใครๆ จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล”
คิดได้ ปฏิบัติได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องของแต่ละคน!!!