xs
xsm
sm
md
lg

สุดเศร้า!?! ไว้อาลัยแด่ “บี.บี.คิง” – “ราชาเพลงบลูส์” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งบรรณพิภพ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
บีบีคิงในวัยชรากับลูซิลล์ กีตาร์ประจำตัว(ภาพจาก www.time.com)
ใบไม้ดนตรีปลิดขั้วลงอีกหนึ่งใบ สำหรับ “บี.บี.คิง”(B.B.King) ราชาเพลงบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่ที่จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา ด้วยวัย 89 ปี นับเป็นอีกหนึ่งการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการดนตรีโลก

โดยเมื่อวันนี้ 14 พ.ค. 58 ทางสำนักข่าวเอพีได้ทวีตแจ้งข้อความในโลกออนไลน์ถึงการจากไปอย่างสงบของบี.บี.คิง ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีข่าวจากหลายสำนักตามมาด้วยการอ้างแถลงการณ์ของนายเบน บรีสัน ทนายความส่วนตัวของ บี.บี.คิง ถึงการจากไปอย่างสงบของราชาเพลงบลูส์ด้วยโรคชราของคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(ตามเวลาท้องถิ่น) ภายในบ้านพักของตัวเองที่นครลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมอายุได้ 89 ปี

บี.บี.คิง ได้รับการยกย่องให้เป็น “King of the Blues” ราชาเพลงบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งวงการดนตรีโลก

บี.บี.คิง หรือชื่อเต็มคือ “Riley B. King” เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1925 ที่เมือง “Itta Bena” แห่งรัฐมิสซิลซิลปี ประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งดนตรีบลูส์อันลือลั่น

ในวัยเด็กบี.บี.คิง เผชิญชีวิตอันยากลำบากในแบบฉบับวิถีแห่งบลูส์แมน โดยในวัย 4 ขวบแม่ของบี.บี.คิง ได้แยกทางไปแต่งงานใหม่ เขาจึงถูกส่งตัวไปอยู่กับย่าและขาดการติดต่อจากพ่อไปพักใหญ่

ความที่แม่ของบี.บี.คิง เป็นนักร้องในโบสถ์ทำให้เขาได้ซึมซับกับดนตรีและหัดเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็ก โดยมีโอกาสได้เข้าไปเป็นนักร้องในโบสถ์ตั้งแต่ 7 ขวบ แต่พอมีอายุได้ 9 ขวบ แม่ก็ต้องมาตายจากไป จากนั้นอีกไม่นานย่าก็ตายตามไปอีกคน ทำให้เขาต้องหาเลี้ยงชีพตามลำพังด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยการเป็นคนงานในไร่ฝ้าย เป็นนักร้องในโบสถ์ พร้อมกับการร่วมกันตั้งวงดนตรีกับญาติออกแสดงตามที่ต่างๆ โดยเขามีกีตาร์ตัวแรกเมื่ออายุได้ 12 ปี ในราคา 15 เหรียญ

ครั้นเมื่อเติบโตขึ้นในวัย 21 ปี เขาผละจากบ้านเกิดเดินทางไปเผชิญโชคที่ Memphis, Tennessee
โดยมาอาศัยอยู่กับญาติคือ “Bukka White” ผู้สอนให้เขาเล่นบลูส์อย่างจริงจัง จากนั้นในปี 1948 เขาได้ถูกเชิญให้ไปเล่นดนตรีออกรายการวิทยุท้องถิ่น Sonny Boy Williamson บลูส์แมนรุ่นพี่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

การเล่นดนตรีออกรายการในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญในเส้นทางดนตรีของเขา เพราะนอกจากจะมีคนชอบเพลงของไอ้หนุ่มบลูส์แมนคนนี้แล้ว เขายังถูกพูดถึงจากชื่อเล่นของเขาคือ “Blues Boy” ทำให้หลังจากนั้นได้มีคนเรียกไอ้หนุ่มบลูส์แมนคนนี้ว่า “B.B.King” ซึ่งก็ได้ติดตัวเขามาจนทุกวันนี้ และกลายเป็นชื่อแห่งตำนานในวงการเพลงบลูส์ที่คงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับกีตาร์คู่ใจที่บี.บี.คิงใช้นั้น มีชื่อว่า “ลูซิล”(Lucille) ที่นำมาจากชื่อของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยตำนานแห่งชื่อของกีตาร์ตัวนี้ก็มีที่มาจาก เมื่อปี 1950 บี.บี.คิง ที่ถือว่าเป็นคนดังในวงการเพลงบลูส์ของชาวผิวสีไปแล้ว ได้ไปแสดงที่บาร์แห่งหนึ่ง

ในการแสดงครั้งนั้นมีผู้ชาย 2 คนในวงทะเลาะวิวาทกันจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ผู้คนวิ่งหนีตัวรอดไม่ต่างจากบี.บี.คิง แต่เมื่อเขาวิ่งออกมาพบว่าลืมกีตาร์ไว้ จึงเสี่ยงชีวิตวิ่งกลับไปนำกีตาร์คู่ใจบนเวทีกลับลงมา

ครั้นเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้น บี.บี.คิง ได้รู้ว่า เหตุที่ผู้ชาย 2 คน ทะเลาะกันเพราะผู้หญิงชื่อ “Lucille” เขาจึงนำชื่อนี้กลับมาตั้งชื่อกีตาร์ของเขาว่า “Lucille”(ลูซิลล์) ตามชื่อผู้หญิงคนนั้น และมันได้กลายเป็นอีกหนึ่งจิตวิญญาณแห่งบลูส์เคียงคู่บี.บี.คิง เพราะนอกจากเสียงร้องและบทเพลงที่เขาแต่งแล้ว เสียงกีตาร์สำเนียงมีชีวิตที่บี.บี.คิง บรรจงพรมนิ้วลงบนกีตาร์ลูซิลล์นั้น มันได้กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของราชาเพลงบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยความมุ่งมั่นบนถนนสายบลูส์ ใน ปี พ.ศ. 1952 เพลง “Three O’clock Blues” ของ บี.บี.คิง ได้กลายเป็นเพลงฮิตในระดับประเทศ จากนั้นก็ตามมาด้วยอีกหนึ่งเพลงดังอมตะของเขา คือ “The Thrill is Gone” ที่ บี.บี.คิง ได้นำเพลงเก่า Roy Hawkins มาร้องและเล่นใหม่จนกลายเป็นเพลงฮิต และได้กลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงสัญลักษณ์ติดตัวบี.บี.คิง เรื่อยมา

อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงปี 1950-1960 บี.บี.คิง จะกลายเป็นบลูส์แมนที่มีชื่อเสียง แต่นั่นก็ยังคงเป็นเฉพาะในหมู่ชาวผิวสีเท่านั้น ขณะที่ชาวผิวขาวมีเป็นจำนวนน้อยที่จะรูจักเพลงของบี.บี.คิง จนกระทั่งในปี 1965 “ไมค์ บลูมฟิลด์”(Mike Bloomfield) ยอดมือกีตาร์บลูส์แห่งวง “Butterfield Blues Band” ซึ่งเป็นวงร็อกชื่อดังของยุคนั้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาก็อปลูกโซโลกีตาร์มาจาก บี.บี.คิง นั่นจึงทำให้คนผิวขาวได้ไปตามมหางานเพลงของบี.บี.คิง มาฟัง และทำให้บลูส์แมนผู้นี้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว

สำหรับแนวทางเพลงบลูส์ของบี.บี.คิง นั้น ราชาเพลงบลูส์คนนี้นอกจากจะเชียวชาญเพลงบลูส์แบบแทรดดิชั่นแนล และอิเลคทริคบลูส์กับสำเนียงลีดกีตาร์(คู่ใจ)อันโดดเด่นแล้ว เขายังเป็นหนึ่งในผู้เปิดโลกดนตรีบลูส์เข้าไปยังบทเพลงแจ๊ซ ร็อก ป็อบ บิ๊กแบนด์ อีกทั้งยังเป็นนักเอนเตอร์เทนด์ตัวฉกาจบนเวที

ทุกวันนี้มีศิลปินมากมายทั้งสาย บลูส์ ร็อก แจ๊ซ เฮฟวี่เมทัล ที่ได้รับอิทธิพลทางดนตรีบลูส์จาก บี.บี.คิง ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ แฮรริสันแห่งวง เดอะ บีเทิลส์, จิมมี เพจแห่งวง เลด เซพเพลิน, เจฟ เบค ยอดมือกีตาร์เทพ,ดิ เอจด์ วง ยู ทู, ไมค์ บลูมฟิลด์, วงโรลลิ่งสโตน และอีกมากมายหลายคน ดดยเฉพาะ เอริค แคลปตัน อีกหนึ่งยอดมือกีตาร์เทพนี่ ได้คารวะบี.บี.คิง เป็นหนึ่งในปรมาจารย์ของเขา พร้อมกับออกผลงานร่วมกับบี.บี.คิง อยู่บ่อยครั้ง

โดยข้อมูลจากวิกิพีเดีย(ภาษาไทย) ได้ให้ข้อมูล เครดิต ผลงาน อันโดดเด่นน่าสนใจของราชาเพลงบลูส์คนนี้ว่า บี.บี.คิง ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร โรลลิงสโตนส์ ในการจัดอันดับนักกีตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บี.บี. คิง ได้จัดอยู่อันดับ 6 (โดยที่ก่อนหน้านี้ได้อยู่อันดับ 3) และยังได้จัดอยู่อันดับ 17 ของบริษัท กิบซัน เลส พอล ในหัวข้อ "50 นักกีตาร์ที่ใช้ กีตาร์กิปซัน เลส พอล ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก" และเกียรติสูงสุดของเขาคือ ได้รับการบรรจุในหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรลในปี 1987 บี.บี. คิงส์ จึงเป็นต้นแบบของ ศิลปินเพลงบลูส์ หลายๆคน และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อเพลงบลูส์มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ปัจจุบันถึงแม้เขาจะอายุ 80 กว่าปีแล้ว ก็ยังคงเล่นกีตาร์ อยู่เหมือนเดิมโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตลอดเส้นทางนักกีตาร์ของเขา ได้แสดงคอนเสิร์ตมามากกว่า 250-300 ครั้ง ต่อปี จนถึงยุคของเขา ในปี 1956 ได้รับการจดบันทึกว่า เขาได้ออกคอนเสิร์ตมาแล้วถึง 342 ครั้งด้วยกัน ปัจจุบันเขาก็ยังคงเล่นกีตาร์ถึง 100 ครั้งต่อปี

และนี่ก็คือบางส่วนที่เป็นตำนานของ บี.บี.คิง ราชาเพลงบลูส์ผู้ล่วงลับ ปูชนียบุคคลแห่งวงการเพลงบลูส์ ที่ได้ฝากผลงานเพลงบลูส์และฝีมือกีตาร์บลูส์เอาไว้มากมายในบรรณพิภพ

ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ บี.บี.คิง King of the Blues ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในตำนานคำสำคัญแห่งดนตรีบลูส์แล้ว เขายังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งวงการดนตรีโลกอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น