หลายปีที่ผ่านมา...เรามักจะได้รับสัญญาณเตือนว่าในอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีข้างหน้า สังคมไทยที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาววัยแรงงาน จะแปรเปลี่ยนเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” เข้ามาแทนที่สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง แต่ในความเป็นจริงเวลานี้ ประเทศไทยก็เดินเข้าสังคมผู้สูงอายุ เป็นที่เรียบร้อย...
...หน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมแผนงานและยุทธศาสตร์เพื่อจัดระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ที่มีสุขภาพพลานามัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย เช่นเดียวกับสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ประกาศให้การจัดทำระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เป็น 1 ใน 4 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จากเดิมก่อนหน้านี้ ได้จัดทำโครงการนำร่องและให้การสนับสนุนงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดตั้งกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่ประสานร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กองทุนสุขภาพตำบลที่ทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงด้วย
ที่ รพ.สต.ควนธานี อำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง ถือเป็นหน่วยงานที่จัดระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดย นางลัดดาวัลย์ ถิ่นนัยธร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ รพ.สต.ควนธานี บอกว่า หัวใจสำคัญของการจะจัดระบบดูแลผู้สูงอายุให้เข้มแข็งและยั่งยืนนั้น ไม่สามารถทำงานเพียงลำพังแค่ รพ.สต.ควนธานี เท่านั้น แต่จำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้ง อบต. เทศบาล โรงพยาบาล ที่ขาดไม่ได้คือประชากรทุกคนในชุมชน ทั้งตัวผู้สูงอายุเอง บุตรหลาน ที่ต้องร่วมกันดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ของเราให้มีความสุข สุขภาพที่ดี จึงได้รวมตัวกันเป็นชมรมผู้สูงอายุควนธานี มาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบันและมีการทำงานที่เข้มแข็งในการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสุขภาพที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุตำบลควนธานี คือ ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันประชากรในตำบลควนธานี มีทั้งหมด 6,656 คน เป็น ชาย 2,200 คนและ หญิง 2,456 คนและบริเวณใกล้เคียงยังมีชุมชนเคหะตรัง ประมาณ 505 หลังคาเรือน ในจำนวนนี้เป็นประชากรผู้สูงอายุ จำนวน 597 คน แบ่งเป็น ผู้สูงอายุระหว่าง 60-69 ปี จำนวน 320 คน อายุระหว่าง 70-79 ปี จำนวน 169 คน อายุระหว่าง 80-89 ปี จำนวน 94 คน อายุระหว่าง 90-99 ปี จำนวน 12 คน และอายุ 100 ปี จำนวน 2 คน
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลการสำรวจความสามารถในการดำเนินชีวิต (ADL) พบว่า มีผู้สูงอายุป่วยโรคเบาหวาน 28 คน คิดเป็น 4.69% ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด โรคความดันโลหิต จำนวน 75 คนคิดเป็น 12.56% โรคหัวใจหลอดเลือด 5 คนคิดเป็น 0.83% โรคหลอดเลือดสมอง 3 คน โรคถุงลมโป่งพอง 2 คนและโรคซึมเศร้า 3 คน นอกจากนี้ จำแนกกลุ่มผู้สูงอายุ เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม จำนวน 546 คน คิดเป็น 91.45% กลุ่มติดบ้าน จำนวน 42 คน และ 3 กลุ่มติดเตียง จำนวน 9 คน
“ที่ผ่านมาเราพบว่าผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลในด้านสาธารณสุขและสังคมอย่างทั่วถึง อีกทั้งตำบลควนธานีนั้นเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบทจึงทำให้มีความหลากหลายในด้านของวิถีชีวิตและทัศนคติ ในอดีตเวลาเจ้าหน้าที่ รพ.สต.หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขลงพื้นที่ไปให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะเจอปัญหาไม่ค่อยเชื่อและให้ความร่วมมือน้อยเพราะด้วยวัยที่แตกต่างกัน แต่เมื่อมีการก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุฯ มีประธานชมรมซึ่งเป็นบุคคลที่คนในชุมชนให้การยอมรับ ช่วยเชื่อมประสานระหว่างผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ทำให้การทำงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างคล่องตัวขึ้น เพราะทุกคนเข้าใจเจตนาในการลงไปช่วยเหลือเป็นผู้สูงอายุ และยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อาทิ โครงการพลังดอกลำดวนเพื่อชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. รวมถึงโครงการสานสัมพันธ์ผู้สูงวัย ซึ่งอบต.ให้การสนับสนุนด้วย”นางลัดดาวัลย์ กล่าวและว่า จุดเด่นของการมีประธานและกรรมการชมรมซึ่งเป็นที่ยอมรับนั้น จะพบว่าบุคคลเหล่านี้สวมหมวกหลายใบในการพัฒนาท้องถิ่นชุมชน จึงทำให้แต่ละท่านเข้าใจปัญหาอย่างดี และพร้อมที่จะผลักดันทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาและให้ดูแลสุขภาพของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
นางลัดดาวัลย์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน รพ.สต.ควนธานี ได้รับเลือกจากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ให้เข้าร่วมโครงการวางระบบการผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยปัจจุบันการทำงานของ รพ.สต.ควนธานี นั้นจะเน้นการทำงานเชิงรุกและทำงานประสานภายใต้ระบบเครือข่ายสุขภาพ อำเภอกันตรัง โดยในทุกวันพุธและวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ทีมหมอครอบครัว ทีมสหวิชาชีพนำโดยผอ.โรงพยาบาลกันตรัง พยาบาล นักกายภาพและแพทย์แผนไทยออกเยี่ยมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มติดบ้านและติดเตียง ซึ่งไม่สะดวกจะออกมารับบริการที่ รพ.สต.ควนธานี ให้ได้รับการรักษาและการฟื้นฟูให้แข็งแรงขึ้น ทั้งยังเป็นการติดตามอาการเพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆแทรกซ้อน เช่น โรคพากินสัน โรคสมองเสื่อม หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่ไม่ได้ลงพื้นที่ก็จะมีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ลงไปดูแลผู้สูงอายุและช่วยรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำงาน รวมถึงใช้เพื่อส่งต่อข้อมูลคนไข้ระหว่าง รพ.สต.ควนธานี และโรงพยาบาลกันตรังด้วย
“ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไขและวางระบบดูแล เพราะจากการประเมินผู้สูงอายุในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง และให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆของชมรมผู้สูงอายุฯอย่างดี ขณะที่มีความเปลี่ยนแปลงใน กลุ่มติดบ้าน ผู้สูงอายุ 4 คนเปลี่ยนพฤติกรรมขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มติดสังคม และกลุ่มติดเตียง จำนวน 1 คนขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มติดบ้าน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และส่วนตัวมองว่าระยะยาวการวางระบบดูแลให้ยั่งยืนสามารถทำได้โดยจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน ที่ต้องร่วมทำงานและต้องช่วยกันสะท้อนปัญหาและหาทางแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ในอนาคตที่มีจะมีการอบรมทีม care manager และ care giver เชื่อว่าตรงนี้จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น”นางลัดดาวัลย์ กล่าว
นางลัดดาวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นไม่พบปัญหาทุกคนได้รับการดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี เรื่องงบประมาณก็ไม่มีปัญหาเช่นกันเพราะทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุจึงให้การสนับสนุนเต็ม แต่ปัญหาคือผลกระทบจากการบันทึกข้อมูลผู้สูงอายุในระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ยังขาดความเชื่อมโยงกัน ผู้สูงอายุ 1 คนต้องคีย์ข้อมูลถึง 3 โปรแกรมซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่ในวันพุธ-วันพฤหัสบดีตามแผนที่กำหนดไว้อยู่บ้าง หากเป็นไปได้อยากให้ปรับเพื่อเอื้อต่อการทำงานที่รวดเร็วขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่