xs
xsm
sm
md
lg

ตรรกะของ สปสช.ทำให้เกิดมะเร็งร้ายทำอันตรายแก่ระบบสาธารณสุขไทย

เผยแพร่:   โดย: พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.
21 พฤษภาคม 2558


มะเร็งสปสช.เริ่มจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วลุกลามไปยังระบบสวัสดิการข้าราชการและกำลังจะลุกลามไปทำลายกองทุนอื่นและจะกัดกินประเทศไทยในไม่ช้านี้

พลเมืองไทยคนหนึ่งขอทำ “หน้าที่พลเมือง” ในการฝากความหวังกับหัวหน้าคสช.เป็นศัลยแพทย์ให้รีบผ่าตัดมะเร็งร้ายนี้ ออกจากประเทศไทยด่วน

จากการแถลงตอบโต้ของ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสปสช.เรื่อง ตรรกะวิบัติและมุมมองเรื่องหลักประกันสุขภาพไทย ใน www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000056823 นั้น ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขขอวิเคราะห์ดังนี้

1. สปสช. บอกว่าได้จ่ายเงินให้ รพ.ตามประกาศของ สปสช. แต่เมื่อ รพ.บอกว่าเงินที่ สปสช.จ่ายมานั้น ทำให้ รพ.มีเงินไม่พอในการจัดบริการให้ประชาชน มันเป็นหน้าที่ของ สปสช.ที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหาให้โรงพยาบาล สธ.ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18(13) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมาตรา 46 กล่าวโดยสรุปคือ สปสช. ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ให้บริการ (หมายถึงโรงพยาบาลต่างๆ) ก่อนแล้วจึงมากำหนด “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข”สำหรับที่สปสช.จะจ่ายให้แก่โรงพยาบาล

ผู้เขียนขอวิเคระห์ว่า สปสช.ตรรกะวิบัติแน่นอน เพราะหน้าที่หลักที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 38 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดไว้ว่า “ให้จัดตั้งกองทุนหนึ่งใน สปสช. เรียกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

ทำไมผู้เขียนจึงว่าสปสช.มีตรรกะวิบัติ? ก็เพราะว่า สปสช.ต้องทำตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเคร่งครัด แต่ สปสช.ออกประกาศของ สปสช.แล้วก็ไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจัดสรรกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทำให้ รพ.ไม่มีเงินพอที่จะดำเนินงานให้เกิดประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย แต่ สปสช.กลับไปยึดถือเอาประกาศของ สปสช.เป็นสิ่งสำคัญเหนือกฎหมายที่ สปสช.จะต้องปฏิบัติตามทั้งๆ ที่หน่วยงานที่ “รับผลงานจาก สปสช.” จะร้องขอให้ช่วยเหลือแก้ไขให้เหมาะสม สปสช.ก็ไม่ทำ

แต่ สปสช. ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นรัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร แต่ สปสช. ละเลยไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดจากระเบียบที่ สปสช.ออกประกาศที่ไม่ยึดสาระสำคัญตามหลักกฎหมาย (เรียกว่าไม่ยึดหลักการตามกฎหมาย ยึดแต่หลักกูเป็นใหญ่) เพิกเฉยที่จะช่วยแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลมา 13 ปีแล้ว

ผลแห่งการเพิกเฉยของ สปสช.ทำให้ โรงพยาบาลขาดเงินในการดำเนินงานให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐาน แต่แทนที่ สปสช.จะแก้ไขประกาศและบริหารจัดการตามกฎหมายให้มีเงินพอให้บริการประชาชน สปสช.กลับไปออกประกาศห้ามใช้ยาโน่นนี่นั่น จนเกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วย

นอกจาก สปสช.จะไม่สนใจความเสียหายแก่ผู้ป่วยแล้ว สปสช.ยังข้ามกรอบองค์กรออกไปให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่กรมบัญชีกลางว่าข้าราชการใช้ยาฟุ่มเฟือย จนกรมบัญชีกลางหลงเชื่อออกประกาศห้ามแพทย์จ่ายยาให้แก่ข้าราชการจนข้าราชการเหลืออด ไปยื่นฟ้องกรมบัญชีกลางต่อศาลปกครอง และศาลปกครองก็ให้ความยุติธรรมต่อข้าราชการแล้ว ให้ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยาของกรมบัญชีกลางแล้วและออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว (ตามรูปที่ 1)
รูปที่ 1 ราชกิจจานุเบกษา 20 พฤษภาคม 2558
2. การที่โฆษก สปสช.อ้างว่า สปสช.ได้รับรางวัลการบริหารกองทุนดีเด่นอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงการคลังทุกปีตั้งแต่พ.ศ. 2551-2557 และยังได้รับกองทุนหมุนเวียนเกียรติยศด้วยนั้น ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นการให้รางวัลที่ “อวยกันเอง”อย่างหูหนวกตาบอดที่สุด เพราะกรรมการที่ให้รางวัลคงฟังรายงานจากสปสช.เพียงข้างเดียว ถ้ากระทรวงการคลังทำงานอย่างรอบคอบยึดหลักการตรวจสอบให้ครบถ้วนตามกฎหมายที่องค์กรต่างๆ ต้องบริหารงานอย่างสุจริต โปร่งใส และยึดประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไปถามและวิเคราะห์ข้อมูลจาก “หน่วยบริการที่ต้องรับผลงานจากการบริหารของสปสช”แล้ว กระทรวงการคลังจะต้องเอาปี๊บคลุมหัวที่ให้รางวัล “ผู้บริหารกองทุนดีเด่น”แก่สปสช.ได้

การได้รับรางวัลของสปสช.จึงไม่ใช่เครื่องหมายการันตีได้ว่าสปสช.บริหารกองทุนได้ดีจริง ถ้าท่านผู้อ่านไม่เชื่อคำกล่าวของผู้เขียน ขอให้ไปสอบถามข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข 300,000 กว่าคน ก็จะได้ทราบเองว่าเห็นด้วยกับการให้รางวัลของกระทรวงการคลังหรือไม่?

3. การอ้างว่า สปสช.นำเงินไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดบริการของหน่วยบริการโน่นนี่นั่นนั้น ยิ่งแสดงถึงตรรกะวิบัติของ สปสช. เนื่องจากหลักการสำคัญอันดับหนึ่งของการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็เพื่อ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุขแทนประชาชนที่มีสิทธิ์ 48 ล้านคน”

แต่แทนที่สปสช.จะจ่ายเงินในส่วนนี้ให้เพียงพอเหมาะสมแก่ภารกิจอันสำคัญนี้ กลับนำไปสนับสนุนโครงการอื่นที่มิใช่งานสำคัญอันดับหนึ่ง เปรียบเหมือน สปสช.เป็นแม่บ้านที่มีลูกอดข้าวหิวโซต้องการอาหารสำคัญอย่างยิ่ง แต่แม่บ้านดันเอาเงินนี้ ไปแจกให้เพื่อนสนิทไปเที่ยวต่างประเทศเสียนี่ ลูกเต้าจะร้องระงมด้วยความหิวอย่างไรแม่ก็ไม่สนใจ เพราะมีเอี่ยวกับเงินก้อนนั้นด้วย

4. ส่วนการอ้างว่าสปสช.มีการบันทึกข้อมูลมาตรฐานนั้น ผู้เขียนยืนยันว่า บางข้อมูลของสปสช.ก็สามารถลบทิ้งได้ เช่นข้อมูลการรักษาผู้ป่วยไตวายทางหน้าท้อง (CAPD-first) นั้นมีอัตราตายสูงเกินกว่า 40 % (เนื่องจากผู้ป่วยต้องรับการรักษาแบบที่ สปสช.ออกประกาศให้สิทธ์รักษาตามที่สปสช.กำหนดเท่านั้น) แต่เมื่อมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตวิจารณ์ว่าอัตราตายสูงเกินกว่าที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะยอมรับได้ สปสช.ก็ลบข้อมูลนี้ออกจาก website ของสปสช.ทันที แต่ผู้เขียนได้พิมพ์ข้อมูลเหล่านี้ไว้แล้ว (แต่สปสช.อาจจะแถได้อีกว่าข้อมูลของผู้เขียนนั้นเป็นข้อมูลเท็จ)

ฉะนั้นข้อมูลของ สปสช.จึงไม่สามารถเชื่อถือได้ทุกข้อมูล สปสช.อาจจะถือคติว่า “to tell the truth but not the whole truth!”

5. การที่สปสช.บอกว่านโยบาย 30 บาทไม่ใช่นโยบายประชานิยมนั้น ก็แสดงถึงตรรกะวิบัติของสปสช. เพราะชาวไทยทุกคนทั้งประเทศต่างก็เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่านโยบาย 30 บาทเป็น นโยบายประชานิยมที่ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือญาติของเขาได้รับการเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลายคนแล้ว สปสช.ก็รู้ดีว่าถ้าพูดถึง 30 บาทแล้ว ประชาชนทั้งยากจนและอยากจน ต่างก็นึกถึงทักษิณ ชินวัตรทั้งสิ้น

ส่วนการที่ สปสช. บอกว่า สปสช.ไม่ใช่ลูกหนี้ของโรงพยาบาลก็เหมือนกับข้อแก้ตัวของลูกหนี้ทั่วไป กล่าวคือ สปสช.มีหน้าที่ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการ” แต่สปสช.จ่ายเงินไม่ครบเท่าที่หน่วยบริการจ่ายไปแล้ว อย่างนี้จะไม่เรียกว่าสปสช.เป็นลูกหนี้ของ รพ.สธ.ได้อย่างไร

วิญญูชนทั้งหลายโปรดใช้สมองตรองดูเถิด

การกระทำของ สปสช.จึงเหมือนลูกหนี้ชั้นเลว ที่นอกจากจะไม่ใช้หนี้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว สปสช.ยังปฏิเสธความรับผิดชอบหน้าตาเฉย แบบที่ว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”

นอกจากพฤติกรรมเบี้ยวหนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว สปสช.ยังรับอาสาเป็น “clearing house” สำหรับจะรับประสานงานในการจ่ายเงินแทนผู้ป่วยฉุกเฉินทุกสิทธิ์(ประกันสังคม ข้าราชการและระบบ 30 บาท) พร้อมกับออกประกาศโฆษณาชวนเชื่อว่า ต่อนี้ไปประชาชนทุกคนทุกสิทธิ์เจ็บป่วยฉุกเฉินให้ไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ไม่เว้นเอกชน โดย สปสช.จะให้บริการจ่ายเงินแทน ประชาชนก็หลงเชื่อพอเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ไป รพ.เอกชนใกล้บ้าน แล้วก็นอนรักษาตัวอย่างสบายใจ แต่เมื่อ รพ.เอกชนไปเก็บค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจากสปสช.แล้ว สปสช.ก็ทำพฤติกรรมแบบเดิมที่ใช้กับ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ จ่ายเงินตามอำเภอใจที่สปสช.อยากจ่าย โดยไม่สนใจว่ารพ.จะใช้เงินในการรักษาผู้ป่วยไปเท่าไร(สปสช.ไม่สนใจกูสปสช.จะจ่ายแค่นี้แหละ) แต่รพ.เอกชนนั้นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ไม่สามารถจะทนนิ่งเฉยกับการเบี้ยวหนี้ของสปสช.ได้ ก็ต้องมาเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชน

แต่แทนที่ประชาชนจะไปด่า สปสช.ว่าไหนบอกว่าไปรักษาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจาก รพ.ไหนก็ได้ โดย สปสช.จะไปจ่ายเงินแทน แต่ สปสช.กลับไปส่งผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน ออกมากล่าวหาว่า รพ.เอกชนขูดรีดประชาชนแทน จนนำไปสู่การที่รัฐบาลตั้งกระทรวงพาณิชย์ออกมาเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน (ตามรูปที่ 2)
รูปที่ 2 ข่าวกระทรวงพาณิชย์จะควบคุมราคาการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน และจะตรวจสอบราคาค่ารักษา รพ.เอกชน
ผู้เขียนในฐานะพลเมืองไทย (ไม่ได้เป็นแค่ประชาชน แต่เป็นพลเมืองตามความหมายในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) มองดูเหตุการณ์เรื่องนี้ตั้งแต่แรก ก็เห็นด้วยว่า รพ.เอกชนบางแห่งก็คิดราคายาแพงเกินไปจริงๆ แต่กระทรวงพาณิชย์เองก็คงรู้ดีอยู่ว่าโรงพยาบาลเอกชนนั้นได้รับรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติจนนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเป็นรายได้ของรัฐบาลปีละหลายพันหลายหมื่นล้านบาทมิใช่หรือ? การที่รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะ “ควบคุมราคา” การบริการของโรงพยาบาลเอกชนนั้น จะนำไปสู่ความถดถอยของมาตรฐานการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในโรงพยาบาลราชการกระทรวงสาธารณสุข

ผู้เขียนได้คาดการณ์แล้วว่า ไม่ช้ากลุ่มพรรคพวกของ สปสช. ก็คงไปเสนอรัฐบาล ให้ตั้งกองทุนใหม่อีกกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน” เพื่อให้ สปสช.หรือพรรคพวกของ สปสช.มาเป็นผู้มีอำนาจบริหารกองทุนนี้ และความคาดหมายของผู้เขียนก็ไม่ผิดเลย เพราะมีข่าวว่า ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์คู่ใจกลุ่ม สปสช. ได้เสนอรัฐบาลมากกว่าที่ผู้เขียนคาดการณ์เสียอีก กล่าวคือ เขาไม่คิดจะบริหารแค่กองทุนผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น แต่เขาวางแผนจะ “บริหารกองทุนทุกกองทุนสุขภาพในประเทศไทย” ด้วย (ตามรูปที่3)
รูปที่ 3 ชงตั้งซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ
ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุปบทวิเคราะห์การแถลงของ สปสช.ว่า ตรรกะวิบัติของ สปสช. นำไปสู่การบริหารที่เป็นผลร้ายต่อผู้ป่วยในกองุน 30 บาท ระบบสวัสดิการข้าราชการและกำลังจะลุกลามไปยังทุกระบบการประกันสุขภาพในประเทศไทย ไม่เว้นโรงพยาบาลเอกชนด้วย จึงเห็นได้ว่าการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ สปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นมะเร็งร้ายที่ทำลายระบบนิติธรรม คุณธรรม ทำลายระบบมาตรฐานการแพทย์ที่ดี ส่งผลต่อความเสียหายต่อสุขภาพประชาชนในระบบ 30 บาท และกำลังแผ่ขยายความอำมหิต (ภาษาหมอเรียกว่ามี Metastasis ไปยังอวัยวะอื่น) คือกองทุนสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนพลเมืองไทยทุกคน

รัฐบาลไทยโดยการนำของนายกรัฐมนตรี รีบตรวจเช็คสุขภาพของรัฐบาลจากมะเร็งหลักประกันสุขภาพ แล้วตัดสินใจใช้คาบอาญาสิทธิ์ รีบเฉือนเนื้อมะเร็งร้าย สปสช.โดยด่วน ก่อนที่ประชาชนพลเมืองและรัฐบาลจะถูกมะเร็งร้ายนี้ทำลายจนสิ้นชาติ ถ้าหมอยังมีรีบจัดการลงมีดเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น