xs
xsm
sm
md
lg

NEWSฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมฉาว เนชั่นแถต่อมีอำนาจสั่งห้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"นิวส์ เน็ตเวิร์ค" พร้อมโจทย์ร่วม 6 คน ยื่นศาลฟ้องเนชั่นฯ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นฉาวเป็นโมฆะ ด้านเนชั่นฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ รอบสอง บอกใช้อำนาจประธานฯ เพียวๆ สั่งห้าม แม้กฎหมายไม่ให้อำนาจ อ้างคำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ด้านตำรวจสรุปสำนวนฟ้องผู้บริหารเนชั่นฯ หมิ่น "ฉาย" แล้ว นัดฟังคำสั่งฟ้อง 3 มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 พ.ค.) ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธ นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS กับพวกรวม 6 คน พร้อมด้วยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ได้ยื่นฟ้องบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เป็นจำเลยในคดีแพ่ง เพื่อเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 และให้การประชุมดังกล่าวเป็นโมฆะ

คำฟ้องโจทย์ สรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558 จำเลยได้ออกหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ส่งไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนรวมทั้งโจทย์ทั้ง 6 คน กำหนดหัวข้อหรือวาระประชุม 9 วาระ โดยประชุมวันที่ 29 เม.ย.2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องแลนด์มาร์คบอลรูม ชั้น 7 โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค สุขุมวิท และวันประชุม มีผู้ถือหุ้นทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่มาร่วมประชุม แต่ฝ่ายทะเบียนของจำเลยไม่รับลงทะเบียนผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ รวมถึงโจทย์ทั้ง 6 คน เพราะเป็นบุคคลที่มีรายชื่อถูกห้ามเข้าประชุม อ้างว่าเป็นคำสั่งประธานกรรมการบริษัทจำเลย ต่อมากลุ่มผู้ถือหุ้นที่ถูกกีดกัน ได้รวมตัวกันที่ห้องประชุมชั้น 7 เพื่อขอเข้าประชุมตามสิทธิ แต่จำเลยไม่ยอมให้เข้าประชุม โดยมีชายฉกรรจ์หลายคนมาขัดขวาง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล

ส่วนในห้องประชุม ผู้ถือหุ้นพยายามซักถามเหตุผลที่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้น แต่ประธานที่ประชุมไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม และกลับดำเนินการประชุมอย่างเร่งรีบเพื่อขอมติที่ประชุม ซึ่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 102และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/26 และหลักการบริหารจัดการหรือธรรมมาภิบาลที่ดีตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดประชุม การส่งหนังสือนัดประชุม และการลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน

ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่ามีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและโดยการรับมอบฉันทะ รวมทั้งสิ้น 936 ราย นับจำนวนหุ้นได้ 1,377,958,516 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 41.55 ของหุ้นชำระแล้วของบริษัท โดยตัดสิทธิ์ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่จำนวน 50 ราย รวมเป็นหุ้นทั้งหมดประมาณ 1,478,765,400 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 44.59 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

การประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ ได้กระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประธานกรรมการ กรรมการ และผู้บริหารของบริษัทจำเลย มิใช่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นการทั่วไป จนปรากฎเป็นข่าวอย่างครึกโครม จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงบริษัทจำเลยให้ชี้แจงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุม

จากนั้นวันที่ 6 พ.ค.2558 จำเลยได้มีหนังสือชี้แจงกรณีไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญว่า มีข้อเท็จจริงเปิดเผยแพร่หลายจนก่อให้เกิดข้อสงสัยอันสมควรว่าหุ้นของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เป็นหุ้นที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หากอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มดังกล่าวเข้าประชุมและใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมได้ตามปกติโดยอาศัยหุ้นที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญต่อการบริหารจัดการกิจการของบริษัท

ดังนั้น โจทก์เห็นว่าการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558 และมติที่ประชุมวาระ 1 ถึง 9 วาระดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงมาการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 780/2558 เพื่อมีคำสั่งต่อไป

ภายหลัง นายสุวัตร ทนายความกล่าวว่า ในวันประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2558 ตนเองได้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนเข้าประชุม แต่ถูกกีดกันไม่ได้เข้าร่วมประชุม รวมถึงผู้ถือหุ้นอีก 49 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม และกฎหมายกำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 30 วัน เราจึงรีบมาฟ้องก่อนที่จะครบกำหนดวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อขอให้การประชุมดังกล่าวเป็นโมฆะ

"หลังจากนี้ เราจะฟ้องอีก 3 คดี จะเป็นคดีอาญา ให้ได้รับโทษทางอาญาและเรียกค่าเสียหายด้วย เพราะกรณีที่มีการเปลี่ยนประธานบริษัทก่อนที่มีการปประชุมเพียง 1 วัน การเสนอให้เปลี่ยนแปลง ให้ตัดวาระสำคัญบางวาระ โดยเฉพาะการตัดไม่ให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตามหลักทรัพย์และประมวลกฎหมายแพ่งด้วย"นายสุวัตรกล่าว

ด้านนายอารักษ์กล่าวว่า การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ในวันนั้น มีผู้ถือหุ้นจำนวนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มีรายชื่อที่ถูกอ้างว่าไม่ให้เข้าร่วมประชุม จึงถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่นฯ และผู้ถือหุ้นที่เป็นโจทก์ร่วมจึงดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้การประชุมต่างๆ เป็นโมฆะ

วันเดียวกันนี้ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 เพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2

โดยในประเด็นการใช้อำนาจของประธานในที่ประชุมห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมนั้น เนชั่นฯ ชี้แจงว่า อยู่ในวิสัยที่ประธานจะทำได้ แม้พ.ร.บ.บริษัทมหาชน และข้อบังคับของบริษัท จะมิได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นย่อมมีอำนาจดำเนินการใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อให้การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพื่อประโยชน์ของบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นทั้งปวงของบริษัท

ทั้งนี้ ในกรณีนี้ ประธานออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุม เพราะเชื่อโดยสุจริตตามที่ปรากฎข้อสงสัยว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทโดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้มีการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย และไม่ได้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทก่อนดำเนินการ เนื่องจากเป็นกรณีที่ประธานได้คำนึงถึงผลกระทบและความเสียหาย และเห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ รวมทั้งได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นอำนาจตามกฎหมายของประธานกรรมการในฐานะประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่สามารถกระทำได้ จึงได้ตัดสินใจดำเนินการก่อนเริ่มประชุมไม่นาน โดยกรรมการรายอื่นๆ ของบริษัทก็ทราบล่วงหน้าก่อนเวลาเริ่มประชุมเพียงเล็กน้อย

ส่วนในประเด็นกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้เข้าร่วมประชุม โดยระบุว่าได้หุ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เนชั่นฯ ชี้แจงว่า ไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ ในเรื่องดังกล่าว และมิได้ใช้อำนาจใดในการพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ได้หุ้นของบริษัทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การไม่อนุญาต เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เนื่องจากยังมีข้อสงสัยอันสมควรจากข่าวที่ปรากฎแพร่หลายจากสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมากและต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธ.ค.2557-เม.ย.2558 พบว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ หรือ บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือSLC (ขณะนี้เปลี่ยนเป็น NEWS) ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทโดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณพ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะการครอบงำกิจการ ซึ่งผิดทั้งตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม และผิดหลักเกณฑ์การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นประเด็นในแง่กฎหมายที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และอาจส่งผลให้ SLC ไม่สามารถถือหุ้นของบริษัทต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุม รวมถึงนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทั้งปวงของบริษัท

เนชั่นฯ ได้ย้ำว่า การใช้อำนาจของประธานฯ ในครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจเพียงชั่วคราว ในช่วงระหว่างที่ข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวยังมีอยู่จนกว่าข้อเท็จจริงจะมีความชัดเจนและเป็นที่ยุติตามคำตัดสินหรือข้อสรุปจากหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณากิจการต่างๆ ของบริษัทกันอีกครั้ง และเห็นว่า การดำเนินการทั้งหมดนี้เป็นอำนาจตามกฎหมายของประธานฯ ที่สามารถกระทำไปได้โดยชอบและเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม เพียงพอและสมควรแก่พฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมิได้เกินเลยหรือสร้างความไม่เป็นธรรมหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใดดังรายละเอียดที่ได้ชี้แจงไปแล้ว

อีกด้าน ดต.สมควร นามนุ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.บึ่งกุ่ม เป็นตัวแทนพนักงานสอบสวน เดินทางมายังสำนักงานอัยการสูงสุดมีนบุรี เพื่อส่งสำนวนฟ้องต่อศาล ในคดีที่นายฉาย บุนนาค เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ,น.ส.ดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ , นางเบ็ญจวรรณ เผ่าจินดามุข ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ, น.ส.เฉลา กาญจนา บรรณาธิการบริหาร และนายนิติราษฎร์ บุญโย ผู้ดูแลเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จนทำให้เกิดความเสียหาย และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งนี้ ทางอัยการนัดฟังคำสั่งพิจารณาของศาลว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในเวลา 10.00 น. วันที่ 3 มิ.ย.2558
กำลังโหลดความคิดเห็น