SLC ฟ้องเครือเนชั่น ฐานหมิ่นประมาท 2.3 พันล้านบาท หลัง กสท.ลงมติตัดสินไม่ได้ เหตุคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ผลการพิจารณาการถือหุ้น SLC เข้าข่ายครอบงำสื่อตกไป ขณะที่เนชั่น เตรียมฟ้อง 3 กสท.ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม กม.
นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสท.ไม่สามารถลงมติเกี่ยวกับเรื่องบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ว่ามีความผิดฐานครอบงำสื่อหรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมมีมติ 2:2:1 จึงไม่สามารถลงความเห็นเป็นมติที่ประชุมได้เพราะเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดที่ต้องมีมติ 3 เสียง ถึงจะเป็นมติเสียงข้างมากได้
สำหรับความเห็นของกรรมการ กสท.ต่อเรื่องดังกล่าวนั้น 2 เสียง โดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เห็นว่า มีความผิดฐานครอบงำสื่อ ส่วนอีก 2 เสียงคือ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ และ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า งดออกเสียง ขณะที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ มีความเห็นว่าไม่เข้าข่ายครอบงำกิจการเพราะผู้ถือหุ้นที่มีส่วนในการตัดสินใจของบริษัทต้องถือหุ้นในสัดส่วน 25% ไม่ใช่ 12.27%
ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า เมื่อที่ประชุมไม่สามารถลงมติได้ ก็เท่ากับว่าการตัดสินว่า SLC มีความผิดฐานการครอบงำสื่อต้องตกไป นับจากนี้ขึ้นอยู่กับทางบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ว่าจะเสนอเรื่องมาให้ที่ประชุมพิจารณาต่ออย่างไร โดยสำนักงาน กสทช.อาจจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมหากมีประเด็นใหม่ๆ ให้ที่ประชุมพิจารณา แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การไม่ตัดสินของกรรมการ กสท.ครั้งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต
*** SLC ฟ้องฐานหมิ่นประมาท
ด้าน SLC นำโดย นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความบริษัท ได้เดินทางไปศาลอาญา เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันนี้ (23 มี.ค.) เพื่อยื่นฟ้องบุคคล และนิติบุคคลจำนวน 10 ราย คดีหมายเลขดำที่ อ.1082/2558 ลงวันที่ 23 มี.ค.58 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ต่อบริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด, นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ, น.ส.ดวงกมล โชตะนา, นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น, นายเสริมสิน สมะลาภา, นายพนา จันทรวิโรจน์, น.ส.ณัฐวรา แสงวารินทร์, นายจักรกฤษ เพิ่มพูน, นายนิติราษฎร์ บุญโย หลังจากที่ร่วมนำเสนอข่าวสร้างความเสียหายแก่ SLC ตั้งเดือน ธ.ค.57 -เดือน ม.ค.58 รวมค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 2,343,005,267.90 บาท
*** เนชั่นฟ้อง 3 กสท.
ด้าน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเร็วๆ นี้ เฉพาะกรรมการ กสท. 3 คน คือ พ.อ.นที ในฐานะประธาน กสท., พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ และ พล.ท.พีระพงษ์ ที่มีความเห็นว่าการถือหุ้นของ SLC ไม่ถือเป็นการครอบงำสื่อ ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 31 และมาตรา 32 และหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกการใช้คลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิตอลในส่วนของคุณสมบัติ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” และ “ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ของผู้เข้าประมูลและ ภายหลังการประมูล ทั้งทางตรงและทางอ้อม
บริษัทมีความเห็นว่า เมื่อกรรมการ กสท.3 ท่านดังกล่าวไม่ได้ยึดมั่นในการใช้ความรู้ความสามารถในการกำกับ และดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลตามกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในส่วนที่ 4 การป้องกันการผูกขาด มาตรา 31 และมาตรา 32
มาตรา 31 เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัด โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย หรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกัน หรือครองสิทธข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 32 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ให้การประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทาง การค้าหรือมาตรการเฉพาะที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามลักษณะการประกอบกิจการ กระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ การกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายความรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน หรือการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียง หรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ หลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกการใช้คลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิตอลปี 2556 ได้ให้นิยาม “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ที่เกินกว่า 10% และ “การเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ของผู้เข้าประมูลทีวีดิจิตอลในช่วงปี 56 ที่มีการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปเจตนารมณ์การแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมที่ได้มีการบัญญัติในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2553
รวมทั้งมติของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.ได้ให้ความเห็นเสียงข้างมากว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกด้วยการประมูลคลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิตอล 24 ช่องให้บังคับใช้ต่อเนื่อง ภายหลังการประมูลสิ้นสุดเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.56 เพื่อให้สภาพการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมของช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่องยังดำรงอยู่ตลอดอายุใบอนุญาตที่มีอายุ 15 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มีช่องทางหลากหลายในการเลือกรับชมช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่องเช่นเดิม
Company Related Link :
กสทช.