xs
xsm
sm
md
lg

"ประจิน"ไฟเขียวเจรจาตรงเดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ประจิน”เห็นชอบเดินหน้าเจรจาตรง BMCL เดินรถสายสีน้ำเงิน ต่อขยาย ส่งเรื่องต่อสศช.และครม. พร้อมขอปรับรูปแบบจาก PPP Gross Cost (จ้างวิ่ง) เป็น PPP Net Cost (สัมปทาน) เหมือนสายเฉลิมรัชมงคล ตั้งเป้าเซ็นสัญญาในก.ค.นี้ เพื่อเร่งเปิดเดินรถให้ได้ไม่เกินต้นปี 62 ส่วนสีม่วงยันเปิดเดินรถช่วง พ.ค.59 ด้าน BMCL ยันเปิดเชิงพาณิชย์ 12 ส.ค.59 คาดช่วยเพิ่มผู้โดยสารใต้ดินวันละ 5 หมื่นคนดันปี 59 มีกำไรโต 25%

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ “MRT 11 ปี ส่งความสุขรับเปิดเทอม”เนื่องในโอกาสรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล ) เปิดให้บริการครบ 11 ปี เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ว่า จะเร่งรัดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ให้เร็วกว่าเดิมที่จะเปิดให้บริการได้กลางปี 2559 ประมาณ 4 เดือน โดยในเดือนพ.ย.-พ.ย. 2558
จะส่งมอบรถไฟฟ้าได้ครบจากนั้นจะมีการทดสอบการเดินรถในช่วง ม.ค.-มี.ค.2559 จากนั้นจะสามารถกำหนดเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการได้ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2559 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค. 2559

สำหรับความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) นั้นพล.อ.อ.ประจินกล่าว ได้ลงนามเห็นชอบตามมติคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยการเจรจาตรงกับ BMCL ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รวมทุนฯ 35)ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเร่งเสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในสัปดาห์หน้า โดยภายในเดือน ก.ค. 2558 จะต้องลงนามในสัญญากับผู้เดินรถให้ได้ซึ่งจะทำให้เปิดเดินรถล่าช้าจากแผนประมาณ 4-6 เดือน จากเดิม จะเปิดให้บริการเดินรถปลายปี 2561 จะเป็นต้นปี 2562 ส่วนรางนั้นจะเสร็จก่อน โดยขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 60 %ดังนั้นจะต้องดูแลบำรุงรางระยะหนึ่ง

ส่วนโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) นั้น จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาในเรื่องที่ รฟม.ได้เสนอปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านประชาสงเคราะห์มาเป็นแนวถนนพระราม 9 ว่าจะเห็นด้วยหรือให้ รฟม.ดำเนินการามเดิมที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท ส่วนกรณีที่มีประชาชนคัดคานเรื่องเวนคืนนั้นจะต้องพิจารณาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดย รฟม.จะต้องแก้ปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะสรุปสายสีน้ำเงินในเรื่องการเดินรถและสายสีส้มเพื่อเสนอครม.ได้ก่อน จากนั้นจะเสนอสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ตามไป

“ที่ประชุมครม.เมื่อวนที่ 19 พ.ค.ได้เร่งให้ดำเนินการเรื่องเดินรถสายสีน้ำเงิน เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนพอสมควรแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีประเด็นต้องพิจารณาเนื่องจากกรรมการของมาตรา 13 ไม่สามารถประชุมได้ต้องชะลอออกไป ส่วนกระทรวงเห็นว่าล่าช้าแล้ว จึงมีการเสนอครม.ขอปรับรูปแบบจากการร่วมทุนแบบจาก PPP Gross Cost หรือจ้างวิ่งเหมือนสายสีม่วง เป็น PPP Net Cost หรือสัมปทานและให้เป็นการเดินรถต่อเนื่อง แต่มีความเห็นจากหลายหน่วยงาน และสรุปให้ดำเนินการตามรูปแบบเดิม คือPPP Gross Cost”พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ส่วนการเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) อยู่ระหว่างรอคำตอบจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งทราบว่า กทม.ต้องการเดินรถทั้งสีเขียวใต้และสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยขอพิจารณาทั้ง 2 ส่วนแล้วจะให้คำตอบซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ขอให้แยกพิจารณาโดยให้คำตอบส่วนใต้ก่อน หากไม่รับเดินรถ รฟม.จะได้เดินรถเอง

***รฟม.เร่งสรุปค่าโดยสารสีม่วง
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการฯรฟม.กล่าวว่า ขณะนี้รฟม.กำลังพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมของสายสีม่วง โดยคาดว่าจะกำหนดในอัตราที่ใกล้เคียงกับสายเฉลิมรัชมงคล โดยมีอัตราค่าแรกประมาณ 10 กว่าบาท และคิดตามระยะทาง โดยจะพิจารณาการใช้ระบบตั๋วร่วมประกอบกับจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงค่าใช้จ่าย ค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างวิ่งที่ต้องจ่ายให้ BMCL มาประกอบทั้งหมดจึงจะกำหนดค่าโดยสารที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งค่าโดยสารจะต้องไม่เป็นภาระกับรัฐบาล

ส่วนการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น หลังจากสรุปใช้วิธีเจรจาตรงกับBMCL และอยู่ระหว่างเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนนั้น จะเสนอของปรับรูปแบบการร่วมทุนอีกครั้ง จาก PPP Gross Cost (จ้างวิ่ง) เป็น PPP Net Cost หรือสัมปทาน เพื่อให้สายสีน้ำเงินเป็นสัญญารูปแบบเดียวกันทั้งหมด

***BMCL ยันเปิดสีม่วงเป็นทางการ 12 ส.ค. 59

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL กล่าวว่า BMCL จะเปิดเดินรถสายสีม่วง เต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ในวันที่ 12 ส.ค. 2559 โดยจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตามที่รฟม.กำหนด โดยหลังจากรับมอบรถไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558 จะเริ่มนำรถวิ่งบนรางเพื่อทดสอบแบบแยกระบบก่อนประมาณ 3 เดือน จากนั้นตั้งแต่เดือนมี.ค. 2559 จะเริ่มทดสอบแบบรวมทุกระบบ
ประมาณ 3 เดือน และตั้งแต่พ.ค.-ก.ค.2559 จะเป็นการทดสอบเดินรถเสมือนจริง ซึ่งในระหว่างนี้จะเปิดให้ผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะร่วมทดสอบระบบด้วยได้ และจะทดสอบไปจนกว่าจะมีความมั่นใจในความปลอดภัยจึงจะปิดให้บริการประชาชนทั่วไปซึ่งยังเป็นวันที่ 12 ส.ค. 2559

ทั้งนี้หลังจากการควบรวมกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL แล้วจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการปี 2558 ของ BMCL มีกำไร และสามารถปันผลได้ทันทีโดยหากพิจารณาผลประกอบการแยกรายบริษัทแล้วปีนี้ BMCL จะขาดทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล มีผู้โดยสารเกือบ 3 แสนคนต่อวัน คาดทั้งปีผู้โดยสารจะเติบโตประมาณ 7-8% และเมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการชิงพาณิชย์ในปี 2559 จะทำให้ BMCL มีรายได้เพิ่มจากค่าจ้างเดินรถประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี และจะมีผู้โดยสารที่ส่งต่อมาจากสายสีม่วงเข้าใช้บริการสายเฉลิมรัชมงคลประมาณ 50,000 คนต่อวัน ในปีแรกที่เปิดให้บริการโดยคาดว่าผู้โดยสารรวม 2 สายทางจะเติบโตจากปี 2557 อีก 20% ส่วนรายได้เติบโต 25% เนื่องจากผู้โดยสารใช้บริการยาวขึ้นขณะเดียวกันประเมินว่าจะมีรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 10-20% ตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น