ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อ่านข่าวเรื่องโรฮีนจาติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้วนะครับ ทางการไทยกำลังจะจัดการประชุมครั้งสำคัญที่ว่าด้วยการอพยพอย่างผิดปกติในอ่าวเบงกอลในปลายเดือนนี้ สิ่งหนึ่งซึ่งผมอยากจะชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญก็คือทำไมต่างชาติโดยเฉพาะตะวันตกพยายามอย่างยิ่งที่จะโบ้ยว่ากลุ่มมนุษย์เรือโรฮีนจาเหล่านี้หนีภัยคุกคามด้านสิทธิมนุษยชนมาจากเมียนมาร์ ทั้งที่ในความเป็นจริงเมียนมาร์ปิดชายแดนไม่ให้คนโรฮีนจาอยู่ในประเทศมานานแล้ว (อย่าง น้อยๆ ก็เกินกว่า 30 ปีมาแล้ว) นั่นทำให้ในความเป็นจริงแล้ว ชาวโรฮีนจาและบังคลาเทศที่ตะวันตกหลายๆ ฝ่ายอ้างตัวเลขการเดินทางอพยพว่ามีมากกว่า 125,000 คนนั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศบังคลาเทศครับ ไม่ใช่เมียนมาร์
ดูการอพยพย้ายดินแดน คนชาติพันธุ์หนึ่งถูกตีแผ่ว่ากำลังโดนทารุณกรรมอาจจะถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยประเทศที่ครั้งหนึ่งตะวันตกมองว่าเป็นตัวร้ายในเวทีโลก เหตุการณ์คล้ายๆ กับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ หลังจากเสร็จสิ้นสงครามลง ประเทศอิสราเอลก็ถูกก่อตั้งขึ้น นัยว่าเพื่อเป็นดินแดนแห่งพันธะสัญญาสำหรับชาวยิวซึ่งถูกทารุณกรรมโดยนาซีในช่วงสงคราม แน่นอน ชาติที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบากในตอนนั้นคือ ปาเลสไตน์ ครับ ถึงปัจจุบันนี้คนปาเลสไตน์ก็กำลังตกทุกข์ได้ยาก บ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีชาติจะอยู่เพราะดินแดนที่ตนเคยเรียกว่าบ้านปัจจุบันกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งตะวันตกหลายๆ ประเทศสนับสนุน
เมียนมาร์ โดยเฉพาะในบริเวณ ยะไข่-อาระกัน กำลังสุ่มเสี่ยงที่อาจจะถูกทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น คำถามคือ ทำไมใครๆ ก็อยากได้ยะไข่ หนึ่งในเมืองขึ้นที่ทำให้คนอย่างบุเรงนอง และอลองพญากลายเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมียนมาร์ ก็เป็นเพราะเขาสามารถตีอาระกันได้ และทำให้ยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาร์ อาระกัน-ยะไข่เป็นเมืองป้อมค่าย มีภูเขาล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง มีทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ในอดีตเป็นที่แหล่งของโจรสลัดที่สร้างความมั่งคั่งจากการปล้นเรือเดินทะเลในอ่าวเบงกอล อาระกัน-ยะไข่เป็นพื้นที่ที่อุมสมบูรณ์ทั้งในแง่เกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังมีวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ พระมหามัยมุณี พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเมียนมาร์ก็อัญเชิญมาจากบริเวณนี้
และในปัจจุบันอาระกัน-ยะไข่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดในทางยุทธศาสตร์การเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพื้นที่หนึ่งในโลก เนื่องจากเราเห็นภาพการจับมือกันของขั้วอำนาจหนึ่งนั่นคือ จีนและอินเดีย (อาจจะมีอาเซียนเข้าไปรวมอยู่ด้วย) กับอีกค่ายหนึ่งซึ่งกำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมจำกัดเขตประเทศจีน นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา ดังนั้นอาระกัน-ยะไข่ จึงเป็นพื้นที่ที่เหมือนทางสามแพร่ง เชื่อมโยงเมียนมาร์ (อาเซียน) เข้ากับจีน และอินเดีย
การสร้างกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กำลังละเมิดกันอยู่ในบังคลาเทศว่าเกิดขึ้นในเมียนมาร์ และในที่สุดหากจะนำไปสู่การแทรกแซงด้วยกองกำลังรักษาสันติภาพ การขีดเส้นลากเส้นว่าบริเวณนี้กลายเป็นพื้นที่ใหม่ เป็นพื้นที่ที่เมียนมาร์ไม่มีสิทธิเข้ามาดูแล และให้อิสรภาพกับประเทศตะวันตกอย่างเต็มที่ในการเข้ามาแทรกแซง ทำให้อดนึงถึงกรณีปาเลสไตน์-อิสราเอลไม่ได้
คำถามคือปัจจุบันอาระกัน-ยะไข่น่าสนใจอย่างไร? คำตอบ เพราะอาระกัน-ยะไข่คือจุดเชื่อมโยงสำคัญสู่จีนและอินเดียครับ ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีต้องเข้าใจ 2 Megaproject ในพื้นที่นี้นั่นคือ Sittwe- Kaladan Multi-modal Transit Transport Project ของอินเดีย และ Kyaukphyu Sino-Burma Pipelines ของจีนครับ
ท่าเรือ Sittwe อ่านว่า ชิตตเว่ ท่าเรือแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกสุดของประเทศเมียนมาร์ อยู่ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ท่าเรือชิตตเว่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำสายสำคัญที่สุดทางด้านตะวันตกของเมียนมาร์นั่นคือ แม่น้ำ Kaladan (คาลาดาน) ท่าเรือแห่งนี้ถูกผนวกเข้ากับโครงการพัฒนาระบบการขนส่งและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดแห่งของเมียนมาร์ที่เรียกว่า “Kaladan Multi-modal Transit Transport Project” ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย เฉพาะตัวท่าเรือเพียงอย่างเดียวก็ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอินเดียกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ท่าเรือและการขนส่งทางน้ำตลอดเส้นทางของแม่น้ำ Kaladan เพื่อหาทางออกทะเลให้กับ 8 รัฐในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียซึ่งมีลักษะเป็นแผ่นดินที่ไม่มีทางออกทะเล (Land Lock Country) และยังเกือบจะตัดขาดกับแผ่นดินใหญ่ (มีเพียงช่องเขาเล็กๆ เรียกว่า Siliguri Corridor เท่านั้นที่ต่อติดภูมิภาคนี้เข้ากับแผ่นดินใหญ่ของอินเดีย)
โครงการ Kaladan KMTTP แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอินเดียกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งการเชื่อมโยงอินเดียและเมียนมาร์ออกเป็น 3 ส่วนในลักษณะ Multi-modal Transit Transport นั่นคือ
• ท่าเรือ Sittwe ที่จะเชื่อมโยงการค้าขายและการขนส่งทางทะเลของเมียนมาร์ เข้ากับเมืองท่าสำคัญที่สุดทางตะวันออกของอินเดีย คือ เมืองกัลกัตตา โดยการขนส่งในมหาสมุทรอินเดีย ช่วยให้สามารถลัดเส้นทางการขนส่งทางทะเลจากเดิมได้มากกว่า 1,320 กิโลเมตร และคาดว่าท่าเรือแห่งนี้ซึ่งสร้างโดยบริษัท Essar Group ของอินเดียจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2014
• เส้นทางการขนส่งในแม่น้ำ Kaladan จากท่าเรือ Sittwe ไปสู่ปลายทางด้านบนของแม่น้ำที่ท่าเรือ Paleta ในรัฐชิน (Chin) โดยการขนส่งทางแม่น้ำนี้ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก Inland Waterways Authority of India (IWAI) และก่อสร้างโดย Essar Projects Ltd ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Essar Group
• เส้นทางการขนส่งทางถนนและระบบรางจากท่าเรือ Paletwa ไปสู่เมือง Mywikwa ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างรัฐ Mizoram ของอินเดีย และเมียนมาร์ ในขณะที่การสำรวจเส้นทางสร้างระบบรางรถไฟให้เชื่อมต่อกับระบบของประเทศอินเดียก็ได้ดำเนินการไปแล้วโดย Rail India Technical and Economic Services (RITES)
ทั้งนี้ นอกจากการสร้างเส้นทางการเชื่อมโยง 2 ประเทศเข้าด้วยกันแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อีก 2 โครงการคือ Chhimtuipui และ Lungleng ก็อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้อีกด้วย
เมื่ออินเดียเข้าไปลงทุนมากๆ ในชิตตเว่ มหาอำนาจอย่างจีนก็ไม่น้อยหน้าเพราะเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการจ้าวผิว โครงการพัฒนาท่าเรือในบริเวณนี้เริ่มขึ้นในปี 2007 เมื่อกลุ่ม Asia World อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเมียนมาร์ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหารประกาศจะสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่เกาะ Maday ในบริเวณนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการค้าขายระหว่างย่างกุ้ง กัลกัตตา (Kolkata, อินเดีย) และจิตตะกอง (Chittagong, บังคลาเทศ) จากนั้นโครงการพัฒนาในเขตนี้ก็ยิ่งคึกคักมากยิ่งขึ้นเมื่อทางการจีนสามารถตกลงกับรัฐบาลเมียนมาร์ในโครงการความร่วมมือ “Sino-Burma Pipelines” ในปี 2008 และในปี 2010 ธนาคาร China Development Bank และ Myanmar Foreign Investment Bank ก็บรรลุข้อตกลงในการกู้ยืมเงินในวงเงินกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการสร้างท่อส่งน้ำมันความยาว 1,060 กิโลเมตรจากบริเวณนี้เข้าไปถึงเมืองคุนหมิงในมลฑลยูนนาน โดยคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จในปี 2015 และสามารถลำเลียงส่งน้ำมันทางท่อได้กว่า 4 แสนบาร์เรลต่อวัน นั่นก็จะทำให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาหรือผ่านทางสิงคโปร์ซึ่งระยะทางยาวไกลและมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก
นอกจากท่อส่งน้ำมันแล้ว ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง Shwe ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันก็สามารถลำเลียงทางท่อส่งก๊าซผ่านมาทางเกาะ Maday เพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีนได้แล้วเช่นกัน โดยเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2013 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ท่อส่งก๊าซและสถานีควบคุมในโครงการนี้ก่อสร้างโดย บริษัท Daewoo International ของประเทศเกาหลีร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจเมียนมาร์ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) โดยมีศักยภาพในการส่งก๊าซได้ 12 พันล้านคิวบิคเมตรต่อปี
โครงการท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิว (Kyaukpyu Special Economic Zone) ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการลงทุนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีคนทำงานในพื้นที่มากกว่า 2 แสนตำแหน่งงาน มีท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และในอนาคตรัฐบาลจีนและรัฐบาลเมียนมาร์ก็มีการวางแผนที่จะพัฒนาโครงการขนส่งระบบรางระยะทาง 1,215 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมโยงจ้าวผิวเข้ากับนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการเหล่านี้ยังมีเสียงคัดค้านอยู่บ้างโดยเฉพาะจากภาคประชาสังคมในแง่ของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อาทิ รายงานจากกลุ่ม Arakan Oil Watch ซึ่งจับตามองการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิวในบริเวณเกาะ Ramree ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่กว่า 40 หมู่บ้าน และจะทำลายป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศเมียนมาร์ โดยคาดว่าผลกระทบจะเกิดเป็นวงกว้างในพื้นที่กว่า 120 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ชายฝั่งของรัฐยะไข่
เห็นแล้วใช่มั้ยครับว่าพื้นที่อาระกัน-ยะไข่สำคัญอย่างไร ไทยรีบเข้ามามีบทบาทยุติความขัดแย้ง ทวงคืนบทบาทผู้นำอาเซียนที่เราเสียรังวัดไปสมัยเสื้อแดงบุกการประชุมอาเซียน +6 ที่พัทยา หาทางออกที่ไม่ให้มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาแทรกแซง กดดันภายในภูมิภาค จึงนับเป็นการเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในนาทีนี้ครับ เพราะเราคงไม่อยากเห็นเขตมิคสัญญีอย่างในฉนวน Gaza Strip และ West Bank เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้ๆ บ้านเราครับ