xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ลี้ภัย “โรฮีนจา-บังกลาเทศ” กว่า 1,600 คนแห่ขึ้นฝั่งที่อินโดฯ-มาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี - ใน 2 วันมานี้ได้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศราว 1,600 คนขึ้นฝั่งอย่างผิดกฎหมายในมาเลเซียและอินโดนีเซีย หลังจากที่พวกลักลอบค้ามนุษย์ได้ละทิ้งเรือที่พวกเขาโดยสารมา และปล่อยให้พวกเขาต้องเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ ระบุในวันนี้ (11 พ.ค.)

กลุ่มผู้ลี้ภัยราว 600 คนกลุ่มหนึ่งเดินทางมาถึงอาเจะห์ จังหวัดชายฝั่งของแดนอิเหนา บนเรือ 4 ลำเมื่อวันอาทิตย์ (10) และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ลี้ภัยทั้งสิ้น 1,018 คนได้ขึ้นฝั่งบนเกาะตากอากาศลังกาวีของแดนเสือเหลืองด้วยเรือ 3 ลำ

เป็นเวลาหลายสิบปีที่ชาวมุสลิมโรฮีนจาทนทุกข์จากเลือกปฏิบัติในพม่าที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และมองว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ การโจมตีชาวโรฮีนจาโดยม็อบชาวพุทธใน 3 ปีที่ผ่านมาได้จุดชนวนให้เกิดการอพยพหนีภัยสู่ประเทศต่างๆ ใกล้เคียง

จามิล อาห์หมัด รองผู้บัญชาการเกาะลังกาวี บอกกับเอพีว่า กลุ่มที่ถูกรับตัวขึ้นมาเมื่ออาทิตย์ (10) ประกอบด้วยชาย 865 คน, เด็ก 52 คน และผู้หญิง 101 คน และบอกว่า ตำรวจได้พบเรือไม้ขนาดใหญ่ลำหนึ่งติดทรายอยู่ในพื้นที่น้ำตื้นที่ชายหาดแห่งหนึ่งในเกาะลังกาวี ซึ่งสามารถบรรทุกคนได้ 350 คน และเสริมว่า นี่แสดงว่ามีเรืออยู่อีกอย่างน้อย 2 ลำ แต่ยังหาตำแหน่งไม่ได้

จามิล กล่าวว่า ชายชาวบังกลาเทศรายหนึ่งบอกกับตำรวจว่า พอมาถึงชายฝั่งมาเลเซีย พวกคนบังคับเรือก็บอกทิศทางที่พวกเขาจะต้องไปต่อ และจากนั้นคนพวกนั้นก็หลบหนีไปกับเรือลำอื่น ผู้อพยพรายนี้กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ทานอาหารมา 3 วันแล้ว จามิลกล่าว และเสริมว่าพวกเขาส่วนใหญ่อ่อนแอและผ่ายผอม

“เราเชื่อว่าอาจมีเรือเข้ามาอีก” จามิลกล่าว

สตีฟ ฮามิลตัน จากองค์การเพื่อผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า เมื่อเรือ 4 ลำดังกล่าวอยู่ใกล้กับชายฝั่งของอินโดนีเซียในวันอาทิตย์ (10) ผู้โดยสารบางคนกระโดดลงน้ำและว่ายน้ำเข้ามา

พวกเขาถูกพาไปยังสนามกีฬาแห่งหนึ่งในเมืองลกซูค็อน เมืองเอกของเขตปกครองอาเจะห์เหนือ เพื่อรับการพยาบาลและซักถาม พ.ท.อัชมาดี ผู้กำกับการตำรวจในท้องที่นี้ กล่าว

พวกเขาบางคนที่ป่วยและทรุดโทรมหลังจากอยู่กลางทะเลนานกว่า 2 เดือนกำลังรับการรักษาทางการแพทย์

“เราไม่มีอะไรกินเลย” ราชิด อาห์เหม็ด ชาวโรฮีนจาวัย 43 ปีที่เคยอยู่บนหนึ่งในเรือเหล่านั้นกล่าว และบอกว่าเขาออกมาจากรัฐยะไข่ของพม่าพร้อมกับลูกชายคนโตเมื่อ 3 เดือนก่อน

ในตอนนี้มีคนราว 7,000-8,000 คนกำลังถูกจับอยู่ในเรือลำใหญ่และลำเล็กในช่องแคบมะละกาและน่านน้ำสากลใกล้เคียง คริส ลีวา ผู้อำนวยการโครงการอารากัน ซึ่งเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของชาวโรฮีนจามากว่าสิบปี กล่าว พร้อมเสริมว่า การปราบปรามขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ในไทยและมาเลเซียทำให้พวกนายหน้าไม่สามารถพาพวกเขามาส่งยังชายฝั่งได้

บางคนถูกจับทั้งๆ ที่สมาชิกในครอบครัวจ่ายเงินให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือแล้ว

“ดิฉันเป็นกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองทิ้งผู้โดยสายไว้กลางทะเล” ลีวากล่าว พร้อมระบุว่าบางคนถูกทิ้งไว้นานกว่า 2 เดือน

เนื่องจากเข้าถึงอาหารและน้ำสะอาดได้อย่างจำกัด อีกทั้งถูกควบคุมอย่างเข้มงวด สุขภาพของพวกเขาจึงกำลังทรุดโทรม ลีวากล่าว และเสริมว่ามีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย

ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางสำหรับขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ในภูมิภาคมานานแล้ว

กลวิธีของพวกนายหน้าและเอเย่นต์เริ่มเปลี่ยนไปในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากทางการได้เริ่มยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางบกให้แน่นหนาขึ้น ความเคลื่อนไหวซึ่งชัดเจนว่ามีจุดประสงค์เพื่อทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สงบลง เนื่องจากวอชิงตันเตรียมที่จะออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons report) ประจำปีของตนในเดือนธันวาคม โดยเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยถูกลดระดับสู่ระดับต่ำสุด เทียบเท่ากับเกาหลีเหนือและซีเรีย

ผู้อพยพที่ถูกยัดลงเรือมาจากอ่าวเบงกอลนั้น นอกจากชาวโรฮีนจาแล้ว ยังมีชาวบังกลาเทศที่หลบหนีจากความยกจน และหวังว่าจะได้พบชีวิตที่ดีขึ้นในอื่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จุดแวะพักแรกของพวกเขาคือประเทศไทย ซึ่งพวกเขาจะถูกควบคุมตัวในสถานกักกันแบบเปิดในค่ายกลางป่าทึบ ขณะที่พวกนายหน้าจะเก็บ “ค่าไถ่” เป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์ (ราว 67,000 บาท) หรือมากกว่านั้นจากครอบครัวและเพื่อน ซึ่งอาจต้องจ่ายอีกในจุดต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นมาเลเซียหรือประเทศอื่นๆ ผู้ที่ไม่มีจ่ายนั้น บางครั้งก็ถูกทุขบตี, ฆ่า หรือปล่อยให้ตาย

นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ตำรวจได้พบศพจากหลุมตื้นๆ ในภูเขาทางภาคใต้ของไทยแล้วหลายสิบศพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย

หลังจากนั้น ทางการไทยได้เดินหน้าจับกุมผู้ต้องหาหลายสิบคน รวมถึงนายกเทศเทศมนตรีที่มีอิทธิพลรายหนึ่ง และชายคนหนึ่งที่ชื่อ ไซ ไน หรือที่รู้จักกันในชื่อ อันวาร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในตัวการใหญ่ของขวนการค้ามนุษย์ในภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นายด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น