xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา “เราไม่ได้ต่อรองราคาโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องการบอกว่าคุณอย่าโกง อย่าโก่ง อย่าคิดราคาเกินจริง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นข่าวครึกโครมทั้งแผ่นดิน เมื่อ “ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นจดหมายเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน หลังพบว่ามีการโขกค่ารักษาแพง และทุจริตค่ารักษา หนำซ้ำยังมีการเรียกร้องให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดบอร์ดแพทยสภา โดยระบุว่าเป็นกลุ่มอำนาจที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้การพัฒนาไม่ไปถึงไหน

เพื่อให้ความจริงกระจ่างและประชาชนเข้าใจถึงที่มาที่ไป ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ จึงให้“ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” มาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  

คุณปรียนันท์มองว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงเกินจริง

มีหลายปัจจัย เท่าที่ดิฉันมองคือ ค่ายาและเวลาคนไข้จะออกจากโรงพยาบาล บางทีออกไม่ได้ เช่น อาจเกิดจากดึงตัวไว้รักษาหรือไม่ บางทีก็เกิดจากปัญหาซับซ้อน ซึ่งเป็นปัญหาซ้อนปัญหา คือ การหาเตียงหรือไอซียูของโรงพยาบาลตามสิทธิ์ผู้ป่วยไม่ได้ ตรงนี้โรงพยาบาลรัฐก็ต้องปรับปรุงด้วย นอกจากนั้นดิฉันมองว่าค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพง เกิดจากการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีการนำฝรั่งต่างชาติเข้ามารักษาโดยคิดค่าบริการสูงๆ ดังนั้นเวลาคนไทยเข้าไปก็อาจจะเจอราคาเรตเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเรตที่คนไทยรับไม่ค่อยได้

ส่วนคนไทยที่มีเงินมีทองอาจจะรับราคานั้นได้ แต่ถ้าเขารู้ว่าบิลนั้นเขาโดนโกง เชื่อว่าเขาคงรับไม่ได้แน่ๆ เนื่องจากในข้อมูลที่ดิฉันไปพบมา ปรากฏว่ามีการโกงราคาขึ้นมา มีเรื่องการเพิ่มเวชภัณฑ์ที่คนไข้ไม่ได้ใช้ลงไปในบิล มีการคิดราคาเกินจริง เช่น อะดรีนาลีนใช้จริงแค่สิบหลอด แต่ในบิลมีการบวกไป 148 หลอด ซึ่งเป็นการคิดเกินจริง ทุกโรงพยาบาลเอกชนอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่ามันมีกรณีนี้เกิดขึ้นมาแล้ว

ความจริงการที่ลุกขึ้นมาของดิฉันและประชาชนนั้น เราไม่ได้ต้องการขอลดราคา เราไม่ได้ต่อรองราคาโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องการบอกว่าคุณอย่าโกง อย่าโก่ง อย่าคิดราคาเกินจริง ให้คิดราคาที่สมเหตุสมผล ประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน เขารู้ว่าราคาต้องแพง เพราะเป็นการทำธุรกิจ แต่ว่าการแพงของคุณ ไม่ใช่หมายความว่ามาคุณบวกเอาตามใจชอบ หรือโกงแบบเสรี ซึ่งมันไม่ใช่

แล้วการที่โรงพยาบาลเอกชนออกมาตอบโต้ว่าแพงก็อย่าเข้านั้น ดิฉันมองว่าถ้าเป็นคนรวย เขามีศักยภาพที่จ่าย เพราะสะดวกสบาย ถึงราคาแพงก็คงรับได้ แต่สำคัญคือคุณไม่ต้องไปโกงเขา หรือค้ากำไรเกินควร แล้วที่คุณบอกว่าต้องลงทุนที่ดินและอาคารสถานที่นั้น คุณอย่าลืมว่าราคาที่ดิน และสถานที่เพิ่มทุกปี แล้วคุณจะผลักภาระให้ประชาชนไปตลอดหรือไม่ ส่วนเรื่องบุคลากร คือ แพทย์ ส่วนใหญ่แพทย์ไม่ใช่ลูกจ้างของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนมากจะทำสัญญาแบ่งรายได้กัน ดังนั้นโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีภาระเรื่องเงินเดือนแพทย์ อีกส่วนหนึ่งคือที่คุณบอกว่าลงทุนไปโดยที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลือนั้น ก็ไม่จริง เพราะถามว่าคุณมีที่ดิน มีสถานที่ มีอุปกรณ์ แต่ถ้าไม่มีแพทย์ ถามว่าคุณทำงานได้ไหม คำตอบคือไม่ได้

ตอนคุณก่อตั้งโรงพยาบาลเอกชน คุณดูดเอาแพทย์ เอาบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐไปแบบฟรีๆ โดยไม่ได้ลงทุนผลิตเองแม้สักบาทเดียว เพราะการสร้างหมอคนหนึ่งเกิดจากภาษีประชาชน พอหมอทำงานเก่งแล้ว คุณกลับดูดไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน แล้วขณะนี้เราแค่เรียกร้องให้ช่วยดูแลคนไข้ในราคาที่เป็นธรรม และรับผู้ป่วยสิทธิฉุกเฉินโดยรับเรตของ สปสช. คุณทำให้เราได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราอยากตั้งคำถาม 

มีเคสตัวอย่างคนไข้คนไหนบ้าง ที่คุณปรียนันท์คิดว่าจะสะท้อนตัวอย่างปัญหาบิลช็อกได้ดีที่สุด

ยกตัวอย่างเคสที่มาร้องเรียนกับดิฉัน เป็นเคสคนไข้ผู้หญิงอายุ 78 ปี อยู่ต่างจังหวัด มางานแต่งงานญาติที่กรุงเทพฯ แล้วเกิดล้มลงในงานลิ้นจุกปาก ญาติจึงพาเขาส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ที่สุด คุณหมอก็ช่วยดุแลปฐมพยาบาลจนฟื้น ส่วนคนที่ไปส่งคนไข้นั้น เป็นญาติห่างๆ โรงพยาบาลแจ้งญาติว่ามีค่ารักษาพยาบาลวันละสามหมื่น พอดีคุณป้าท่านนี้ฐานะยากจน ญาติจึงช่วยรวบรวมเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ พอรุ่งขึ้น ลูกชายของคุณป้าจะมารับและย้ายไปอยู่โรงพยาบาลอื่น แต่ตอนยังมาไม่ถึง โรงพยาบาลแจ้งว่าต้องทำบอลลูนหัวใจด่วน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 6 - 7 แสนบาท ทีนี้ญาติคนที่เซ็นคนแรกกลับไปแล้ว เพราะไม่ใช่ญาติสนิทกัน ดังนั้นญาติอีกคนหนึ่งจึงเข้ามาเซ็นให้

พอญาติคนที่สองมาถึง โรงพยาบาลบอกว่าค่าใช้จ่าย 6-7 แสนบาท เขาก็ชะงักแล้ว แต่โรงพยาบาลบอกว่าเคสนี้เข้าเงื่อนไขสิทธิฉุกเฉิน สามารถเบิก สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ได้ แต่โรงพยาบาลไม่ได้บอกหมดว่าเบิกได้ไม่ครบนะ ดังนั้นญาติคนนี้จึงเซ็น เพราะความไม่รู้หมด จนหมอทำบอลลูนหัวใจเสร็จ ลูกชายคุณป้ามาจากสุราษฎร์ธานี เพื่อมาเฝ้า แต่ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นทุกวันๆ เขาโทรมาหาดิฉัน ดิฉันเลยแนะนำไปว่าดีลกับ สปสช. ได้ เพราะกรณีนี้เข้าเงื่อนไขสิทธิฉุกเฉิน แต่ลูกชายบอกว่า ทางโรงพยาบาลแจ้งว่า ญาติคนไข้เซ็นปฎิเสธที่จะไปรักษาที่อื่น และยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย คือมีใบที่ญาติเซ็นว่ายินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งมันซ่อนอยู่ในใบยินดีให้รักษา เราก็ไม่รู้ว่าใบไหนที่เขาส่งให้ สปสช.

สุดท้ายดิฉันไปที่โรงพยาบาล เพราะคนเป็นลูกชายอยู่กับแม่ที่โรงพยาบาลไม่ได้ เพราะเป็นห้องไอซียู เขาไม่มีเงินไปนอนโรงแรม ก็ต้องอาศัยนอนตามม็อบ นอนตามป้ายรถเมล์ ดิฉันเวทนาเลยไปหาที่โรงพยาบาล ขอคุยกับโรงพยาบาล แต่ ผอ.ไม่คุย ให้ไปคุยกับนิติกรแทน เราต้องบอกเขาว่าไม่ได้มาหาเรื่อง แต่มาตามนโยบายสิทธิฉุกเฉินที่บอกว่าเข้าได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ แต่ปรากฏว่านิติกรก็คุยรักษาผลประโยชน์ให้เจ้านายเต็มที่ สุดท้ายคุยไม่รู้เรื่อง เขายินยันให้จ่าย ไม่งั้นก็ย้ายผู้ป่วยไปไม่ได้ พอดีช่วงนั้นมีม็อบ ชาวบ้านในม็อบที่มาจากตำบลบางใบไม้ทราบข่าว จึงช่วยรวบรวมเงินมาช่วยสองหมื่นบาท ส่วนลูกชายเซ็นรับสภาพหนี้ว่าจะจ่ายคืนเดือนละสองพัน ทั้งที่เขาเงินเดือนล่ะเจ็ดพัน ซึ่งตอนหลังก็ไม่มีปัญญาจ่าย ต้องรอให้โรงพยาบาลฟ้อง

เคสนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าคนไข้ไม่มีทางทันนิติกรของโรงพยาบาลหรอก เพราะเขาจะบอกว่ามีเงินเท่าไหร่ ก็เอามาจ่ายค่ารักษาก่อน พันหนึ่งก็ได้ เพื่อเขาจะได้ให้คนไข้เซ็นกลายเป็นคู่สัญญา มีอะไรจะได้ฟ้องได้

นอกจากนั้นยังมีอีกเคส มีภรรยาของคุณครูท่านหนึ่งโดนรถชนหัวฟาดฟื้น ถ้าไม่ผ่าตัดก็อันตราย ทางโรงพยาบาลเอกชนแจ้งว่าไม่เข้าโครงการสิทธิฉุกเฉิน ต้องเสียค่าใช้จ่ายสองแสนห้า เขาเลยต้องเซ็น ตอนหลังภรรยาเขามีเลือดคั่งในสมองอีกจุด ก็ต้องผ่าตัดอีก เสียค่าใช้จ่ายสองแสนห้า คุณครูก็ต้องเซ็นอีก พอวันต่อมาจะขอย้ายไปโรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชนบอกว่าต้องจ่ายก่อน พอคุณครูแย้งว่าสามารถเข้าข่ายสิทธิฉุกเฉิน ไม่ต้องจ่ายนี่ แต่โรงพยาบาลก็เอาใบมาให้เซ็น ทีแรกโรงพยาบาลบอกไม่เข้าโครงการ แต่กลับมีใบของ สปสช. ให้เซ็น บอกว่าจะไปเบิกให้ แต่คุณครูต้องจ่ายก่อน

คุณครูท่านนี้เงินแสนไม่เคยมีเก็บ แต่ต้องหาเงินครึ่งล้านภายในครึ่งวัน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายโรงพยาบาล แล้วย้ายภรรยาออกมา ภายหลัง สปสช. จ่ายเงินคืนมาให้ครูเจ็ดหมื่นหก โดยบอกว่าราคานี้โรงพยาบาลมีกำไรแล้ว คือ เขาเป็นหมอด้วยกัน จะรู้ค่าใช้จ่าย จะรู้เรตเครื่องมือ รู้เรตทุกอย่าง ที่รู้มาคือ เวลาที่ประกันสังคมจ่ายให้คนไข้ มันก็เรตประมาณนี้ แต่ว่าทางโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ไม่ยอม ครูก็เคว้ง ดิฉันก็ต้องพาไปฟ้องที่รัฐสภา เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยขณะนั้น โดยมี สปสช. สนับสนุนนโยบายนี้ พอเป็นข่าว คุณยิ่งลักษณ์ นายกฯ ในขณะนั้นก็ยืนยันว่าใช้ได้ ทำให้คนไข้แห่เข้าโรงพยาบาลเอกชนอีก แต่ปรากฏว่าปัญหาเดิมก็มีอีก คือ คนไข้ถูกลอยแพ

ดังนั้นหลายๆ เคสทำให้ดิฉันมองว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คนไข้พร้อมหรือยังในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชน คือ คุณอาจจะหายจากโรค แต่อาจช็อกจากค่ารักษาพยาบาล ลูกหลานคุณพร้อมที่จะเซ็นรับสภาพหนี้หรือยัง คุณมีทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหนที่จะแปลงเป็นเงิน เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล

แล้วในกรณีนโยบายสิทธิฉุกเฉินนี้ ทำให้ดิฉันเห็นค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนว่ามันห่างจากที่เขาตั้งว่ากำไรแล้วเท่าไหร่ บวกไปอีกกี่เปอร์เซ็นต์ คือ มันห่างเยอะมาก 

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนว่าเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยได้ไหม

ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเปรียบเทียบ แต่ดิฉันมีข้อมูลว่ามีเคสที่โดนโกง ถูกบวกรายการที่คนไข้ไม่ได้ใช้เข้าไปในบิล มีเห็นราคากลางของรัฐบาล แต่โรงพยาบาลเอกชนไม่รับ และบวกราคาไปหลายเท่า แล้วพอไปเสิร์ชคำว่า “โรงพยาบาลเอกชน ค่ารักษาแพง” ในอินเตอร์เน็ต คุณจะเห็นกระทู้ของประชาชนเยอะมาก เช่น ค่ารักษาก้างติดคอ 3-4 หมื่น เป็นไข้หวัด 4 หมื่น นอกจากนั้นมีคนเขียนจดหมายมาหาดิฉัน เขาบอกเข้าโรงพยาบาลเอกชนวันเดียว ห้าแสนบาท เรียกว่ามีร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

เรื่องนี้ดิฉันคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคือ แพทยสภา สคบ. อย. กรรมาธิการสาธารณสุข รัฐสภา วุฒิสภา ทำไมเขาไม่ทำอะไร ทำไมเขาไม่ทำหน้าที่ ดิฉันเห็นคนเดือดร้อนในเรื่องนี้มาก จนทำให้ดิฉันโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เพื่อรณรงค์เรื่องนี้ เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันลงชื่อ โดยตั้งแคมเปญผ่านเว็บ change.org เพื่อสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่าบริการสถานพยาบาลเอกชน มีคนร่วมลงชื่อกว่า 33,000 รายชื่อ ตอนหลังเราเลยเอารายชื่อนี้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับเรื่องแทน

 คิดว่าถ้ามีจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมค่าบริการสถานพยาบาลเอกชนขึ้นมาจริงๆ จะเป็นประโยชนอย่างไรต่อสังคมบ้าง

เรื่องนี้เรามองว่าการจะขยับเปลี่ยนอะไรในสังคม ควรจะต้องประกอบด้วยสามส่วน คือ ภาคประชาชน เราผ่านขั้นตอนที่ไปมอบรายชื่อให้แก่รัฐบาลแล้ว ส่วนภาคบริหาร ท่านนายกรัฐมนตรีก็ขานรับแล้ว ตอนนี้เหลือแค่ฝ่ายวิชาการเท่านั้นเอง

การที่เราต้องการให้มีคณะกรรมการควบคุมค่าบริการสถานพยาบาลเอกชน เพราะเราต้องการรวบรวมคนที่มีความรู้เรื่องยา รู้เรื่องหมอ รู้เรื่องค่าราคาทุกอย่าง เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการควบคุมค่าบริการของสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งเราต้องการคนที่จริงจังและจริงใจมาแก้ปัญหา โดยที่ข้างบนคือ นายกรัฐมนตรีต้องจริงจังด้วย ไม่อย่างนั้นเรื่องจะกลายเป็นเงียบไปเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา บิลค่ารักษาใบเดียว เวลาประชาชนต้องการร้องเรียน ค่าหมอต้องไปร้องแพทยสภา ค่าเวชภัณฑ์ต้องไปร้องกรมการค้าภายในหรือ อย. สคบ. กองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข คือ บิลใบเดียวต้องให้ประชาชนไปร้องเรียนหลายแห่ง มันไม่มี one stop service แล้วการที่หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนกระจายไปเยอะๆ แบบนี้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยาก มันเหมือนเอื้อให้มีการโกงได้อย่างเสรี ดิฉันเลยมองว่าถ้ามีคณะกรรมการกลางที่เป็นเหมือน one stop service ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นกรรมการ เวลาประชาชนมีปัญหา ก็จะสามารถมาร้องเรียนได้ที่นี่ และต้องมีกฎหมายรองรับ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะถ้าหน่วยงานราชการไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เขาก็ไม่ทำ นอกจากนั้นต้องมีบทลงโทษสำหรับใครที่เล่นเกินขอบเขต เช่น โกง ตลอดจนอาจจะมีการตั้งราคากลาง การจัดเกรดของโรงพยาบาลต่างๆ

การที่คุณออกมาเรียกร้องให้สถานพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม ไม่โกงราคาอย่างนี้ เจออุปสรรคและแรงกดดันอะไรหรือไม่

ไม่กดดันนะคะ พอดิฉันทำอย่างนี้ถือว่าได้ทำหน้าที่เราที่สุดแล้ว แล้วผลจะออกมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องของทุกคน เพราะนี่คือเรื่องของทุกคน หากสื่อไม่เล่น หรือรัฐบาลไม่ขานรับ ก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่แล้ว แต่เผอิญมันไม่ใช่อย่างนั้น เพียงสองสัปดาห์ ตัวเลขคนสนับสนุนมันพุ่งขึ้นมาสามหมื่นกว่าคน ทั้งที่ดิฉันตั้งเป้าหมายแค่หนึ่งหมื่นคนเท่านั้น พอตั้งใจจะไปยื่นรายชื่อวันที่ 12 ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีออกมาขานรับตั้งแต่วันที่ 7 กลายเป็นเรื่องใหญ่เลย

ไม่ใช่ว่าดิฉันทำให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ปัญหาที่มันซุกซ่อนอยู่กว่าสามหมื่นสามพันปัญหาเป็นเพียงยอดเขาที่โผล่พ้นน้ำมาเท่านั้นเอง เสียงตอบรับพวกนี้คือพลังความเจ็บปวดของประชาชน พลังความทุกข์ของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มองเห็น เชื่อว่าหากท่านเอาจริงเอาจังและทำคณะกรรมการนี้ให้มีหน้าที่ตามกฎหมาย จะกลายเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม เขาก็จะเห็นด้วย ไมต่อต้าน 

เห็นคุณเรียกร้องให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ปลดแพทยสภาออกให้หมด อยากรู้ว่าเพราะอะไร

ใช่ค่ะ เพราะดิฉันไม่รู้ว่าจะจัดการแพทยสภาได้อย่างไร ตอนนี้เห็น คสช. ใช้มาตรา 44 กับบอร์ดสำนักงานกองสลากฯ ก็เลยคิดว่าน่าจะเอามาใช้กับแพทยสภา เพราะถ้าจะไปใช้วิธีอื่น คงทำไม่ได้ง่ายเลย เพราะอิทธิพลของเขาสูงมาก

ดิฉันมองว่าแพทยสภามีปัญหา ถ้าดูแพทยสภาแล้วจะประกอบด้วยหลายส่วน คือ แพทยสภาโดยตำแหน่ง คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ จะเป็นโดยตำแหน่ง แต่ว่ากรรมการที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่จะมาจากเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน หรือมีหุ้นส่วน มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เพราะเขาเข้าไปกุมอำนาจระดับนโยบาย คำว่าแพทยสภาจึงถือว่าใหญ่ แล้วเขาก็จะส่งกรรมการไปเป็นตัวแทนตรงนี้ ซึ่งที่ต่างๆ เหล่านั้นไม่มีตัวแทนประชาชน

ที่ผ่านมา ดิฉันก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มานาน 13 ปี ช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากรัฐและเอกชน เราพบว่าเวลาเราไปร้องเรียนแก่แพทยสภา ปรากฏว่าคดีกลายเป็นไม่มีมูลแทบจะทุกคดี เราเลยคิดว่าเราทำอะไรเขาแทบไม่ได้เลย ฉะนั้นตอนนี้อยู่ในยุครัฐบาลพิเศษอย่างนี้ ถ้าจะเปลี่ยนอะไรก็น่าจะเปลี่ยน ดิฉันเลยคิดว่าถ้าจะตั้งคณะกรรมการควบคุมค่าบริการสถานพยาบาลเอกชนขึ้นมา แต่มีเจ้าของโรงพยาบาลไปกุมอำนาจในระดับนโยบาย ก็จะเป็นไปไม่ได้

หากมีการเปลี่ยนแปลง โดยแต่งตั้งคนนอกเข้าไปคานอำนาจ เหมือนที่ประเทศอังกฤษหรือประเทศสิงคโปร์ทำมา เพราะถ้ามีความโปร่งใสเป็นธรรม ความขัดแย้งระหว่างหมอและคนไข้ก็จะไม่เกิด เวลาคนไข้ไปร้องเรียน เขาก็จะมีการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา

การจะเปลี่ยนแปลงค่ารักษาพยาบาลเอกชนแพงได้ จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่คณะกรรมการ พอทุกภาคส่วนมาคุยกัน จะช่วยให้เห็นปัญหา เห็นทางออก เราจะมาร่วมออกแบบกัน เราจะต้องอาศัยนักวิชาการ เช่น นักเศรษฐศาสตร์การแพทย์ กลุ่มศึกษาราคายา ซึ่งจะรู้ค่าต้นทุนยา คือ พอเราสามารถทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีราคาสมเหตุสมผลได้ คิดว่าประชาชนที่เบื่อการใช้บริการโรงพยาบาลรัฐที่รอคิวนาน ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นก็ได้ คนไข้ก็จะได้ไม่ล้นโรงพยาบาลรัฐหมอก็ไม่เหนื่อย 

นอกนั้นเห็นว่าคุณกำลังผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คิดว่า พ.ร.บ. นี้จะเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง

พ.ร.บ. นี้จะช่วยหลายอย่าง หนึ่ง ช่วยลดคดีฟ้องร้องระหว่างหมอและคนไข้ สอง คนไข้จะได้รับการเยียวยาด้วยความรวดเร็วเป็นธรรม เพราะจะมีกองทุนและคณะกรรมการกลางที่พิจารณาอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งปี ไม่ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลสิบปี ยี่สิบปี นอกจากนั้นแพทย์จะสบายใจในการรักษามากขึ้น หากเกิดความเสียหายก็จะมีกองทุนมารองรับ หมอก็จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เนื่องจากจะมีการรวบรวมความเสียหายของคนไข้ไปเป็นสถิติ ซึ่งหมอก็จะได้เรียนรู้และพัฒนายกระดับมาตรฐานวิชาชีพ พ.ร.บ. นี้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งต้นเหตุและปลายเหตุไปพร้อมๆ กัน

ตอนนี้ในรัฐบาลยุค คสช. กรรมการปฏิรูปกฎหมายก็ยกร่างให้ประชาชน 1 ร่าง ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ปรับปรุงร่างและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมที่จะเอาเข้า ครม. เร็วๆ นี้

สรุปว่าตอนนี้ดิฉันมองว่าเราต้องแก้ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน แก้เรื่อง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ปรับปรุงแพทยสภา ทำสามส่วนนี้ให้ได้ ก็จะทำให้วงการสาธารณสุขดีขึ้น แต่คิดว่าคงเป็นฝันใหญ่ บางคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ดิฉันมองว่าจะเดินหมื่นลี้ จะต้องมีก้าวแรก จะสร้างกรุงโรม ก็คงไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย ดังนั้นดิฉันจะสู้ต่อไปค่ะ

ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช





กำลังโหลดความคิดเห็น