xs
xsm
sm
md
lg

เล่ห์แยกกิจการท่อก๊าซ ปตท. กินรวบ(อีกแล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตาตื่นใจกับการใช้ มาตรา 44 เป็นไม้เท้าวิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี จัดการเรื่องต่างๆ มีประเด็นสำคัญที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะโดยรวม แต่นายทุนได้กินรวบเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ โดยที่สังคมแทบจะไม่ได้รับรู้เรื่องเหล่านี้เลย
ถ้าจำกันได้เมื่อไม่นานมานี้ ปตท. พยายามที่จะตั้งบริษัทแยกกิจการท่อก๊าซออกมาตั้งบริษัทใหม่ โดยเบื้องต้นให้ บริษัท ปตท.ถือหุ้น 100 % และอ้างว่ารัฐจะเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมดในอนาคต แต่ถูกทักท้วงว่า เป็นการยกสมบัติชาติไปให้ ปตท.บริหารจัดการหรือไม่ อีกทั้งการแบ่งแยกทรัพย์สินในเรื่องนี้ ยังมีคดีความที่ค้างอยู่ในศาลปกครองสองคดี รวมถึงข้อโต้แย้งจาก สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ชะลอการแยกบริษัทดังกล่าว และให้ สตง. กับกฤษฎีกา ไปหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายซึ่งผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า
ในขณะที่การตั้งบริษัทไม่เกิด แต่กลับก่อกำเนิดการให้บริการท่อก๊าซโดย ปตท. ดำเนินการเองไม่ต้อง“แยกบริษัท”โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ครั้งที่ 15/2558 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 โดย ปตท.ได้ประกาศใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้ หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สามของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
**คำถามคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุญาตให้ดำเนินการเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะในขณะที่แยกบริษัทออกมายังเป็นปัญหา แต่นี่กลับให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการเอง แล้วปล่อยให้สังคมคิดไปว่า เรื่องแยกกิจการท่อก๊าซจบไปแล้ว
ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็จบแล้วจริงๆ คือจบที่ไม่มีการแยกกิจการท่อก๊าซออกจากปตท. แต่ให้ปตท.บริหารต่อ 100 % ทั้งๆ ที่ท่อก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของชาติ
**ตกลงว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นผู้ดูแลนโยบายพลังงานเพื่อชาติ หรือออกนโยบายพลังงานเอื้อทุนใหญ่กันแน่
ตอนที่จะแยกกิจการท่อก๊าซออกมาเพื่อตั้งบริษัทใหม่ ให้เหตุผลว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการผูกขาด แต่นี่ยังไม่ได้แยก แล้วให้ปตท.บริหารจัดการได้เลย เท่ากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลังส่งเสริมการผูกขาดระบบท่อของ ปตท. ให้บริหารจัดการ และได้รับสิทธิประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่
เพราะระบบท่อก๊าซนั้น ขณะนี้แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่ ปตท.อ้างว่าเป็นสมบัติของปตท.เอง กับส่วนที่ ปตท.เช่ากับกรมธนารักษ์ ถ้าให้ ปตท.ไปบริหารทั้งระบบ ก็เท่ากับ ปตท.ได้กินสองต่อ คือได้สิทธิจากกรมธนารักษ์มาให้รายอื่นเช่า ซึ่งแน่นอนว่าต้องคิดกำไรเพิ่มจากค่าเช่าที่ให้กับกรมธนารักษ์
คำถามคือ เมื่อทรัพย์สินเป็นของกรมธนารักษ์ ทำไมกรมธนารักษ์ไม่บริหารจัดการเอง จากเดิมให้สิทธิขาด ปตท. ก็เปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งจะทำให้กรมธนารักษ์ มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่น่าแปลกที่กรมธนารักษ์ยินยอมที่จะส่งรายได้นั้นไปใส่ไว้ในกระเป๋าของ ปตท. แทนที่จะคืนกลับมาสู่รัฐ เพื่อพัฒนาประเทศ
ไม่เพียงแต่รัฐเสียประโยชน์จากการให้เช่าบริการ แต่ยังพันไปถึงปัญหาการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ยังคาราคาซังอยู่ด้วย การอ้างว่าให้บุคคลที่สามมาใช้บริการเป็นการเปิดเสรี ลดการผูกขาดนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะ ปตท.ซึ่งอยู่ในสถานะทั้งผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริ การท่อก๊าซ แต่รายอื่นที่เข้ามาเป็นเพียงแค่ผู้ใช้บริการเท่านั้น ซึ่งย่อมเสียเปรียบ ปตท.อยู่วันยังค่ำ
**ไม่อยากเชื่อว่า เรื่องใหญ่ขนาดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รู้เรื่อง
ท่านไม่ทราบจริงๆหรือ ว่าเขาหยุดตั้งบริษัทแยกกิจการท่อก๊าซ แต่ให้ปตท.บริหารกิจการท่อก๊าซทั้งระบบแทน ในขณะที่คำสั่งท่านให้ชะลอเรื่องนี้จนกว่าจะมีบทสรุประหว่าง สตง. กับกฤษฎีกา เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่สตง.และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน
ถ้าไม่รู้ ตอนนี้ก็ควรจะรู้ได้แล้ว และหากมีเจตนาที่จะรักษาสมบัติชาติ ต้องระงับการดำเนินการดังกล่าวทันที อย่าใหัปตท.ใช้เล่ห์กับประชาชน อย่าเล่นเหลี่ยมกับประเทศชาติ
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เลวร้ายกว่าการแยกไปตั้งบริษัทกิจการท่อก๊าซ เนื่องจากเท่ากับให้ ปตท. เป็นเจ้าของกิจการท่อก๊าซไปโดยปริยาย
**นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามา มีแต่คำถามเรื่องนโยบายพลังงานที่เอื้อทุนมากกว่าดูแลผลประโยชน์ประชาชนมาโดยตลอด กรณีนี้จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า คสช.รัฐประหารเพื่อปฏิรูปประเทศ ให้ประชาชนอยู่ดี กินดี ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างที่คุยไว้ หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น