xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตาครูทั่วประเทศ! ล่ารายชื่อค้าน “โอนครูให้อปท.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นประเด็นกลับมาอีกรอบ สำหรับเรื่องข้อเสนอ กระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่นโดยถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. “นายจำเริญ พรหมมาศ” นายกสมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ออกมาพูดถึงข้อเสนอของ “นายศรีราชา วงศารยางกูร” ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ที่จำเป็นจะต้องร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ 13 ฉบับ

"การถ่ายโอนอำนาจการดูแลโรงเรียนไปอยู่กับ อปท. ถือเป็นความเจ็บปวดและเป็นฝันร้ายเหมือนในอดีต ที่ก่อนปี พ.ศ. 2523 โรงเรียนประถมศึกษาอยู่ในความดูแลของ อปท. ซึ่งเวลานั้นครูมีความกดดันมากจึง ต้องลุกขึ้นมาประท้วงและในที่สุดก็โอนย้ายโรงเรียนประถมศึกษามาอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) กระทรวงศึกษาธิการ”

เนื่องจาก อปท. ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะจัดการศึกษาได้เพราะเวลานี้ งานที่ อปท. ดูแลอยู่ทั้งเรื่องถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า ประปา แม้แต่การดูแลประชาชนในพื้นที่ก็ยังทำไม่สำเร็จแล้วจะมา บริหารจัดการศึกษาได้
เขายังยก ผลวิจัยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศที่พบว่า อปท. เป็นหน่วยงานที่ติด 1 ใน 5 ที่มีปัญหา ทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดมาเป็นตัวอย่างในการคัดค้าน

“การที่โรงเรียนและสถานศึกษาอยู่ ในความดูแลของ ศธ.เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้อง ช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถบริหาร จัดการตนเองได้หรือมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาคอยดูแลเพื่อให้การบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากจะมีการถ่ายโอนอำนาจการดูแลครูไปอยู่กับท้องถิ่นจริง ก็ควรโอนแพทย์และตำรวจไปด้วยทั้งหมด”

ดังนั้น ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค. จะมีการแต่ง ชุดดำเชิงสัญลักษณ์พร้อมขึ้นข้อความ "คัดค้าน ไม่ไป ไม่ย้าย ไม่ถ่าย ไม่โอน ครูสู่ อปท." ด้วยอักษรสีขาว พื้นสีดำ และร่วมลงชื่อคัดค้านเพื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำหรับ ข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้มีการ ยกเลิกระบบเขต ถ่ายโอนโรงเรียนไปยัง อปท. สามารดูตัวเต็มได้ที่ เวปไซด์ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เผยแพร่ข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน (ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร) เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....

ซึ่งได้กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษา ปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาhttp://www.ombudsman.go.th/10/documents/public/
อย่างไรก็ตามในสังคมออนไลน์ในวงการครู ได้ตั้งข้อสังเกตถึง การถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาให้ท้องถิ่นอน่วงกว้างขวาง เช่น ที่มีการเผยแพร่ในเวปไซด์ “ครูวันดี” http://www.kruwandee.com/news-id28115.html

1. ปัญหาโครงสร้างองค์กรทางการศึกษา  
 
1.1 โครงสร้างขององค์กรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ซึ่งในหลักการของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายึดหลักการในการกระจายอํานาจการศึกษา แต่ในสภาพของการบริหารราชการแผ่นดินที่แท้จริงในเรื่องเกี่ยวกับการตามหลักการ “ยังเป็นการรวมศูนย์อํานาจการบริหารงานทางการศึกษาไว้ที่ราชการบริหารส่วนกลางโดยมีการแบ่งอํานาจการบริหารไปยังหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค” แต่ใช้ถ้อยคําว่าเป็นการกระจายอํานาจการศึกษา ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักการกระจายอํานาจการบริหารราชที่แท้จริงที่ต้องมีการกระจายอํานาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทําให้เกิดการรวมศูนย์ของการจัดสรรทรัพยากรสําหรับการจัดการศึกษาไว้ที่หน่วยงานกลางในแต่ละแท่ง และแบ่งอํานาจและการจัดสรรทรัพยากรไปยังเขตพื้นที่การศึกษา โดยไม่ได้ส่งตรงไปยังโรงเรียนหรือสถานศึกษาซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการที่ต้องการความเป็นอิสระในการบริหารจัดการทําให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาไม่สามารถจัดการกับทรัพยากรทางการศึกษาที่มีอยู่ได้    

1.2 การบิดเบือนโครงสร้างโดยฝ่ายการเมืองเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองได้เข้ามาแทรกแซงในการจัดโครงสร้างขององค์กรทางการศึกษาและการบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการเปลี่ยนแปลงหลักการตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างของการบริหารในระดับเขตพื้นที่และการบริหารงานบุคคล ด้วยการเปลี่ยนแปลงหลักการตามข้อเสนอในระหว่างการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพียงหวังผลทางการเมืองที่ต้องการฐานเสียงและคะแนนนิยมจากกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แอบอิงและรับการอุปถัมภ์ทางการเมือง  
 
1.3 การกําหนดนโยบายการศึกษาของชาติเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค ทําให้นโยบายทางการศึกษาไม่มีความต่อเนื่อง และนโยบายการศึกษาที่ถูกกําหนดโดยรัฐบาลแต่ละยุคถูกกําหนดด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองที่มุ่งเน้นความนิยมในคะแนนเสียงการเลือกตั้งเป็นหลัก โดยปราศจากข้อมูลหลักฐานที่จะเป็นการดําเนินให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการศึกษาอย่างมุ่งผลสัมฤทธิ์    

1.4 ระบบบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่สร้างความเป็นธรรมและไม่คํานึงถึงความรู้ความสามารถของบุคลากรที่แท้จริง ขาดธรรมาภิบาลในการบริหารทุกระดับ ส่งเสริมให้มีการใช้ระบบการเมืองแบบสามาลย์ในการบริหารงานบุคคล โดยสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงหลักการของฝ่ายการเมืองที่ให้มีกรรมการผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มาจากการเลือกตั้ง มีการกล่างอ้างและเลื่องลือกันว่าซื้อสิทธิขายเสียงในทุกระดับการเลือกตั้ง มีการวิ่งเต้นซื้อขายตําแหน่งในการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือมีการอุปถัมภ์ช่วยเหลือกันโดยไม่ชอบด้วยหลักการของกฎหมายและความเป็นธรรมในกรณีที่มีครูหรือบุคลากรทางการศึกษากระทําผิดวินัยหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ 

2.ข้อเสนอในการปรับโครงสร้างองค์กรทางการศึกษา
   
2.1 มีการกําหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติที่เป็นไปตามหลักวิชาการทางการจัดและบริหารการศึกษา ที่มีสภาพการณ์สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นนโยบายที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาครูและผู้เรียน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงควรมีองค์กรกําหนดนโยบายที่ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง มีสถานะเป็นองค์กรทางวิชาการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ปกครองในการกําหนดนโยบายทางการศึกษา ในขณะเดียวกันมีความเชื่อมโยงกับองค์กรทางการเมืองในการสนับสนุนให้นโยบายการศึกษาของชาติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีความเป็นธรรมแก่บุคคลทุกกลุ่ม และมุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้และความสามารถอย่างแท้จริง  
 
2.2 มีหลักการที่มุ่งเน้นการกระจายอํานาจในการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุมชน และกลุ่มผู้สนใจในการจัดการศึกษา ด้วยการถ่ายโอนโรงเรียนและสถาบันการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบบเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในแต่ละท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย และเพื่อให้โรงเรียนและสถานศึกษาสามารถบริหารจัดการในทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามนโยบายของท้องถิ่นและนโยบายการศึกษาแห่งชาติ    

2.3 กําหนดองค์กรและหน่วยงานทางการศึกษาให้มีบทบาทแตกต่างกัน เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลในการจัดการและบริหารการศึกษา เพื่อไม่ให้ปัญหาในการเกื้อหนุนกันหรือปกปิดหรือมีการขัดการในอํานาจหน้าที่ภายในองค์กรเดียวกัน โดยให้มีการแบ่งองค์กรหรือหน่วยงานในการการจัดหรือบริหารการศึกษาออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ       

(1.) องค์กรหรือหน่วยงานกําหนดนโยบาย โดยกําหนดให้มี “สภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ”เพื่อให้เกิดการกําหนดนโยบายที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาครูและผู้เรียนเป็นสําคัญ และมีหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของบุคลากรระดับสูง และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมทางการศึกษา    
 (2.) องค์กรหรือหน่วยงานปฏิบัติการในการบริหารและจัดการศึกษา แบ่งเป็น องค์กรในส่วนกลางที่ดูแลงานในการบริหาร ควบคุม และติดตามการดําเนินการตามนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ในการจัดการศึกษาขั้นปฐมวัยและประถมศึกษา การมัธยมศึกษา การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสถานศึกษา สถาบันการศึกษา และสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก       
(3.) องค์กรหรือหน่วยงานสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาทางการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติ สถาบันครุศึกษาแห่งชาติ และสํานักงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา       
(4.) องค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการศึกษา ประกอบด้วย สํานักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และสํานักงานรับรองคุณวุฒิทางการศึกษาแห่งชาติ    
2.4 ปฏิรูประบบการบริหารงานบุคคลของการศึกษาระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดย       

(1.) ให้อํานาจในการบริหารงานบุคคลของบุคลากรในส่วนกลาง ในสํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสํานักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นอํานาจของคณะกรรมการในด้านต่าง ๆ       

(2.) ให้อํานาจในการบริหารงานบุคคลของบุคลากรในส่วนท้องถิ่น ให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระบบการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) 
3. ผลที่คาดว่าจะได้จากการปฏิรูปโครงสร้างทางการศึกษา    
3.1 มีองค์กรกําหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ที่จําเป็นการกําหนดนโยบายการศึกษาและมีนโยบายการศึกษาของชาติที่มีความต่อเนื่อง ที่มีผลกระทบน้อยที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของฝ่ายการเมือง    

3.2 ปรับระบบจากหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับต่าง ๆ อย่างเบ็ดเสร็จในการกําหนดนโยบาย การปฏิบัติการ การสนับสนุนและพัฒนาทางการศึกษา การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานทางการศึกษา เป็นการแบ่งแยกองค์กร เพื่อจัดทําภารกิจที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบถ่วงดุลและหนุนเสริมภารกิจ    

3.3 โรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ มีการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่ดีขึ้น จัดสรรตรงไปยังโรงเรียนและสถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนและสถานศึกษามีทรัพยากรทางการศึกษาที่เพียงพอ    
3.4 มีระบบบริหารงานบุคคลและระบบพิทักษ์ระบบ
คุณธรรมทางการศึกษา ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ไม่ซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพ และให้ความเป็นธรรมแก่ครูและบุคลากรการศึกษาในทุกระดับ ลดระบบอุปถัมภ์และการขัดกันซึ่งอํานาจหน้าที่    

3.5 กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานภายในจะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากการกระจายอํานาจทางการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สํานักงานการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา และสํานักงานการมัธยมศึกษา จะมีหน่วยงานและบุคลากรในส่วนกลางและภูมิภาคเพียงเพื่อการกํากับในทางนโยบายการศึกษาของแต่ละระดับเท่านั้น ครูและบุคลากรทางการศึกษาจํานวนไม่น้อยกว่า 3.9 แสนคน จะถูกถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ล่าสุด สมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษา ได้ส่งหนังสือขอความสนับสนุนไปยังหลายองค์กร ประกอบด้วย สมาพันธ์ครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาพันธ์ครูภาคเหนือ สมาคมครูภาคกลาง สมาพันธ์ครูภาคใต้ สหภาพครูแห่งชาติ สมาพันธ์ศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมรองผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ศึกษานิเทศก์การมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการพลเรือนแลับุคลากรทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ สมาคมนักวางแผนการศึกษาแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งประเทศไทย องค์สมาคม ชมรม กลุ่มวิชาชีพครูทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่การศึกษา และ สมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ประเทศไทย)

รอดูว่า องค์กรเหล่านี้ จะตอบสนอง อย่างไรกับการเคลื่อนไหวคราวนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น