xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจรัฐสั่งแก้2กม.ปิโตรเลียม ดูแลสมบัติชาติ ขาหุ้นแนะใช้PSCเปิดรอบ21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-คณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียม ส่งการบ้านวัดใจรัฐบาลสั่งแก้กฎหมาย 2 ฉบับ จัดการผลประโยชน์ชาติด้านพลังงาน พร้อมชง 3 ทางเลือกสำรวจปิโตรเลียม ให้สัมปทาน แบ่งปันผลผลิตและรับจ้างผลิต มั่นใจลดความขัดแย้ง "ณรงค์ชัย"ยันเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เดือนมิ.ย.นี้ เปิดกว้างใช้ระบบใดก็ได้ ขาหุ้นแนะให้เปิดรอบ 21 มิ.ย.นี้ ให้ใช้ระบบ PSC นำร่องทันที ร้อนจัดทำพีคทำลายสถิติครั้งที่ 3 ในรอบปี "รสนา"ยื่น สตง.วันนี้ สอบ ปตท. งุบงิบท่อก๊าซ

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 เปิดเผยหลังการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่สโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ วานนี้ (7 พ.ค.) ว่า หลังจากการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบการแล้ว จะต้องนำเสนอคณะกรรมาธิการฯ วันที่11พ.ค. เพื่อเห็นชอบนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป จากนั้นจึงจะเสนอรัฐบาลพิจารณาเป็นลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลจะนำไปเลือกใช้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะถือว่ากรรมาธิการฯ ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลมีเครื่องมือในการสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งของภาคสังคมให้ลดลงได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้มีการสำรวจปิโตรเลียมได้ภายในสิ้นปีนี้

"รัฐบาลมอบหมายให้กรรมาธิการฯ มาศึกษา จึงได้ตั้ง 3 คณะอนุกรรมการขึ้นมา คือ อนุกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 อนุกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 และอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแผนงานและโครงการในการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งผมเองเห็นว่ารัฐบาลก็ใจกว้างที่จะมอบให้ศึกษาเป็นเวลา 3 เดือน ก็เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมก็จะลดลงไปเพราะมีทางออก"พล.อ.สกนธ์กล่าว

***สรุป3แนวทางสู่การเปลี่ยนผ่าน

พล.ท.อำพน ชูประทุม ประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 กล่าวว่า จากการศึกษา อนุกรรมาธิการฯ พบว่า ประเทศที่นำระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC มาใช้ ต้องมีระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าท้าทาย เพราะการเปลี่ยนระบบ ต้องใช้เวลา ซึ่งจากการหารือทุกฝ่าย ก็ไม่ได้รังเกียจระบบดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าระบบสัมปทานปิโตรเลียม กับระบบPSC จึงเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐและเอกชนที่จะสร้างความสมดุลย์ระห่วางกัน

โดยได้สรุปแนวทางดำเนินการไว้ 3 ระยะคือ 1.ระยะเร่งด่วน คือ การแก้กฏหมายเปิดกว้างให้มีทางเลือกนำระบบต่างๆ มาใช้ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยเฉพาะมาตรา 23 ที่กำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดจะสำรวจและผลิตต้องได้รับสัมปทาน และมาตรา 56 ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียม ซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นคง 2.ระยะกลาง คือ จะต้องมีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อทำกฏหมายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และ3.จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ที่มีโครงสร้างบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติรองรับระบบPSC

***ชงใช้3รูปแบบสำรวจปิโตรเลียม

นายคุณานันท์ ทยายุทธ อนุกรรมาธิการ กล่าวว่า การศึกษาสำรวจปิโตรเลียมใช้เกณฑ์ของ OECD ธนาคารโลกมาพิจารณา ซึ่งพบว่าพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2514ใช้ระบบพึ่งพาคนอื่นจากระบบสัมปทานอย่างเดียว จึงต้องมีวิธีบริหารที่หลากหลาย โดยพบว่ามี 3 รูปแบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบ PSC และจ้างบริการ ซึ่งไทยเอง หากในอนาคตมีความชำนาญด้านสำรวจ ก็อาจถึงการจ้างบริการได้

“ประเทศเพื่อนบ้านเรา ก็พบว่า มีทั้งการใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม และPSC เช่น มาเลเซีย แต่คิดรายได้แบบขั้นบันไดส่วนพม่าใช้แบบฟิกในแต่ละพื้นที่ ซึ่งระบบPSC จะต้องแก้ไขมาตรา 23 เป็นสำคัญ และหากไม่แก้ ก็จะไม่สามารถต่ออายุสัมปทานที่จะหมดลงได้ด้วย และการศึกษาทั้งหมด ยังจะมีการปรับปรุงผลกระทบและชุมชนที่จะมีการดูแลให้มากขึ้นรวมถึงบทลงโทษที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับธุรกิจที่มูลค่านับหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันปรับเพียงหลักแสนบาท”นายคุณานันท์กล่าว

***แนะทบทวนสูตรคำนวณค่าภาคหลวงด้วย

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 กล่าวว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ฯ จะต้องดำเนินการปรับปรุงคู่กัน เพราะเกี่ยวข้องกัน หากจะมีการนำระบบ PSC มาใช้ และต้องทบทวนสูตรการคำนวณเพื่อเสียค่าภาคหลวงและอัตราค่าภาคหลังให้เกิดความเหมาะสม โดยให้การชำระค่าภาคหลวงและค่าภาษีเป็นเงินตราไทยเท่านั้น และการเสียค่าภาคหลวงเกิดขึ้น ณ แหล่งผลิตหรือสถานที่ขุดเจาะ เป็นต้น

***ขาหุ้นเสนอใช้PSCนำร่องรอบ21

นายมงคล หมวกคำ เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมีการพิจารณาเดินหน้าเปิดให้สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งกฏหมายอาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนั้น เห็นว่ารัฐควรจะใช้ระบบPSC ในบางแปลงเพื่อเป็นการทดลองให้เห็นก่อน ส่วนการแก้ไขกฏหมายพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เห็นว่ามาถูกทางในหลักการแล้ว เพื่อเปิดให้ไทยมีทางเลือกของระบบสำรวจ แต่เพื่อความมั่นใจต้องการให้กฏหมายดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

"เรามีความเป็นห่วงว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะไม่รับข้อเสนอของกรรมาธิการฯ หรือมีทางเลือกแล้วแต่รัฐบาลก็อาจไม่นำไปเป็นทางเลือกในการปฏิบัติก็ได้"นายมงคลกล่าว

***เซฟรอนขอศึกษารายละเอียดก่อน

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เบื้องต้นเท่าที่รับฟังก็มีทั้งข้อดีและอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ แต่คงจะต้องขอไปศึกษารายละเอียดอย่างแท้จริงอีกครั้ง

***"พลังงาน"ยันเปิดรอบ21มิ.ย.นี้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังยืนยันหลักการเดิมที่จะเปิดให้มีการสำรวจปิโตรเลียมภายในมิ.ย.นี้ หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการศึกษาประเด็นต่างๆ 3 เดือนเสร็จสิ้น โดยรูปแบบจะมีการกำหนดในเงื่อนไขให้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่ซึ่งจะเป็นระบบใดก็ได้

***กบง.เคาะไม่ลดLPGพ.ค.ตรึงราคาเดิม

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า กบง.ได้พิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนพ.ค.2558 ซึ่งจะสะท้อนต้นทุนตลาดโลกเมื่อนำมาคำนวณถ่วงน้ำหนักเฉลี่ยพบว่า ราคาขายปลีกจะลดลง 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม (กก.) แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นอัตราน้อยที่จะปรับลดลงไป จึงให้เก็บเงินดังกล่าวส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสะสมนำไว้ใช้ในช่วงต่อไป ส่งผลให้ราคาขายปลีกแอลพีจีจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะอยู่ที่ 23.96 บาทต่อกก. มีผลตั้งแต่ 8 พ.ค.เป็นต้นไป

"ราคาน้ำมันดิบดูไบมีทิศทางผันผวนในระดับสูงแต่เฉลี่ยคงอยู่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ที่ผ่านมาได้ลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฯแล้วครั้งนี้จึงปล่อยให้เป็นไปตามกลไก”รมว.พลังงานกล่าว

***ร้อนจัดดันไฟพีทำลายสถิติครั้งที่3ในรอบปี

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วานนี้ (7 พ.ค.) เวลา 14.23 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค (Peak) อยู่ที่ 27,198.4 เมกะวัตต์ ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นครั้งที่ 3 จากพีคครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2558 (27,139.0 เมกะวัตต์) สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 37.1 อาศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้เตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ตามมาตรการเดินหน้าประเทศไทย ลดใช้พลังงาน คือ ล้างแอร์หน้าร้อน ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (ถ้าปรับอุณหภูมิเพิ่ม 1 องศาเซลเซียส จะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้ร้อยละ 10) ปลดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้ เปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ และลดค่าใช้จ่ายของท่านได้เป็นอย่างดี

***น้ำมันขึ้นอีก50สตางค์วันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ค.) บริษัทน้ำมัน ทั้ง ปตท. และบางจาก ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตร เว้นE 85 ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร โดยเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 34.56 บาท แก๊สโซฮอล 95 ลิตรละ 29.00 บาท แก๊สโซฮอล 91 ลิตรละ 28.18 บาท E20 ลิตรละ 26.78 บาท E85 ลิตรละ 23.28 บาท และดีเซล 25.99 บาทต่อลิตร

***"รสนา"ยื่นสตง.สอบปตท.งุบงิบท่อก๊าซ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.ป ด้านพลังงาน กล่าวว่า จะร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตรียมที่จะไปยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโภภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเวลา 13.00 น. วันนี้ (8 พ.ค.) เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบตามการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2550 และยังได้โต้แย้งว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน แต่พบว่า ปตท. มีการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ลงวันที่ 30 มี.ค.2558 และได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

"ในส่วนท่อก๊าซบนบก เป็นสมบัติสาธารณะ ปตท. มีสิทธิอะไรมาดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทั้งคดีก็ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากยังมีคำร้องอยู่ที่ศาลปกครองอีกสองคดี รวมถึงข้อโต้แย้งของทั้ง สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน เหตุใดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจึงยอมให้ ปตท.ดำเนินการได้ จึงขอให้ สตง.ตรวจสอบว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ เพราะกรรมสิทธิ์เรื่องท่อก๊าซยังมีการโต้แย้งกันอยู่ ถ้าท่อก๊าซทั้งหมดเป็นของรัฐ ผลประโยชน์จากการบริหารจัดการท่อก๊าซต้องเป็นรายได้เข้ารัฐ ไม่ใช่เข้ากระเป๋า ปตท. และหากปล่อยให้มีการดำเนินการไปโดยยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน อาจทำให้เกิดพันธะผูกพันตามมา กรณีที่ ปตท.ไปให้บุคคลที่สามเชื่อมต่อระบบท่อก๊าซด้วย"น.ส.รสนากล่าว

น.ส.รสนา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจึงอนุญาตให้ ปตท.ดำเนินการได้ทั้งๆ ที่การแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่เรียบร้อย เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น