xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้ กม.ปิโตรเลียม ดึงระบบ PSC-รับจ้างผลิต ลดขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมาธิการศึกษาปัญหากฎหมายปิโตรเลียมเตรียมส่งการบ้านรัฐบาลเดินหน้าแก้ กม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ชง 3 ทางเลือกสำรวจปิโตรเลียม สัมปทาน PSC และรับจ้างผลิต มั่นใจลดความขัดแย้ง เครือข่ายภาคประชาชนแนะให้แบ่งแปลงสำรวจใช้ระบบ PSC นำร่อง
 

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เปิดเผยหลังการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่สโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ ว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการแล้ว ครั้งนี้จะต้องนำเสนอคณะกรรมาธิการฯ วันที่ 11 พ.ค.เพื่อเห็นชอบนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป จากนั้นจึงจะเสนอรัฐบาลพิจารณาเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงที่สุดรัฐบาลจะนำไปเลือกใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะถือว่ากรรมาธิการฯ ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลมีเครื่องมือในการสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นแล้ว และที่สำคัญเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งของภาคสังคมให้ลดลงได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้มีการสำรวจปิโตรเลียมได้ภายในสิ้นปีนี้

“รัฐบาลมอบหมายให้กรรมาธิการฯมาศึกษา จึงได้ตั้ง 3 คณะอนุกรรมการขึ้นมา คือ อนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 อนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแผนงานและโครงการในการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งผมเองเห็นว่ารัฐบาลก็ใจกว้างที่จะมอบให้ศึกษาเป็นเวลา 3 เดือนก็เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และความขัดแย้งของสังคมก็จะลดลงไปเพราะมีทางออก” พล.อ.สกนธ์กล่าว

พล.ท.อำพน ชูประทุม ประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กล่าวสรุปผลรวมการศึกษาว่า จากการศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ใช้ระบบพึ่งพาคนอื่นจากระบบสัมปทานอย่างเดียวจึงต้องมีวิธีบริหารที่หลากหลาย ซึ่งพบว่ามี 3 รูปแบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบ PSC และจ้างบริการ ซึ่งไทยเองอนาคตเมื่อมีความชำนาญด้านสำรวจก็อาจมีการจ้างให้ผลิตได้

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กล่าวว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ฯ จะต้องดำเนินการปรับปรุงคู่กันเพราะเกี่ยวข้องกัน ซึ่งหากจะมีการนำระบบ PSC มาใช้ และต้องทบทวนสูตรการคำนวณเพื่อเสียค่าภาคหลวงและอัตราค่าภาคหลวงให้เกิดความเหมาะสม โดยให้การชำระค่าภาคหลวง และค่าภาษีเป็นเงินตราไทยเท่านั้น และการเสียค่าภาคหลวงเกิดขึ้น ณ แหล่งผลิตหรือสถานที่ขุดเจาะ เป็นต้น

นายมงคล หมวกคำ เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมีการพิจารณาเดินหน้าเปิดให้สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายใน มิ.ย. ซึ่งกฎหมายอาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนั้น เห็นว่ารัฐควรจะใช้ระบบ PSC ในบางแปลงเพื่อเป็นการทดลองให้เห็นก่อน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนั้นเห็นว่ามาถูกทางในหลักการแล้ว เพื่อเปิดให้ไทยมีทางเลือกของระบบสำรวจแต่เพื่อความมั่นใจต้องการให้กฎหมายดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

“เรามีความเป็นห่วงว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะไม่รับข้อเสนอของกรรมาธิการฯ หรือมีทางเลือกแล้วแต่รัฐบาลก็อาจไม่นำไปเป็นทางเลือกในการปฏิบัติก็ได้” นายมงคลกล่าว

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังยืนยันหลักการเดิมที่จะเปิดให้มีการสำรวจปิโตรเลียมภายใน มิ.ย.นี้ หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการศึกษาประเด็นต่างๆ 3 เดือนเสร็จสิ้น โดยรูปแบบจะมีการกำหนดในเงื่อนไขให้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่ซึ่งจะเป็นระบบใดก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น