xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเขตศก.พิเศษสระแก้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"คมนาคม-สนข."ทำ Action Plan โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมด่านคลองลึกและจุดผ่านแดนแห่งใหม่ ที่บ้านป่าไร่ อ.อรัญประเทศ หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ผุดโครงข่ายใน 3 ปี พร้อมนิคมอุตฯแยกคนและสินค้า บูมระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ รับเปิดAEC เชื่อมสระแก้ว–กัมพูชา ทะลุเวียดนาม

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านในเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเน้นการเชื่อมต่อหรือ connectivity โดยด่านคลองลึก เป็นด่านพรมแดนที่สำคัญของเส้นทางจากอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของไทย – เมืองปอยเปต ราชอาณาจักรกัมพูชา – สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เนื่องจากอัตราการเติบโตของปริมาณสินค้าและคนที่ผ่านเข้าออกเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งในส่วนของไทยนั้น รัฐบาลได้กำหนดให้จ.สระแก้ว เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ด่านคลองลึกมีความแออัดมาก สภาพจราจรติดขัดยาว 3กม.ดังนั้นจึงจะมีการจัดสร้างจุดผ่านแดนแห่งใหม่ ที่บ้านป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อแยกคน และสินค้าออกจากกัน โดยเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างด่านใหม่ประมาณ 500 ไร่ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 1,600 ไร่ ซึ่งจะอยู่ตรงข้าม-บ้านโอเนียง นิคมอุตสาหกรรมปอยเปต ของกัมพูชา อยู่ห่างจากด่านคลองลึกประมาณ 10 กม. เชื่อมกันโดยถนนศรีเพ็ญ (ถนนความมั่นคง)

โดยเป้าหมาย จุดผ่านแดนบ้านป่าไร่จะสามารถก่อสร้างได้เร็วคาดว่า ด่านพร้อมโครงข่ายจะแล้วเสร็จประมาณ 3 ปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะทำแผนโครงสร้างพื้นฐานภาพรวมเชื่อมเข้าสู่ด่านเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านศุลกากร เพื่อทำแผนปฎิบัติ (Action Plan) ในการประชุมวันที่ 18 พ.ค.และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษท(กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 21 พ.ค. ต่อไป

โดยการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มี 3 เส้นทางประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างถนนอ้อมเมืองอรัญประเทศด้านทิศใต้ สายแยก 33 -ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก ระยะทาง 15.425 กม. ค่าก่อสร้าง 935 ล้านบาท ค่าเวนคืน 230 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างทางต่างระดับบนถนนสายแยก 33 -อรัญประเทศ วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างถนนสายแยก348 - บ้านไร่ อรัญประเทศ ระยะทาง 12.5 กม.ทช.ได้ศึกษาไว้เมื่อปี51 โดยจะเสนอกนพ.ของบกลางปี 58 ประมาณ 50 ล้านบาทเพื่อทบทวนผลการศึกษาและออกแบบใหม่ให้แล้วเสร็จและก่อสร้างภายในปี59 พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายถนนศรีเพ็ญจาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจรด้วย

สำหรับทางรถไฟนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานปรับปรุงทางรถไฟเดิมเสริมความมั่นคงโครงสร้างทาง (Track Strengthening) เปลี่ยนรางปัจจุบัน 60 ปอนด์/หลา เป็นขนาด 100 ปอนด์/หลา เปลี่ยนหมอนไม้เป็นหมอนคอนกรีตและหมอนเหล็ก (บริเวณสะพาน) รวมทั้งปรับปรุงทางหลีกและระบบอาณัติสัญญาณในย่านสถานี 17 สถานีช่วงชุมทางคลองสิบเก้า-สุดสะพานคลองลึกระยะทาง 170 กม. วงเงิน 2,808 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน โดยสัญญาจะแล้วเสร็จวันที่ 9 ก.พ. 2559 และก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร จากสถานีอรัญประเทศ-สุดชายแดนไทยที่บริเวณด่านคลองลึก อ.คลองลึก จ.สระแก้ว รวมถึงสร้างสะพานข้ามแดนคลองลึกที่มีคลองกั้นอยู่กับชายแดนประเทศกัมพูชาที่ด่านปอยเปต ระยะทาง 43 เมตร (วงเงินประมาณ 30 ล้านบาท) ส่วนกัมพูชานั้นกำลังก่อสร้างฟื้นฟูแนวเส้นทางใหม่จากศรีโสภณ-ปอยเปต ระยะทาง 48 กม. แต่ยังขาดอีกประมาณ 6 กม. จากปอยเปตมาเชื่อมกับชายแดนประเทศไทย

นายสุเทพ ตั้งเทียนทอง รองประธานหอการค้าจ.สระแก้วกล่าวว่า ไทยส่งออกไปแถบยุโรปติดลบแต่การค้าการส่งออกกับประเทผสเพื่อนบ้านขยายตัวอย่างมาก โดยการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 57 มีมูลค่า 7-8 หมื่นล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าถึงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่จุดผ่านแดนเล็กต้องเร่งขยายหรือเปืดใหม่ให้ทันกับอัตราเติบโตของสินค้าและท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวผ่านประมาณ 8,000-10,000 คนต่อวัน โดยสนับสนุนเปิดจุดผ่านแดนบ้านป่าไร่ เพราะสามารถก่อสร้างและพัฒนาได้เร็ว

ด้านนายเตชิษฐ์ อุ่นวิจิตร ผู้จัดการ บริษัท SCG โลจิสติกส์ สาขากัมพูชากล่าวว่า SCG ได้ตั้งบริษัทโลจิสติกส์ในกัมพูชาเมื่อปี 2557 โดยมียอดขายที่ 500 ล้านบาทและตั้บเป้ายอดขายปี 2558 ที่ 610 ล้านบาท โดยรับขนส่งสินค้าของบริษัท คือปูนซีเมนต์ และสินค้าเกษตร ภายในประเทศกัมพูชา โดยการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากไทยไปกัมพูชานั้นถึงด่านพรมแดนจะต้องขนถ่ายขึ้นรถบรรทุกกัมพูชาซึ่งมีค่าใช้จ่าย และค่าขนส่งภายในประเทศกัมพูชาค่อนข้างสูงโดยหากทางรถไฟจากไทย-กัมพูชาเสร็จจะช่วยประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงประมาณ 10-15% และต้นทุนสินค้าจะต่ำลงไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น