xs
xsm
sm
md
lg

คสช.หวั่นสังคมขัดแย้งเผชิญหน้า ส่อไม่ทำประชามติรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 เม.ย.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง กรณีการประชุม สปช. ที่จะมีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ว่า ในฐานะประธานสปช. ยืนยันว่า ยังไม่มีการเรียกตัวแทนคณะกรรมาธิการปฏิรูปแต่ละคณะ มาหารือ เรื่องการอภิปราย ทั้งในและนอกรอบ ต้องรอเห็นร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 เม.ย.ก่อน หลังจากนั้น กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะ จะส่งประเด็นที่ต้องการอภิปรายมาให้ตน แต่ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการเรียกประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปแต่ละคณะ เพื่อเรียบเรียงประเด็นที่จะอภิปรายต่อที่ประชุม และอาจมีการปรับเวลาการอภิปรายใหม่ เพื่อแบ่งเวลาให้กับประเด็นที่สมาชิกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และต้องมีการเรียบเรียงประเด็นการอภิปรายให้มีความต่อเนื่อง ไม่วกวนไปมา เพื่อความเข้าใจของสมาชิกสปช.และประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการทำประชามติ ร่าง รัฐธรรมนูญ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ขอให้นักการเมืองรอเห็นร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการก่อน เมื่อเห็นแล้วอาจเพิ่งรู้ตัวว่า ที่เคยวิจารณ์นั้น ไม่ตรงประเด็น ส่วนตัวเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องการทำประชามติ เพราะวันนี้เรื่องการประชามติ ยังไม่ใช่พระเอก แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญก่อน
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายอยากให้ทำประชามติ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม นายเทียนฉาย กล่าวว่า เรื่องนี้มองเป็นสองด้าน คือ การสร้างความชอบธรรมด้วยการทำประชามติ หรืออาจเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรม จากการทำประชามติ เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะทำประชามติทั้งฉบับแบบปี 2550 หรือจะทำประชามติเป็นรายมาตรา หากทำเป็นรายมาตรา และไม่ผ่านบางมาตรา จะแก้ปัญหากันอย่างไร หรืออีกปัญหาหนึ่งคือ หาก สปช.เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย จะทำอย่างไร หรือถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ สปช.ไม่เห็นชอบด้วย จะทำอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการหาทางออกกันไว้ จึงไม่ควรนำเรื่องประชามติมาพูดกันตอนนี้
ส่วนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะถูกอภิปรายมาก คงไม่ต่างจากที่คาดการณ์กันคือ เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. และระบบเลือกตั้ง ส่วนประเด็นเหล่านี้จะนำไปสู่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูหลังจากการอภิปรายในวันที่ 26 เม.ย.ไปแล้ว ไม่สามารถเดาใจความเห็นของสมาชิก สปช.ได้ เพราะทุกคนมีวิจารณญาณของตัวเอง
**"เทียนฉาย"ปรับกรอบถกร่างรธน.

สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็น วานนี้ นายเทียนฉาย ได้ลงนามในคำสั่ง เรื่อง แนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. โดยมีสาระสำคัญคือ การอภิปรายจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 - 26 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ยกเว้นในวันที่ 23 เม.ย. ที่จะเริ่มอภิปรายเวลา 14.00- 21.00 น. สำหรับการแบ่งเวลานั้น ทางกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้เวลาทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง โดยในวันแรกของการอภิปราย จะได้เวลาชี้แจงในภาพรวม จำนวน 2 ชั่วโมง และเวลาชี้แจงอีก 1 ชั่วโมง
ขณะที่ลำดับการอภิปรายของ สปช.นั้น แบ่งเป็น ในส่วนของประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูป ทั้ง18 คณะๆ ละ30 นาที รวมเป็น 9 ชั่วโมง และเวลาที่เหลืออีก 55 ชั่วโมงนั้น จะจัดสรรให้สมาชิก สปช. ที่แสดงเจตจำนงอภิปราย เบื้องต้นจะมี สปช.ที่ได้รับสิทธิ์ 208 คน เพราะไม่นับสมาชิกที่ดำรงตำแหน่ง ประธาน สปช., รองประธานสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสปช.จะได้รับเวลาอภิปรายเบื้องต้น คนละ 15.8 นาที แต่หากมีผู้อภิปรายน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว จะได้รับเวลาอภิปรายมากขึ้น ขณะที่ลำดับการอภิปรายจะเรียงลำดับไปตามบท ภาค และหมวดของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก สำหรับเหตุผลของการปรับหลักเกณฑ์การอภิปรายนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการอภิปรายในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ

**สปช.นัดหารือสรุปประเด็น 19 เม.ย.

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิป สปช. เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช. จะประชุมเพื่อเตรียมการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 19 เม.ย.นี้ โดยวันที่ 17 เม.ย. กรรมาธิการทุกคน จะรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไปทำความเข้าใจ กำหนดประเด็นเพื่อสรุปร่วมกันในวันที่ 19 เม.ย. โดยเบื้องต้นกรรมาธิการแต่ละคณะ จะได้เวลา 2 ชั่วโมง มีการแบ่งเป็นทีม คณะละ 5 คน
ในส่วนของกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นำโดย นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ เป็นหัวหน้าทีมอภิปรายภาพรวมโครงสร้างรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการวางกลยุทธการอภิปรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอีก 4 ท่าน คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง นายนิรันดร์ พันธรกิจ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ และ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช จะแบ่งกันอภิปรายในนามกรรมาธิการในหมวดการเมืองเกือบทั้งหมด เช่น เรื่องที่มานายกฯ การเลือกตั้งส.ส. และส.ว. การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งหมด เชื่อว่า หมวดว่าด้วยการเมืองทั้งหมด คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองจะเตรียมงานอย่างเข้มข้น ด้วยเหตุผลและหลักการทางวิชาการ ที่มีการสังเคราะห์มาแล้วระดับหนึ่ง
สำหรับรูปแบบการอภิปรายนั้นเบื้องต้นกำหนดให้เวลากรรมาธิการ 18 คณะ คณะละ 2 ชั่วโมง แต่ก็มีเสียงท้วงติงว่า อยากให้อภิปรายเป็นประเด็น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย และถือว่าสิทธิการอภิปรายของสมาชิกเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้โอกาสกรรมาธิการแต่ละคณะมากกว่าสมาชิก สปช. ซึ่งเชื่อว่า ในวันนี้ (17 เม.ย.) น่าจะได้บทสรุป โดยเป้าใหญ่อยู่ที่เรื่องการเมือง ยุติธรรม ปรองดอง องค์กรอิสระ สภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูป
นายวันชัย ยังกล่าวถึง กรณีที่ในระยะหลัง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แสดงอารมณ์ผ่านสื่อมวลชน บ่อยครั้งว่า อาจเป็นเพราะมีความกดดัน เพราะกระสุนตกมากระแทกที่นายบวรศักดิ์ทั้งหมด จึงเชื่อว่าถ้าใครไปเล่นวาทะแรงๆ หรือเป็นการลักษณะกล่าวหาโจมตี พูดจาเสียดสี อาจโดนนายบวรศักดิ์ สวนกลับ เพราะสมัยที่มีการให้ข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีบรรยากาศเช่นนั้น แต่น่าจะเป็นเหตุผล ที่ใช้หักล้างกัน
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ สปช. หวังผลว่า ต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าพูดลอยๆ หรือคนพูดไม่มีน้ำหนัก ก็โน้มน้าวสมาชิกและกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้ การวางแผนของกรรมาธิการฯ จึงกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจน 1 ประเมินหลังฟังการชี้แจงกรรมาธิการ จากนั้นจึงประเมินวันต่อวันว่าประเด็นใดหักล้างได้ อะไรควรแปรญัตติ และไม่ควรแปรญัตติ แม้บางเรื่องที่ไม่เห็นด้วย เช่น ระบบเลือกตั้ง ก็จะรอฟังเหตุผลก่อน ถ้ากรรมาธิการฯมีน้ำหนักกว่า ก็ไม่แปรญัตติ แต่ถ้าเรามีน้ำหนัก ก็ต้องแปรญัตติอย่างหนักเลย
ส่วนเรื่องที่มานายกฯคนนอก ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาด้วยการเพิ่มจำนวนเสียงส.ส.เป็นสองในสามนั้น ยังไม่ตรงกับแนวทางของกรรมาธิการฯ ที่เห็นว่า ควรจะกำหนดเงื่อนไขวิกฤตที่ชัดเจนมากกว่า
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ สปช.มีความตั้งใจ กระตือรือร้น เพราะเป็นภารกิจสำคัญ ถ้าไม่ได้ร่วมสังฆกรรมก็ตกขบวนการทำงานให้กับประเทศ

**ผบ.ทบ.ชี้ ร่าง รธน.ทุกฝ่ายต้องรับได้

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง แนวโน้มการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญว่า ตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งตนคิดว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยดี เพียงแต่จะต้องรับฟังบางสิ่งบางอย่างมากน้อยเท่าใด และความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งรัฐบาลพยายามให้ทุกภาคส่วนเห็นชอบกันทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกคนยอมรับกันได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็ยังคงหนักแน่น ต่อการทำงาน ไม่ว่าคลื่นลมจะแรงเท่าไรก็ตาม ความตั้งใจเราไม่แพ้ ประกอบกับตนมั่นใจว่า กองทัพบกเป็นส่วนหนึ่งของราชการที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และเราก็จะสนับสนุนตามภาระหน้าที่ เพื่อทำให้ได้ให้สิ่งต่างๆ ผ่านพ้นไปให้ได้

**หวั่นประชามติชนวนขัดแย้งอีกรอบ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย มีข้อเสนอให้ทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ ว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้เคยตอบไปแล้วว่า ต้องดูเหตุการณ์และสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา แล้ว คสช. จะเป็นผู้ตกลงใจ
แต่วันนี้ที่พูดคุยกันคือ ในมุมของอดีตนักการเมือง คงอยากให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียด เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากขึ้น รัฐบาลก็เปิดใจรับฟังข้อมูลรอบด้าน แต่ก็อยากเตือนสติสังคมว่า ที่ผ่านมาเวลาจะขอความเห็นชอบจากประชาชนในเรื่องใหญ่ๆ ที่ไร้การเผชิญหน้า มันเป็นเรื่องยาก เช่น เรื่องการปฏิรูปก่อน หรือหลังการเลือกตั้ง ยังกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จนมีเรื่องลุกลามบานปลาย จนในที่สุด คสช.ต้องเข้ามา ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก จึงอยากให้สติสังคมว่า การให้ความคิดเห็นเรื่องต่างๆ รวมทั้งการทำประชามติ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ต้องมองผลดี ผลเสีย ให้รอบด้าน
เมื่อถามว่า รัฐบาลกังวลว่าหากมีการทำประชามติ จะเกิดความวุ่นวาย พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า คำตอบมันชัดเจนแล้ว

**หากประชามติจะเลือกตั้งเม.ย.59

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่าหาก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดทำประชามติจากประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลา 3 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่นั้นได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาจจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เมื่อทำประชามติเสร็จแล้วก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้น กกต.ก็จะเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งขบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลา 2เดือน เพราะฉะนั้นการจัดการเลือกตั้งน่าจะจัดได้ประมาณปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2559 หลังจากนั้นก็จะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. โดยการเลือกตั้ง ส.ว.จะมีความซับซ้อนกว่า ส.ส. จึงจัดพร้อมกันไม่ได้ ต้องทิ้งระยะห่างประมาณ 2-3 เดือน อย่างไรก็ตาม กกต.ได้เตรียมการไว้แล้วสำหรับการเลือกตั้งมี 3 ส่วน คือ การจัดทำประชามติ จะทำอย่างไรให้คนที่เห็นแตกต่างกันสามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ และทำอย่างไรให้ประชาชนทราบรายละเอียดของรัฐธรรมนูญที่มาจากความรู้ ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. โจทย์คือระบบการลงคะแนนและนับคะแนนจะเป็นอย่างไร เพราะว่าภายใต้การออกแบบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ประชาชนต้องลงคะแนน 3 อย่าง เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ส่วนการเลือกตั้งส.ว.กระบวนการซับซ้อนมากขึ้น กกต.ก็ต้องไปอำนวยการในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ก่อน
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ตนไม่ห่วงการเลือกตั้งครั้งแรกแต่จะเป็นห่วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.มากกว่าครั้งต่อๆไปมากกว่าหากการเลือกตั้งที่มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เข้ามาโดยมีข้าราชการประจำเข้ามาอยู่ในหน่วยงาน จะทำงานได้อย่างมีศักยภาพได้อย่างไร และอาจจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำหรือไม่
นายสมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายในวันที่ 17 เม.ย.นี้ จะประชุมกกต.ด้านบริหารงานการเลือกตั้ง เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจ การลงคะแนน และเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมอาจจะมีการจำลองการเลือกตั้งเสมือนจริง และสาธิตการลงคะแนนขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจ

** คสช.ตั้งทีมประกบ ร่างรธน.ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ คําสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2558 เรื่องการดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป โดยมีสาระสำคัญ ให้ตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามที่สมควร สถาบันพระปกเกล้า และองค์การตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือแม่น้ำทั้ง 5 สาย เพื่อพิจารณาเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ ด้านการเมืองการปกครอง การจัดทำรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ และความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้น มาให้ประสบการณ์ ความเข้าใจในการพัฒนาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ รวมทั้งจัดให้มีการศึกษาวิจัย เปรียบเทียบและระบุปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ด้วย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สถาบันพระปกเกล้า เป็นหน่วยธุรการ โดยคณะทํางานจะมีทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย ประธานคณะทำงาน ซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งใน คสช.ที่หัวหน้าคสช.มอบหมาย ขณะที่คณะทำงานอีก 7 ราย ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย , รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะทำงานด้วย
นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ประกาศคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2558 เรื่อง แก้ไขคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 โดยมีใจความระบุถึงการขยายความ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”ที่เดิมหมายความว่าข้าราชการทหาร ซึ่งมียศต่ำกว่าชั้น ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ลงมานั้น ให้หมายความรวมไปถึงทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย

** ร่าง รธน.ถึงมือสปช.วันนี้

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 15.30 น. วานนี้ (16 เม.ย.) ที่บริวณหน้า อาคารรัฐสภา 3 เจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา ได้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเสร็จแล้วเป็นร่างแรก มาเก็บไว้ที่บริเวณห้องงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3 เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ (17 เม.ย.) เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป เพื่อให้สมาชิกได้นำร่างรัฐธรรมนูญไปศึกษา เพื่อเตรียมตัวอภิปรายในการประชุม สปช. ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.นี้
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หน้าปกเป็นพื้นสีขาว พร้อมกับมีข้อความภายใต้พื้นที่น้ำเงินว่า (ฉบับเสนอสภาปฎิรูปแห่งชาติ ตาม มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง และส่งให้ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 36 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แจกอินโฟกราฟฟิก แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป โดยได้จัดวางบทบัญญัติในภาค หมวด และส่วนต่างๆให้เชื่อมโยง และหนุนเสริมต่อกันเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายร่วม 4 มิติ คือ 1.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ สาระสำคัญเพื่อขยายและยกระดับสิทธิ เสรีภาพ โดยด้านสิทธิพลเมืองได้ให้เสรีภาพในการตั้งกลุ่มการเมือง เสรีภาพในการวิเคราะห์ วิจารณ์คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งศาลโดยสุจริตตามหลักวิชาการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การขยายพื้นที่ทางการเมือง และการสร้างกลไกใหม่สำหรับภาคพลเมือง
2. การเมืองใสสะอาดและสมดุล สาระสำคัญเพื่อขจัดและป้องกันการซื้อสิทธิ - ขายเสียง ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชันในทุกระดับ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะเดียวกันมุ่งสร้างเสริมระบอบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ให้กลุ่มพลังทางสังคมและการเมืองทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ถ่วงดุลและตรวจสอบ
3. หนุนสังคมให้เป็นธรรมสาระสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และสร้างความมั่นคง ของมนุษย์ ในมิติต่างๆ
4. นำชาติสู่สันติสุข สาระสำคัญเพื่อคลี่คลายปมปัญหาในอดีต สร้างความเข้าใจสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และมีมาตรการป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต สร้างรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานการยอมรับในความหลากหลายและการใช้สันติวิธี
ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายร่วม 4 มิติข้างต้น จัดทำออกมาเป็นแผนภาพ 4 ภาพ เพื่อให้เห็นโครงสร้าง และเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ในภาพรวม เปรียบเสมือนการเห็นป่าทั้งผืน ก่อนจะลงลึกศึกษามาตราต่างๆ ที่เปรียบเสมือนต้นไม้แต่ละต้นในป่าผืนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น