xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นผังเมืองคุมกำเนิดรง.อุตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ส.อ.ท. ผวาผังมืองใหม่หวั่นประกาศใช้เป็นเรื่องแน่ หลังพบกำหนดพื้นที่สีเขียว ลดพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะมาบตาพุดแทบจะคุมกำเนิดลดพื้นที่จากเดิมกว่าครึ่ง สงขลาขีดเส้นเป็นสีเขียวหมดทั้งที่รัฐจะตั้งเขตศก.พิเศษสงขลาซึ่งขัดแย้งกันขี้ไม่เพียงกระทบภาคอุตฯแต่เกษตรต่อไปก็ตั้งโรงงานแปรรูปยากทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเข้าไปอีก วอนรัฐทบทวนก่อนประกาศใช้

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามการจัดทำประกาศผังเมืองใหม่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยเฉพาะการจัดพื้นที่อุตสาหกรรมที่ล่าสุดพบว่าผังเมืองชุมชนกว่า 100แห่งใน 20 จังหวัดทั่วประเทศมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมอย่างมากเพราะเน้นการลดพื้นที่สีม่วง(พื้นที่อุตสาหกรรม)
ไปเป็นสีเขียวคือเกษตรกรรม และชุมชนแทนทำให้อนาคตจะกระทบต่อการลงทุนของประเทศได้

“ เฉพาะในอำเภอเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ในผังเมืองเดิมได้กำหนดพื้นที่สีม่วงเป็นเขตอุตสาหกรรมกว่า 4 หมื่นไร่ แต่ผังเมืองที่กำลังพิจารณาใหม่ลดเหลือไม่ถึง 2 หมื่นไร่ หรือคงไว้แต่เพียงพื้นที่เดิมที่ตั้งโรงงานแล้วเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถขยายโรงงานได้ ซึ่งจะกระทบต่อการขยายฐานการผลิตปิโตรเคมีที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของอุตสาหกรรมทุกประเภท และยังกระทบต่อท่าเรือขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ เช่น คลังสินค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม นอกจากนี้จ.สงขลาเองก็ถูกกำหนดให้เป็นสีเขียวหมดจะกระทบต่อการขยายพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะเช่นกันแล้วการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลาจะมีประโยชน์อะไร" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ปัญหาผังเมืองที่ผ่านมา เกิดจากการใช้ระยะเวลาในกรดำเนินงานนานมาก ทำให้ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งในพื้นที่ยังมีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจและต่อต้านการตั้งโรงงาน ทางส.อ.ท.ได้แนะนำ ส.อ.ท.จังหวัดลงพื้นที่ชี้แจงกับชาวบ้านให้มากที่สุด เพื่อลดแรงกดดันจากชุมชน

นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนได้พยายามยับยั้งผังเมืองที่มีปัญหาที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นกฎหมายให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยตรงแม้แต่ภาคเกษตรเองก็จะทำได้เฉพาะต้นน้ำ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการตั้งโรงงานแปรรูปการเกษตรใกล้ ๆ
ก็ทำไม่ได้หากต้องไปตั้งหรือขยายไปยังพื้นที่ไกลออกไปก็ไม่คุ้มกับต้นทุนขนส่ง

“ โรงงานแปรรูปผลผลิตเกษตรเดิม เช่น โรงงานน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปอาหาร รวมไปถึงโงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องใช้วัสดุเหลิอใช้ในภาคการเกษตร ไม่สามารถตั้งใหม่ หรือขยายโรงงานได้ เพราะธุรกิจในกลุ่มนี้หากขนส่งในระยะทางไกลจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งหากโรงงานเก่าขยายไม่ได้ โรงงานใหม่ไม่เกิด ถึงแม้เกษตรกรจะเพิ่มพื้นที่การผลิต ก็ไม่สามารถจะขายเพิ่ม
และจะทำให้สินค้าล้นตลาดฉุดราคาลงในอนาคต”นายธนารักษ์กล่าว

"กรณีผังเมืองมาบตาพุด หากรัฐบาลสามารถผลักดันให้เกิดนิคมฯทวาย ประเทศพม่าให้เกิดขึ้นได้จริง ภาคเอกชนก็มีทางเลือกย้ายไปขยายโรงงานในพื้นที่ใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดก็จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง เพราะปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ" นายธนารักษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น