อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย คณะสถิติประยุกต์
ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สำนักวิจัย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย คณะสถิติประยุกต์
ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สำนักวิจัย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)
ผู้สูงอายุมักจะมีเวลาว่าง เพราะปลอดจากภาระงานประจำแล้ว การใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากว่างมากเกินไปก็จะเหงา นอกจากนี้การใช้เวลาว่างน่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงอายุให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เรามาลองดูผลการวิจัยกันครับผม
ข้อมูลมาจากการสำรวจโดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง “ผู้สูงอายุไทยกับการใช้เวลาว่าง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 3 เมษายน 2558 โดยกลุ่มตัวอย่างมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง
ก่อนที่เราจะไปศึกษาเรื่องการใช้เวลาว่าง เราลองมาทำความเข้าใจกับปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญก่อน
1. ผู้หญิงมีแนวโน้มจะประเมินสุขภาพกายของตนเองในทางลบมากกว่าผู้ชาย (แม้จะควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้วก็ตาม) ทั้งนี้ผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่าผู้หญิงมักจะมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากกว่าเพศชาย (Health conscious) ทำให้น่าจะมีผลให้ประเมินสุขภาพกายของตนเองน้อยกว่าเพศชาย
2. อายุที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์ทางลบกับผลการประเมินสุขภาพกายด้วยตัวเองเช่นกัน ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่ประการใด เพราะสังขารย่อมเสื่อมไปตามวัยฉันนั้น
และ 3. ผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงกว่ามีแนวโน้มจะประเมินสุขภาพของตนเองในทางบวกมากกว่า ระดับการศึกษานั้นสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมเศรษฐกิจและความรู้ในการดูแลสุขภาพ การมีการศึกษาที่สูงทำให้มีแนวโน้มที่จะมีรายได้สูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะมีความรู้ในการดูแลสุขภาพได้ดีกว่าคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า
ผลการวิจัยพบว่าการใช้เวลาว่างมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายที่ผู้สูงอายุประเมินตนเอง
ผู้สูงอายุที่มีงานอดิเรกคือการเล่นกีฬา รายงานว่าตนเองมีสุขภาพกายที่ดีกว่า ซึ่งไม่น่าแปลกใจ กีฬาเป็นยาวิเศษ หากออกกำลังสม่ำเสมอย่อมช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้
ผู้สูงอายุที่ติดต่อกับครอบครัวเพื่อนฝูงผ่าน Facebook รายงานว่าตนเองมีสุขภาพกายที่ดีกว่า ข้อนี้อาจจะดูน่าแปลกใจเล็กน้อย แต่การเล่น Facebook ผ่านคอมพิวเตอร์นั้น ต้องใช้ความสามารถทางปัญญา (Cognitive ability) หลายอย่าง การใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนของผู้สูงอายุต้องใช้ทักษะสูง ทำให้ได้ฝึกสมอง การได้ติดตามข่าวสารทำให้ทันโลกทันเหตุการณ์ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เช่นกัน
ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกลุ่ม/ชมรม/สมาคม ทางศาสนาหรือทางอาชีพ รายงานว่าตนเองมีสุขภาพกายที่ดีกว่าเช่นกัน การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาน่าจะช่วยเรื่องสุขภาพใจด้วย การต้องเดินทางออกไปนอกบ้านเพื่อเข้าร่วมกลุ่มชมรม/สมาคม ต่างๆ นั้นก็เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่น่าจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพกายของผู้สูงอายุ
ที่สำคัญมากคือผู้สูงอายุที่ประเมินสุขภาพใจของตนเองในทางบวก มีแนวโน้มจะมีสุขภาพกายดีด้วยเช่นกัน กายกับใจนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ขาด สุขภาพใจดีน่าจะมีผลต่อสุขภาพกายด้วย เพราะสิ่งทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลกลับไม่พบว่าการใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ใดๆ กับผลประเมินสุขภาพใจด้วยตนเอง มีเพียงผลผลการประเมินสุขภาพกายด้วยตนเองเท่านั้นที่สัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาพใจของผู้สูงอายุ
แล้วอะไรทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจที่แข็งแรง? ถ้าให้ผมลองคาดคะเนผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของครอบครัวและลูกหลาน ผลการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. โอรส ลีลากุลธนิต แห่งคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งสนใจศึกษาเรื่องความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยนั้นพบว่า ความพึงพอใจด้านครอบครัว เป็นตัวแปรที่ทำนายความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมได้ดีมากที่สุด การใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุอาจจะไม่สำคัญเท่ากับความสุขใจ ความรัก ความห่วงใย ที่ลูกหลานและคนในครอบครัวมอบให้ แม้จะมีโอกาสที่จะใช้เวลาว่างร่วมกันไม่มากนัก หากเวลาว่างที่ใช้ร่วมกันนั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เปี่ยมไปด้วยสายใยแห่งความรักแล้ว น่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจที่เข้มแข็งขึ้น มีความสุขมากขึ้น
สุขสันต์วันสงกรานต์ ต้อนรับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัวครับผม