xs
xsm
sm
md
lg

“นันทวัลย์” นำทีมพา 46 ผู้ส่งออกไปเจรจาขายสินค้าเจาะกลุ่มผู้สูงอายุตลาดญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นันทวัลย์” นำคณะผู้ส่งออกไทย 46 ราย นำสินค้าอาหาร เครื่องสำอาง และสปา แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เจรจาขายเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่น เพิ่มยอดส่งออกไทยอีกทางหนึ่ง หลังญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และอีก 25 ปีข้างหน้า โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ พร้อมเดินหน้าหาทางเจาะตลาดผู้สูงอายุในประเทศอื่นๆ ด้วย

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้นำบริษัทผู้ส่งออกไทยจำนวน 46 ราย ในสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอางและสปา และแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมงาน Royal Healthy Gifts for Japanese Senior’s Life หรืองานเจรจาการค้าสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ที่กรมฯ ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค. 2558 โดยได้เชิญผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้มาเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สินค้า 3 กลุ่มที่ได้นำไปแนะนำเพื่อเปิดตลาดในครั้งนี้ เป็นสินค้าที่กรมฯ ได้เชิญทีมผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจากบริษัท Roof Inc. มาให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยตามโครงการ Thai Health Quotient Project ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการได้มีการพัฒนาสินค้าตามคำแนะนำ และได้ทำการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน ออกแบบให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ความงามจากวัตถุดิบธรรมชาติและสมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและของใช้ที่เหมาะกับสรีระและการใช้งานของผู้สูงวัย เป็นต้น

“กรมฯ ได้ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทย โดยมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการใหม่ๆ ของตลาดโลก โดยเฉพาะการเน้นเจาะตลาดเฉพาะที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า ประชากรโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 60.4% โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และยิ่งญี่ปุ่น ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2538 การเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกแนวหนึ่งหนึ่งในการผลักดันการส่งออกของไทย” นางนันทวัลย์กล่าว

นางนันทวัลย์กล่าวว่า ปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ไทย และจีน ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นนี้ เป็นผู้บริโภคที่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมาก และเริ่มมองหาสินค้าสำหรับตนเอง และหากเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตนเองที่ทำให้คงความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้อย่างยาวนานที่สุด หรือเป็นสินค้าที่ช่วยทำให้การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุมีความสะดวกสบาย ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่ผู้ผลิตสินค้าและบริการของไทยในการเจาะตลาดผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป กลุ่มนอร์ดิกส์ และสหรัฐฯ มาช่วยฝึกอบรม ช่วยพัฒนาสินค้าไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุในประเทศนั้นๆ และยังได้มีการนำผู้ประกอบการไทยเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าผู้สูงอายุที่จัดขึ้นในประเทศต่างๆ และจัดกิจกรรมนำคณะผู้แทนการค้าสินค้าผู้สูงอายุเดินทางไปเจรจาการค้าในตลาดต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เร่งผลักดันและให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกไทย ในการผลิตสินค้า เพื่อป้อนตลาดเฉพาะกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น โรงแรมและงานแต่งงาน สถานศึกษา โรงเรียน และเรือนจำ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น