xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุทธชัย จรณะจิตต์ “ยุคของผม อิตัลไทยจะโตเร็วขึ้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“อิตัลไทยอยู่มา 60 ปี ค่อยๆ โตอย่างมั่นคง 60 ปี แต่การค่อยๆโตไม่ทันกับการแข่งขัน ไม่ทันกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เราต้อง Double Scale ในยุคของผม เราจะโตเร็วขึ้น มีเป้าหมายมากขึ้น”

คำกล่าวของยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย ตอกย้ำถึงก้าวย่างที่ท้าทายจาก 6 ทศวรรษสู่การบริหารงานในยุคเจเนเรชั่นที่ 3 กับสงครามธุรกิจระลอกใหม่ ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่า “AEC Effect” โดยมีเป้าหมายใหญ่ การเติบโตแบบก้าวกระโดด 2 เท่าในทุกกลุ่มธุรกิจเป็นเดิมพัน

แน่นอนว่า ยุทธชัยเข้ามารับไม้ต่อบริหารธุรกิจหมื่นล้านอย่างไม่ทันตั้งตัวจากผู้เป็นพ่อ “อดิศร จรณะจิตต์” ซึ่งเสียชีวิตกะทันหันด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี เรียนรู้กลยุทธ์ต่างๆ จากนิจพร จรณะจิตต์ ซึ่งเป็นทั้งแม่ และบุตรสาวคนเก่งของ นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้บริหารกุมอำนาจหลักในบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับน้องชาย คือ เปรมชัย กรรณสูต รวมถึงทีมงานผู้บริหารรุ่นใหญ่อีกหลายคน

บททดสอบมากมายตั้งแต่เริ่มต้น เขาถูกส่งตัวไปเรียนรู้งานในโรงแรมโอเรียนเต็ล ประจำเคาน์เตอร์เช็กอิน-เช็กเอาต์ ดูประวัติลูกค้า ดูเบลบอย รถลีมูซีน แผนกครัว ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ เข้าไปฝึกงานทุกขั้นตอนก่อนไปนั่งบริหารกลุ่มโรงแรมอมารี 2 ปี และประเดิมงานการปรับโครงสร้างโรงแรมอมารีใหม่หมด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ชัดเจนและดีขึ้น จนสามารถขยายธุรกิจโรงแรมเติบโตต่อเนื่อง

การเข้ามาภายใต้ส่วนผสมทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ขายรถขุด รถตัก อุปกรณ์การทำเหมือง กลุ่มธุรกิจการบริการด้านวิศวกรรม และต้องบริหารกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เน้นกลุ่มธุรกิจโรงแรมระดับหรู รวมถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจค้าปลีก จัดจำหน่ายสินค้าหลากหลายอย่างน้ำแร่ ไวน์ และชา

ยุทธชัยกล่าวว่ารูปแบบนี้ไม่มีในองค์กรธุรกิจอื่น เขาเริ่มต้นจากธุรกิจบริการและไลฟ์สไตล์ ซึ่งส่วนตัวชอบด้วย แต่ต้องเรียนรู้และบริหารงานกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและกลุ่มธุรกิจการบริการด้านวิศวกรรม ทำให้เข้าใจส่วนผสมทางธุรกิจ การบริหารที่หลากหลายและต้องใช้เวลา 3-5 ปี ปรับโครงสร้างภาพรวมต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยและเป็นสากลมากขึ้น โดยมีที่ปรึกษาใหญ่ คือ แม่ “นิจพร”และพี่สาว “วลัยทิพย์” ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นกลุ่ม “Money Lady”

โดยเฉพาะการตัดสินใจด้านการลงทุนโครงการต่างๆ กว่าจะได้ข้อสรุปต้องถกหลายรอบและใช้เวลานาน เพราะนิจพรเน้นความรอบคอบสูง การตัดสินใจต้องไม่ผิดพลาด

ล่าสุด ยุทธชัยประกาศแผนโรดแมพ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2562 ตั้งเป้าผลักดันยอดขายธุรกิจในเครือเติบโตขึ้น 100% รายได้ยอดขายรวมเติบโตอย่างน้อยปีละ 20% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2562 อยู่ที่ 25,800 ล้านบาท จากเดิมเติบโตปีละ 5-10% โดยปี 2557 มียอดขายรวม 12,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มอิตัลไทยเตรียมเม็ดเงินลงทุนสู้ศึกรอบใหม่ 11,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยโครงสร้างธุรกิจล่าสุดแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและบริการด้านวิศวกรรม ประกอบด้วย บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ดำเนินธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างและบริการหลังการขาย กับบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด ดำเนินธุรกิจรับเหมางานวิศวกรรมครบวงจร เน้นกลุ่มโรงไฟฟ้า

กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและไลฟ์สไตล์ ประกอบด้วย 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ ดำเนินธุรกิจบริหารโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์, บริษัท อมารี เอ็ซเทท ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เน้นโครงการรูปแบบ Hotel Branded Residence เช่น อมารีเรสซิเดนซ์ หัวหิน, อมารี เรสซิเดนซ์ ภูเก็ต,โอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ กรุงเทพ

บริษัท ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ดำเนินธุรกิจเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าประเภทศิลปะและของโบราณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และบริษัท อิตัลไทยฮอสพิตาลิตี้ จำกัด เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ชาหรูระดับโลก TWG Tea salon&Boutique

สำหรับธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลตั้งเป้าผลักดันยอดขายจากปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาทภายในปี 2562 และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นจาก 14% เป็น 20% โดยเร่งขยายสาขาจาก 14 สาขา เป็น 30 สาขาทั่วประเทศไทย และขยายเข้าสู่ประเทศลาวในนครเวียงจันทน์ ปากเซ ไซยะบุรี หงสา

ขณะที่ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรมตั้งเป้าผลักดันยอดขายเติบโตขึ้นจาก 3,200 ล้านบาท เป็น 7,600 ล้านบาท โดยเร่งขยายสู่ตลาดใหม่ เช่น พม่า ขยายตลาดกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลม

ส่วนกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและไลฟ์สไตล์ เน้นแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อเร่งจำนวนโรงแรมในเครือ ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ของกลุ่มอิตัลไทย เพิ่มขึ้นจาก 38 แห่ง เป็นมากกว่า 100 แห่ง จำนวนห้องพัก 18,500 ห้อง ใน 10 ประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี โดยในปี 2558 จะเปิดโรงแรมใหม่ในประเทศมัลดีฟส์ มาเลเซีย ศรีลังกา และจีน

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทอิตัลไทยดำเนินธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต 3 แบรนด์ คือ แซฟฟรอน (Saffron) เป็นแบรนด์ระดับลักชัวรี่, อมารี (Amari) แบรนด์สำหรับตลาดระดับบน และโอโซ่ (Ozo) แบรนด์เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ มีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ภายใต้แบรนด์ ชามา ลักซ์ (Shama Luxe) ชามา (Shama) และชามา ไลท์ (Shama Lite) รวมถึงธุรกิจ ‘สปา’ ภายใต้แบรนด์ มาย (Maai) สำหรับตลาดลักชัวรี่ และบรีซ (Breeze) สำหรับตลาดระดับบน

ยุทธชัยกล่าวว่า บริษัททุ่มงบลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการและไลฟ์สไตล์ ประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นจาก 5,700 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 10,200 ล้านบาทในปี 2562 แม้ธุรกิจท่องเที่ยวเจอวิกฤตที่ผ่านมา แต่มีศักยภาพการขยายตัวสูง โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และตลาดท่องเที่ยวหลักในอีกหลายประเทศ

แผนโรดแมพ 5 ปี สนามของซีอีโอหนุ่มขยายกว้างขวางขึ้นในทุกตลาดทั่วโลก แต่เป้าหมายแท้จริงไม่ใช่แค่เม็ดเงินรายได้ ลึกๆ มากกว่านั้น คือการสร้างอิตัลไทยในฐานะบริษัทผู้นำธุรกิจหลักของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาประเทศและการผลักดันลธุรกิจท่องเที่ยว

ถ้า “อิตัลไทย” เติบโต ย่อมหมายถึงประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรงเช่นกัน

60 ปีสู่อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่

จุดเริ่มต้นของอาณาจักรธุรกิจกลุ่มอิตัลไทยเปิดฉากตั้งแต่ปี 2487 เมื่อหมอชัยยุทธ กรรณสูตได้รับการขอร้องจากน้องเขย “เผด็จ ศิวะทัต” ซึ่งทำธุรกิจด้านกู้เรือและกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับงานการกู้เรือของกรมเจ้าท่าที่ปากน้ำ

เผด็จต้องการว่าจ้างบริษัทมาริโอ เอ็ม โคลัมโบ จากประเทศอิตาลี ซึ่งขณะนั้นมารับจ้างดำเนินงานกู้เรือให้บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสในประเทศเวียดนาม เพื่อกู้เรือกรมเจ้าท่า แต่เผด็จไม่มีความรู้ด้านภาษาอิตาเลียน

หมอชัยยุทธจึงรับภาระการติดต่อจนสำเร็จและได้รู้จักกับจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี่ ผู้จัดการชาวอิตาลีของบริษัทมาริโอ เอ็ม โคลัมโบ

ทั้งสองคนกลายเป็นเพื่อนรักและตัดสินใจร่วมทุนจัดตั้งบริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม (ITI) ในปี 2498 ทำธุรกิจนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงบริการงานด้านวิศวกรรมด้วย

ปี 2501 ทั้งคู่แตกไลน์ทำธุรกิจก่อสร้าง เปิดบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ไอทีดี) ในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งกำลังเปิดประเทศรับสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เกิดโครงการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคจำนวนมาก รวมถึงรัฐบาลเร่งนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ กระตุ้นการพัฒนาชนบทผ่านงบประมาณของรัฐและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ซึ่งทุ่มไปในเรื่องการสร้างถนนหนทางสายยุทธศาสตร์ในชนบท

อิตาเลียนไทยได้รับงานจากโครงการรัฐจำนวนมากและเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับกลุ่มอิตัลไทย จากรายได้ปีแรกอยู่ที่ 40 ล้านบาท พุ่งขึ้นเท่าตัวทุกปี

ปี 2509 อิตัลไทยขยายเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม โดยซื้อกิจการโรงแรมนิภาลอร์ด พัทยา

ปี 2511 แบร์ลิงเจียรี่เข้าถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมโอเรียนเต็ล จากบริษัทหลุยส์ ตี เลียวโนเวนส์ กลายเป็นผู้นำธุรกิจโรงแรมในยุคนั้น
ขณะที่อาณาจักรธุรกิจกำลังขยายใหญ่โตกลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อเอกชัย กรรณสูต ลูกชายคนโตของหมอชัยยุทธ ซึ่งถือเป็นทายาทธุรกิจคนสำคัญ เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2522 และอีก 2 ปีถัดมา จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

จุดเปลี่ยนครั้งนั้นทำให้เปรมชัย ลูกชายคนเล็กของหมอชัยยุทธต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารหลักของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ โดยมีลูกสาวอีก 3 คนช่วยสนับสนุน จนสามารถนำบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท ฝ่าฟันวิกฤต สยายปีกกลายเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย

ส่วน “อิตัลไทย” เติบโตจากธุรกิจเทรดดิ้งแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจวิศวกรรม เครื่องจักรกล โรงแรม และค้าปลีก มีอดิศร จรณะจิตต์ สามีของนิจพร ลูกสาวของหมอชัยยุทธเป็นผู้บริหารหลัก

กระทั่งปี 2547 อดิศรประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก เสียชีวิต ส่งผลให้นิจพรต้องเข้ามารับภาระและผลักดันลูกชายคนเดียว คือ ยุทธชัย จรณะจิตต์ ในวัยไม่ถึงเบญจเพส เข้ามาดูแลธุรกิจกลุ่มบริษัทอิตัลไทยทั้งหมด

ปี 2558 ครบรอบ 60 ปี กลุ่มบริษัทอิตัลไทย ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประกาศแผนเดินหน้าครั้งใหญ่ ดันยอดขายเติบโต 2 เท่า ภายใน 5 ปี ยอดขายแตะ 25,800 ล้านบาท เปิดเกมที่จะพิสูจน์ฝีมือเจเนเรชั่นที่ 3 ในทศวรรษใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น