ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นอกจากการคิดบวกต่อสถานการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายจะทำให้เปลี่ยนความรู้สึกว่าเป้าหมายถูกคุกคามให้มาเป็นความท้าทายที่จะช่วยลดความเครียดแล้ว ความสำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นดังหวังแล้วก็ต้องเร่งกลับมาสู่ความจริงในปัจจุบันให้เร็วที่สุดและวางเป้าหมายใหม่ให้เป็นไปได้ในสถานการณ์ใหม่เพื่อหยุดความเครียดเรื้อรังจากการผิดหวังเพราะพลาดเป้าหมายที่วางเอาไว้ หรืออีกนัยหนึ่งคือการยอมรับความจริงที่เป็นไป ปล่อยวางให้เร็ว แล้วมุ่งหน้าวางเป้าหมายใหม่
จะเห็นได้ว่าการวางเป้าหมายเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะถ้าวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ยากก็จะทำให้เครียดง่าย ในขณะเดียวกันการประเมินที่เผื่อใจที่จะผิดหวังเอาไว้ก่อน ก็จะทำให้ความเครียดเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นเพราะความผิดหวังก็จะบรรเทาเบาบางไปได้ด้วย
เพราะถ้าเราวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ การประเมินจะเป็นเชิงบวกมากขึ้น และเมื่อได้รับชัยชนะมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความสมหวังและความพึงพอใจในผลลัพธ์นั้นได้ง่ายขึ้น
ถึงแม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่ตามมาว่าระหว่างสิ่งเร้าให้ลุ้นว่าจะสำเร็จหรือไม่ในสิ่งที่เป็นไปได้ที่เรียกว่า "สิ่งเร้าเชิงบวก" กับการทำให้จิตใจสงบอารมณ์และฮอร์โมนเราจะต่างกันอย่างไร และอะไรจะดีกว่ากัน?
จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2551 โดย Mendes และคณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานในหัวข้อ When Stress is good for you : Neuroendocrine concomitants of physiological thriving. พบว่าสถานภาพที่เผชิญกับสิ่งเร้าเชิงบวก เช่น การแข่งกันกีฬา ประสบการณ์ที่ได้รับชัยชนะ หรือ ประสบการณ์ในการประเมินว่าได้รับชัยชนะ ในขณะที่ประสบความสำเร็จในการไล่ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ทัน ร่างกายก็จะกระตุ้นฮอร์โมนกลุ่มแอนนาโบลิก อันได้แก่การเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่สร้างสภาวะความเป็นผู้นำซึ่งมีในฮอร์โมนเพศชายให้สูงขึ้น ในขณะเดียกันฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอ-เอส. ก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย
ในขณะที่งานวิจัย 2 ชิ้น ได้แก่ งานวิจัยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดย Gramzow และคณะในหัวข้อ Big tales and cool heads: academic exaggeration is related to cardiac vagal reactivity. c และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปีเดียวกัน โดย Whitmore และคณะในหัวข้อ Relaxation increases DHEA; Paper presented at : Society of Behavioral Medicine. พบว่า สถานการณ์ที่อยู่ในภาวะอารมณ์ที่มีสิ่งเร้าต่ำ เช่น อารมณ์ที่มีความสงบ สันติ จะส่งผลทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้นและรวมถึงทำให้ ฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่นกัน
ด้วยเหตุผลนี้คนที่อยู่บนสถานการณ์การแข่งขันและต้องลุ้นตลอดเวลา หรือ การสงบนิ่ง ต่างก็มีฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งคู่ จะต่างกันก็ตรงที่ว่าคนที่ต้องคอยลุ้นตลอดเวลานั้นเมื่อได้รับชัยชนะก็จะมีฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนสูงขึ้นกว่าคนที่สงบนิ่ง และจะว่าไปแล้วอัตตาของคนที่ได้รับชัยชนะจากสถานการณ์การแข่งขันย่อมสูงกว่าคนที่สงบนิ่ง
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ คนๆหนึ่งประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะเป็นประจำจึงมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากและแก่ช้าด้วย ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ยึดมั่นในความพอเพียงพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นแม้จะชะลอวัยแก่ช้าเหมือนๆกันแต่อัตตาการยึดมั่นถือมั่นจะลดน้อยกว่าคนที่อยู่ในภาวการณ์แข่งขันเป็นประจำ ดังนั้นคนที่ได้รับชัยชนะเป็นประจำแม้จะดูมีภาวะเป็นผู้นำสูงกว่า แต่หากผิดหวังขึ้นมาคนที่ประสบความสำเร็จมากๆก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากกว่า ในขณะเดียวกันคนที่ประเมินพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น สงบนิ่งก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าต่อความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้น
คนเราทุกคนต้องผ่านประสบการณ์สำคัญที่จะทำให้เกิดการวางเป้าหมาย การประเมิน และการไล่ทันเป้าหมาย ดังเช่นการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดย Pastorino และคณะ ในห้วข้อ What is Psychology. พบตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของมนุษย์นั้นรวมถึง การแต่งงาน การเข้ามหาวิทยาลัย การสูญเสียคนรัก การเกิดของลูก เหตุการณ์เหล่านั้นสามารถเป็นได้ทั้งบวกและลบ งานวิจัยยังพบว่าเหตุการณ์เหล่านี้ที่ไม่ได้พบเจอบ่อยครั้งในชีวิตจะเป็นสาเหตุของความเครียด
และถ้าเราพลาดหวังแต่ไม่สามารถทำใจได้และยังติดอยู่กับอดีต ก็จะทำให้เราป่วยง่ายและแก่เร็ว
และจากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2543 โดย Nolen-Hoeksema S. ในหัวข้อ The role of rumination in depressive disorders and mixed anxiety/depressive symtoms. ได้พบว่าการคิดใคร่ครวญแบบย้ำคิดเป็นประจำจะทำให้สามารถทำนายว่าคนๆนั้นอาจมีอาการซึมเศร้าได้
เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลายชิ้น เช่น งานวิจัยในปี พ.ศ. 2546 โดย Brosschot และคณะในหัวข้อ Heart rate response is longer after negative emotions than after positive emotions. งานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Gerin และคณะในหัวข้อ The role of angry rumination and distraction in blood pressure recovery from emotional arousal. และงานวิจัยในปี พ.ศ. 2545 ในหัวข้อ The role of rumination in recovery from reactivity: cardiovascular consequences of emotional states. พบว่าการหมกมุ่นแล้วคิดใคร่ครวญแบบย้ำคิดในเชิงลบกับความผิดหวังของตัวเองอาจนำไปสู่การฟื้นฟูระบบหลอดเลือดช้าลง
ความเครียดนั้นทำให้อายุสั้น เพราะจากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Epel และคณะ ในหัวข้อ Cell aging in relation to stress arousal and cardiovascular disease risk factors. พบว่าคนที่มีหางโครโมโซมหรือที่เรียกว่าเทโลเมียร์สั้นซึ่งมีความหมายว่าอายุขั้นสั้นนั้นจะพบว่าเวลาปัสสาวะตอนกลางคนจะมีฮอร์โมนต้านความเครียดที่เรียกว่าคอร์ติโซลซึ่งจะหลั่งมามากในภาวะที่มีความเครียดมาก และ ฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่จะมาพร้อมกับความตื่นเต้นตกใจ ซึ่งจะพบฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ในระดับที่สูงของกลุ่มคนที่มีเทโลเมียร์สั้น หรือรหัสพันธุกรรมที่จะแสดงถึงอายุขัยสั้นด้วย
อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ว่ามีนักวิจัยจำนวนมากต่างยอมรับและยกย่องการทำสมาธิของศาสนาพุทธนั้นสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความเครียดได้อย่างดีที่สุด โดยงานวิจัยในปีพ.ศ. 2551 โดย Lutz และคณะในหัวข้อ Attention regulation and monitoring in mediation. และ การศึกษาในปี พ.ศ. 2550 ในอังกฤษ โดย Rosch และคณะในหัวข้อ More than mindfulness: When you have a tiger by the tail, let it eat you" พบว่า
จิตสมาธิของพุทธศาสนาดั้งเดิมทั้งในด้านเทคนิคและความรู้ทำให้เกิดความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสติ ได้ถูกต่อยอดพัฒนาไปอย่างอิสระทางด้าน กระบวนทัศน์ ทฤษฎี และเป้าหมาย
จิตที่เป็นสมาธินั้นยังได้ถูกประยุกต์ใช้กับกลุ่มคนที่สิ้นหวังในชีวิตในผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยงานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Robins และคณะ ในหัวข้อ Research on psychoneuroimmunology : tai chi as a stress management approach for individuals with HIV disease. พบว่า แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ที่ไม่สามารถที่จะหายได้ต่างก็จะมีจิตคิดเชิงบวกมากขึ้นจากการรำมวยไทเก็กเป็นประจำ
จะเห็นได้ว่าถ้าจะกล่าวถึงความเจ็บป่วยและสุขภาพนั้น ความเครียดและสภาพจิตใจนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย