xs
xsm
sm
md
lg

เพชฌฆาตความเครียด (ตอนที่ 2) : ความลับของความเครียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากความเดิมตอนที่แล้วที่เปิดเผยผลงานการวิจัยพบว่าความเครียดทำให้กดภูมิคุ้มกัน ทำให้เจ็บป่วยติดเชื้อง่าย ทำให้มะเร็งลุกลาม อีกทั้งยังสร้างการอักเสบในร่างกายได้ด้วย ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้อง ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ และยังทำให้เกิดโรคหัวใจ

งานวิจัยในรหัสพันธุกรรมยังพบด้วยว่าความเครียดยังทำให้หางของโครโมโซม ที่เรียกว่า เทโลเมียร์สั้นลงได้ด้วย นั่นหมายความว่าความเครียดยังทำให้แก่ง่าย และอายุสั้น

จากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2549 ของ Simmon และคณะในหัวข้อ Telomere Shortening and mood disorders : preliminary support for a chronic stress model of accelerated aging. ซึ่งวิจัยการวัดความยาวของเทโลเมียร์จากกลุ่มตัวอย่าง 44 คนที่ป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง พบว่าความยาวของเทโลเมียร์ของกลุ่มคนเหล่านี้สั้นลงเร็วในอัตราเร่งมากว่าอายุที่ควรจะเป็นถึง 10 ปี

งานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 ของ Cherkas และคณะ ในหัวข้อ The effects of social status on biological aging as measured by white blood cell telomere length. พบว่ากลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำพบว่ามีเทโลเมียร์สั้นด้วย ทั้งนี้คนกลุ่มเหล่านี้มักไม่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และอ้วน

และเนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการใช้ความคิดและมีอารมณ์ที่สลับซับซ้อนกว่าสัตว์ทั่วไป จึงมีความน่าสนใจที่จะหากลไกของความเครียดที่ทำให้ แก่เร็ว ก่อให้เกิดโรคมากและอายุสั้น เพื่อจะนำไปสู่การลดความเครียดเหล่านั้นให้น้อยลง

"ความเครียด" เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นการศึกษาที่มีชื่อเสียงในปี พ.ศ. 2527 โดย Lazarus และ Folkman ในหัวข้อ Stress, appraisal, and coping. นั้นได้กล่าวถึงความเครียดนั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัย เป้าหมายที่วางเอาไว้ การประเมินว่าจะไปสู่จุดเป้าหมายอย่างไร และการไล่ตามเป้าหมายนั้นทำได้เพียงใด

เพราะเป้าหมายของแต่ละคนนั้นมีการใช้ทรัพยากรต่างกัน บางคนทุ่มแรงกาย บางคนลงทุนเพื่อให้ได้เป้าหมายด้วยทรัพย์สินเงินทอง บางคนทุ่มเทด้วยความรักและศรัทธา ทั้งหมดนี้คือ "ต้นทุน" เพื่อสนองความคาดหวังตามเป้าหมายของแต่ละคน

การตั้งเป้าหมายหรือความคาดหวังของแต่ละคนไม่เท่ากันอย่างแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทุ่มเทลงไปของแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อตั้งเป้าหมายไปแล้วก็จะมีการประเมินต่อมาว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าประเมินแล้วมีสิ่งที่มาคุกคามเป้าหมายให้ไกลออกไปหรือจะเป็นไปไม่ได้ เราจะเข้าสู่การประเมินแล้วว่าเราเริ่มถูกคุกคามเป้าหมายให้เริ่มเป็นไปไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้นความเครียดก็จะเริ่มเกิดขึ้นโดยทันที ส่วนจะเครียดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เรามีความคาดหวังและความทุ่มเททรัพยากรไปนั้นมีมากน้อยเพียงใด และทำใจได้แค่ไหน ความเครียดจากความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมายนี้เองที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย แก่เร็ว และอายุสั้นได้ในรหัสพันธุกรรม

แต่สิ่งที่น่าสนใจตามมาก็คือ หากแม้เป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่เราประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่จะไล่ทันตามเป้าหมายนั้น แม้เป็นเรื่องเดียวกันที่ยังไม่เกิดและเป็นเรื่องอนาคต แต่การประเมินจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นความท้าทายแทนการรู้สึกว่าถูกคุกคาม จากงานวิจัยกลับพบว่าในปี พ.ศ. 2554 โดย O'Donovan และคณะในหัวข้อ Stress appraisals and cellular aging : a key role for anticipatory threat in the relationship between psychological stress and telomere length. พบว่าแม้ความเครียดจะทำให้เทโลเมียร์(หางของโครโมโซม)สั้นลง เป็นผลทำให้เซลล์แก่ตัวเร็วและอายุสั้น แต่ความรู้สึกท้าทายกลับไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นเท่ากับความรู้สึกถูกคุกคามแต่ประการใด

จะเห็นได้ว่าเรื่องเดียวกัน และยังไม่รู้ผลท้ายที่สุดในอนาคตเหมือนกัน หากเรามองว่าเรากำลังถูกคุกคามเป้าหมายก็จะทำให้เกิดความเครียดที่บั่นทอนสุขภาพ และอายุขัย แต่ถ้าเรื่องเดียวกันถ้าเราเชื่อมั่นและประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้เราจะเปลี่ยนสถานการณ์นั้นเป็นความท้าทายที่ไม่ได้บั่นทอนสุขภาพและอายุขัยเหมือนกับความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้

ไม่ว่าจะมีความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมาย หรือ รู้สึกท้าทายในเป้าหมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการประเมินก่อนถึงวันเป้าหมายทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงวันและเวลาที่จะรู้ผลว่าเราสามารถไล่ทันเป้าหมายแล้วก็จะรู้ผลว่าการประเมินบนการรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกท้าทายก็จะสิ้นสุดลง

ถ้าเราได้รับผลสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกท้าทาย ก็จะสร้างความพึงพอใจในที่สุด แม้มีความเครียดที่มีในประเด็นเดิมก็จะสูญหายมลายไปสิ้นหลังความสำเร็จนั้น

แต่ความสำเร็จก็อาจทำให้เราไม่มีความพึงพอใจและแสวงหาเป้าหมายใหม่ที่ไปมากกว่าเดิม ยิ่งชนะบ่อยครั้งความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ความรู้สึกท้าทายก็สูงขึ้น ภาวะความเป็นผู้นำสูงขึ้น และอัตตาก็จะสูงง่ายขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในปี พ.ศ. 2541 ในหัวข้อ Testosterone Changes during vicarious experiences of winning and losing among fans at sporting events. โดย Bernhardt และคณะ พบว่าจากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 21 คนที่เป็นชายเป็นแฟนฟุตบอลซึ่งรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกทางสถานีโทรทัศน์ ในเกมการแข่งขันฟุตบอลคู่ปรับที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน แล้วทำการวัดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชายที่แสดงถึงความเชื่อมั่นและมีภาวะความเป็นผู้นำ) จากน้ำลายทั้งก่อนและหลังผลการแข่งขัน ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของแฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมชนะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงขึ้น ในขณะที่แฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมที่แพ้กลับมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง

แต่ความสำเร็จก็อาจทำให้เราไม่มีความพึงพอใจและแสวงหาเป้าหมายใหม่ที่ไปมากกว่าเดิม ยิ่งชนะบ่อยครั้งความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ความรู้สึกท้าทายก็สูงขึ้น แม้แต่อัตตาก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก หากวันหนึ่งเกิดความผิดหวังก็อาจจะเครียดหนัก เจ็บป่วยหนัก สภาพจิตใจเสียหายหนักได้

ในทางตรงกันข้ามเมื่อถึงวันและเวลาที่เราต้องรับทราบผลลัพธ์ว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ไม่สามารถบรรลุได้ หากเราจมอยู่ในความรู้สึกความพ่ายแพ้ในอดีตนั้นไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง แก่เร็ว เจ็บป่วยง่าย อายุสั้น ในบางกรณีอาจถึงขั้นเกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรัง เสียใจจนฆ่าตัวตาย เพราะการจมอยู่กับผลลัพธ์ในอดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว

และเคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งของความผิดหวังที่ทำให้เกิดความเครียด ก็คือ "การยอมรับความจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เร็วที่สุด และตั้งเป้าหมายใหม่ที่เป็นไปได้ให้เร็วที่สุด" ความเครียดก็จะค่อยๆลดลงไปตามลำดับ ดังนั้นคนที่ผิดหวังบ่อยแต่ยอมรับความจริงปรับตัวอยู่กับปัจจุบันได้เร็ว แม้จะมีความเชื่อมั่นและภาวะผู้นำน้อยกว่าคนที่ได้รับชัยชนะเป็นประจำ แต่อัตตาและความยึดมั่นถือมั่นก็จะลดลงไป ความทนทานต่อความผิดหวังก็อาจจะมีมากกว่า

การวางเป้าหมายเพื่อทุ่มเททรัพยากร (ทรัพย์สิน เงินทอง แรงกาย แรงใจ) นั้นต้องอยู่บนความพอดีและพอเพียงมีความเป็นไปได้ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดความเครียดได้น้อยลง การประเมินสถานการณ์ด้วยทัศนคติเชิงบวกเปลี่ยนจากความรู้สึกถูกคุกคามเป็นความท้าทาย และการยอมรับความจริงเมื่อรู้ผลลัพธ์แล้ว พร้อมกับปล่อยวางกับผลลัพธ์ในความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่ไม่จีรังยั่งยืน ก็จะทำให้รู้เท่าทันความเครียดในตัวเราเองได้ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น