ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ให้กองทุนลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อให้ สอดคล้องต่อมาตรฐานสากลมากขึ้น
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า “คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เกี่ยวกับการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง โดยขยายขอบเขตประเภทสินค้าอ้างอิงหรือตัวแปร (underlying) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ให้ครอบคลุมทรัพย์สินทุกประเภทที่กองทุนสามารถลงทุนได้ รวมทั้งปรับปรุงนิยามตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง และปรับปรุง underlying ที่เป็นความเสี่ยงด้านเครดิตให้สอดคล้องต่อแนวทางสากลมากขึ้น พร้อมยกเลิกการต้องขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ก่อนการลงทุนในตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง
นอกจากนี้ กองทุนที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงแบบซับซ้อนจะต้องใช้วิธีการคำนวณมูลค่าความเสียหายสูงสุดในรูปแบบ Value-at-Risk (VaR) ในการจำกัดอัตราส่วนการลงทุน เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงจากการลงทุนได้ดีขึ้น รวมถึงต้องทดสอบผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ (stress test) และทดสอบความถูกต้องของแบบจำลอง (back test) ตามที่กำหนด ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ VaR ในหนังสือชี้ชวน และรายงานการดำเนินงานรอบ 6 เดือน หรือ 1 ปีด้วย
“การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะขยายช่องทางการลงทุนของกองทุนให้กว้างขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีความพร้อม และส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง สามารถลงทุนได้กว้างขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ รองรับการเชื่อมโยง และการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”