ความเครียดส่งผลอันใหญ่หลวงต่อชีวิตคนเรา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ความเครียดดูจะแฝงตัวอยู่ในทุกแห่งหน ตั้งแต่บนท้องถนน ในห้องทำงาน ในบ้าน หรือในสภา ผมจะขอชำแหละความเครียดอย่างละเอียด ให้เราได้รู้ถึงที่มา ต้นเหตุ รวมถึงวิธีรับมือความเครียดให้อยู่หมัด แต่ก่อนที่จะเริ่มลงมีดแรกเพื่อชำแหละ ผมขอเล่าตำนานเมืองทรอยให้ฟังก่อน ส่วนเรื่องนี้จะไปเกี่ยวข้องกับความเครียดอย่างไรนั้น ต้องติดตามกันต่อไปครับ
เมืองทรอยเป็นเมืองโบราณในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีกำแพงสูงลิ่วและมีการป้องกันที่แน่นหนาอย่างยิ่ง ตัวเมืองเองนั้นตั้งมาเป็นร้อยๆ ปีและต้องรับศึกหนักหลายต่อหลายครั้ง แต่กำแพงเมืองทรอยก็ยังตั้งตระหง่าน ไม่เคยพัง (ถึงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองทรอยก็ยังมีให้เห็นอยู่) แม้กระนั้นก็ตาม วันหนึ่งเมืองทรอยก็กลับถูกทำลายอย่างราบคาบด้วยกลยุทธ์ ม้าไม้เมืองทรอยของโอดิสซีอุส (Odysseus) ขุนพลผู้โด่งดังของกรีก ซึ่งวางแผนให้นำม้าไม้ตัวสูงเท่าตึกหลายชั้นเข้าไปในเมือง โดยมีการลวงทหารทรอยว่าเป็นของกำนัลจากเทพเจ้า จากนั้นตอนกลางคืน ทหารที่แอบอยู่ในม้าไม้ก็พากันกรูออกมาเปิดประตูให้กองทัพที่ตั้งรออยู่นอกเมืองเข้าโจมตีเมือง ทรอยอันแข็งแกร่งได้โดยง่าย กำแพงที่แม้จะสูงตระหง่านเพียงใดจึงไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง!
หากจะเปรียบ“ความเครียด” ก็คือทหารในม้าไม้เมืองทรอยนั่นเองครับ เพราะโดยตัวของมันเองแล้ว ความเครียดไม่ได้มีภัยอันตรายร้ายแรงอะไร แต่ที่น่ากลัวมากก็เพราะถ้าปล่อยให้มันสะสมอยู่ในร่างกายของเรานานๆจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ระบบภูมิคุ้มกันของเรานั้นเปรียบเสมือนกำแพงและประตูเมืองอันแข็งแกร่งของร่างกายเรานั่นเอง เมื่อเราปล่อยให้มีความเครียด ก็เท่ากับเรากำลังปล่อยให้ทหารจากภายในเมืองเปิดประตูต้อนรับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมต่างๆให้ผ่านเข้ามาในร่างกายของเราได้ โรคภัยหลากหลายชนิดจึงสามารถเข้ามาคุกคามเราได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีด่านคอยป้องกันอีกต่อไป ยิ่งหากเป็นโรคใดโรคหนึ่งอยู่แล้วก็จะยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในอดีตนั้นความเครียดเป็นเครื่องมือของบรรพบุรุษเราในการรับมือกับภัยอันตรายต่างๆ หากเรารู้สึกเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล เพื่อทำให้กล้ามเนื้อตื่นตัว เลือดสูบฉีด ม่านตาขยาย ฯลฯ ดังนั้น เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เช่น กำลังถูกสิงโตไล่ อยู่ในสมรภูมิรบ หรือกำลังโดนโจรปล้น ฯลฯ ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยให้เรามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น เพราะมันจะทำให้เรามีความตื่นตัวพร้อมที่จะวิ่งหนีหรือต่อสู้ถ้าจำเป็น
แต่ข่าวร้ายก็คือ ทุกวันนี้ความเครียดของคนเราส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการต้องวิ่งหนีเสือเขี้ยวดาบหรือปล้ำกับหมีอย่างแต่ก่อน แต่เป็น“ความเครียดเรื้อรัง” (chronic stress) ที่เกิดจากความกดดันในเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องงานเรื่องเงิน เรื่องเรียน เรื่องการจราจร เรื่องการเมือง ฯลฯ ความเครียดเหล่านี้ จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลอย่างสม่ำเสมอ และยิ่งฮอร์โมนชนิดนี้ หลั่งมากและนานเท่าไร ภูมิคุ้มกันของเราก็จะยิ่งลดต่ำลงเท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมความเครียดเรื้อรังจึงเป็นศัตรูตัวฉกาจของร่างกายมนุษย์
แต่…อย่าเพิ่งหมดหวังนะครับ เพราะถึงจะเป็นความเครียดเรื้อรังก็มีทางแก้ และเป็นทางแก้ที่ไม่ต้องอาศัยเงินสักบาทเดียว!
สิ่งสำคัญที่เราต้องจำไว้ก็คือ ความเครียดไม่เหมือนความเจ็บที่เกิดจากมีดบาด หรือความปวดเพราะโดนคุณหมอถอนฟัน แต่ความเครียดเกิดจากความคิดครับ ฉะนั้นต่อให้เป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างโดนแมลงวันตอมขา ถ้าเราเป็นคนขี้รำคาญ มันก็สามารถทำให้เราเครียดได้เป็นนานสองนาน แต่ถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ต่อให้บ้านโดนไฟไหม้เราก็ยังยิ้มได้ เพราะคิดว่าโชคดีที่เรายังมีชีวิตอยู่ และนี่แหละครับคือเหตุผลว่าทำไม กุญแจของการลด ละ และขจัดความเครียดไปจากชีวิตจึงไม่ใช่การเปลี่ยนสถานการณ์ แต่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ
อาจารย์ทางจิตวิทยาของผมคนหนึ่งเคยบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 70เปอร์เซ็นต์คือความรู้สึกและการกระทำที่เราเลือกตอบสนองกับมัน ถ้าหากบ้านเราโดนน้ำท่วมหรือขโมยขึ้นบ้าน ให้คิดดูสิครับว่ายังมีคนอีก มากมายบนโลกที่ไร้ที่อยู่อาศัยและต้องนอนหลับใต้สะพานลอย หรือถ้าเรา สอบเอนทรานซ์ไม่ผ่าน แล้วสิ้นหวังในชีวิต ทราบไหมครับว่าประชากรเพียง 15เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้นที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ส่วนที่เหลือคืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และถ้าเราเครียดว่าพรุ่งนี้คนที่เราแอบหลงรักจะมาบอกรักเราไหม
ขอให้จำไว้นะครับว่า คนจำนวนมากบนโลกยังไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้เช้าเขาจะยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อยู่หรือเปล่า การคิดถึงสิ่งที่เรามีแทนที่จะเป็นสิ่งที่เราขาด เปรียบเหมือนการเปลี่ยนแว่นสีดำ (การมองโลกในแง่ร้าย) ที่เรากำลังใส่อยู่ให้กลายเป็นแว่นสีเขียว (การมองโลกในแง่ดี) และแว่นสีเขียวนั้นมีคุณอนันต์ เพราะนอกจากช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่จะมาเยือนเราแล้ว ยังทำให้เราเป็นคนที่นึกถึงผู้อื่นและเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าคนที่เลือกเปลี่ยนทัศนคติแทนที่จะเปลี่ยนสถานการณ์คือคนที่ไม่รู้จักพัฒนา โลกจะปาอะไรมาให้ก็ยืนรับทื่อๆ แต่...ผิดแล้วครับ การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การงอมืองอเท้ายอมให้โลกกลั่นแกล้ง
ในทางตรงกันข้าม การมองชีวิตในทางบวกจะช่วยให้เราแก้ปัญหาด้วยปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ และเชื่อเถอะครับว่า การเผชิญอุปสรรคต่างๆ ด้วยจิตใจที่แจ่มใสและสมองที่ปลอดโปร่ง ย่อมจะให้ผลดีกว่าการแก้ปัญหาตอนที่จิตใจเราเต็มไปด้วยความขุ่นมัวอย่างแน่นอน ถ้าเราอยากเห็นทุกอย่างเป็นสีเขียว เรามีสองทางเลือกครับ หนึ่ง คือ ทาสีทุกอย่างบนโลกให้เป็นสีเขียว หรือ สอง หาแว่นที่มีเลนส์สีเขียวมาใส่ ผมขอเสนอว่าครั้งหน้าถ้าเกิดป่วย จน หรือเครียด ไม่ต้องไปกินเหล้า ไม่ต้องไปดิ้นในผับ ไม่ต้องจ่ายเงินหลายพันบาทเพื่อเข้าคอร์สบำบัดจิตหรอกครับ แต่ลองฝึกมองโลกในแง่ดีด้วยการพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เรามีอยู่หรือยังเหลืออยู่ ไม่ใช่ในสิ่งที่เราไม่มีหรือมีแล้วเสียไป แก้ที่ทัศนคติของเราก่อนจะแก้ปัญหา...ยิ้มก่อนจะลงมือทำ
รับรองครับว่าเมื่อใดก็ตามที่เราเปลี่ยนจากการใส่แว่นสีดำมาใส่แว่นสีเขียว จนเป็นนิสัย ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆก็จะเป็นเพียงแบบฝึกหัดของสมอง...ไม่ใช่ยาพิษของหัวใจ
____________________________________________________________________
บทความจากหนังสือ "รู้มากไปทำไม รู้ "ใจ" ก่อนดีกว่า"
เขียนโดย "ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร"
สำนักพิมพ์ อัมรินทร์ How-To
เมืองทรอยเป็นเมืองโบราณในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีกำแพงสูงลิ่วและมีการป้องกันที่แน่นหนาอย่างยิ่ง ตัวเมืองเองนั้นตั้งมาเป็นร้อยๆ ปีและต้องรับศึกหนักหลายต่อหลายครั้ง แต่กำแพงเมืองทรอยก็ยังตั้งตระหง่าน ไม่เคยพัง (ถึงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองทรอยก็ยังมีให้เห็นอยู่) แม้กระนั้นก็ตาม วันหนึ่งเมืองทรอยก็กลับถูกทำลายอย่างราบคาบด้วยกลยุทธ์ ม้าไม้เมืองทรอยของโอดิสซีอุส (Odysseus) ขุนพลผู้โด่งดังของกรีก ซึ่งวางแผนให้นำม้าไม้ตัวสูงเท่าตึกหลายชั้นเข้าไปในเมือง โดยมีการลวงทหารทรอยว่าเป็นของกำนัลจากเทพเจ้า จากนั้นตอนกลางคืน ทหารที่แอบอยู่ในม้าไม้ก็พากันกรูออกมาเปิดประตูให้กองทัพที่ตั้งรออยู่นอกเมืองเข้าโจมตีเมือง ทรอยอันแข็งแกร่งได้โดยง่าย กำแพงที่แม้จะสูงตระหง่านเพียงใดจึงไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง!
หากจะเปรียบ“ความเครียด” ก็คือทหารในม้าไม้เมืองทรอยนั่นเองครับ เพราะโดยตัวของมันเองแล้ว ความเครียดไม่ได้มีภัยอันตรายร้ายแรงอะไร แต่ที่น่ากลัวมากก็เพราะถ้าปล่อยให้มันสะสมอยู่ในร่างกายของเรานานๆจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ระบบภูมิคุ้มกันของเรานั้นเปรียบเสมือนกำแพงและประตูเมืองอันแข็งแกร่งของร่างกายเรานั่นเอง เมื่อเราปล่อยให้มีความเครียด ก็เท่ากับเรากำลังปล่อยให้ทหารจากภายในเมืองเปิดประตูต้อนรับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมต่างๆให้ผ่านเข้ามาในร่างกายของเราได้ โรคภัยหลากหลายชนิดจึงสามารถเข้ามาคุกคามเราได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีด่านคอยป้องกันอีกต่อไป ยิ่งหากเป็นโรคใดโรคหนึ่งอยู่แล้วก็จะยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในอดีตนั้นความเครียดเป็นเครื่องมือของบรรพบุรุษเราในการรับมือกับภัยอันตรายต่างๆ หากเรารู้สึกเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล เพื่อทำให้กล้ามเนื้อตื่นตัว เลือดสูบฉีด ม่านตาขยาย ฯลฯ ดังนั้น เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เช่น กำลังถูกสิงโตไล่ อยู่ในสมรภูมิรบ หรือกำลังโดนโจรปล้น ฯลฯ ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยให้เรามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น เพราะมันจะทำให้เรามีความตื่นตัวพร้อมที่จะวิ่งหนีหรือต่อสู้ถ้าจำเป็น
แต่ข่าวร้ายก็คือ ทุกวันนี้ความเครียดของคนเราส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการต้องวิ่งหนีเสือเขี้ยวดาบหรือปล้ำกับหมีอย่างแต่ก่อน แต่เป็น“ความเครียดเรื้อรัง” (chronic stress) ที่เกิดจากความกดดันในเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องงานเรื่องเงิน เรื่องเรียน เรื่องการจราจร เรื่องการเมือง ฯลฯ ความเครียดเหล่านี้ จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลอย่างสม่ำเสมอ และยิ่งฮอร์โมนชนิดนี้ หลั่งมากและนานเท่าไร ภูมิคุ้มกันของเราก็จะยิ่งลดต่ำลงเท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมความเครียดเรื้อรังจึงเป็นศัตรูตัวฉกาจของร่างกายมนุษย์
แต่…อย่าเพิ่งหมดหวังนะครับ เพราะถึงจะเป็นความเครียดเรื้อรังก็มีทางแก้ และเป็นทางแก้ที่ไม่ต้องอาศัยเงินสักบาทเดียว!
สิ่งสำคัญที่เราต้องจำไว้ก็คือ ความเครียดไม่เหมือนความเจ็บที่เกิดจากมีดบาด หรือความปวดเพราะโดนคุณหมอถอนฟัน แต่ความเครียดเกิดจากความคิดครับ ฉะนั้นต่อให้เป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างโดนแมลงวันตอมขา ถ้าเราเป็นคนขี้รำคาญ มันก็สามารถทำให้เราเครียดได้เป็นนานสองนาน แต่ถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ต่อให้บ้านโดนไฟไหม้เราก็ยังยิ้มได้ เพราะคิดว่าโชคดีที่เรายังมีชีวิตอยู่ และนี่แหละครับคือเหตุผลว่าทำไม กุญแจของการลด ละ และขจัดความเครียดไปจากชีวิตจึงไม่ใช่การเปลี่ยนสถานการณ์ แต่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ
อาจารย์ทางจิตวิทยาของผมคนหนึ่งเคยบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 70เปอร์เซ็นต์คือความรู้สึกและการกระทำที่เราเลือกตอบสนองกับมัน ถ้าหากบ้านเราโดนน้ำท่วมหรือขโมยขึ้นบ้าน ให้คิดดูสิครับว่ายังมีคนอีก มากมายบนโลกที่ไร้ที่อยู่อาศัยและต้องนอนหลับใต้สะพานลอย หรือถ้าเรา สอบเอนทรานซ์ไม่ผ่าน แล้วสิ้นหวังในชีวิต ทราบไหมครับว่าประชากรเพียง 15เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้นที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ส่วนที่เหลือคืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และถ้าเราเครียดว่าพรุ่งนี้คนที่เราแอบหลงรักจะมาบอกรักเราไหม
ขอให้จำไว้นะครับว่า คนจำนวนมากบนโลกยังไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้เช้าเขาจะยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อยู่หรือเปล่า การคิดถึงสิ่งที่เรามีแทนที่จะเป็นสิ่งที่เราขาด เปรียบเหมือนการเปลี่ยนแว่นสีดำ (การมองโลกในแง่ร้าย) ที่เรากำลังใส่อยู่ให้กลายเป็นแว่นสีเขียว (การมองโลกในแง่ดี) และแว่นสีเขียวนั้นมีคุณอนันต์ เพราะนอกจากช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่จะมาเยือนเราแล้ว ยังทำให้เราเป็นคนที่นึกถึงผู้อื่นและเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าคนที่เลือกเปลี่ยนทัศนคติแทนที่จะเปลี่ยนสถานการณ์คือคนที่ไม่รู้จักพัฒนา โลกจะปาอะไรมาให้ก็ยืนรับทื่อๆ แต่...ผิดแล้วครับ การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การงอมืองอเท้ายอมให้โลกกลั่นแกล้ง
ในทางตรงกันข้าม การมองชีวิตในทางบวกจะช่วยให้เราแก้ปัญหาด้วยปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ และเชื่อเถอะครับว่า การเผชิญอุปสรรคต่างๆ ด้วยจิตใจที่แจ่มใสและสมองที่ปลอดโปร่ง ย่อมจะให้ผลดีกว่าการแก้ปัญหาตอนที่จิตใจเราเต็มไปด้วยความขุ่นมัวอย่างแน่นอน ถ้าเราอยากเห็นทุกอย่างเป็นสีเขียว เรามีสองทางเลือกครับ หนึ่ง คือ ทาสีทุกอย่างบนโลกให้เป็นสีเขียว หรือ สอง หาแว่นที่มีเลนส์สีเขียวมาใส่ ผมขอเสนอว่าครั้งหน้าถ้าเกิดป่วย จน หรือเครียด ไม่ต้องไปกินเหล้า ไม่ต้องไปดิ้นในผับ ไม่ต้องจ่ายเงินหลายพันบาทเพื่อเข้าคอร์สบำบัดจิตหรอกครับ แต่ลองฝึกมองโลกในแง่ดีด้วยการพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เรามีอยู่หรือยังเหลืออยู่ ไม่ใช่ในสิ่งที่เราไม่มีหรือมีแล้วเสียไป แก้ที่ทัศนคติของเราก่อนจะแก้ปัญหา...ยิ้มก่อนจะลงมือทำ
รับรองครับว่าเมื่อใดก็ตามที่เราเปลี่ยนจากการใส่แว่นสีดำมาใส่แว่นสีเขียว จนเป็นนิสัย ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆก็จะเป็นเพียงแบบฝึกหัดของสมอง...ไม่ใช่ยาพิษของหัวใจ
____________________________________________________________________
บทความจากหนังสือ "รู้มากไปทำไม รู้ "ใจ" ก่อนดีกว่า"
เขียนโดย "ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร"
สำนักพิมพ์ อัมรินทร์ How-To