เหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ หลังการเจรจาระหว่างนักการเมืองและแกนนำการชุมนุมเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไม่ประสบความสำเร็จนั้น นับเป็นการผ่าทางตันต่อวิกฤตการเมืองที่ค้างคามาอย่างยาวนานให้จบสิ้นลง
หลังการยึดอำนาจผ่านพ้นไป ผู้คนในสังคมต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับคำสั่ง คสช. เพื่อความสงบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีห้าทั่วราชอาณาจักร กระทบต่อการใช้ชีวิตในยามค่ำคืน และกระทบต่อการจับจ่าย โดยเฉพาะเมื่อร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิด 24 ชั่วโมงต้องปิดให้บริการตามคำสั่ง
แน่นอนว่า ผู้คนในสังคมย่อมมีปฏิกิริยาอยู่ 4 อย่างหลักๆ คือ คนที่ดีใจที่มีรัฐประหารเพราะเชื่อว่าได้โค่นล้มระบอบทักษิณสำเร็จ คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่เข้าใจเหตุผลและให้โอกาส คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและต่อต้านแบบหัวชนฝา และคนที่ไม่สนใจว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น นอกจากว่าเมื่อไหร่บ้านเมืองจะกลับมาเป็นปกติ
ขณะที่บนหน้าจอทีวี ฟรีทีวี รวมทั้งทีวีดิทัล แม้จะกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ หลังระงับการออกอากาศ 25 ชั่วโมง แต่ยังมีสถานีโทรทัศน์อีกหลายช่องที่ยังระงับการออกอากาศ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ 14 สถานีที่ถูกมองว่าเป็นทีวีการเมือง ถูกออกคำสั่งควบคุมการออกอากาศมาตั้งแต่การประกาศกฎอัยการศึกก่อนหน้านี้
ทีวีการเมืองเหล่านี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวมวลชน โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดการชุมนุมและการปราศรัย และการเชิญนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีฐานผู้ชมมากพอสมควร แต่เมื่อถูกระงับการออกอากาศ คนดูก็จะเริ่มมีความรู้สึกเงียบเหงา วังเวง เปิดทีวีแล้วไม่รู้จะดูอะไร
การที่ทีวีการเมืองเติบโตขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะฟรีทีวี และวิทยุ ต่างไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะวิกฤตทางการเมือง ส่วนหนึ่งเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวกระทบกับผู้มีอำนาจ ซึ่งมีส่วนโยงใยไปถึงผู้บริหารช่อง แต่น่าแปลกที่ทีวีเหล่านี้กลายเป็นอมตะ ไม่ว่าจะระงับอย่างไรสุดท้ายก็กลับมาออนแอร์ได้อยู่ดี
เมื่อทีวีการเมืองไม่มีให้ดู ฟรีทีวี ทีวีดิจิทัลก็เซ็นเซอร์ตัวเอง ช่องทางในการบริโภคข่าวสารที่เหลือจึงต้องพึ่งโซเชียลมีเดีย ทั้งจากนักข่าวโดยอาชีพ รวมทั้งคนที่เป็นนักข่าวอาสา ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแอปพลิเคชั่นไลน์ ข้อมูลข่าวสารมักจะถูกส่งต่อกันมาเป็นไฟลามทุ่ง โดยบางครั้งข้อมูลก็ปราศจากการตรวจสอบ
นานมาแล้ว พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงมุมมองของเขาต่อปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองจากปัญหาการเมือง ซึ่งหลายคนชี้นิ้วไปที่สื่อว่าเป็นต้นเหตุ
แม้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จะระบุในรายงานฉบับสมบูรณ์ว่า สื่อมีบทบาทในการยั่วยุและขยายวงความขัดแย้ง ซึ่งมองเผินๆ ก็น่าจะถูกต้อง และง่ายดีที่จะคิดเช่นนั้น แต่ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ เห็นว่า หลักคิดเรื่องการประชาสัมพันธ์ นามธรรมกับรูปธรรมต้องสอดคล้องกันถึงจะมีประสิทธิภาพ
“นามธรรมทุกอย่างต้องมีรูปธรรมรองรับ อย่างความขัดแย้งในประเทศของเราไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสื่อเสนอข่าวหรือสร้างข่าวขึ้น แต่มันมีรูปธรรมจริงๆ รองรับอยู่ มีสิ่งที่คนบางส่วนเห็นว่าไม่ยุติธรรมหรือไม่ถูกไม่ต้องอยู่จริง แล้วสื่อก็รายงานเรื่องเหล่านั้น ฉะนั้นสื่อจึงไม่ได้เป็นคนผิดเสมอไป”
สิ่งที่ พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวมานี้ เมื่อผสมกับยุทธวิธีสร้างข่าวเพื่อกุมความคิด ความเชื่อของมวลชนแต่ละฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตน เช่น อุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ปกป้องสถาบัน ฯลฯ ทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารจากคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มากกว่าข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารแบบทางการ
นับว่ายังโชคดีที่ใช่ว่าจะมีคนที่หลงเชื่อและคล้อยตาม เพราะยังมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคนในโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยกันเอง เราจึงได้เห็นข่าวลือแยกออกมาจากข่าวจริงอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นข่าวลือยังมาไม่หยุดหย่อน ทำเอาคนในสังคมคอยสับสนไปด้วย ต่อให้ คสช. จะออกคำสั่งห้ามอย่างไรก็ยังมีข่าวลือออกมาไม่หยุด
การรับข้อมูลข่าวสารด้านการเมืองมากขึ้น จนประสบความยุ่งยากในการเข้าใจประเด็นและตัดสินใจ ไม่มีสมาธิและขาดการตอบสนอง ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ภาวะข้อมูลท่วมท้น (Information Overload) ซึ่งจะเกิดขึ้นกับคนที่เกาะติดต่อสถานการณ์มากจนตัดสินใจได้ยากว่า อะไรคือความจริง ความเท็จ
เหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นเที่ยวนี้ หากเป็นฝ่ายที่รู้สึกว่าตนเองได้รับชัยชนะ ก็อาจคิดไปแบบหนึ่ง แต่สำหรับฝ่ายที่คิดว่าคาดหวังทางการเมืองไม่ได้ดังใจ จะมีความเครียด ผิดหวัง ซึ่งคนที่ปล่อยวางได้ก็จะนิ่งเฉย แต่สำหรับคนที่รู้สึกโกธรแค้น แพ้ไม่ได้ ต้องออกไปแสดงพลัง อันนั้นก็น่าเป็นห่วง
เมื่อติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือ เอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ กระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น คิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต ก็จะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า โรคเครียดจากปัญหาทางการเมือง (Political Stress Syndrome) หรือ พีเอสเอส
โดยจะมีอาการแสดงทั้งทางกาย ทางใจ และทางพฤติกรรม ซึ่งอาการทางกาย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขน ขา นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย
อาการทางใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น คือไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ ถึงขั้นลงมือทำร้ายร่างกายผู้อื่น
แล้วยิ่งหากคนที่เคยมีประสบการณ์ฝังใจ ได้พบเจอกับเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่สะเทือนใจมากๆ ในอดีต ก็จะรู้สึกทั้งกลัว สิ้นหวัง หวาดผวา โกรธ มีผลทั้งต่อตนเอง หรือคนที่ตนเองนิยมชมชอบและรัก ซึ่งเรียกว่า ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder) หรือ พีทีเอสดี
ในภาวะที่ดูเหมือนผู้คนในสังคมจะรู้สึกกดดันเช่นนี้ ผมนึกถึงข่าวกรอบเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ที่ผมเคยอ่านในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 น.พ.อภิชัย มงคล ในช่วงที่เป็นรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยออกมาให้ข่าวทำนองว่า หลายคนที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งมาตลอดทั้งวัน เมื่อพบว่าไม่ได้ดังใจ จะมีความเครียด ผิดหวังระยะหนึ่ง
เขาเคยกล่าวแนะนำผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า โรคจิตที่อาการหายแล้ว ต้องระมัดระวัง ไม่ควรติดตามใกล้ชิดมาก จะรบกวน ทำให้จิตใจว้าวุ่นจนนอนไม่หลับ แต่ไม่มีผลทำให้โรคกำเริบ ความจริงแล้วเป็นเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่วนคนทั่วไป ไม่ต้องติดตามข่าวการเมืองใกล้ชิดมากก็ได้
ยกเว้นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ขอแนะนำให้ฟังผลสรุปเป็นระยะๆ ดีกว่าตามติดตลอดเวลา หากหมกมุ่นเกินไปอาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์เสียได้
เขาเห็นว่า คนเรามีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ความเห็นไม่ตรงกันมีพอสมควร บางคนแม้เราจะใช้เหตุผลก็ไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ การอยู่ร่วมกันได้ต้องพยายามทำความเข้าใจเขาว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นเพราะอะไร มีบาดแผลทางใจอะไรหรือไม่
น.พ.อภิชัย กล่าวในทำนองว่า การอยู่กับสถานการณ์ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องฝึกฝน ถือเป็นทักษะหนึ่งสำหรับการอยู่รอดในสังคมมนุษย์ คนเราควรดูแลจิตใจตัวเองเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์มีเรื่องที่จะต้องใส่ใจมากมายในชีวิต เมื่อการเมืองไม่ได้ดังใจ ชีวิตเราก็ไม่ได้สิ้นลงแต่ประการใด
ที่พยายามยกอาการที่เกี่ยวข้องมาครั้งนี้ เพียงแค่อยากจะบอกว่า ครั้งหนึ่งผมก็เคยอินกับเรื่องการเมืองมาก่อน เกาะติดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยเฉพาะช่วงชุมนุม ตั้งแต่ปี 2549 ยัน 2554 พอแก่ตัวไปแล้วรู้สึกว่าบ้านเมืองไม่มีอะไรดีขึ้น นับจากนั้นเป็นต้นมาก็รู้สึกไม่ค่อยอินการเมืองอีกเลย ยิ่งมาทำข่าวการเมืองก็ยิ่งเบื่อการเมืองกันไปข้าง
บ้านเมืองในยามนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารก็อยากแสดงออกโดยการชุมนุม บ่อยครั้งเราจะได้เห็นผู้ชุมนุมที่อารมณ์ร้อน ถึงขั้นมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งพวกเขาใช้ความอดทนภายใต้เครื่องแบบที่หนา และอุหภูมิที่ร้อนไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ยังต้องเจอกับผู้คนที่อารมณ์ร้อนออกมาด่าทหาร ตะโกนว่าจะเอาเลือกตั้ง
ผมเห็นเพื่อนหลายคนแสดงออกไม่เอารัฐประหารอย่างชัดเจน บางคนขึ้นดิสเพลย์สีดำราวกับไว้อาลัย บางคนไปร่วมชุมนุมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ถ่ายภาพอัพโหลดลงเฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งผมก็เข้าใจพวกเขา แม้จะคิดต่างตรงที่ว่า ในใจผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่โดยส่วนตัวผมยังคงให้โอกาสคณะ คสช. ได้ทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง
ในเมื่อวัฎจักรทางการเมืองของไทยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ หลังรัฐประหารเสร็จ ร่างรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วพอได้รัฐบาลก็เข้ามาโกงกิน คอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์พวกพ้อง นำไปสู่การชุมนุมประท้วงแล้ววนไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง ก็ย่อมทำให้มีความรู้สึกว่าประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำสำหรับบ้านเมืองในยามนี้ คือ ให้รู้จักปล่อยวาง รักษากำลังใจของตนเองให้ดี ออกไปทำอย่างอื่นบ้าง และเรียนรู้จากสถานการณ์เป็นระยะ ให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าผลที่สุดบ้านเมืองจะไปทางไหน ประชาชนอย่างเราจะตัดสินใจได้เองว่าถึงวันนั้นควรจะทำอย่างไร
####################
คำแนะนำ สำหรับผู้ที่มีความเครียดทางการเมืองอย่างรุนแรง
1. บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน สำหรับการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง หรือ ควรติดตามจากคนใกล้ชิดแทน
2. ลดการรับข้อมูลข่าวสาร จากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ เช่น สื่อที่ให้ข้อมูลด้านเดียวหรือสื่อที่มีภาพและเสียงที่เร้าให้เกิดอารมณ์รุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้ มีความ เครียดทางการเมือง และความเครียดสูง ควรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สะท้อนความคิดที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการหาทางออก
3. ควรมีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย สวดมนต์ ทำสมาธิ หายใจคลายเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น