xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.สั่ง รพ.เตรียมพร้อมรับเหตุร้าย

เผยแพร่:

โรงพยาบาลเสี่ยงถูกก่อวินาศกรรม สธ.สั่งทุกแห่งเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยช่วงประกาศเคอร์ฟิว ห่วง ปชช.เสพติดสื่อออนไลน์จนเกิดอาการ กระหายสื่อ หลังทีวีถูกปิด แนะหยุดเสพสื่อสักพัก เตือนอย่าโพสต์แชร์ข้อมูลลวง ทำสังคมเข้าใจผิด

วันนี้ (23 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชุมนุมทางการเมือง (วอร์รูม) ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ ผ่านทางวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น.

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม นพ.คงเดช ลีโทชวลิต รอง นพ.สสจ.นครปฐม รายงานสถานการณ์ ว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์การชุมนุมบริเวณถนนอักษะ ไม่พบเหตุปะทะรุนแรงแต่อย่างใด และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งในส่วนทางการแพทย์ได้เตรียมพร้อมดูแลกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า แม้จะมีการประกาศเคอร์ฟิว แต่ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมและใส่ใจเป็นพิเศษเรื่องความปลอดภัย ทั้งตัวอาคารโรงพยาบาล หรืออาคารของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ต่างๆ เพราะอาจมีความเสี่ยงในการก่อวินาศกรรม ขอให้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด และให้ดูแลความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวรบ่ายไปจนถึงดึก ขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยอาจทำบัตรอยู่เวร หรือให้แต่งกายแบบฟอร์มของโรงพยาบาล เป็นต้น

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการ สธ. และอดีตรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีการปิดทีวี หลายคนจึงหันไปรับสื่อผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้น แต่ต้องเสพสื่ออย่างระมัดระวัง เพราะส่วนใหญ่มักเป็นข่าวลือ หยอกล้อ แต่เมื่อนำมาโพสต์และแชร์ต่อๆ กัน อาจทำให้หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องจริงได้ จนเกิดความเครียด จึงขอให้ทุกคนหยุดรับข่าวสารประเภทนี้ เพราะจะทำให้เกิดวิตกกังวล จนเกิดภาวะเครียด และคนที่นำมาโพสต์ มาแชร์ก็ขอให้หยุด เพราะไม่มีประโยชน์

ขอเตือนบางกลุ่มที่ติดการเสพสื่อมาก ถึงขั้นกระหายสื่อ หรือเรียกว่า อินฟอร์เมชัน เครฟวิง (Information craving) ถือเป็นภาวะอาการทางใจที่ไม่ต้องบำบัดรักษา หากหยุดเสพสื่อก็จะกระวนกระวายช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็จะหายไปเอง ซึ่งจริงๆ ยังมีสื่ออื่นให้รับรู้ อย่างหนังสือพิมพ์ แต่กลุ่มนี้ต้องระวัง เพราะจะหลงเชื่อกลุ่มบุคคลที่ชอบแชร์ชอบโพสต์ข้อมูลที่ไม่มีการกรองได้ นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีแนวทางติดตามประชาชนที่มีความเครียด เพราะเมื่ออยู่ในที่ชุมนุมสถานการณ์ก็เป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อกลับบ้านก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากมีความเครียดมาก เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด ปวดศีรษะ ให้รีบรับบริการคลินิกคลายเครียด ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุม ผอ.รพ.กระบี่ได้สอบถามว่า สถานการณ์เช่นนี้สามารถจัดประชุมวิชาการระดับชาติได้หรือไม่ โดย นพ.ณรงค์ ตอบว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะ คสช.ระบุให้ทุกคนดำเนินกิจการตามปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น