xs
xsm
sm
md
lg

ศาลทหารแจง เริ่มหลัง1เม.ย. สู้คดีได้ 3 ศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (7เม.ย.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญกระทรวงกลาโหม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เชิญบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญ จำนวน 50 คน เข้ารับฟังการบรรยายสรุป "ขอบเขตอำนาจศาลทหารและการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพ" และเยี่ยมชม การพิจารณาคดีของศาลทหาร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจกับสาธารณะ ต่อองค์กรศาลทหาร และการพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งประชาชนกำลังให้ความสนใจ
พล.ร.ท.ปรีชา จามเจริญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารสูงสุด กล่าวว่า ศาลทหารเป็นสถาบันหนึ่ง ที่อยู่คู่กับกองทัพมาโดยตลอด และเป็นองค์กรหลักสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทหาร ที่ส่งเสริมการปกครอง บังคับบัญชา และควบคุมวินัยของทหารให้มีประสิทธิภาพ
ด้าน พล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เราถือว่าอยู่ในศาลปกติ หมายถึง เหตุการณ์ปกติที่ไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป คือวันที่มีการลงราชกิจจานุเบกษา ตามคำสั่งของคสช. ถือเป็นคดีปกติ สามารถอุทธรณ์ หรือฎีกาได้ เว้นพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่ยังมีกฎอัยการศึกบังคับใช้ ซึ่งการพิจารณาดำเนินคดียังคงยึดหลักเดิม คือต้องขึ้นศาลทหารและมีศาลเดียว โดยไม่มีการอุทธรณ์ หรือฎีกา ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนก็คือ พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ตามความผิดที่ คสช.ได้กำหนดไว้ จึงทำให้ศาลทหาร มีบทบาทมากขึ้น
ขณะที่น.ท.สุรชัย สรามเตะ ตุลาการพระธรรมนูญของศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า ขอบเขตอำนาจของศาลทหารนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกฉบับ รวมถึงฉบับ 2550 มีการกำหนดอำนาจของศาลทหารไว้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 จะถูกยกเลิกโดยประกาศ คสช. และมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ก็ยังคงอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทุกศาล รวมถึงศาลทหาร ส่วนเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่และวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารมีอยู่ใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2497 และกำหนดให้ศาลทหารสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านธุรการของศาลเท่านั้น ส่วนการพิจารณาพิพากษาคดี การมีคำสั่ง การบังคับ การพิพากษาต่างๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทหารโดยเฉพาะ
น.ท.สุรชัย กล่าวว่า สถิติคดี คสช. ของศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.57-31 มี.ค.58 รวม มีคดีขอฝากขัง148 คดี จำนวนผู้ทำความผิด 172 ราย ศาลรับฟ้อง 85 คดี พิจารณาเสร็จ 52 คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 33 คดี นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างฝากขัง 45 คดี ส่งสำนวนคืน 18 คดี ออกหมายจับ 80 ราย ออกหมายค้น 2 ราย
ทั้งนี้ หนึ่งในบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญ ได้สอบถามถึง การพิจารณาคดีของศาลทหารในภาวะปกติ กับไม่ปกติ มีข้อแตกต่างกันอย่างไร โดยทาง พ.อ.ธำรงศักดิ์ วิวัฒนวานิช ตุลาการพระธรรมนูญ รองหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นในเวลาปกติ คือไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก การพิจารณาคดีของศาลทหารชั้นต้น จะพิจารณาคดีตามปกติ จะมีข้อแตกต่างในเรื่องระยะเวลาการอุทธรณ์ โดยผู้ที่มีสิทธิ์อุทธรณ์แยกเป็น 2 กรณี คือ 1. ผู้ความ หมายถึง โจทย์ จำเลย ถ้าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีระยะเวลาการอุทธรณ์ ภายใน 15 วัน แต่ถ้าเราให้อำนาจผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ และผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ มีสิทธิ์อุทธรณ์ด้วย โดยมีระยะเวลา 30 วัน แต่ถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามมาตรา61ของ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา อย่างไรก็ตามขณะนี้ เราได้มีการขอแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เรื่องเวลาอุทธรณ์ และฎีกา จากเดิม 15 วัน เป็น 30 วัน ตลอดจนถึงในส่วนของทนาย ซึ่งผ่านสภาไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ประกาศใช้
หนึ่งในบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญ ยังสอบถามถึง คดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก แต่การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด แต่ขณะนี้ได้มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว การพิจารณาคดีจะดำเนินการต่อไปอย่างไร พ.อ.ธำรงศักดิ์ กล่าว ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว แต่คดีใดก็ตามที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีกฎอัยการศึกบังคับใช้ ถือเป็นคดีที่เกิดในเวลาไม่ปกติ ห้ามอุทธรณ์ หรือฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น