บุคลากรคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ เข้าฟังบรรยายขอบเขตอำนาจศาลทหาร หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ ยันคดีหลังวันที่ 1 เม.ย.ถือเป็นคดีปกติ ขึ้น 3 ศาล เว้นพื้นที่ยังคงอัยการศึก ด้านตุลาการพระธรรมนูญ เผยสถิติมีขอฝากขัง 148 คดี ขณะที่ รองหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ เผยแก้ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ให้ขยายเวลาอุทธรณ์เป็น 30 วัน แล้วแต่รอประกาศใช้ ยันคดีที่โดนในช่วงอัยการศึกก็ยังคงเดิมศาลเดียว
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 09.30 น.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เชิญบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญจำนวน 50 คน เข้ารับฟังการบรรยายสรุป “ขอบเขตอำนาจศาลทหารและการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพ” และเยี่ยมชมการพิจารณาคดีของศาลทหาร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ต่อองค์กรศาลทหาร และการพิพากษาคดีของศาลทหารซึ่งประชาชนกำลังให้ความสนใจ โดย พล.ร.ท.ปรีชา จามเจริญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารสูงสุด กล่าวว่า ศาลทหารเป็นสถาบันหนึ่ง ที่อยู่คู่กับกองทัพมาโดยตลอด และเป็นองค์กรหลักสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทหาร ที่ส่งเสริมการปกครองบังคับบัญชาและควบคุมวินัยของทหารให้มีประสิทธิภาพ
ด้าน พล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เราถือว่าอยู่ในศาลปกติ หมายถึงเหตุการณ์ปกติที่ไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 เป็นต้นไป คือวันที่มีการลงราชกิจจานุเบกษาตามคำสั่งของ คสช. ถือเป็นคดีปกติ สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เว้นพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ยังมีกฎอัยการศึกบังคับใช้ การพิจารณาดำเนินคดียังคงยึดหลักเดิม คือ ต้องขึ้นศาลทหารและมีศาลเดียว โดยไม่มี การอุทธรณ์ หรือฎีกา ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในความสนใจของประชาชนก็คือ พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ตามความผิดที่ คสช.ได้กำหนดไว้ จึงทำให้ศาลทหารมีบทบาทมากขึ้น
ขณะที่ น.ท.สุรชัย สรามเตะ ตุลาการพระธรรมนูญของศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับขอบเขตอำนาจของศาลทหารนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ รวมถึงฉบับ 2550 มีการกำหนดอำนาจของศาลทหารไว้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะถูกยกเลิกโดยประกาศ คสช. และมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ก็ยังคงอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทุกศาล รวมถึงศาลทหาร ส่วนเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่และวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารมีอยู่ใน พรบ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2497 และกำหนดให้ศาลทหารสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านธุรการของศาลเท่านั้น ส่วนการพิจารณาพิพากษาคดีการมีคำสั่ง การบังคับ การพิพากษาต่างๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทหารโดยเฉพาะ
น.ท.สุรชัยกล่าวว่า สถิติคดี คสช.ของศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 57 - 31 มี.ค. 58 รวมมีคดีขอฝากขัง 148 คดี จำนวนผู้ทำความผิด 172 ราย ศาลรับฟ้อง 85 คดี พิจารณาเสร็จ 52 คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 33 คดี นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างฝากขัง 45 คดีส่งสำนวนคืน 18 คดี ออกหมายจับ 80 ราย ออกหมายค้น 2 ราย
ทั้งนี้ หนึ่งในบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญได้สอบถามถึงการพิจารณาคดีของศาลทหารในภาวะปกติกับไม่ปกติมีข้อแตกต่างกันอย่างไร โดยทาง พ.อ.ธำรงศักดิ์ วิวัฒนวานิช ตุลาการพระธรรมนูญ รองหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นในเวลาปกติ คือ ไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก การพิจารณาคดีของศาลทหารชั้นต้น จะพิจารณาคดีตามปกติ จะมีข้อแตกต่างในเรื่องระยะเวลาการอุทธรณ์ โดยผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์แยกเป็น 2 กรณี 1. ผู้ความ หมายถึง โจทก์ จำเลย ถ้าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีระยะเวลาการอุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่ถ้าเราให้อำนาจผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ และผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ มีสิทธิอุทธรณ์ด้วย โดยมีระยะเวลา 30 วัน แต่ถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามมาตรา 61ของ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา อย่างไรก็ตามขณะนี้ เราได้มีการขอแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เรื่องเวลาอุทธรณ์และฎีกา จากเดิม 15 วัน เป็น 30 วัน ตลอดจนถึงในส่วนของทนายซึ่งผ่านสภาไปเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่ประกาศใช้
หนึ่งในบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญยังสอบถามถึงคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก แต่การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด แต่ขณะนี้ได้มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว การพิจารณาคดีจะดำเนินการต่อไปอย่างไร พ.อ.ธำรงศักดิ์กล่าว ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว แต่คดีใดก็ตามที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีกฎอัยการศึกบังคับใช้ ถือเป็นคดีที่เกิดในเวลาไม่ปกติ ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา