ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากการจุดพลุภายใต้ ธีม “ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 หรือ 2015 Discover THAINESS ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ททท.) คาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ด้วยการตั้งเป้ารายได้สูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท โดยคาดหวังจากตลาดท่องเที่ยวในประเทศ 8 แสนล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 1.4 ล้านล้านบาท ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้น 13% เป็น 28 ล้านคน
ถือเป็นการจุดพลุครั้งใหญ่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ และสร้างการรับรู้ความเป็นไทยที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีไทย, ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นอยู่ในแบบวิถีไทย ที่พบเห็นได้ทั่วทุกถิ่นไทย
ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในปี 2558 ภายใต้ธีมดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำแบรนด์ “Amazing Thailand: HappinessWithin” นำส่งความสนุกสนานแบบไทยๆ พร้อมการขับแคลื่อนของภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมพิเศษนานาชาติเป็นปฏิทินท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
ขณะที่ในปีนี้จะเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการส่งเสริมตลาด และการอนุรักษ์ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าในปี 2558 นี้ การท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากมีการวางแผนงานที่ดี โดยจะเน้นการเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเอฟไอที (นักท่องเที่ยวเดินทางเอง)
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ ททท.ในปีนี้ จะเน้น “การท่องเที่ยวเพื่อทุกคน... ของทุกคน” พัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยสร้างสมดุลการตลาด และเน้นตลาดคุณภาพ การรักษาสมดุลพื้นที่ กระจายตัวสู่แหล่งท่องเที่ยวรอง รวมถึงการสร้างสมดุลของฤดูกาลท่องเที่ยว สมดุลสิ่งแวดล้อม และสมดุลเชิงคุณค่า ซึ่งทิศทางทั้งหมดก็สอดรับกับเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการให้คนต่างชาติได้รับความสุขจากการเดินทางเข้ามารู้จักวิถีไทย ภายใต้ ธีม “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” โดยใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีไทยๆ และวัฒนธรรมไทยเป็นจุดขาย
ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งในชาติและต่างชาติไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การลดหย่อนภาษีนิติบุคคลในการจัดอบรม-สัมมนาได้ 100% และนักท่องเที่ยวสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว หรือค่าที่พักในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ โดยมีผลบังคับใช้ถึง 31 ธ.ค. 2558 การพิจารณาออก visa ซ้ำ (Multiple entry) ให้นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง
การขยายกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวจากเดิม 5 กลุ่มเป็น 8 กลุ่ม ซึ่งจากเดิม ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง, กลุ่มท่องเที่ยวแอคทีฟ บีช ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด, กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ครอบคลุม 5 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี, กลุ่มท่องเที่ยวรอยัลโคสต์ ทะเลตะวันตก ครอบคลุม 4 จังหวัด ในภาคกลางและภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง, กลุ่มท่องเที่ยวอันดามัน ครอบคลุม 5 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล
ทั้งนี้ได้เพิ่มอีก 3 คือ เขตท่องเที่ยววัฒนธรรม ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก กลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดเลย หนองคาย มุกดาหาร และบึงกาฬ และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่พื้นที่จังหวัดสิงห์ บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่การท่องเที่ยวฯ ออกมาเพื่อกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยทั้งสิ้น และล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จับมือพันธมิตรระดับโลก Google ประเทศไทย เดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย ผ่านทางโลกออนไลน์ โดย Google ประเทศไทยร่วมพัฒนา Google แผนที่ หรือ Google Maps ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวจากทุกทวีปและตอบรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวอิสระหรือ FIT เพื่อสอดคล้องกับ Digital Economy ตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 35 ของโลกที่ Google เปิดให้บริการ เพียงแต่ต้องเลือกชมจากบริการเสริมของ Google Maps ฟังก์ชันสตรีทวิว ในเวอร์ชั่นนี้มีความพิเศษเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกดูภาพเสมือนได้เฉพาะพื้นที่ที่เป็นถนนในแผนที่เท่านั้น
การใช้เทคโนโลยีมาส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยGoogle ประเทศไทย จะนำพาให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักและเดินทางไป ‘12 เมืองต้องห้าม…พลาด’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแคมเปญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ ชุมพร 2. ตรัง 3. สมุทรสงคราม 4. น่าน 5. ราชบุรี 6. ลำปาง 7. ตราด 8. เลย 9. นครศรีธรรมราช 10. เพชรบูรณ์ 11. จันทบุรี 12. บุรีรัมย์ และเมืองอื่นๆ
โดยคาดว่าจะจัดทำเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม โดยผู้ใช้บริการของ Google Maps ผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะสามารถค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว 383 แห่ง ที่พักรวม 1,348 แห่ง รวมสถานที่ใน “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ทั้งสิ้น 1,731 แห่ง
“จากข้อมูลปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยว 24.7 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวอิสระหรือพวกที่มาเอง มีจำนวนถึง 17.9 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะหาข้อมูลในโลกออนไลน์ google maps จึงเปรียบเสมือนมัคคุเทศก์ ชี้นำนักท่องเที่ยวในการแนะนำสถานที่ และแหล่งที่พัก ที่กินได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการสร้างความสะดวกสบาย และอัพเดทพิกัดสถานที่ท่องเที่ยวจริงให้ตรงกับในแผนที่ของ Google Maps และสามารถเรียกใช้แผนที่ ข้อมูล พิกัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทางหรือการนำทางแบบ Real-Time ให้นักท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการนำนวัตกรรม ความทันสมัยของเทคโนโลยี ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น” กอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” กล่าว
ถือว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน และตอบรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวอิสระหรือ FITโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวไทยให้นิยมท่องเที่ยวกันเองมากขึ้น
ปีของการค้นหาวิถีไทย เริ่มต้นขึ้นแล้วด้วยทัศนะแบบไทยๆ ที่ไม่มีชาติใดจะเสมอเหมือน หากแต่มีที่นี่และที่เดียว “ประเทศไทย”