“ตรัง เมืองวินเทจ” เมืองเก่าแก่ริมฝั่งอันดามันตอนใต้ ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมแบบ Homemade คือ ทำเอง กินเอง ขายด้วย ผสมผสานสูตรจากบรรพบุรุษที่ตกทอดมาจากเมืองจีน ทั้งฮกเกี้ยน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว เชื่อมโยงกับปีนัง มาเลเซีย และรสชาติดั้งเดิม จึงทำให้อาหารมีความอร่อยเป็นพิเศษ จนนำไปสู่คำว่า “คนเมืองตรังเป็นคนช่างกิน”
เนื่องจาก 200 ปีที่ผ่านมา เมืองตรัง ไม่ต่างไปจากศูนย์การค้าอาเซียน โดยเป็นเมืองหนึ่งบนแหลมมลายูที่มีการติดต่อค้าขายกับชาติยุโรปมากมาย มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี และมีเงินทองไม่ขาด ประกอบกับวิถีพื้นเมืองที่ผสมผสานกับกับชาวจีนอพยพ ทำให้คนตรังกินกันวันละ 4-5 มื้อ ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ไปจนค่ำ หรือดึก
ดังนั้น ปี 2558 เมืองตรัง จึงได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด ภายใต้แนวคิด “ตรัง...ยุทธจักรความอร่อย” ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ยุทธจักร นับตั้งยุทธจักรความอร่อยที่ 1 คือ “โกปี๊” (ร้านกาแฟ) อาหารเช้า และอาหารสไตล์จีน
เนื่องจากปัจจุบัน ในตัวเมืองตรังมีร้านกาแฟอยู่กว่า 300 แห่ง และเริ่มเปิดกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5 โดยจะมีการซื้อเม็ดกาแฟมาบด และคั่วเอง ก่อนผสมกับข้าวสาร เพื่อให้รสชาติกลมกล่อม และไม่ขมมาก นอกจากนั้น ยังมีชา หรือ “แซ้ล้อง” หรือ “ติ่มซำ” กว่า 50 ไส้ ตลอดจนหมูย่าง ซาลาเปา และจาโก้ย (ปาท่องโก๋) ที่นำมารับประทานคู่กับกาแฟ รวมทั้งอาหารพื้นเมืองชื่อดัง เช่น หมี่ฮกเกี้ยน เกาหยุก ปากหม้อ ที่มีให้ชิมได้ทั้งวัน
ทั้งนี้ หลังจากทานกาแฟ อาหารเช้า และอาหารสไตล์จีนแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถนั่งตุ๊กตุ๊กหัวกบ (รถสามล้อ) ไปชมร่องรอยวัฒนธรรมที่หมู่ตึกชิโนโปรตุกีส และโบสถ์คริสต์ 100 ปี ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี๋ย ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย วัดกะพังสุรินทร์ วัดตันตยาภิรม และวัดแจ้ง หรือจะไปปั่นจักรยาน และเดินป่า บนสะพานเดินยอดไม้หนึ่งเดียวในไทย ที่สวนพฤษศาสตร์สากลภาคใต้ทุ่งค่าย ชมพิพิธภัณฑ์ของเล่นปลอดสารพิษ ที่บริษัทแปลนทอยส์ ตลอดจนร่วมพิธีวิวาห์ใต้สมุทร ในเดือนแห่งความรัก เทศกาลขนมเค้ก ในเดือนสิงหาคม และเทศกาลหมูย่าง ในเดือนกันยายน
สำหรับยุทธจักรความอร่อยที่ 2 คือ “อาหารทะเล” ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอกันตัง สิเกา หาดสำราญ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารสดๆ ที่หาซื้อได้ไม่ยาก โดยเฉพาะปลาทู ขณะที่เกาะลิบง และเกาะสุกร ก็เป็นแหล่งปูม้าที่สำคัญ หรือจะไปกินปลา และหอยนางรมจากกระชัง ที่บ่อหินฟาร์มสเตย์ แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนรางวัลกินรี
ส่วนอำเภอกันตัง จะเป็นแหล่งรวมร้านอาหารทะเลสไตล์จีน ที่มีการสืบทอดฝีมือมาจากบรรพบุรุษ เช่น ราดหน้าซูเปอร์ ปลาเต๋าเต้ยหม้อไฟ ปลาหายากซึ่งเป็นที่ยอดนิยมของชาวจีน ด้านอำเภอสิเกา โดยเฉพาะหาดปากเมง จะเป็นเมนูซีฟู้ดสไตล์พื้นเมือง เช่น แกงส้ม ต้มส้ม ทะเลนึ่ง-เผา ที่มีรสชาติเผ็ด และจัดจ้าน
ทั้งนี้ หลังจากทาน “อาหารทะเล” จนอิ่มหนำสำราญแล้ว ยังสามารถไปปลูกหญ้าทะเล เป็นอาหารให้พะยูน ปล่อยลูกปูม้า หรือล่องเรืออ่าวคลองสน เก็บภาพสวยๆ ณ สถานีรถไฟกันตัง ขบวนสุดฝั่งอันดามัน รวมทั้งที่พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ วัดตรังคภูมิ และต้นยางต้นแรกของไทย ไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เกาะลิบง เกาะสุกร เกาะหลาวเหลียง หรือร่วมงานชักพระทางน้ำข้ามทะเล ชุมชนปากปรน และไหว้พระจันทร์ ชุมชนทุ่งยาว
สำหรับยุทธจักรความอร่อยที่ 3 คือ “อาหาร-ขนมพื้นเมือง” นับตั้งแต่ “หมูย่าง” ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิต และผูกพันกับคนตรังตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งงานบุญ งานบวช งานแต่ง หรืองานศพ จนนำไปสู่การถือเคล็ดที่ว่า “เช้าวันไหนทานหมูย่าง วันนั้นจะทำอะไรง่าย หมูหมูไปทั้งวัน” หรือ “ขนมเค้ก” ที่เริ่มต้นจากชุมชนลำภูรา อำเภอห้วยยอด และมีลักษณะแปลกกว่าที่ใด คือ จะมีช่องว่างตรงกลางเป็นวงกลม ซึ่งยังไม่นับรวมไปถึงขนมขึ้นชื่ออื่นๆ อีก เช่น ขนมเปี๊ยะ ขนมเต้าส้อ ขนมจีบ ขณะที่อำเภอนาโยง เส้นทางไปสู่ฝั่งอ่าวไทย ก็จะมีทั้งร้านอาหารพื้นบ้าน ร้านกาแฟ และร้านขนมจำนวนมากมาย จนกลายเป็นจุดแวะพักของรถส่วนบุคคล และรถโดยสารไปแล้ว
ทั้งนี้ ระหว่างทางที่ไปเลือกซื้อ “อาหาร-ขนมพื้นเมือง” ยังสามารถแวะไปลอดถ้ำเลเขากอบ หรือลอดช่องมังกร 84 มหามงคล วังเทพธาโร ไปกราบพระนอนทรงเทริดมโนราห์ หนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่วัดน้ำผุด หรือปั่นจักรยานข้ามเขาพับผ้า พร้อมแวะน้ำตกกะช่อง ถ้ำเขาช้างหาย และหมู่บ้านผ้าทอนาหมื่นศรี
สำหรับยุทธจักรความอร่อยที่ 4 คือ “อาหารเจ” หรือการถือศีลกินผักของคนตรัง ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบสานมายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว เปรียบได้กับการ “ดีท็อกซ์” หรือพักจากการกินเนื้อสัตว์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายเกิดความสมดุล เนื่องจากในเมืองตรังมีร้านจำหน่ายอาหารเจตลอดทั้งปีอยู่หลายแห่ง นอกเหนือไปจากเทศกาลถือศีลกินผัก ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน ในเดือนกันยายน-ตุลาคมอยู่แล้ว นี่ก็คือ “ตรัง...ยุทธจักรความอร่อย” ที่ไม่ควรพลาดมาชิมในปีแพะ