xs
xsm
sm
md
lg

หยุดคิดจิตว่าง

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม


สิ่งสร้างสรรค์ วัดบ้านไร่ แหล่งโดนใจไทยอีสาน

หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ ท่านย้ำเสมอว่า... “ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” แล้วก็มีคำถามจากญาติโยมตามมาว่า “จิตว่างเป็นอย่างไร” หลวงพ่อไม่ตอบตรงๆ แต่ตอบลึกๆ ว่า... “เมื่อใดจิตเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่มี สัตว์โลกก็มิได้มี เพราะความเป็นอนัตตา หรือสุญญตา เมื่อนั้นจิตถึงความเป็นพุทธะเสียเองแล้ว ความทุกข์และกิเลสก็ไม่อาจจะมีด้วย นี่คือยอดสุดของอภิธรรม!”

หยุดคิดจิตว่าง

เรื่องจิตว่าง ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันมาทุกยุคทุกสมัย ผู้มีภูมิธรรมภูมิปัญญาพูด ก็พอฟังได้ พอเชื่อถือได้ แต่คนธรรมดาสามัญ ขี้หมูราขี้หมาแห้ง ไร้สาระอย่างผมพูดบ้าง หากไม่อ้างอิงท่านผู้รู้ ก็คงจะกู่ไม่กลับ หลงใหลไปกันใหญ่

เมื่อผมถูกถามบ้าง... “ทำอย่างไรจิตจึงจะว่าง” ผมก็ตอบสั้นๆ ว่า “หยุดคิดจิตว่าง” ตามสไตล์คนเป็นตัวของตัวเอง แล้วอรรถาธิบายไปตามเรื่อง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา

มีอีกคำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อยๆ... “จิตใจคือผู้นึกคิด นึกคิดอยู่ที่ไหน จิตใจอยู่ที่นั่น ผู้หยุดคิดก็คือผู้ที่ตายแล้ว มิใช่หรือ?”

ผมตอบว่า “ใช่ ก็ถูก ไม่ใช่ ก็ถูก” หมายความว่า “ใช่ เพราะเป็นการตายก่อนตาย ตายจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ขณะยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ เพราะคนหยุดคิด ไม่ได้หยุดหายใจ จึงยังมีชีวิตอยู่”

ต่อไปเป็นหน้าที่ของท่านผู้รู้ ที่มีภูมิธรรมภูมิปัญญาทั้งหลาย จะว่าให้ฟัง...

ก่อนอื่น ก่อนจะถึงวาระของท่านผู้รู้ ผมนึกถึงธรรมอยู่บทหนึ่ง ที่ใช้อยู่เสมอเหมือนการวอร์มอัพ ก่อนที่จะคิดจะทำอะไร นั่นคือ...

“ธรรมนิยามสาม” หมายถึงกำหนดแห่งธรรมดา หรือความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา หรือกฎธรรมชาติ

1. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา หมายถึง สังขาร คือสังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง

2. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา หมายถึง สังขาร หรือสังขตธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์

3. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา หมายถึง ธรรม คือสังขตธรรม และอสังขตธรรม หรือสังขาร และวิสังขารทั้งปวง ไม่ใช่ตน

หลักความจริงนี้ แสดงให้เห็นลักษณะ 3 อย่างที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ของสภาวธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนยสัตว์

แก่นของธรรมอยู่ตรงข้อสาม ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา หรือธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน หรือธรรมทั้งปวงเป็นความว่าง จงมองโลกเป็นของว่าง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า... “เมื่อใดเธอมองเห็นสรรพสิ่งบนโลกว่าล้วนเป็นของว่างเปล่า เมื่อนั้นความตาย (มัจจุราช) ก็จะหาเธอไม่พบ”

ก่อนที่จะเกิดความว่าง หรือเห็นความว่าง จะต้องหยุดคิดเสียก่อน

พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านบอกวิธีหยุดคิด หรือวิธีทำให้จิตสงบ หรือจิตว่าง ดังนี้

ขอให้นำคำบริกรรมคำใดก็ได้ เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ เข้ามาบริกรรมอยู่ที่จิต แล้วมีสติเป็นเครื่องควบคุมรักษาจิต ไม่ให้เผลอไปที่ไหน ให้มีแต่คำบริกรรมภาวนาติดแนบอยู่กับจิตนี้เท่านั้น ไม่ปล่อยวาง ไม่เผลอไปไหน ทุกข์ยากลำบากก็ไม่สนใจ มีแต่จะจดจ่อดูจิตกับคำบริกรรมด้วยสติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น

จิตใจเมื่อได้รับการอารักขาด้วยสติแล้ว จะค่อยสงบตัวลงๆ กิเลสความยุ่งเหยิงวุ่นวายไม่เข้ามารบกวน ตอนนั้นแหละ ตอนที่เราจะได้เห็นความสงบเย็นใจ

ความสุขที่เราเสาะแสวงหามานี้นานเท่าไร จะมาเจอที่การภาวนาของเรา เป็นความสุขที่ละเอียดลออ สุขุมคัมภีรภาพ เป็นความสุขแปลกประหลาดและอัศจรรย์ ประจักษ์ในใจของเรา ขณะภาวนานั้นแหละ นี่คือความสุขที่เราไม่ลืมง่ายๆ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ท่านสอนว่า...เรานั่งภาวนา เราก็หัดตายนั่นเอง กายที่เราไม่เอาอะไร จิตใจหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง ปล่อยวางความอาลัย ความเกี่ยวข้องทั้งหมด ฝึกตายก่อน สมมติว่าเราตายจากโลกอันนี้แล้วนะ จิตมันหยุดคิดแล้ว มันก็เหมือนตายจากโลกนี้นั่นแหละ ให้ทำในใจอย่างนี้ มันจึงจะไม่สะดุ้งหวาดกลัว เมื่อเวลาความตายมาถึงเข้า หัดนึกถึงความตายไว้ จนเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เสมอ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โอวาทธรรมของท่านมีว่า...ทำกรรมดีแล้วใจจักไม่ร้อน เพราะไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะได้รับผลไม่ดีต่างๆ ความไม่ต้องหวาดวิตกหรือกังวลไปต่างๆ นั้นนั่นแหละเป็นความเย็น เป็นความสงบของใจเรียกได้ว่า เป็นผลดีที่เกิดจากกรรมดี

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านสอนว่า...สุขเพราะเหตุใด สุขเพราะใจสงบ ทุกข์เพราะเหตุใด ทุกข์เพราะใจไม่สงบ มันไปก่อกรรมก่อเวรไม่หมดซักที กรรมเก่าก็ไม่หมด กรรมใดก็เติมเรื่อยไป มันจะหมดซักทีเหรอ

ท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า...พุทธศาสนามีปริยายมาก 84,000 พระธรรมขันธ์คือ 84,000 ข้อ สรุปแล้วให้เว้นจากความชั่ว, ให้ทำความดี, ให้ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ คิดดูเถิด แล้วสามอย่างนั้นสรุปเข้าอีกที ก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และที่ว่า ทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้รวมอีกที สรุปอีกที จะเหลือคำว่า “ว่าง” คำเดียว พยางค์เดียว

คำว่า “ว่าง” นี้ เป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา จะมองไปในแง่ไหน ก็พบเรื่องว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากความยึดถือ

ไม่มีความยึดถือก็คือว่าง เรื่องปริยัติก็คือเรื่องว่าง เรื่องปฏิบัติก็คือปฏิบัติเพื่อความว่าง เรื่องปฏิเวธ ก็คือผลที่ว่าง เรื่องศีลก็ทำให้ว่างในระดับต่ำๆ เรื่องสมาธิก็ทำให้ว่างยิ่งๆ ขึ้นไป โดยควบคุมเอาไว้เรื่องปัญญา ก็ทำให้ว่างถึงที่สุด

ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นเพื่อความว่าง เพราะฉะนั้นวิธีที่ฉลาดหรือลัดหรือประหยัด ได้ประโยชน์ ไม่เสียเวลา นี่คือพูดเรื่องความว่าง

“สิ่งทั้งมวล-ล้วนว่างเปล่า” พึงดูให้เห็น เป็นสุญญตา นั่นคือมรรคาแห่งวิมุตติ

สู่ทางสร้างสรรค์

สร้างสรรค์หมายถึง “ทำหรือคิดสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์” เป็นนิยามง่ายๆ ที่รู้กันดีโดยทั่วไป แต่บางคนก็มักนำไปใช้ผิดๆ เช่น ถ้าคิดพูดทำอะไรไม่ถูกใจตัวเอง ก็กล่าวหาว่า ไม่สร้างสรรค์อย่างกรณีนักข่าวถามผู้นำแบบแทงใจดำ คือไปกระทบความผิดในใจของเขา ก็จะถูกย้อนแย้งสวนกลับว่า ถามไม่สร้างสรรค์ เป็นต้น จึงทำให้นิยมสร้างสรรค์ผิดเพี้ยนไป

ลองฟังความหมายดีๆ ที่ประณีต ลึกซึ้ง และล้ำเลิศอย่าง...

ท่านโอโชผู้สร้างสรรค์ตัวจริงที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าสอนอย่างตรงไปตรงมาต่อสัจธรรม...

ความสร้างสรรค์หมายถึง การรักสิ่งที่ทำเบิกบาน และยินดีปรีดากับสิ่งที่ทำ อาจไม่มีใครเคยรู้เรื่องนี้ ใครจะไปเคารพยกย่องการทำความสะอาดพื้น ท่านจะไม่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ หนังสือพิมพ์จะไม่เผยแพร่ชื่อและภาพของท่าน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เมื่อท่านเบิกบานกับสิ่งที่ทำ นั่นคือคุณค่าแท้จริง

ความสร้างสรรค์คือ สภาวะย้อนแย้ง นั่นคือการกระทำโดยไม่กระทำ ท่านไม่ต้องทำอะไรแค่ปล่อยให้พลังสร้างสรรค์ไหลผ่านตัวท่าน ความสร้างสรรค์คือการเป็นพาหนะให้สรรพสิ่งทั้งมวลไหลผ่าน เฉกเช่นปล้องไม้ไผ่กลวงเปล่า

ความสร้างสรรค์คือ กลิ่นหอมจากเสรีภาพ ในฐานะปัจเจกบุคคลนั่นเอง ผู้สร้างสรรค์คือผู้มีปัญญาลึกซึ้ง กระทั่งแลเห็นสรรพสิ่งอย่างที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน และสดับสำเนียงที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครได้ยิน จากนั้นพลังสร้างสรรค์ก็บังเกิด

ท่านไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง ผู้สร้างสรรค์ไม่สนใจเรื่องชื่อเสียงแม้แต่น้อย เขารู้สึกอิ่มเอิบใจในสิ่งที่ทำ เขาพอใจในสิ่งที่เป็น และไม่มีเรื่องความปรารถนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อใดท่านมีความสร้างสรรค์ ความปรารถนาจะหายไป เมื่อใดท่านมีความสร้างสรรค์ ความทะเยอทะยานจะหายไป เมื่อใดท่านมีความสร้างสรรค์ ท่านจะเป็นสิ่งที่ท่านต้องการเป็นมาตลอด

ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องสั้นๆ...ภรรยาสาวเป็นกังวลเรื่องชีวิตรักที่น่าเบื่อหน่าย หล่อนจึงเกลี้ยกล่อมให้สามีไปรับการรักษาด้วยการสะกดจิต หลังการรักษาไม่กี่ครั้ง อารมณ์ทางเพศของเขาก็กลับมาพลุ่งพล่านอีกครั้ง แต่ในระหว่างที่ร่วมรักกันอยู่ เขามักจะรีบออกจากห้องนอนไปที่ห้องน้ำ และกลับมาอีกครั้ง

ภรรยาสาวอดสงสัยไม่ได้ วันหนึ่งหล่อนจึงเดินย่องตามไปแอบดูที่หน้าประตูห้องน้ำ เธอเห็นเขายืนจ้องตัวเองอยู่หน้ากระจกและบ่นพึมพำว่า “หล่อนไม่ใช่ภรรยาของผม หล่อนไม่ใช่ภรรยาของผม”

เมื่อท่านตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่ง แน่นอนหล่อนไม่ใช่ภรรยาของท่าน ท่านร่วมรักกับเธออย่างมีความสุข แต่แล้วหล่อนก็กลายเป็นภรรยาของท่าน กลายเป็นของเก่า พอท่านรู้จักใบหน้าและส่วนเว้าส่วนโค้งของหล่อนแล้ว ท่านก็เบื่อ นักสะกดจิตเก่งมาก เขาแนะนำว่า ขณะที่ร่วมรักกับภรรยา จงพยายามคิดว่า “หล่อนไม่ใช่ภรรยาของผม หล่อนไม่ใช่ภรรยาของผม”

ดังนั้น ขณะที่ทำความสะอาดพื้น จงพยายามคิดว่าท่านวาดภาพอยู่ นี่ไม่ใช่การทำความสะอาด นี่คือการสร้างสรรค์ชั้นยอด แล้วท่านจะรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ มันเป็นแค่กลลวงของจิต หากท่านเข้าใจ ท่านก็จะนำความสร้างสรรค์มาสู่ทุกสิ่งที่ท่านทำ

เมื่อท่านเข้าใจ ทุกสิ่งล้วนมีความสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร หรือการทำความสะอาด ชีวิตประกอบขึ้นจากสิ่งละอันพันละน้อย แค่อัตตาตัวตนบอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กน้อย ท่านก็อยากจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ท่านอยากประพันธ์บทกวีชั้นยอด ท่านอยากเป็นเชกสเปียร์ อัตตาตัวตนคือตัวสร้างปัญหา จงละวางอัตตาตัวตน แล้วทุกสิ่งจะมีความสร้างสรรค์

ความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ท่านทำ ความยิ่งใหญ่อยู่ในความรู้สึกขณะที่ท่านทำสิ่งนั้น ลองสัมผัสก้อนกรวดด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ แล้วมันจะกลายเป็นโคตรเพชรโคห์อินัวร์ ลองยิ้มดูแล้วจู่ๆ ท่านก็กลายเป็นราชาหรือราชินี ลองหัวเราะสิ แล้วท่านจะมีความสุขยิ่งนัก ท่านจะเปลี่ยนไปทุกขณะ ด้วยความรักในสมาธิภาวนา

เวลาข้าพเจ้าบอกว่า จงมีความสร้างสรรค์ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องไปเป็นจิตรกร หรือกวีผู้ยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าหมายความว่า จะให้ชีวิตของท่านเป็นภาพวาด ให้ชีวิตของท่านเป็นบทกวี โปรดจำไว้เสมอ มิเช่นนั้น อัตตาตัวตนจะทำให้ท่านมีปัญหา

(ที่มา : โอโช, พลังสร้างสรรค์, ภัทริณี เจริญจินดา แปลและเรียบเรียง, สพน.ฟรีมายด์)

ความสร้างสรรค์มีหลายมิติ สรุปแล้วก็คือ “สุญญตา-ความว่าง” นั่นแล

โพธินิรันดร์

คำว่า “โพธิ” กับ “พุทธะ” ต่างกันเพียงพยัญชนะ แต่ความหมายเหมือนกัน

ลองดูความหมายตามพจนานุกรมฯ...โพธิ คือความตรัสรู้, โพธิญาณ คือพระปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า, พุทธะ คือผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว (ใช้เฉพาะพระพุทธเจ้า)

ดูความหมายตามธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เล่ม 1 โดยกลุ่มปฏิบัติงานเพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาร่วมกับสวนอุศมมูลนิธิ

พุทธะ โดยพยัญชนะ คือ ผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน

พุทธะ โดยอรรถะ ได้แก่

1. เป็นผู้รู้สิ่งที่ควรรู้ คือสิ่งที่ดับทุกข์ได้ รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงถึงที่สุด

2. เป็นผู้ตื่นจากหลับ คือกิเลส เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง

3. เป็นผู้เบิกบานอยู่ด้วยสติปัญญา ที่รู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เพราะไม่มีความทุกข์รบกวน จึงมีความเบิกบาน

พุทธะโดยสัจจะ ได้แก่...

1. เมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ มีอยู่ในสัญชาตญาณที่อาจพัฒนาให้เป็นภาวิตญาณ (ญาณอันได้ทำให้เจริญขึ้นแล้ว) ในทุกๆ จิตของสิ่งที่มีชีวิต หากแต่ว่าจะได้พัฒนาหรือไม่เท่านั้น

2. ความเป็นพุทธะเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของกาย แต่ก็ต้องการกายที่เหมาะสมเป็นปัจจัย

3. พระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือธรรมะ ที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร ไม่มีเกิดดับ ไม่ต้องประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

4. พุทธะภาวะที่แท้จริงคือ ภาวะแห่งปรมานุตตรสุญญตา (ความว่างสูงสุดไม่มีอะไรยิ่งกว่า) คือว่างจากสังขารที่เป็นกิเลสและความทุกข์

5. พุทธภาวะชั้นเด็กๆ คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อันจะไต่เต้าขึ้นไปถึงชั้นสูงสุด

พุทธะโดยภาษาคน คือ พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลในประวัติศาสตร์ มีการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

พุทธะโดยภาษาธรรม คือ กฎความจริงของธรรมชาติที่ได้ตรัสรู้ และนำมาสอน เป็นสิ่งนิรันดร ไม่ต้องมีการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

พุทธะ หรือโพธิ ตามที่กล่าวมา ดูจะเป็นอะไรมากมาย แท้จริงก็เป็นเพียง “ความว่าง” หรือ “ความสงบ” ที่ดำรงอยู่ทุกขณะเท่านั้นเอง

ลองฟังอีกทัศนะจากอาจารย์นิโรธ จิตวิสุทธิ์...

ความว่าง และความสงบอุบัติขึ้น และดำรงอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเรียกหา และไม่ต้องกระทำ หรือปฏิบัติธรรมใดๆ อีก

ปรมาจารย์ “ฮวงโป” แห่งพุทธศาสนานิกายเซน กล่าวถึงหนทาง (มรรค) ทุกหนทาง ไม่ว่าจะเป็นทางโน้นหรือทางนี้ หรือทางไหน หรือวิถีทางดับทุกข์ใดๆ ว่า...เป็นเพียงโวหาร เพื่อเร้าความสนใจของบุคคลในชั้นเริ่มแรก ซึ่งเป็นการดำเนินตามความอยาก (ตัณหา) ของมนุษย์เท่านั้น

ความจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษา หรือต้องเดินไปบนหนทาง หรือปฏิบัติตามมรรคาใดๆ ว่าไปแล้วคำว่าหนทาง ไม่ว่าจะเป็นหนทางใด ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีชื่อ และไม่มีสมญานามมาแต่เดิม

เมื่อใดกายและจิตเห็นความว่างอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะมีการโพล่งออกไปเอง ถึงธรรมชาติเดิมแท้ของสรรพสิ่งว่า ไร้ตัวตน นั่นก็คือ ไม่ใช่ธรรมชาติของใคร ผู้ใดเห็นเช่นนี้ หนทางหรือมรรค ก็เป็นอันว่าเดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว

...(ที่มา : นิโรธ จิตวิสุทธิ์, ก้าวพ้นทุกข์สู่สุขด้วยจิตที่ว่างเปล่า, สนพ.ก้าวแรก)

ฟ้า คือ อากาศอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นปรมานุตตรสุญญตา หรือความว่างอันสูงสุด ไม่มีอะไรยิ่งกว่า เป็นอยู่เช่นนี้ตราบชั่วนิรันดร

สุขสันต์ธัญญา

มีคาถาบาลีซึ่งเป็นพุทธพจน์อยู่ 3 บท ชอบใช้ชอบพินิจอยู่เสมอ นั่นคือ...

นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง

นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

3 คาถาต่างกันเพียงตัวอักษร แต่โดยนัยเหมือนกัน คือความว่างหรือความสงบ เป็นสุขอย่างยิ่ง

ความว่างหรือความสงบคือพุทธธรรม ถ้าความสงบเป็นอย่างเทียม ความสุขนั้นก็เทียม ถ้าความสงบเป็นอย่างแท้ ความสุขก็แท้

สงบมากสุขมาก สงบน้อยสุขน้อย และนี่เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายรูปและฝ่ายนาม

จากบ้านมานานก็อยากกลับบ้าน บ้านที่แท้จริงของเรา คือความรู้สึกที่มันสงบ ความสงบนั่นแหละ คือบ้านที่แท้จริงของเรา

“สุขสันต์ธัญญา” มองในมิติโลกิยะแบบโบราณ ก็มองเห็นบ้านที่มีข้าวเปลือก (ธัญญา) เต็มยุ้งฉาง ไม่มีเงินทองก็อยู่ได้ มีความมั่นคง มีความสงบสุข เป็นวิถีชีวิตที่รุ่งเรือง มั่งมี มีโชค ไม่มีหนี้ จึงดีเลิศประเสริฐศรี (ธัญญา) แม้ปัจจุบันก็เถอะ อย่านึกว่าโก้กันทันสมัยจะสุขสบาย บ้านเรือนไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกแล้ว ทำนาขายข้าว เอาเงินไปซื้อข้าวกิน ความมั่นคงและความสงบสุขแห่งครอบครัว ยากที่จะเกิดขึ้นได้เพราะเรามองข้าม “สุขสันต์ธัญญา” อันเป็นเทือกเขาเหล่ากอดั้งเดิม กลับไปเห็นแสงสี เห็นดีเห็นงามกับโฆษณาชวนเชื่อ ของมีค่าเช่นข้าวเปลือกขายหมด เพื่อเอาเงินไปซื้อสิ่งของ (ส่วนใหญ่เป็นขยะ) มาบริโภคตามแฟชั่น (ปั่นหัวให้โง่) นิยม

เมื่อไม่รู้ “ตัวทุกข์” ก็เลย “สร้างเหตุแห่งทุกข์” ตะพึดตะพือ แล้วความสุขมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? แม้จะปฏิรูปประเทศสักกี่ครั้ง กี่ร้อยพันวัน มันก็แค่แสดงโวหารทางคำพูด ทางตัวหนังสือ แบบคำหรูชูป้ายเช่นนั้นเอง

“หยุดคิดจิตว่าง

สู่ทางสร้างสรรค์

โพธินิรันดร์

สุขสันต์ธัญญา”


แม้สิ่งทั้งมวล ล้วนว่างเปล่า แต่สิ่งทั้งมวลก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สิ่งทั้งมวลอยู่ในกันและกัน เด็ดใบหญ้าหนึ่งใบ กระเทือนถึงดวงดาวทุกดวง ดังนั้น เราไม่ควรพลาดสายตา ที่จะเบิ่งมองสิ่งทั้งมวลในชีวิตที่แสนสั้นและน้อยนิดนี้

โอ...พระเจ้า ปรมานุตตรสุญญตา

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ธรรมนาถสร้างสรรค์แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น