xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ธรรมชาติน่าทึ่ง...ชวนตะลึง โบกสวย หินงาม ที่ “สามพันโบก”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
สามพันโบก ธรรมชาติชวนอัศจรรย์แห่งลำน้ำโขง
“ปู่จกปู”

เอ่ยชื่อนี้หลายคนย่อมไม่รู้จัก

ส่วนถ้าเอ่ยชื่อ“สามพันโบก”แล้วละก็ บรรดาขาเที่ยวจำนวนมากต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี

แต่ทั้งสามพันโบกและปู่จกปูต่างก็เป็นที่แห่งเดียวกัน โดยปู่จกปูนั้นเป็นชื่อเก่าของสามพันโบก ก่อนสถานที่แห่งนี้จะฮอตฮิตโด่งดังขึ้นค้างฟ้ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของอุบลฯ มาจนถึงทุกวันนี้
สะพานหิน อีกหนึ่งผลงานที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง
รู้จักสามพันโบก

“สามพันโบก” ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี (เดิม)เป็นปรากฏการณ์ความมหัศจรรย์ (เล็กๆ) ของธรรมชาติแห่งลำน้ำโขงเมืองอุบลฯ ซึ่งเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งแม่น้ำโขงลดระดับลง แนวโขดหิน ผาหิน โบกหินที่อยู่ใต้น้ำ ก็จะเผยโฉมที่ซุกซ่อนอยู่ ปรากฏสรีระรูปร่างให้เราได้ยลโฉมในความงามแปลกตาอันเกิดจากธรรมชาติสรรสร้าง จนกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอันลือชื่อของเมืองไทย

เดิมก่อนที่จะมีชื่อสามพันโบก ชาวบ้านแถบนี้ได้เรียกขานสถานที่แห่งนี้ว่า “ปู่จกปู” พร้อมกับมีตำนานนิทานพื้นบ้านเล่าขานประกอบว่า...กาลครั้งหนึ่งมีปู่-หลานคู่หนึ่ง ล่องเรือหาปลาตามลำน้ำโขง และได้มาแวะพักยังบริเวณนี้ ครั้นเมื่อฝ่ายหลานเกิดอาการหิวขึ้นมา ปู่จึงเอามือล้วงไปในโบก จับปูขึ้นมาทำเป็นอาหารให้หลานกิน...ขณะที่อีกตำนานเล่าว่าปู่-กับหลานได้มาจับปลา ณ ที่แห่งนี้ แต่จับปลาไม่ได้ จึงใช้มือล้วงปูในลำน้ำโขงเกิดเป็นโบกขึ้นมามากมาย...ซึ่งตำนานทั้งคู่ต่างก็เป็นที่มาของชื่อ “ปู่จกปู”
สามพันโบกกับความงามที่เผยตัวหลังน้ำโขงลด
จากนั้นเมื่อไม่นานมานี้ หลังโบกหินปู่จกปูเริ่มพอเป็นที่รู้จักทางการท่องเที่ยว อ.เรืองประทิน เขียวสด หนึ่งในคนสำคัญผู้บุกเบิกการท่องเที่ยว ณ ที่แห่งนี้ ก็ได้เรียกขานที่นี่ใหม่ว่า “สามพันโบก” โดยตั้งชื่อตามโบกที่มีอยู่มากมาย พร้อมทั้งให้มันสอดรับกับสี่พันดอนใน สปป.ลาว

แล้ว “โบก” ล่ะมันคืออะไร???

โบกเป็นภาษาลาวและภาษาถิ่น เป็นลักษะธรรมชาติที่เกิดจากการที่กระแสน้ำได้พัดพาก้อนกรวด หิน ทราย และเศษไม้ กัดเซาะขัดแผ่นหินทรายให้เกิดเป็นหลุมแอ่งขึ้น มีทั้งโบกขนาดเล็กไปจนถึงโบกขนาดกว้างใหญ่
โบกเล็กๆจำนวนมากที่สามพันโบก
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกๆ หลังการเปลี่ยนชื่อ คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักสามพันโบกสักเท่าไหร่ แม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จัก รู้จักกันแต่เพียงบริเวณโบกกับเพิงหินริมแม่น้ำโขง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดึง “พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในแคมเปญ “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” พร้อมส่งโฆษณาชวนเที่ยวไทยที่เผยให้เห็นภาพความสวยงามของสามพันโบกอย่างชัดเจนให้คนไทยได้รับรู้ ให้โลกได้รับรู้
ามพันโบกโด่งดังขึ้นมาทันตาหลังพี่เบิร์ดมาถ่ายโฆษณา
จากนั้นสามพันโบกก็แจ้งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลายๆ คนไถ่ถามหา อยากจะไปเที่ยวสัมผัสในความสวยงาม ขณะที่ใครอีกหลายๆ คนนั้นก็อยากไปตามรอยพี่เบิร์ด เรียกว่าพี่เบิร์ดไปเที่ยวทางโน้น อิทธิพลส่งมาถึงคนทางบ้านที่ดูหนังโฆษณาอยู่อย่างชัดเจน (ในปี 2552 นี้ยังมีหนังแอกชันเรื่อง “สามพันโบก” ออกมาฉายด้วย นำแสดงโดย รัสเซล หว่อง, ทราย เจริญปุระ, เมย์ ภัทรวรินทร์ มีแต่ว่าหนังแป้ก!?! คนจึงไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไหร่)

ผลพวงจากความโด่งดังของสามพันโบกเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้เศรษฐกิจแถบนี้ดีขึ้นทันตาเห็น ชาวบ้านแถวนั้นมีรายได้ มีงานเพิ่ม ขายของได้ แต่ทว่า...ด้วยวิธีการจัดการการท่องเที่ยวแบบไทยๆ คนโปรโมตก็โปรโมตไป คนกอบโกยก็กอบโกยไป คนเที่ยวทิ้งขยะก็ทิ้งไป ทำให้สามพันโบกในช่วงแรกๆ(หลังฮอตฮิต) ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ ที่จู่โจมมาแบบตั้งตัวไม่ทันจากการท่องเที่ยว(คล้ายกับแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายๆ แห่ง) ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาขยะ ชาวบ้านรุกล้ำพื้นที่ไปขายของทำให้เกิดทัศนะอุจาดไม่น่ามอง การแย่งนักท่องเที่ยวกัน เป็นต้น
อีกหนึ่งความมักง่ายของนักท่องเที่ยวที่วันนี้ยังปรากฏให้เห็นที่สามพันโบก
ปัญหาเหล่านี้ทำให้สามพันโบกต้องใช้เวลาตั้งหลัก ตั้งรับกับชื่อเสียงเม็ดเงินที่ถาโถมเข้ามาอยู่พักใหญ่ ก่อนที่อะไรต่างๆ ในวันนี้จะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น(แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาหมดไป) พร้อมกับชื่อเสียงเริ่มอยู่ตัว ไม่เปรี้ยงปร้างแต่ก็ไม่ซบเซาอับเฉา

สามพันโบกวันนี้จึงยังคงอวลเสน่ห์ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งยามน้ำลดที่ลานหิน ผาหิน โขดหิน และโบกมากมาย ต่างปรากฏอวดโฉมแสดงตัวให้ผู้คนรับรู้ และเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผมมาเยือนยังที่แห่งนี้
บริเวณหาดสลึงจุดลงล่องเรือชมโขง-สามพันโบก
ล่องเรือ-ล่องโขง

สำหรับช่วงเวลาของวันที่เหมาะสมในการเที่ยวสามพันโบกคือช่วงเช้าและเย็น ส่วนถ้าใครจะมาเที่ยวช่วงสาย เที่ยง บ่าย ก็สามารถทำได้ แต่ว่าต้องเจอกับความร้อนระยับตับแลบที่จะอาจจะไปลดทอนความงามของสถานที่ และพลอยทำให้ทริปนั้น เฉากร่อยม่อยกระรอกลงไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ผมกับเพื่อนๆ จึงเลือกมาเที่ยวสามพันโบกแบบสบายๆ ในช่วงเย็นและเช้าของอีกวัน โดยเราเริ่มต้นจากการล่องเรือในยามเย็นกัน ณ จุดลงเรือ (ยอดนิยม) “หาดสลึง” แห่งบ้านปากกะหลาง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร

ย้ำว่าที่นี่เรียกว่าหาดสลึง!?! มีหนึ่งสลึงหรือสลึงเดียว อย่าได้เรียกเพี้ยนไปเพิ่มค่าสตางค์อย่างที่หนุ่มๆ หลายคนชอบเรียกกัน
เรือล่องผ่านปากบ้อง ส่วนแคบที่สุดของแม่น้ำโขง(ยามน้ำลด)
จากหาดสลึงมีเส้นทางล่องเรือท่องลำน้ำโขงไปประมาณ 4 กม. โดยเรือจะพาล่องทวนน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือก่อน เพื่อพาไปชม(ล่องผ่าน) กับ “ปากบ้อง” ที่เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขง ยามที่น้ำโขงลดลงต่ำสุดจะมีความกว้างของแม่น้ำโขงในช่วงนี้เพียง 56 เมตรเท่านั้น

จากปากบ้องเรือล่องต่อไปยัง “หินหัวพะเนียง”(บ้านสองคอน ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร) หรือที่ภาษาถิ่นเรียกกันว่า “สองคอน” หรือบางคนก็เรียกที่นี่ว่า “แก่งสองคอน” โดยคอนนั้นหมายถึงแก่ง ซึ่งที่นี่มีแก่ง 2 แก่งขนาดใหญ่ ที่ตั้งขวางอยู่กลางลำน้ำโขงทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสายอันเป็นที่มาของชื่อบ้านสองคอน
วิถีชีวิตชาวบ้านริมฝั่งโขง
ณ จุดจุดนี้เรือนำเที่ยวส่วนใหญ่ (ดังเช่นเรือที่ผมนั่งมา) จะใช้เป็นจุดวกเรือกลับ ล่องตามน้ำไปทางทิศใต้สู่สามพันโบกไฮไลต์สำคัญที่รออยู่เบื้องหน้า

สำหรับเส้นทางล่องแม่น้ำโขงนั้น ระหว่างทางเราจะได้ชมทิวทัศน์ริมน้ำโขงของ 2 ประเทศไทย-ลาว บางช่วงจะได้เห็นวิถีชาวบ้านที่มาวางเบ็ดตกปลา บ้างก็ลงข่าย ทอดแห หรือบางคนก็ออกเรือไปหาปลาแถวกลางลำน้ำ นอกจากนี้ภาพที่เห็นอย่างชินตาในเส้นทางก็คือ ลักษณะของผาหินริมน้ำโขงกับรูปทรงต่างๆ นานา
ผาศิลาเลข
แล้วเรือก็ล่องมาถึง ณ สามพันโบก แต่ว่าเรือยังไม่แวะส่งเราขึ้นโบก หากแต่ล่องผ่านพาไปชมกับ “ผาศิลาเลข” เพื่อชมกับตัวเลขที่ฝรั่งเศสมาทำเอาไว้บนผาหินริมแม่น้ำโขงเพื่อบอกระดับน้ำเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ซึ่งในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวได้เคยพยายามจะเปิดเส้นทางสัญจรในแม่น้ำโขง แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะในแม่น้ำโขงนั้นมีแก่งใหญ่น้อยขวางกั้นอยู่เป็นจำนวนมาก ฝรั่งเศสจึงต้องล้มเลิกความคิดนี้ไป
ลานหินสีกับก้อนหินที่มีสีแดงสนิมฝังเป็นลวดลายอยู่เป็นจำนวนมาก
พ้นจากผาศิลาเลขที่อาจมีบางคนนำตัวเลขไปตีแทงหวย เรือก็ล่องต่อไปยังจุดท่องเที่ยวไกลสุดคือ “ลานหินสี” หรือ “ทุ่งหินเหลื่อม” (บ้านคำจ้าว ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร) เพื่อพาไปขึ้นบกไปสัมผัสกับลานหินประหลาด ที่เต็มไปด้วยลานหินทรายตะปุ่มตะป่ำ แถมมีโบกมากมาย ส่วนที่เป็นไฮไลต์ก็คือก้อนหินสีจำนวนมาก ที่ผิวหินเป็นมันเลื่อม เนื้อหินส่วนใหญ่มีสีแดงสนิมฝังเป็นลวดลายดูน่าพิศวง นอกจากนี้ก็ยังมีลายสีอื่นด้วย เช่น ม่วง เหลือง เขียว น้ำเงิน หินสีที่นี่มีตั้งแต่ก้อนเล็กๆ ประมาณกำปั้นไปจนถึงก้อนใหญ่ 3-4 เมตร
อีกหนึ่งมุมลานหินรูปร่างประหลาดที่ลานหินสี
สำหรับจุดที่เป็นไฮไลต์แห่งลานหินสีที่น้องๆ เด็กเรือพาผมขึ้นมาถ่ายรูปก็คือ “แจกันหิน” กับหินรูปทรงแจกันดูแปลกตา นอกจากนี้ก็ยังมีหินรูปโซฟา และหินรูปร่างแปลกตาอีกหลายก้อน ซึ่งมีบางคนเชื่อว่าก้อนหินประหลาดที่ลานหินสีนี้ เป็นก้อนหิน “อุกกาบาต”
แจกันหิน
จากลานหินสีเรือล่องทวนน้ำย้อนกลับมาขึ้นฝั่งอีกครั้งในบริเวณที่อยู่ไม่ไกลกัน เพื่อพาพวกเราขึ้นไปสัมผัสกับ “หาดหงส์” ที่เป็นอีกหนึ่งความน่าทึ่งของธรรมชาติ

หาดหงส์ เป็นหาดที่อยู่ใกล้ๆ กับสามพันโบกใช้เวลาล่องเรือถึงกันในไม่กี่นาที ที่นี่มีลักษณะเป็นเนินทรายน้ำจืดขนาดใหญ่อันเกิดจากการพัดพาของลมและน้ำนำตะกอนทรายมากองทับถมเป็นเนินทราย หาดทรายขนาดใหญ่ หลายๆ คนเรียกที่นี่ว่า (ทะเลทราย) “ซาฮาร่าเมืองไทย” เพราะมันมีบรรยากาศดูคล้ายทะเลทรายไม่น้อยเลย
กระโดดเริงร่าที่หาดหงส์
ทรายที่หาดหงส์เป็นทรายละเอียดยิบเดินแน่นเนียนนุ่มเท้า(เพียงแต่ว่าอย่าไปเดินช่วงแดดร้อนเปรี้ยง เพราะจะทำให้เท้าพองเอาได้ง่ายๆ)
รอยทรายและสระน้ำใหญ่แห่งหาดหงส์
บนพื้นทรายจะดูสวยงามไปด้วยลวดลายริ้วรอยจากลมที่พัดพาและธรรมชาติสรรสร้าง นอกจากนี้ในพื้นที่หาดหงส์ยังมีสระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นหาดลาดเอียงเทตัดลงไป กลายเป็นจุดกระโดดหาดทรายเล่นของเหล่าผู้กล้า อย่างเช่นน้องๆ วัยรุ่นเด็กเรือลำผมที่ห้าวหาญขันอาสาแสดงให้ดูว่า หาดทรายที่นี่กระโดดมันนักแล
กระโดดอย่างสะใจ
อย่างไรก็ดีงานนี้ที่หาดหงส์ เพื่อนผมบางคนมันไม่กระโดด หากแต่เลือกถอดรองเท้าย่ำพื้นทรายอย่างหนำใจ ครั้นเมื่อสอบถามว่าทำทำไม? ได้ฟังคำตอบแล้วก็ถึงบางอ้อ

“กูเป็นแฟนผี(แดง)ว่ะ”
หาดหงส์แหล่งหาดทรายน้ำจืดขนาดใหญ่ริมฝั่งโขง
สามพันโบก

จากหาดหงส์เรานั่งเรือทวนน้ำกลับมาขึ้นฝั่งยังสามพันโบก เพื่อสัมผัสกับมหัศจรรย์ของโบกหินแห่งลำน้ำโขงในพื้นที่ขนาดใหญ่ราว 10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใครหลายๆคนตั้งฉายาให้ที่นี่ว่า “แกรนด์แคนยอนน้ำโขง”
ธรรมชาติสรรสร้างแห่งสามพันโบก
สามพันโบกเป็นลานหินและผาหินขนาดใหญ่ที่ชวนตะลึงไม่น้อย เพราะเป็นอีกหนึ่งประติมากรรมธรรมชาติสรรสร้างอันชวนทึ่ง สร้างให้ที่นี่เต็มไปด้วยโบกน้อยใหญ่ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ “สระมรกต” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บุ่งน้ำใส” กับโบกขนาดยักษ์หรือสระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่กลางลานหิน ที่ไม่ว่าฤดูไหนน้ำในนี้ก็ดูเป็นสีเขียวมรกต โดยช่วงที่น้ำใสที่สุดคือในช่วงเดือนธันวาคม ส่วนที่ดูน่ามหัศจรรย์ก็คือไม่ว่าระดับแม่น้ำโขงจะเพิ่มจะลดอย่างไร น้ำในสระมรกตก็จะคงที่อยู่ในระดับเต็มโบกอยู่เสมอ
จันทร์ลอยเด่นยามราตรีที่สามพันโบก
ส่วนจุดน่าสนใจอื่นๆ ในสามพันโบกก็อย่างเช่น โบกมิกกี้เมาส์ โบกรูปหัวใจ หินรูปหัวสุนัข (พุดเดิล) สะพานหิน ช่องแคบ หินผา รวมไปถึงโบกน้อยใหญ่อีกมากมาย และก้อนหิน หลุมแอ่ง อีกหลากหลายรูปทรง ขึ้นอยู่กับจินตนาการของเราว่าจะมองเห็นเป็นรูปอะไร
รับอรุณยามเช้า ที่ช่องแคบสามพันโบก
นอกจากนี้ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของที่นี่ที่หลายๆ คนนิยมไปเฝ้ารอถ่ายรูป โดยเฉพาะเมื่อยามพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ส่วนยามราตรีที่พระจันทร์เริ่มขึ้นจากฟ้าสาดแสงอาบไล้ส่องสามพันโบกนั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งบรรยากาศโรแมนติกของที่นี่ เพียงแต่ว่าในช่วงขากลับเดินไปยังที่จอดรถ จุดกางเต็นท์นั้นต้องระมัดระวังกันหน่อย มิฉะนั้นอาจเดินพลาดตกโบกเจ็บตัวได้ และทางที่ดีหากใครคิดจะอยู่จนมืดควรพกไฟฉายติดตัวไปด้วย
หินรูปหัวสุนัข
นี่ก็คือมนต์เสน่ห์อันไม่สร่างซาของสามพันโบก ซึ่งเดิมในช่วงหน้าแล้ง ราวเดือน พ.ย.-เม.ย. โขดหิน โบก จะพร้อมใจกันโผล่อวดโฉมความงามหลังน้ำโขงลดระดับ แต่สำหรับวันนี้ เมื่อจีนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง

อะไรต่างๆ ในประเทศปลายน้ำโขงมันก็ยากที่จะคาดเดา

วันไหนในช่วงหน้าแล้ง ใครที่ตั้งใจไปสัมผัสกับความงามของสามพันโบก แล้วพอดีกับช่วงที่จีนปล่อยน้ำโขงมาจนท่วมลานหิน โขดหิน และโบกต่างๆ

สำหรับสามพันโบกในทริปนั้นก็เป็นอันต้อง จบข่าว!!!

*****************************************
สระมรกตยามตะวันลับฟ้า
“สามพันโบก” ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ผู้สนใจท่องเที่ยว “สามพันโบก” และล่องเรือแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อบต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร โทร.0-4533-8057, 0-4533-8015

และสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร สินค้าโอทอป การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ใน จ.อุบลราชธานี เชื่อมโยงกับหาดทรายสูง หาดชมดาว ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น