โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ก Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ผมไม่ใช่คนยโส(ธร)และก็ไม่เคยมีแฟนอยู่อุบล(ราชธานี)
แต่พักหลังเวลาไปอุบลคราใด ผมมักจะอดนึกถึงเพลง“ช้ำรักจากอุบล” ของ “สิทธิพร สุนทรพจน์” ไม่ได้ (มนต์แคน แก่นคูน ก็นำเพลงนี้มาร้องเหมือนกัน)
เพลงช้ำรักจากอุบลนอกจากจะบอกเล่าความรู้สึกของหนุ่มยโสธรที่อกหักจากแฟนสาวชาวอุบลได้อย่างรันทดท้อถึงอารมณ์แล้ว เพลงนี้ยังพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ ในอุบลได้อย่างมีมิติ น่าฟัง โดยเฉพาะในท่อนแยกที่ร้องว่า
“...แก่งสะพือ เคยเที่ยวด้วยกัน สงกรานต์ผ่านมา
ท่าเดื่อและหาดสวนยา ล่องเรือลำมูล ชมคูนเหลืองอ่อน
พาเธอเที่ยวแถม ผาแต้มโขงเจียม เขื่อนสิรินธร
เคยได้พาขวัญอ่อน ดูโขงสีปูนเชื่อมมูลสีคราม...” (คลิกฟังเพลง "ช้ำรักจากอุบล" )
ครับฟังเพลงนี้แล้วผมก็อดนึกเล่นๆ ไม่ได้ว่า บางทีผู้แต่งเพลง (ครูดอยอินทนนท์) แม้จะได้พาแฟนมาเที่ยว(แถม) ที่ผาแต้ม แต่เขาคงไม่ได้พาแฟนมากอด“เถาวัลย์ยักษ์” มิฉะนั้นอาจจะไม่ต้องพบกับความอกหักรักคุดเช่นนี้ ส่วนเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น งานนี้เดี๋ยวเมื่อถึงเถาวัลย์ยักษ์ก็จะพบกับความกระจ่าง
แต่ว่าก่อนจะไปยังเถาวัลย์ยักษ์ ผมขอไปแวะเที่ยวน้ำตกลงรูอันขึ้นชื่อของอุทยานผาแต้มกันก่อน เพราะอยู่ในเส้นทางละแวกเดียวกัน
น้ำตกลงรูเป็นน้ำตกที่มีลักษณะพิเศษต่างจากน้ำตกทั่วไป จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์อันลือลั่น
น้ำตกแสงจันทร์ อันซีนไทยแลนด์
น้ำตกลงรู มีอีกชื่อเรียกขานหนึ่งว่า “น้ำตกแสงจันทร์” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ ผาแต้ม ที่บ้านทุ่งนาเมือง ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร คือเป็นน้ำตกที่สายน้ำไหลทะลุผ่านรูหรือช่องแห่งเพิงผาหินลงสู่เบื้องล่างเป็นสายสวยงามแปลกตา
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของธรรมชาติอันน่าทึ่ง โดยรูหรือช่องที่ทำให้เกิดเป็นน้ำตกลงนั้น เกิดจากการกระทำอันยาวนานนับเป็นร้อยเป็นพันปีของธรรมชาติ ซึ่งหากย้อนไปในอดีตอันยาวนาน ที่นี่เมื่อมีฝนตกลงมามากๆ น้ำในลำธารตามป่าเขาย่อมมีปริมาณมากตาม อีกทั้งยังไหลเร็วและแรง รวมถึงยังได้พัดพาเอาสวะ ท่อนไม้ เศษไม้ ใบไม้ ก้อนกรวด ก้อนหิน ลอยไหลตามน้ำไป
ก้อนกรวดก้อนหินบางส่วนหนึ่งก็จะไหลเข้าไปติดอยู่ในซอก ในแง่งเหลี่ยมของลานหิน หรือตกไปอยู่ในหลุมเล็กๆ ของลานหิน
ครั้นเมื่อฝนตกหนักลงมาหรือมีปริมาณน้ำมากๆ กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากส่วนหนึ่งจะผ่านก้อนกรวดก้อนหินที่ติดคาอยู่ตามซอก ตามหลืบ หรือตามหลุมของลานหิน ทำให้ก้อนหินเหล่านั้นวิ่งหมุนวนไปเรื่อยๆ สำหรับลานหินทรายที่มีความแข็งแกร่งน้อยก็จะถูกก้อนกรวดก้อนหินที่แข็งแกร่งกว่า หมุนวนบนเซาะบดจนค่อยสึกกร่อนไปเรื่อยๆ เกิดเป็นหลุมบนลานหินขึ้นมา
หลุมในลักษณะนี้ ศัพท์ทางวิชาการธรณีวิทยา เรียกว่า “กุมภลักษณ์” มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายหม้อ(กุมภ แปลว่าหม้อ) จะพบมากในกลุ่มหินทรายภาคอีสาน
ปรากฏการณ์นี้ก้อนกรวด ก้อนหิน ได้ทำการเสียดสีบดเซาะลานหินไปเรื่อยๆ อยู่ชั่วนาตาปี ยิ่งพอถึงหน้าฝน กระแสน้ำยิ่งไหลแรงและเร็วตอกย้ำเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ก้อนหินก้อนกรวดก็จะหมุนวนขยายหลุมให้ลึกและกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นลานหินทรายทั่วไป หลุมกุมภลักษณ์ก็จะขยายตัวและลึกจมหายลงไปในลานหิน (อย่างกรณีสามพันโบก)
แต่ในกรณีที่เป็นเพิงแผ่นหินหนา (อย่างน้ำตกลงรู) หลุมกุมภลักษณ์เมื่อขยายและกร่อนลึกลงไปจนถึงระดับหนึ่ง จากหลุมหม้อก็จะถูกเซาะเกิดเป็นรูโหว่เป็นช่องให้น้ำไหลผ่านทะลุไปได้
เมื่อ “น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน” ฉันใดก็ฉันเพลที่หลุมหม้อจากช่องรูเล็กๆ ก็ถูกสายน้ำพัดพาเอากรวดหินมาทำปฏิกิริยากับเพิงหินอยู่เป็นนิตย์ จากรูเล็กก็ขยายเป็นรูใหญ่จนเกิดเป็นน้ำตกลงรูในที่สุด
นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของธรรมชาติที่หาดูกันไม่ได้ง่ายๆ
สำหรับช่วงจังหวะเวลาในการชมน้ำตกลงรูที่เหมาะจริงๆ นั้นก็คือช่วงหน้าฝนที่สายน้ำเยอะๆ ซึ่งเราจะมองเห็นสายน้ำตกสีขาวไหลเป็นสายฟูฟ่องลงมากระทบกับแอ่งน้ำตื้นๆ ที่เบื้องล่าง ดูคล้ายฝักบัวขนาดยักษ์ให้ผู้ที่ไม่กลัวเปียกได้เข้าไปสัมผัสกับสายน้ำอันชุ่มฉ่ำของฝักบัวยักษ์ภายใต้ร่มเงาแห่งเพิงผาน้ำตกลงรู
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นหนาวเช่นนี้สายน้ำตกแสงจันทร์ค่อยๆ ลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของมัน แต่ก็สามารถเที่ยวชมได้อีกประมาณราว 1-2 เดือนตามแต่สภาพฟ้าฝน หลังจากนั้นเมื่อเข้าฤดูแล้งสายน้ำตกก็จะเหือดแห้งหายไป รอให้สายฝนแห่งฤดูกาลใหม่มาเยือนสร้างให้เกิดเป็นน้ำตกอันสวยงามอีกครั้ง
น้ำตกลงรูมีจุดชมน้ำตกที่น่าสนใจและสวยงามอยู่ 2-3 ตำแหน่ง คือในตำแหน่งด้านหน้ามองเข้าไป ตำแหน่งใต้น้ำตก และใต้เพิงผา ซึ่งในตำแหน่งใต้โตรกผานี้ หากมาในช่วงที่มีปริมาณน้ำเหมาะสม สายน้ำตกที่ไหลรอดลงมาจากรูกระทบสู่เบื้องล่าง จะแตกกระจายเป็นรูปหัวใจดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ
ขณะที่เหนือน้ำตกที่มีสายน้ำไหลลงลอดรูนั้น ใครที่จะไปยืนชมที่มาของฝักบัวยักษ์ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังให้ดี เพราะรูน้ำตกนี่มีขนาดใหญ่ ถ้าใครประมาทพลั้งเผลอตกลงไปอาจถึงตายได้ แล้วนั่นก็จะทำให้ทริป "น้ำตกลงรู" กลายเป็นทริป "น้ำตกลงโลง" ไปอย่างน่าเศร้าใจ
กอดเถาวัลย์ยักษ์รักกันยืนยาว
จากน้ำตกลงรู ผมไปต่อยังน้ำตกทุ่งนาเมืองที่อยู่ไม่ไกลกัน น้ำตกทุ่งนาเมืองตั้งอยู่ที่เขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหน่วยที่ 3 บ้านคันท่าเกวียน ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม เป็นน้ำตกขนาดกลางมีสายน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาสูงกว่า 20 เมตร ในช่วงหน้าฝนสายน้ำจะแผ่สยายกว้างดูสวยงามมาก แค่ในช่วงต้นหนาวเช่นน้ำสายน้ำก็มีปริมาณลดน้อยลงตามธรรมชาติ
รอบบริเวณน้ำตกที่ทุ่งนาเมืองมีสภาพธรรมชาติที่ร่มรื่นเขียวขจี ที่สำคัญคือในเส้นทางลงสู่น้ำตก (ก่อนถึงน้ำตกประมาณ 20 เมตร) มีสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของผาแต้มนั่นก็คือ “เถาวัลย์ยักษ์” ที่มีขนาดใหญ่โตมาก ถือเป็นเถาวัลย์ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา
เถาวัลย์ยักษ์หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกเถาเครือยักษ์ ดูเผินๆ มันเหมือนกับต้นไม้ ท่อนไม้ขนาดใหญ่ มีข้อมูลระบุว่าเป็นเถาต้นสะบ้า มีอายุราว 300-400 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางของมันกว้างกว่า 50 เซนติเมตร วัดรอบลำต้นได้ 1.50 เมตร และเคยมีคนมาสำรวจพบว่ารากหรือจุดกำเนิดของมันอยู่แถวน้ำตกทุ่งนา ส่วนความยาวของมันที่แยกเป็นสายเป็นสาขายาวกว่า 400 เมตร ยาวไปถึงแม่น้ำโขงเลยทีเดียว
ปัจจุบันเถาวัลย์ยักษ์เส้นนี้ถือเป็นหนึ่งในอันซีนผาแต้มที่มีคนนิยมปีนขึ้นไปบนเถาวัลย์ เพื่อนั่งแอกท่าถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก เพราะมันมีวิวดีไม่หยอก นอกจากเถาวัลย์เส้นใหญ่กลางป่าเขียวครึ้มแล้วแบ็กกราวนด์ด้านหลังยังเป็นน้ำตกทุ่งนาเมืองอันสวยงามน่ายล
สำหรับเถาวัลย์ยักษ์เส้นนี้ นอกจากความใหญ่ยักษ์อันชวนทึ่งของมันแล้ว ก็มีเรื่องราวความเชื่อที่ถูกเสริมแต่งเข้ามาให้เป็นกิมมิก เป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยว โดยเชื่อกันว่าหากคู่รักได้มาสัมผัสกับเถาวัลย์ยักษ์ที่มีอายุยืนยาว และปมของเถาวัลย์ที่เกาะเกี่ยวกระหวัดรัดแน่นกันไว้ยาวนานหลายร้อยปี หากคู่สามีภรรยามากอดเถาวัลย์ยักษ์แห่งนี้ จะมีความรักมั่นคงยืนนาน ไม่มีวันแยกจากกันเหมือนดังเช่นเถาวัลย์ยักษ์คู่นี้ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “กอดเถาวัลย์ 1 ที รักกันนานร้อยปี” ซึ่งในเย็นวันนั้นผมได้เห็นคู่บ่าว-สาว คู่หนึ่งมาถ่ายพรีเวดดิ้งกันที่เถาวัลย์แห่งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำเรื่องราวความเชื่อที่ได้ผลไม่น้อย
นี่ก็ทำให้ผมคิดเล่นๆ สนุกๆ ไปว่า ถ้าหนุ่มยโส(ธร) พาแฟนสาวชาวอุบลมากอดเถาวัลย์ยักษ์ที่ผาแต้ม(ตามที่กล่าวมาข้างต้น) บางทีอาจไม่ต้องอกหักดังเพลงก็ได้ แต่ก็นั่นแหละถ้าไม่อกหักรักคุด แล้วจะเกิดพลังสร้างสรรค์เป็นเพลงเพราะๆ ดีๆ อย่างช้ำรักจากอุบลได้ยังไง
ขณะที่ในส่วนของตำนานความเชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่เล่าสืบต่อกันมานั้นว่า เถาวัลย์ยักษ์เป็นไม้ต้องห้าม มีวิญญาณ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตสิงอยู่ ใครจะขูดขีด ทำลาย ตัดทิ้ง หรือทำให้เถาวัลย์บาดเจ็บเป็นแผลก็จะพบแต่ความโชคร้าย ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีปรากฏเป็นเรื่องเล่าว่า คนที่มาทำสิ่งไม่ดีกับเถาวัลย์ยักษ์ต้องกลายเป็นบ้าไป
ครับนี่ก็เป็นเรื่องของความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่าสืบต่อกันมา ที่ผมย้ำอีกทีว่าเป็น“ความเชื่อ” ซึ่งใครหลายๆ คนที่อิงกับกระแสโลกยุคใหม่อาจจะไม่เชื่อและมองว่างมงาย
แต่ก็ไม่เพราะความเชื่อแบบนี้หรอกหรือ? ที่ทำให้เถาวัลย์ยักษ์ยังดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้!?!
****************************************************************
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวตามที่กล่าวมาในบทความแล้ว อุทยานฯผาแต้ม ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ประติมากรรมธรรมชาติเสาเฉลียง หินโยกมหัศจรรย์ จุดชมวิวผาชนะได ฯลฯ รวมถึงทุ่งดอกไม้ป่าบนลานหินที่ช่วงนี้เริ่มออกดอกเบ่งบาน โดยปีนี้คาดว่าจะออกดอกเยอะบานสวยงามตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งผาแต้มถือเป็นแหล่งชมทุ่งดอกไม้ป่าบนลานหินที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีกลุ่มดอกไม้ที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ นำโดย กลุ่มดอกไม้พระราชทาน 5 ชนิด ได้แก่ สร้อยสุวรรณา(หญ้าสีทอง), ดุสิตา(หญ้าข้าวก่ำน้อย), มณีเทวา(กระดุมเงิน), สรัสจันทร(หญ้าหนวดเสือ), ทิพเกสร(หญ้าฝอยเล็ก)
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โทร.0-4524-6332-3 และสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวในอุบลฯ เชื่อมโยงกับผาแต้มได้ที่ ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com
ผมไม่ใช่คนยโส(ธร)และก็ไม่เคยมีแฟนอยู่อุบล(ราชธานี)
แต่พักหลังเวลาไปอุบลคราใด ผมมักจะอดนึกถึงเพลง“ช้ำรักจากอุบล” ของ “สิทธิพร สุนทรพจน์” ไม่ได้ (มนต์แคน แก่นคูน ก็นำเพลงนี้มาร้องเหมือนกัน)
เพลงช้ำรักจากอุบลนอกจากจะบอกเล่าความรู้สึกของหนุ่มยโสธรที่อกหักจากแฟนสาวชาวอุบลได้อย่างรันทดท้อถึงอารมณ์แล้ว เพลงนี้ยังพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ ในอุบลได้อย่างมีมิติ น่าฟัง โดยเฉพาะในท่อนแยกที่ร้องว่า
“...แก่งสะพือ เคยเที่ยวด้วยกัน สงกรานต์ผ่านมา
ท่าเดื่อและหาดสวนยา ล่องเรือลำมูล ชมคูนเหลืองอ่อน
พาเธอเที่ยวแถม ผาแต้มโขงเจียม เขื่อนสิรินธร
เคยได้พาขวัญอ่อน ดูโขงสีปูนเชื่อมมูลสีคราม...” (คลิกฟังเพลง "ช้ำรักจากอุบล" )
ครับฟังเพลงนี้แล้วผมก็อดนึกเล่นๆ ไม่ได้ว่า บางทีผู้แต่งเพลง (ครูดอยอินทนนท์) แม้จะได้พาแฟนมาเที่ยว(แถม) ที่ผาแต้ม แต่เขาคงไม่ได้พาแฟนมากอด“เถาวัลย์ยักษ์” มิฉะนั้นอาจจะไม่ต้องพบกับความอกหักรักคุดเช่นนี้ ส่วนเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น งานนี้เดี๋ยวเมื่อถึงเถาวัลย์ยักษ์ก็จะพบกับความกระจ่าง
แต่ว่าก่อนจะไปยังเถาวัลย์ยักษ์ ผมขอไปแวะเที่ยวน้ำตกลงรูอันขึ้นชื่อของอุทยานผาแต้มกันก่อน เพราะอยู่ในเส้นทางละแวกเดียวกัน
น้ำตกลงรูเป็นน้ำตกที่มีลักษณะพิเศษต่างจากน้ำตกทั่วไป จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์อันลือลั่น
น้ำตกแสงจันทร์ อันซีนไทยแลนด์
น้ำตกลงรู มีอีกชื่อเรียกขานหนึ่งว่า “น้ำตกแสงจันทร์” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ ผาแต้ม ที่บ้านทุ่งนาเมือง ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร คือเป็นน้ำตกที่สายน้ำไหลทะลุผ่านรูหรือช่องแห่งเพิงผาหินลงสู่เบื้องล่างเป็นสายสวยงามแปลกตา
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของธรรมชาติอันน่าทึ่ง โดยรูหรือช่องที่ทำให้เกิดเป็นน้ำตกลงนั้น เกิดจากการกระทำอันยาวนานนับเป็นร้อยเป็นพันปีของธรรมชาติ ซึ่งหากย้อนไปในอดีตอันยาวนาน ที่นี่เมื่อมีฝนตกลงมามากๆ น้ำในลำธารตามป่าเขาย่อมมีปริมาณมากตาม อีกทั้งยังไหลเร็วและแรง รวมถึงยังได้พัดพาเอาสวะ ท่อนไม้ เศษไม้ ใบไม้ ก้อนกรวด ก้อนหิน ลอยไหลตามน้ำไป
ก้อนกรวดก้อนหินบางส่วนหนึ่งก็จะไหลเข้าไปติดอยู่ในซอก ในแง่งเหลี่ยมของลานหิน หรือตกไปอยู่ในหลุมเล็กๆ ของลานหิน
ครั้นเมื่อฝนตกหนักลงมาหรือมีปริมาณน้ำมากๆ กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากส่วนหนึ่งจะผ่านก้อนกรวดก้อนหินที่ติดคาอยู่ตามซอก ตามหลืบ หรือตามหลุมของลานหิน ทำให้ก้อนหินเหล่านั้นวิ่งหมุนวนไปเรื่อยๆ สำหรับลานหินทรายที่มีความแข็งแกร่งน้อยก็จะถูกก้อนกรวดก้อนหินที่แข็งแกร่งกว่า หมุนวนบนเซาะบดจนค่อยสึกกร่อนไปเรื่อยๆ เกิดเป็นหลุมบนลานหินขึ้นมา
หลุมในลักษณะนี้ ศัพท์ทางวิชาการธรณีวิทยา เรียกว่า “กุมภลักษณ์” มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายหม้อ(กุมภ แปลว่าหม้อ) จะพบมากในกลุ่มหินทรายภาคอีสาน
ปรากฏการณ์นี้ก้อนกรวด ก้อนหิน ได้ทำการเสียดสีบดเซาะลานหินไปเรื่อยๆ อยู่ชั่วนาตาปี ยิ่งพอถึงหน้าฝน กระแสน้ำยิ่งไหลแรงและเร็วตอกย้ำเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ก้อนหินก้อนกรวดก็จะหมุนวนขยายหลุมให้ลึกและกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นลานหินทรายทั่วไป หลุมกุมภลักษณ์ก็จะขยายตัวและลึกจมหายลงไปในลานหิน (อย่างกรณีสามพันโบก)
แต่ในกรณีที่เป็นเพิงแผ่นหินหนา (อย่างน้ำตกลงรู) หลุมกุมภลักษณ์เมื่อขยายและกร่อนลึกลงไปจนถึงระดับหนึ่ง จากหลุมหม้อก็จะถูกเซาะเกิดเป็นรูโหว่เป็นช่องให้น้ำไหลผ่านทะลุไปได้
เมื่อ “น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน” ฉันใดก็ฉันเพลที่หลุมหม้อจากช่องรูเล็กๆ ก็ถูกสายน้ำพัดพาเอากรวดหินมาทำปฏิกิริยากับเพิงหินอยู่เป็นนิตย์ จากรูเล็กก็ขยายเป็นรูใหญ่จนเกิดเป็นน้ำตกลงรูในที่สุด
นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของธรรมชาติที่หาดูกันไม่ได้ง่ายๆ
สำหรับช่วงจังหวะเวลาในการชมน้ำตกลงรูที่เหมาะจริงๆ นั้นก็คือช่วงหน้าฝนที่สายน้ำเยอะๆ ซึ่งเราจะมองเห็นสายน้ำตกสีขาวไหลเป็นสายฟูฟ่องลงมากระทบกับแอ่งน้ำตื้นๆ ที่เบื้องล่าง ดูคล้ายฝักบัวขนาดยักษ์ให้ผู้ที่ไม่กลัวเปียกได้เข้าไปสัมผัสกับสายน้ำอันชุ่มฉ่ำของฝักบัวยักษ์ภายใต้ร่มเงาแห่งเพิงผาน้ำตกลงรู
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นหนาวเช่นนี้สายน้ำตกแสงจันทร์ค่อยๆ ลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของมัน แต่ก็สามารถเที่ยวชมได้อีกประมาณราว 1-2 เดือนตามแต่สภาพฟ้าฝน หลังจากนั้นเมื่อเข้าฤดูแล้งสายน้ำตกก็จะเหือดแห้งหายไป รอให้สายฝนแห่งฤดูกาลใหม่มาเยือนสร้างให้เกิดเป็นน้ำตกอันสวยงามอีกครั้ง
น้ำตกลงรูมีจุดชมน้ำตกที่น่าสนใจและสวยงามอยู่ 2-3 ตำแหน่ง คือในตำแหน่งด้านหน้ามองเข้าไป ตำแหน่งใต้น้ำตก และใต้เพิงผา ซึ่งในตำแหน่งใต้โตรกผานี้ หากมาในช่วงที่มีปริมาณน้ำเหมาะสม สายน้ำตกที่ไหลรอดลงมาจากรูกระทบสู่เบื้องล่าง จะแตกกระจายเป็นรูปหัวใจดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ
ขณะที่เหนือน้ำตกที่มีสายน้ำไหลลงลอดรูนั้น ใครที่จะไปยืนชมที่มาของฝักบัวยักษ์ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังให้ดี เพราะรูน้ำตกนี่มีขนาดใหญ่ ถ้าใครประมาทพลั้งเผลอตกลงไปอาจถึงตายได้ แล้วนั่นก็จะทำให้ทริป "น้ำตกลงรู" กลายเป็นทริป "น้ำตกลงโลง" ไปอย่างน่าเศร้าใจ
กอดเถาวัลย์ยักษ์รักกันยืนยาว
จากน้ำตกลงรู ผมไปต่อยังน้ำตกทุ่งนาเมืองที่อยู่ไม่ไกลกัน น้ำตกทุ่งนาเมืองตั้งอยู่ที่เขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหน่วยที่ 3 บ้านคันท่าเกวียน ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม เป็นน้ำตกขนาดกลางมีสายน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาสูงกว่า 20 เมตร ในช่วงหน้าฝนสายน้ำจะแผ่สยายกว้างดูสวยงามมาก แค่ในช่วงต้นหนาวเช่นน้ำสายน้ำก็มีปริมาณลดน้อยลงตามธรรมชาติ
รอบบริเวณน้ำตกที่ทุ่งนาเมืองมีสภาพธรรมชาติที่ร่มรื่นเขียวขจี ที่สำคัญคือในเส้นทางลงสู่น้ำตก (ก่อนถึงน้ำตกประมาณ 20 เมตร) มีสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของผาแต้มนั่นก็คือ “เถาวัลย์ยักษ์” ที่มีขนาดใหญ่โตมาก ถือเป็นเถาวัลย์ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา
เถาวัลย์ยักษ์หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกเถาเครือยักษ์ ดูเผินๆ มันเหมือนกับต้นไม้ ท่อนไม้ขนาดใหญ่ มีข้อมูลระบุว่าเป็นเถาต้นสะบ้า มีอายุราว 300-400 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางของมันกว้างกว่า 50 เซนติเมตร วัดรอบลำต้นได้ 1.50 เมตร และเคยมีคนมาสำรวจพบว่ารากหรือจุดกำเนิดของมันอยู่แถวน้ำตกทุ่งนา ส่วนความยาวของมันที่แยกเป็นสายเป็นสาขายาวกว่า 400 เมตร ยาวไปถึงแม่น้ำโขงเลยทีเดียว
ปัจจุบันเถาวัลย์ยักษ์เส้นนี้ถือเป็นหนึ่งในอันซีนผาแต้มที่มีคนนิยมปีนขึ้นไปบนเถาวัลย์ เพื่อนั่งแอกท่าถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก เพราะมันมีวิวดีไม่หยอก นอกจากเถาวัลย์เส้นใหญ่กลางป่าเขียวครึ้มแล้วแบ็กกราวนด์ด้านหลังยังเป็นน้ำตกทุ่งนาเมืองอันสวยงามน่ายล
สำหรับเถาวัลย์ยักษ์เส้นนี้ นอกจากความใหญ่ยักษ์อันชวนทึ่งของมันแล้ว ก็มีเรื่องราวความเชื่อที่ถูกเสริมแต่งเข้ามาให้เป็นกิมมิก เป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยว โดยเชื่อกันว่าหากคู่รักได้มาสัมผัสกับเถาวัลย์ยักษ์ที่มีอายุยืนยาว และปมของเถาวัลย์ที่เกาะเกี่ยวกระหวัดรัดแน่นกันไว้ยาวนานหลายร้อยปี หากคู่สามีภรรยามากอดเถาวัลย์ยักษ์แห่งนี้ จะมีความรักมั่นคงยืนนาน ไม่มีวันแยกจากกันเหมือนดังเช่นเถาวัลย์ยักษ์คู่นี้ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “กอดเถาวัลย์ 1 ที รักกันนานร้อยปี” ซึ่งในเย็นวันนั้นผมได้เห็นคู่บ่าว-สาว คู่หนึ่งมาถ่ายพรีเวดดิ้งกันที่เถาวัลย์แห่งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำเรื่องราวความเชื่อที่ได้ผลไม่น้อย
นี่ก็ทำให้ผมคิดเล่นๆ สนุกๆ ไปว่า ถ้าหนุ่มยโส(ธร) พาแฟนสาวชาวอุบลมากอดเถาวัลย์ยักษ์ที่ผาแต้ม(ตามที่กล่าวมาข้างต้น) บางทีอาจไม่ต้องอกหักดังเพลงก็ได้ แต่ก็นั่นแหละถ้าไม่อกหักรักคุด แล้วจะเกิดพลังสร้างสรรค์เป็นเพลงเพราะๆ ดีๆ อย่างช้ำรักจากอุบลได้ยังไง
ขณะที่ในส่วนของตำนานความเชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่เล่าสืบต่อกันมานั้นว่า เถาวัลย์ยักษ์เป็นไม้ต้องห้าม มีวิญญาณ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตสิงอยู่ ใครจะขูดขีด ทำลาย ตัดทิ้ง หรือทำให้เถาวัลย์บาดเจ็บเป็นแผลก็จะพบแต่ความโชคร้าย ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีปรากฏเป็นเรื่องเล่าว่า คนที่มาทำสิ่งไม่ดีกับเถาวัลย์ยักษ์ต้องกลายเป็นบ้าไป
ครับนี่ก็เป็นเรื่องของความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่าสืบต่อกันมา ที่ผมย้ำอีกทีว่าเป็น“ความเชื่อ” ซึ่งใครหลายๆ คนที่อิงกับกระแสโลกยุคใหม่อาจจะไม่เชื่อและมองว่างมงาย
แต่ก็ไม่เพราะความเชื่อแบบนี้หรอกหรือ? ที่ทำให้เถาวัลย์ยักษ์ยังดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้!?!
****************************************************************
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวตามที่กล่าวมาในบทความแล้ว อุทยานฯผาแต้ม ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ประติมากรรมธรรมชาติเสาเฉลียง หินโยกมหัศจรรย์ จุดชมวิวผาชนะได ฯลฯ รวมถึงทุ่งดอกไม้ป่าบนลานหินที่ช่วงนี้เริ่มออกดอกเบ่งบาน โดยปีนี้คาดว่าจะออกดอกเยอะบานสวยงามตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งผาแต้มถือเป็นแหล่งชมทุ่งดอกไม้ป่าบนลานหินที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีกลุ่มดอกไม้ที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ นำโดย กลุ่มดอกไม้พระราชทาน 5 ชนิด ได้แก่ สร้อยสุวรรณา(หญ้าสีทอง), ดุสิตา(หญ้าข้าวก่ำน้อย), มณีเทวา(กระดุมเงิน), สรัสจันทร(หญ้าหนวดเสือ), ทิพเกสร(หญ้าฝอยเล็ก)
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โทร.0-4524-6332-3 และสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวในอุบลฯ เชื่อมโยงกับผาแต้มได้ที่ ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com