xs
xsm
sm
md
lg

ผ่ากระแสบุญ! กรณีบัตรเติมบุญ "วัดบ้านไร่" เหมาะสมหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมขึ้นมาทันที เมื่อวัดบ้านไร่ ผุด "บัตรเติมบุญ" สมาร์ทการ์ดใบละ 100 บาท ใช้สำหรับทำบุญ แลกของที่ระลึก-เข้าห้องน้ำวีไอพี ภายในบริเวณวิหารเทพวิทยาคม แถมยังได้บัตรเขียนขอพร 3 ประการจาก "หลวงพ่อคูณ" ลุ้นรางวัลพระกริ่งฯ มูลค่าหลักแสน จุดประเด็นให้คนในสังคมลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้าน บ้างก็บอกว่าเอาหลวงพ่อมาหากินแบบนี้ได้อย่างไร หรือบางคนมองว่าเป็นการหลอกขายบุญ หากินบนความศรัทธาหรือไม่

เป็นเรื่องที่โลกออนไลน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก พร้อมกับตั้งคำถาม กรณี "วัดบ้านไร่" ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีจุดบริการให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมเติมบุญชีวิตร่วมกับ "หลวงพ่อคูณ" ผ่าน "บัตรเติมบุญ" ที่มีลักษณะเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด โดยวิธีง่ายๆ เพียงแค่เติมเงินใส่ในบัตรสมาร์ทการ์ด "สุคโต สุคโต สุตโต" ก็สามารถใช้ทำบุญตามจุดต่างๆ ในวิหารเทพวิทยาคมกันได้เลย

สำหรับผู้ที่ร่วม "เติมบุญ" นอกจากทำบุญแล้ว ยังนำไปใช้ในการแลกของที่ระลึก และเข้าห้องน้ำวีไอพี ภายในบริเวณวิหารเทพวิทยาคม ปริสุทธปัญญาได้ด้วย โดยนำบัตรเติมบุญไปแตะบนแท่นแตะบัตรใต้เซ็นเซอร์ไฟสีเขียว เมื่อไฟดับให้นำบัตรออกได้เลย แล้วรอรับของที่ระลึก เช่น การ์ดคาถาบูชา ซองใสใส่โฉนดที่ดิน เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้สิทธิ์รับบัตรเขียนคำขอพร 3 ประการจากหลวงพ่อคูณเพื่อลุ้นรับรางวัลใหญ่อย่าง "พระกริ่งเทพวิทยาคมเนื้อทองคำ" มูลค่ากว่า 185,000 บาท จำนวน 1 รางวัลด้วย ซึ่งจะมีการประกาศผลในวันที่ 6 เม.ย.นี้ และยังมีของรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะมีการจับสลากผู้โชคดีกันทุกๆ 1 ชม.

โดยทันทีที่ "บัตรเติมบุญ" เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง นอกจากจะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในวัดดังกล่าวแล้ว ยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในประเด็นความเหมาะสมของวิธีการทำบุญดังกล่าว พร้อมตั้งคำถาม แท้จริงแล้ววัดเป็นอะไรกันแน่ระหว่างสถานที่ทางพระพุทธศาสนาหรือสถานที่สร้างสรรค์กิจกรรมการตลาด ชวนให้ชาวพุทธค่อยๆ หลุดกรอบพระธรรมวินัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ไม่แปลกที่จะเกิดคำถามตามมาว่า การทำบุญที่แท้จริงคืออะไร เนื่องจากทุกวันนี้ ปัญหาทางสังคมอันเกิดจากการบิดเบือนคำสอนและความเชื่อทางพระพุทธศาสนาไปสู่ปรากฏการณ์ "พุทธพาณิชย์" โดยอาศัยกุศโลบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริจาคของพุทธศาสนิกชน ซึ่งภายหลังปรากฏชัดว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าใจการบริจาคในทางที่ผิด อาทิ ทำบุญหวังผล และปริมาณบุญขึ้นอยู่กับปริมาณทรัพย์ที่บริจาค

ทำบุญที่แท้จริงคืออะไร?

ต่อประเด็นดังกล่าว ภิกษุณีธัมมนันทา ให้ความเห็นบนเวทีฟังธรรมเสวนาในหัวข้อ "การบิดเบือนความเชื่อทางพุทธศาสนา พุทธพาณิชย์ ผิดหรือถูก" จัดโดยภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า คนสมัยนี้ทำบุญเหมือนจะบ้าบุญ ขณะที่พระภิกษุสงฆ์ต้องการจะเอาใจคนทำบุญ ก็คิดหาวิธีเพื่อให้คนเข้าวัด โดยเอาบุญมาเป็นตัวจูงใจ ซึ่งการทำบุญควรพิจารณาว่าพระรูปนั้นรักษาสมณะสัญญา หรือดำรงตนให้พ้นจากวัตถุ และมุ่งสู่พระนิพพาน

"สิ่งที่ถวายไปอาจจะเกินพอดี ทำให้พระเสีย ทั้งนี้โครงสร้างของพุทธศาสนานั้น คือพุทธบริษัทสี่ ประกอบด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ดังนั้นเรื่องของศาสนาหากถูกบิดเบือนไป ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของมหาเถรสมาคม หรือเป็นเรื่องของภิกษุเท่านั้น ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามหลักคำสอนที่ถูกต้องด้วย" ภิกษุณีธัมมนันทาเผย

ด้าน พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี ให้ทัศนะว่า คำสอนของพุทธศาสนา หัวใจสำคัญคือ สอนให้รู้จักทุกข์ และการดับทุกข์ การทำบุญ ก็เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด ทำบุญไม่หวังผล ซึ่งปัจจุบันมีการบิดเบือนไป กลายเป็นพุทธพิธีมากเหมือนที่มีการบิดเบือนว่า ใครทำบุญมาก ได้มากก็ทุ่มเททำบุญกันไปจนหมดตัวก็มี ซึ่งหัวใจของการสอนของพระพุทธ ศาสนา หัวใจสำคัญ คือเพื่อการละทิ้งกิเลสเพื่อดับทุกข์ และเข้าสู่พระนิพพาน

ฟาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) นักเขียนผู้ได้รับการขนานนามว่า ปัญญาชนสยาม ก็ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน โดยเขามองว่า มนุษย์สามารถที่จะเปลี่ยนความเกลียดเป็นความรัก เปลี่ยนความรักเป็นปัญญา หัวใจของพุทธศาสนาคือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นกุญแจสำคัญของการลดอัตตา โดยความเสื่อมของพุทธศาสนาที่ชัดมากคือบิดเบือนเป็นพุทธพาณิชย์ในเวลาต่อมา เพราะสมัยโบราณพระภิกษุอยู่ได้ด้วยการบิณฑบาต ไม่มีที่อยู่ก็อยู่ตามต้นไม้ ยา ก็นำรากไม้มาใช้

สุดท้ายแล้ว การทำบุญที่แท้จริงคืออะไร อยู่ที่เราๆ ท่านๆ จะเลือกว่า ทำบุญได้บุญ และหวังจะได้เกิดในภพใหม่ที่ดีกว่าเดิม (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้เกิดเป็นอะไร) หรือทำบุญเพื่อการปล่อยวางกิเลสอย่างสิ้นเชิง พร้อมหันกลับมาอยู่กับลมหายใจ เดินตามรอยพระพุทธเจ้าเพื่อมุ่งสู่นิพพาน

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://watbaanrai.com/?author=2




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น