xs
xsm
sm
md
lg

“แอดไวซ์” ซุ่มปรับโครงสร้าง หวังผงาดขึ้นเบอร์ 1 ค้าปลีกไอที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แอดไวซ์ ดึงรูปแบบการบริหารจากต่างประเทศมาปรับโครงสร้าง หวังขึ้นเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกไอทีในไทย พร้อมเป็นเบอร์ 1 ผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนแบรนด์ไอที ผ่าน 4 แนวทางหลักด้วยการขยายสาขา เพิ่มไลน์สินค้า บริการหลังการขาย และการร่วมมือกับพันธมิตร เชื่อปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 25%

นายณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดไวซ์ โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ภายในบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ โดยแบ่งการดูแลแยกย่อยออกเป็นแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาดได้อย่างทันกับสภาพของตลาดไอทีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ผลประกอบการของแอดไวซ์ในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมอยู่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 6% ส่วนในปีนี้เชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 25% เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากรูปแบบการบริหารที่มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น”

โดยเป้าหมายหลักของ แอดไวซ์ ในปีนี้ คือ การขึ้นเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกไอที จากปริมาณสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมไปกับการรักษาส่วนแบ่งในตลาดคอมพิวเตอร์ประกอบ (DIY) ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งสูงสุด ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการทำตลาดมือถือ เพื่อให้กลายเป็นเบอร์ 1 ในส่วนของช่องทางจำหน่ายไอที หรือ มือถือจากค่ายไอที

รวมไปถึงการเป็นผู้นำในการจำหน่ายโน้ตบุ๊ก ส่วนในสินค้ากลุ่มอื่นๆ ก็ต้องรักษาการเติบโตให้ได้สูงกว่าสัดส่วนการเติบโตของตลาดรวม เพื่อให้แอดไวซ์สามารถขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มสินค้าไอที ที่ไม่รวมรายได้จากสินค้าของแอปเปิลในประเทศไทย

โดย 4 กลยุทธ์หลักที่จะใช้เพื่อให้แอดไวซ์สามารถประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ คือ การขยายสาขาเพิ่มเติม, เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า, เพิ่มประสิทธิภาพของบริการหลังการขาย และความร่วมมือกับพันธมิตรในการทำกิจกรรมการตลาดมากขึ้น

ในส่วนของการขยายสาขาจากปัจจุบันที่มีครอบคลุมอยู่ 350 สาขาทั่วประเทศ ก็จะมีการเพิ่มสาขาขึ้นอีกให้กลายเป็น 400-450 สาขาภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเน้นไปในพื้นที่ตามหัวเมืองรอง หรือเขตที่ไม่มีหน้าร้านเดิมอยู่

“การขยายสาขาของแอดไวซ์จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีหน้าร้านขายไอทีอยู่เดิมในการเพิ่มสาขา หรือถ้าในบางพื้นที่ไม่มีร้านค้าไอทีก็จะลงทุนในการเปิดร้านเอง เพื่อให้ครอบคลุมตามที่วางไว้”

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ประธานบริหารสายงานผลิตภัณฑ์และการจัดการ กล่าวถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดปีนี้ของแอดไวซ์ และแนวโน้มการเติบโตในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า ปีที่ผ่านมา กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน 188% ในขณะที่ตลาดโน้ตบุ๊ก แม้ว่าจะมีปริมาณยอดขายลดลง 5.8% แต่ก็ถือว่าเติบโตกว่าตลาดอยู่ ส่วนในปี 2015 เชื่อว่าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์จะมีการเติบโตโดยเฉพาะในกลุ่มของโทรศัพท์มือถือ ที่คาดว่าจะเติบโตราว 98% ตามมาด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์เดสก์ท็อป 45% และโน้ตบุ๊ก 35%

โดยสัดส่วนรายได้ในปีที่ผ่านมาของแอดไวซ์มาจากอุปกรณ์ DIY 33% เครื่องพิมพ์ 17% โน้ตบุ๊ก 17% ตามมาด้วยอุปกรณ์เสริม เดสก์ท็อป แท็บเล็ต กล้องวงจรปิด ระบบเครือข่าย และอื่นๆ ซึ่งถ้าทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตลาดอุปกรณ์ DIY จะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 30% ในขณะที่โน้ตบุ๊กจะเพิ่มขึ้นเป็น 19% และกลุ่มมือถือจะเพิ่มจาก 8% เป็น 12%

“ในเชิงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ แอดไวซ์จะเน้นรักษาส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่ม DIY ด้วยการปรับเปลี่ยนสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคเช่นกลุ่มเกมเมอร์ ก็ต้องมีการนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็จะนำข้อมูลการจำหน่ายสินค้าในช่วงที่ผ่านมา นำมาวิเคราะห์เทรนด์การใช้งานของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค เพื่อสั่งสินค้าเข้ามา และกระจายไปจำหน่ายในแต่ละภูมิภาค”

นายพรเทพ วัชรอำนวย ประธานบริหารสายงานการขายและโลจิสติกส์ ให้ข้อมูลถึงแนวโน้มความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันว่า ความต้องการโน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอสูงกว่า 15 นิ้ว เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ความต้องการของฟีเจอร์โฟน ก็ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ ส่วนระดับราคาของสมาร์ทโฟน ระดับกลางขายดีที่สุด

“การที่แอดไวซ์มีข้อมูลการจำหน่ายย้อนหลัง สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการสินค้า ทำให้ถือเป็นจุดได้เปรียบของบริษัทในการทำตลาด เพราะจะได้จัดสินค้าไปลงในแต่ละภูมิภาคตามความต้องการของลูกค้าได้”

ส่วนในมุมของการบริการหลังการขาย ในอนาคตทางแอดไวซ์จะมีการทำคู่มือในแง่ของเวลาซ่อมสินค้าของแต่ละแบรนด์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ก่อนการเลือกซื้อสินค้า ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้แบรนด์ให้ความสำคัญกับจุดนี้มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ความร่วมมือกับพันธมิตร เนื่องจากแอดไวซ์มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย ทำให้มีการร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นทั้งผู้ผลิต และคู่ค้า ส่งผลให้สามารถทำการตลาดร่วมกัน เพื่อช่วยโปรโมตสินค้า จัดทำโปรโมชัน และกิจกรรมส่งเสริมการขายได้ตลอดเวลา ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มยอดขายของสินค้าได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของไอดีซีระบุว่า ตลาดรวมโทรศัพท์มือถือในปีนี้จะอยู่ที่ราว 19.6 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นสมาร์ทโฟนราว 15.2 ล้านเครื่อง และฟีเจอร์โฟนราว 4.4 ล้านเครื่อง โดยในจำนวนนี้ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แอดไวซ์จะมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มนี้ราว 3.5%

ขณะที่ในส่วนของตลาดพีซีไม่รวมโน้ตบุ๊กจะอยู่ที่ 1.055 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นตลาดเครื่องประกอบ 4.75 แสนเครื่อง เดสก์ท็อป 4.2 แสนเครื่อง และ ออลอินวัน 1.6 แสนเครื่อง แอดไวซ์จะมีส่วนแบ่งในกลุ่มนี้ 27.3% ส่วนตลาดโน้ตบุ๊กคาดการณ์ไว้ 1.02 ล้านเครื่อง แอดไวซ์จะมีส่วนแบ่งราว 19.1%

นายพรเทพ กล่าวเสริมว่า เชื่อว่าในปีนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะเริ่มกลับมา เนื่องจากรัฐบาลเริ่มทุ่มเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าในช่วงไตรมาส 1 นี้ ตลาดยังคงทรงตัว แต่เมื่อเงินจากรัฐบาลเริ่มถึงมือผู้บริโภคในช่วงปลายไตรมาส 2 ตลาดโดยรวมก็จะกระเตื้องขึ้น

Company Relate Link :
Advice

CyberBiz Social

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น