xs
xsm
sm
md
lg

"ประยุทธ์"งัดประชานิยม สั่งโละหนี้เกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 31 มี.ค.)นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรที่เกิดจากการสะสมหนี้ในอดีต ที่เกิดจากราคาสินค้า พืชผลการเกษตรตกต่ำ ดินฟ้าอากาศ ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ทำให้รายได้น้อยลง ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ตามที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับความช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โดยกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรลูกค้า ในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 500,000 บาท จำนวนประมาณ 818,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 116,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58 –31 มี.ค.59 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ดังนี้ 1.โครงการปลดหนี้สิน กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวนประมาณ 28,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท
วิธีดำเนินการ โดยธ.ก.ส. จะสอบทานลูกหนี้ เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยการจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ ตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สิน ประเภทลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญของธ.ก.ส.
2. โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่มีศักยภาพต่ำ โดยผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่า ยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็น และเป็นภาระหนัก จำนวนประมาณ 340,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 48,000 ล้านบาท
วิธีดำเนินการ โดยธ.ก.ส.จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาจัดทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามศักยภาพ โดยให้ชำระต้นเงินตามงวด หรือระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระไม่เกิน 15 ปี และปลอดชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี ธ.ก.ส. จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอัตราปกติ คือ MRR หรือเท่ากับ 7% ส่วนดอกเบี้ยก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้พักไว้ เพื่อรอการจัดการ
ทั้งนี้เมื่อเกษตรกรลูกค้าชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยได้ตามงวดชำระหนี้ที่กำหนด ธ.ก.ส. จะพิจารณายกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้าแต่ละราย และดำเนินการฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามโครงการนี้ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของธ.ก.ส.
3. โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ จำนวนประมาณ 450,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 64,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ ธ.ก.ส. จะสอบทานหนี้เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้า โดยธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของธ.ก.ส. และไม่คิดเบี้ยปรับ
"ธ.ก.ส. ทำ 3 โครงการย่อย ทั้ง ปลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และ ขยายเวลาตามศักยภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการชำระหนี้สินของเกษตรกรที่สะสมมาในอดีต ซึ่งหนี้สินที่ปลดหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย เป็นเงินและการดำเนินงานของธ.ก.ส.เอง โดยที่กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลไม่ได้ให้เงินชดเชยแต่อย่างใด จะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ " นายวิสุทธิ์ กล่าว

**เผยเกณฑ์ตัดหนี้สูญ 10ประเภท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 30มี.ค. ได้เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สิน ด้วยการตัดหนี้สูญ ให้เกษตรกรที่อยู่ในส่วนกองทุนกระทรวงเกษตรฯ 9 กองทุน จำนวน 4,556 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้พิจารณาตัวบุคคลที่เป็นไปตามเงื่อนไขของเกณฑ์การจัดเป็นหนี้สูญว่ามีใครบ้าง จากนั้นจะส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้กระทรวงการคลัง อนุมัติการตัดหนี้สูญตามกฎหมาย โดยรมว.คลัง สามารถตัดหนี้สูญให้เกษตรกรได้ทันที ในกรณีมีหนี้สินวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่หากมีหนี้สินเกินกว่า 5 ล้านบาท ต้องนำเรื่อง เสนอ ครม.พิจารณา
สำหรับเงื่อนไขการตัดหนี้สูญที่วางไว้ 10 ประเภท คือ หนี้ที่เกิดจากโครงการส่งเสริม หรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ , หนี้ที่เกิดจากเกษตรกรประสบภัยธรรมชาติ , หนี้ที่เกิดจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ,หนี้ที่ขาดอายุความ , หนี้ค้างชำระเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป , หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อบังคับคดีได้ , หนี้ที่เกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่ ,หนี้ที่เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง , หนี้ที่ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า 10,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น