xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีความรัก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ความรักและการทำอัตวินิบาตกรรมเพราะความรัก ที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ กำลังส่งสัญญาณให้สังคมไทยต้องเหลียวหลัง-หันหน้ากลับมาพินิจทฤษฎี “ความรัก” กัน โดยเฉพาะกรณีศึกษาต่างๆ อาทิ 1) ข่าวของเด็กผู้ชายอายุ 13 ปี เขียนจดหมายลาตายก่อนตัดสินใจผูกคอตาย 2) ข่าวของนักศึกษาสาวปี 1 ช้ำรัก เขียนจดหมายลาตาย ก่อนผูกคอตายหรือ 3) ข่าวของเกย์ผูกคอตาย ด้วยน้อยใจเพราะโดนแฟนทิ้ง โดยเขียนจดหมายลาตาย ด้วยหวังว่า ขอให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นคู่กัน

ผู้เขียน ออกตัวว่า ไม่ได้เป็นผู้รู้ ช่ำชอง เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทฤษฎีความรัก แต่ด้วยปรากฏการณ์แห่งการทำอัตวินิบาตกรรมดังกล่าว ทั้ง 3 กรณีนี้เป็นข้อสังเกตที่อยากจะตั้งประเด็นชวนแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อเปิดพื้นที่ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้กับยุวชนของชาติ

ขออ้างอิงเอกสารและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความรัก เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับการวิเคราะห์ ดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2546 ให้ความหมายของคำว่า รัก ไว้ว่า เป็นคำกริยา หมายถึง มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย, มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา, มีใจผูกพันฉันชู้สาว, ชอบ

ในคดีระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์, สุดา ปรัชญาภัทร โจทก์ร่วมกับเสริม สาครราษฎร์ จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546)

“...ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรักความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง...”


ธรรมชาติของความรักเป็นนามธรรม โดยปกติแล้วความรัก จะหมายถึงความรักระหว่างบุคคลซึ่งเป็นประสบการณ์ที่บุคคลหนึ่งรู้สึกกับอีกบุคคลหนึ่ง บ่อยครั้งที่ความรักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเอื้ออาทรหรือคิดว่าตนเองเหมือนกับบุคคลหรือสิ่งอื่น ซึ่งอาจรวมไปถึงตัวบุคคลนั่นเองด้วย

มีสำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องกับความรัก นับตั้งแต่ “ความรักเอาชนะทุกสิ่ง” ของเวอร์จิล ไปจนถึง “ทั้งหมดที่คุณต้องการคือความรัก” ของเดอะบีตเทิลส์ หรือ นักบุญโทมัส อควีนาส ซึ่งอยู่ในยุคหลังของอริสโตเติล นิยามความรักไว้ว่าเป็นความ “ปรารถนาดีแก่ผู้อื่น” และ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ กล่าวว่า ความรักไว้ว่าเป็นสภาพของ “คุณธรรมสูงสุด” ซึ่งปฏิเสธคุณธรรมที่เกี่ยวข้อง

ในทางจิตวิทยาบรรยายความรักไว้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ โดยนักจิตวิทยา โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก ได้ให้เหตุผลว่า ความรักประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างที่แตกต่างกัน ได้แก่ ความใกล้ชิด การผูกมัด และความหลงใหล

นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอย่าง อีริก ฟรอมม์ ได้ยืนยันในหนังสือ “ศิลปะแห่งความรัก” ว่าความรักมิใช่เพียงความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการกระทำ

ส่วนแนวคิดความรักจากปรัชญาจีนนั้น ได้เกิดแนวคิดของ “อ้าย” (愛) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยนักปรัชญาจีน ชื่อ ม่อจื๊อ ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล

ส่วนปรัชญาจีนร่วมสมัย จะใช้แนวคิดของ “อ้าย” เทียบเท่ากับแนวคิดความรักในทางตะวันตก เพราะอ้ายสามารถเป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของเรินในปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ก็มีคำกล่าวเกี่ยวกับความรัก ว่า “我愛你” (หว่ออ้ายหนี่, แปลว่า ฉันรักคุณ) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกถึงความรับผิดชอบ การผูกมัดและความภักดีที่มีเฉพาะตัว

แต่ศาสนาพุทธ เห็นว่า ความรักนั้น เป็นกามคุณ เพราะความรักนั้นเป็นแบบหมกมุ่นในโลกีย์และเกี่ยวกับเพศ เป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงสัจธรรม เพราะจัดว่าเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง

ส่วนหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความรัก คือ เมตตานั้น จัดว่าเป็นความรักแบบกุศล ไม่มีเงื่อนไขผูกมัด แต่ต้องอาศัยการยอมรับตัวเองเป็นสำคัญ เพราะเมตตาจะแตกต่างจากความรักแบบโลกีย์ ซึ่งมีเรื่องความผูกพันและเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง

สำหรับคริสต์ศาสนิกชน เข้าใจว่า ความรักมาจากพระเจ้า โดยเชื่อว่า ความรักในพระเจ้าอย่างสูงสุดคือสุดจิตสุดใจและสุดกำลัง และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เป็นสองสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งพระเยซูคริสต์ตรัสว่า เป็นบัญญัติข้อใหญ่ที่สุดในคัมภีร์โตราห์ของยิว

และ นักบุญออกัสติน กล่าวว่า มนุษย์จะต้องสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างความรักกับราคะได้ เพราะราคะนั้น เป็นความหมกมุ่นเกินไป และผู้เดียวที่สามารถรักมนุษย์อย่างแท้จริงและเต็มเปี่ยมนั้น คือพระเจ้า เพราะความรักของมนุษย์ด้วยกันเองนั้นยังมีช่องว่างข้อบกพร่อง อาทิ ความอิจฉา ความสงสัย ความกลัว ความโกรธ และการช่วงชิง กล่าวโดยสรุปความรักแบบคริสต์ศาสนิกชน คือ จะต้องเกิดมาจากความต้องการเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จในชีวิต นั่นคือ การเป็นคนดี


จากการเรียบเรียงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความรักจากแหล่งข้อมูลต่างๆ พอสรุปได้ว่า ความรักมีนัยแห่งความรู้สึกที่เจือด้วยความต้องการแห่งราคะแบบโลกีย์และความรู้สึกที่เจือด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น รวมทั้งสิ่งที่ศรัทธา

ส่วนทฤษฎีความรักนั้น ไม่สามารถสรุปได้ว่า ความรักมีองค์ประกอบที่ตายตัวหรือไม่ อย่างไร เพราะหากนิยามและเป้าหมายอันเป็นจุดประสงค์แห่งความรักในแต่ละบุคคลที่มีเงื่อนไข และสถานการณ์ต่างกัน ซึ่งประกอบด้วยความมีเหตุผลและไม่มีเหตุผลต่างกัน จึงไม่มีบทสรุปใดๆ ในเชิงทฤษฎี

แต่สำหรับคำตอบที่ดีที่สุดของทฤษฎีความรัก ผู้เขียน มีทัศนะว่า ผู้ให้ความรัก และผู้ถูกให้ความรัก มีหัวใจเป็นคำตอบว่า สถานการณ์นั้น คือความรักแบบไหน ใช่ความรักหรือไม่ และคำแนะนำถึงสิ่งที่ควรใช้ให้มากที่สุดสำหรับยุวชน คือ การมีสติ ยับยั้งอารมณ์ให้ได้ (แม้จะยาก) และมีปัญญาพิจารณาหาคุณ-โทษต่อความรักนั้น หากกระทำโดยอารมณ์ชั่ววูบ (ทั้งอัตวินิบาตกรรม หรือกรรมวิธีต่างๆ) รวมทั้งอย่าได้ลืมที่จะพูดคุยอย่างเปิดเผยกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ หรือผู้มีวุฒิภาวะสูงกว่า เพราะเขาเหล่านั้นมีโลกทรรศน์และประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว ด้วยความห่วงใยต่อสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ในเรื่องความรักนี้ โดยเฉพาะในท่ามกลางโลกแห่งกระแสวัตถุนิยมมาพร้อมกับความเร็วมาก ณ เพลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น