xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อ “บิ๊กเอ็กซอน” นั่งบอร์ดปิโตรเลียม ผลประโยชน์ทับซ้อน! ส่อแววผิดกฎหมาย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การที่คณะรัฐมนตรีที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ตั้ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” ใน “คณะกรรมการปิโตรเลียม” ชุดใหม่ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอจำนวน 5 คน และ 1 ใน 5 คน คือ “นายบูรณวงศ์ เสาวพฤกษ์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ศูนย์บริการธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้คำว่าท้าทายต่อมศีลธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างมาก

เหตุที่ใช้คำว่าท้าทายก็เพราะในปัจจุบันนายบูรณวงศ์ทำงานกับบริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกันยักษ์ใหญ่ของโลกคือ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น โดยจำหน่ายน้ำมันยี่ห้อที่ คน ทั้งโลกและคนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ESSO(เอสโซ่)

ขณะที่ตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ถือเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ให้คำแนะนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการอนุมัติอนุญาตในเรื่องการให้ โอน และเพิก ถอนสัมปทาน การต่อระยะเวลาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การเปลี่ยนแปลงปริมาณงาน/ข้อผูกพันระหว่างแปลงสำรวจ การให้ผู้รับสัมปทานรับบริษัทอื่นเข้าร่วมประกอบกิจการการลดหย่อนค่าภาคหลวง ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบแก่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงาน ในเรื่องการขยายอายุสัมปทาน การกำหนดพื้นที่ผลิต และขยายระยะเวลาเริ่มผลิต การมอบหมายให้บุคคลอื่น บำบัดปัดป้องความโสโครกจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมแทนหรือ ร่วมกับผู้รับสัมปทาน การให้ความเห็นชอบแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในกิจการปิโตรเลียม ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็มีอำนาจการอนุญาตการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานในเรื่อง การตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียม และการอนุญาตให้นำผู้เชี่ยวชาญและสิ่งจำเป็นในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยกเว้นภาษีอากร ซึ่งการดำเนินอื่นตามกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมายและการแต่งตั้งอนุกรรมการ

ทำไมกระทรวงพลังงานที่มี “นายณรงค์ชัย อัครเศรณี” เป็นรัฐมนตรีถึงได้เสนอชื่อนายบูรณวงศ์เข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ไม่สมควรให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจพลังงานเข้ามานั่งเก้าอี้ตัวนี้

มีอย่างที่ไหนให้คนของภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจพลังงานเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่จะต้องรับรู้นโยบาย รับรู้ทิศทางการบริหารและมีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบพลังงานของชาติ

ทำไมเอ็กซอนโมบิลถึงมีอภิสิทธิ์ที่จะรู้ข้อมูลภายในของประเทศไทย

หรือเป็นเพราะเอ็กซอนโมบิลคือบริษัทพลังงานสัญชาติมะกันถึงได้มีอิทธิพลกับกระทรวงพลังงานถึงขนาดต้องเชิญมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

นอกจากนี้ สิ่งที่กระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีจะต้องตอบก็คือ การตั้งคนจากบริษัทพลังงานมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเมื่อไปตรวจสอบ “พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐” ก็พบว่า มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยและเมื่ออ่านดูก็เข้าใจได้ว่า นายบูรณวงศ์ เสาวพฤกษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการและผู้จัดการ ศูนย์บริการธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ไม่น่าจะผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้

มาตรา ๑๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิก สภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบในการบริหารพรรค การเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง

(๖) ไม่เป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจหรือดำเนินกิจการด้านปิโตรเลียม และไม่ประกอบอาชีพหรือ วิชาชีพอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ

เมื่อกฎหมายเขียนเอาไว้เช่นนี้ แล้วด้วยเหตุอันใดนายบูรณวงศ์ เสาวพฤกษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการและผู้จัดการ ศูนย์บริการธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด จึงได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงพลังงานและได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียมได้

กล่าวสำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียมชุดใหม่นั้นมีทั้งหมด 5 คนด้วยกันประกอบด้วย

1.นายวีระชัย ตันติกุล สมาชิก สนช. (ปี 2549) อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และเคยเป็นกรรมการปิโตรเลียม

2. นายสัมพันธ์ สาระธนะ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด เคยเป็นกรรมการปิโตรเลียม

3. นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด ,กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ ,กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)

4. พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา “บิ๊กน้อย” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพบก ,อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก,นายทหารที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ตท.11-ร่วมรุ่นเดียวกับ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์, พล.ร.อ.สุวิทย์ ธาระรูป), (จรป.22-ร่วมรุ่นเดียวกับ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร, พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล)

และ 5. นายบูรณวงศ์ เสาวพฤกษ์ กรรมการและผู้จัดการ ศูนย์บริการธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด

ทั้งนี้ กรรมผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเก่าที่ครบวาระเมื่อปี 2557 ประกอบด้วย นายนภดล มัณฑะจิตร อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และเป็นประธานกรรมการองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ฝ่ายไทย ,นายวีระชัย ตันติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ,นายสัมพันธ์ สาระธนะ อัยการอาวุโส สำานักงานอัยการสูงสุด ,นายสมนึก พิมลเสถียร อดีต รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายนิพนธ์ ฮะกีมี กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น