xs
xsm
sm
md
lg

พณ.เช็กชื่อบริษัทเสี่ยง ผ่านแอปฯ ป้องกันคนไทยถูกโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการพัฒนาและเพิ่มรายละเอียดในโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคล DBD e-Service ซึ่งเป็นโมบาย แอปพลิเคชั่น ของกรมฯ ให้มีความทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้มากขึ้น โดยจะเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีความเสี่ยงเข้ามา เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่คิดจะทำธุรกิจกับบริษัทนั้นๆ และเป็นข้อมูลให้กับประชาชนเพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวง

ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะเพิ่มเติมในแอปพลิเคชั่น จะใส่รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทที่มีความเสี่ยง ได้แก่ บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงจนเกินไป ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจอาจจะไม่ต้องใช้เงินทุนสูงขนาดนั้น , บริษัทที่กำหนดทุนจดทะเบียนไว้สูงเพื่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่าบริษัทมีความมั่นคง แต่ไม่ได้มีการใส่เงินเข้าไปจริง , บริษัทที่ไม่นำส่งงบการเงินประจำปี ,บริษัทที่มีปัญหากรณีที่กรมฯ เรียกสอบบัญชี แต่ไม่ให้ความร่วมมือ และบริษัทที่สถานที่ตั้งมีปัญหา ตรวจสอบไม่ได้หรือที่ตั้งไม่ตรงตามที่ระบุไว้

“เมื่อใส่รายชื่อบริษัทเข้าไปในแอปฯ ของกรมฯ ถ้าเป็นบริษัทที่มีปัญหา ก็จะมีรายละเอียดเด้งเตือนขึ้นมาเลย คนที่คิดจะทำธุรกิจกับบริษัทนี้ ก็ขอให้พึงระวังเอาไว้ หรือถ้าเป็นประชาชนทั่วไป หากมีบริษัทที่มีความเสี่ยงดังกล่าวมาชักชวนให้เข้าร่วมทำธุรกิจ ก็ต้องระวัง เพราะอาจจะถูกหลอกลวงได้”น.ส.ผ่องพรรณกล่าว

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ปัญหาที่กรมฯ ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา เช่น บางบริษัทแจ้งว่ามีทุนจดทะเบียนเป็นแสนล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็ประเมินได้ว่ามีเจตนาในการทำธุรกิจที่ไม่ปกติ หรือบางบริษัทตั้งขึ้นมา แต่หาสถานที่ตั้งจริงไม่ได้ ติดต่อไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะทำธุรกิจกับบริษัทนั้นๆ หรือบางบริษัท มีปัญหาในการทำธุรกิจที่หลอกลวง และปรากฏข้อร้องเรียนตามสื่อ เช่น ธุรกิจขายตรง ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ กรมฯ ก็จะเข้าไปตรวจสอบ และแจ้งเตือนผ่านแอปฯ ด้วย

สำหรับแอปพลิเคชั่น DBD e-Service กรมฯ ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2557 โดยสามารถเข้าไปดาวโหลดแอปฯ ได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์ผ่านกูเกิลเพย์และแอปสโตร์ สามารถใช้บริการงานต่างๆ ของกรมฯ ผ่านมือถือ ซึ่งใช้ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล สถานที่ตั้ง กรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน เพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ และใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจทำธุรกิจหรือติดต่อค้าขาย และยังสามารถติดตามข่าวสารของกรมฯ ผ่านแอปฯ ดังกล่าวได้ด้วย โดยล่าสุดมีผู้ใช้บริการระบบแล้วรวม 334,001 ครั้ง

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวอีกว่า กรมฯ ยังมีแผนที่จะป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากบริษัทที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ หรือบริษัทที่ทำธุรกิจหลอกลวงประชาชน เช่น ธุรกิจขยายตรง และการตลาดแบบตรง โดยได้กำหนดให้ผู้ที่จะทะเบียนจัดตั้งธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ต้องแสดงบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน
เอกสารแสดงฐานะทางการเงินที่ธนาคารออกให้ของหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อตรวจสอบว่ามีการลงทุนทำธุรกิจจริง และต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของอาคารที่ใช้เป็นที่ตั้งบริษัทด้วย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่รับจดทะเบียนให้ และเมื่อได้รับจดทะเบียนบริษัทแล้ว ก็ต้องนำหลักฐานไปขออนุญาตจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อีกครั้ง ถึงจะทำธุรกิจได้

ส่วนบริษัทขายตรงและการตลาดแบบตรงที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ก็เน้นการตรวจสอบบริษัทที่มีปัญหา โดยเฉพาะบริษัทที่มีประชาชนร้องเรียนมาก โดยจะเข้าไปตรวจสอบการส่งงบการเงิน สถานที่ตั้งของธุรกิจ หากพบว่ามีความผิดปกติ ก็จะแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการเข้าร่วมทำธุรกิจในทันที

นอกจากนี้ ในการดูแลการจดทะเบียนทำธุรกิจ หากบริษัทที่มาจดตั้งใหม่ มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท จะต้องแสดงหลักฐานเงินทุนเข้าบริษัทภายใน 15 วันกับกรมฯ เพื่อป้องกันการจดทะเบียนเงินทุนไว้สูงๆ แต่ไม่มีเงินเข้าจริง โดยปัจจุบันพบว่ามี 30-40 บริษัท ที่มีทุนจดทะเบียนสูงผิดปกติ ซึ่งกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบริษัทแล้ว รวมทั้งเรียกสอบบัญชี และประสานกรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบด้วย เพราะบริษัทเหล่านี้ บางแห่งไม่ส่งงบการเงิน บางแห่งมีที่ตั้งที่เดียวกัน จึงมีความเป็นห่วงว่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจหลอกลวง.
กำลังโหลดความคิดเห็น